ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประวิตร” ตอบปมภูมิใจไทยดูด ส.ส. “ไปหมดได้ปิดพรรค” – มติ ครม. ปลื้ม “ชุมชนไม้มีค่า” ใช้ค้ำหนี้ 136 ล้าน

“ประวิตร” ตอบปมภูมิใจไทยดูด ส.ส. “ไปหมดได้ปิดพรรค” – มติ ครม. ปลื้ม “ชุมชนไม้มีค่า” ใช้ค้ำหนี้ 136 ล้าน

13 ธันวาคม 2022


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

“ประวิตร” ตอบปมภูมิใจไทยดูด ส.ส.พลังประชารัฐ “ไปหมดจะได้ปิดพรรค”-โยนสมาชิกพรรคฯชี้ขาด ชู “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯสมัยหน้า-ยันสายสัมพันธ์ “3 ป.” ยังเหมือนเดิม-มติ ครม. ปลื้ม “ชุมชนไม้มีค่า” ใช้ไม้ 1.4 แสนต้น ค้ำหนี้ 136 ล้าน-แก้ กม. ป้องกันสถานศึกษาบีบ นร. ตั้งครรภ์ย้ายที่เรียน

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมการประชุมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU Commemorative Summit) ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2565 ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประวิตร มอบหมายให้ นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

ตอบปมภูมิใจไทยดูด ส.ส.พลังประชารัฐ “ไปหมดจะได้ปิดพรรค”

พลเอก ประวิตร ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณี ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยว่า “ยังไม่ทราบ ก็ยังไม่มีใครลาออก จึงยังไม่รู้ว่าจะลาออกหรือเปล่า ส่วนใครจะไป ก็แล้วแต่เขา ความคิดของคนไม่เหมือนกัน แต่ที่เข้ามาก็มีเยอะน่ะ”

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ พลเอก ประวิตร กล่าวว่า “ไม่ได้คุยเรื่องนี้”

ถามต่อว่าจะมี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยมากพอสมควรใช่หรือไม่ พลเอก ประวิตร ตอบว่า “ก็เอาไปให้หมดเลยก็ได้ ผมไม่ว่าอะไร จะได้ปิดพรรค”

ถามว่า พลเอก ประยุทธ์ ยังจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ พลเอก ประวิตร กล่าวว่า “ดูเหมือนว่าจะไปแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ เพราะพลเอก ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค”

โยนสมาชิกพรรคฯชี้ขาด ชู “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯสมัยหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคพลังประชารัฐยังคงสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯในสมัยหน้าอีกหรือไม่ พลเอก ประวิตร กล่าวว่า “ก็แล้วแต่สมาชิกสมาชิกพรรค คงต้องรอประชุมพรรคกันก่อน แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ยังรักกันเหมือนเดิม”

ยันสายสัมพันธ์ “3 ป.” ยังเหมือนเดิม

ถามต่อว่า ก่อนหน้านี้พลเอก ประวิตร เคยให้สัมภาษณ์ว่า 3 ป. มาด้วยกันก็ไปด้วยกัน แต่มาวันนี้แยกกันเดินแล้ว พลเอก ประวิตร ตอบว่า “ยังไม่แตก ไม่ได้แยกกันเดิน ยังเหมือนเดิม พลเอก ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค”

ปลื้มนักท่องเที่ยวทะลุ 10 ล้านคน สั่งทุกหน่วยอำนวยความสะดวก

นางสาวทิพานัน กล่าวถึงข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า แต่ละประเทศมีมาตรการในการควบคุมและป้องกัน หรือ บริหารจัดการโควิด-19 ที่แตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยมีการบริหารจัดการ ‘อย่างดีเยี่ยม’ เพราะการบริหารจัดการที่รัดกุมของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของทั้งในและต่างประเทศ จนสร้างความไว้วางใจให้นักท่องเที่ยว ทำให้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา (ปี 2565) มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามามากกว่า 10 ล้านคน

พลเอก ประวิตร ยังเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแลความปลอดภัย และให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาไทย ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สะดวกและปลอดภัย

“การที่ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูเรื่องศักยภาพในการท่องเที่ยวให้กลับมาอย่างรวดเร็วจะเป็นผลดี ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่ได้มีการบริหารจัดการเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในห้วงเวลาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงเป็นความสำเร็จที่พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันและขับเคลื่อนสถานการณ์โควิด-19” นางสาวทิพานัน กล่าว

จี้ “ดีอีเอส” เร่งยกร่าง กม. ปราบโกงออนไลน์

นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตร พูดถึงปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้มีการติดตามรับฟัง และติดตามการแก้ไขอย่างต่อเนื่องรอบด้าน ไม่ว่าการร้องเรียนหรือร้องทุกข์มายังรัฐบาล และในที่ประชุม ครม. วันนี้ได้เน้นย้ำไปที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดทำ “ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์” พร้อมเน้นย้ำว่าต้องจัดทำให้แล้วเสร็จ และเสนอให้ ครม. พิจารณาอย่างเร่งด่วน

นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตร มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนระมัดระวังและรู้เท่าทันกลไกการฉ้อโกงออนไลน์

สั่ง พม.-มท.-สตช. ปราบค้ามนุษย์ ดันไทยขึ้น Tier 1 ในปี’66

นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตร เน้นย้ำเรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย และได้พูดถึงเป้าหมายที่จะยกระดับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้อยู่ใน Tier 1 ภายในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันปี 2565 ประเทศไทยยังอยู่ใน Tier 2 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการประสานงานอย่างเร่งด่วน

วอน “พรรคร่วม” ช่วยเข้าประชุมสภาฯ

นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า “พลเอก ประวิตร เน้นย้ำเรื่องการประชุมรัฐสภา ขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาล ให้กำชับและดูแลการเข้าร่วมประชุมสภาให้เป็นไปโดยพร้อมเพรียงและเรียบร้อย”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ผ่านแผนพัฒนาโลจิสติกส์ ตั้งเป้าลดต้นทุนขนส่ง/GDP เหลือ 5%

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบโลจิสติกส์เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าที่สำคัญในอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ดังนี้

1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น 1) สร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงการ

    ขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างท่าเรือ รถไฟ ถนน และท่าอากาศยานอย่างครอบคลุม เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่อุตสาหกรรมและด่านชายแดนสำคัญ 2) พัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์และปรับปรุงด่านชายแดนที่สำคัญ 3) บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและศูนย์บริการโลจิสติกส์ 4) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

    2. ยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าโซ่อุปทาน เช่น 1) พัฒนาการบริหารจัดกรโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร 2) พัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการเติบโตของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม 3) การดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    3. การพัฒนาพิธีการศุลกากร กระบวนการนำเข้า-ส่งออกที่เกี่ยวข้อง และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น 1) พัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากระบบ National Single Window (NSW) 2) พัฒนากระบวนการโลจิสติกส์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 3) พัฒนาการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดนและข้ามแดน 4) เร่งพัฒนาความร่วมมือและแก้ไขอุปสรรคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 5) ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

    4. พัฒนาศักยภาพ Logistics Service Providers: LSPs เช่น 1) เสริมสร้างศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ 2) ยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยสู่เวทีสากล

    5. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการติดตามผลด้านโลจิสติกส์ เช่น 1) ส่งเสริมการวิจัย และนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัยภายในประเทศ 2) ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนากิจกรรมโลจิสติกส์ 3) พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ 4) ติดตามและประเมินผลการพัฒนาด้านโลจิสติกส์

สำหรับเป้าหมายความสำเร็จภายใต้ร่างแผนปฏิบัติ ประกอบด้วย 1. สัดส่วนต้นทุนการขนส่งสินค้าต่อ GDP ลดลงเหลือร้อยละ 5 ต่อปี (ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 6.4) 2. สัดส่วนต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังต่อ GDP ลดลงเหลือร้อยละ 5 ต่อปี (ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 6.4) 3. อันดับดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index: LPI) ด้านพิธีการศุลกากร อยู่ในอันดับ 25 หรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 3.20 (ปี 2561 อยู่อันดับที่ 31 มีคะแนนอยู่ที่ 3.14 คะแนน) และ 4. อันดับ LPI ด้านสมรรถนะ LSPs ทั้งภาครัฐและธุรกิจ อยู่ในอันดับ 25 หรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 3.60 (ปี 2561 อยู่อันที่ 32 มีคะแนนอยู่ที่ 3.41 คะแนน)

ทั้งนี้ สถานการณ์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในภาพรวม ปี2564 ไทยมีสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.8 ต่อ GDP ลดลงจากสัดส่วนปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 14.0 ต่อ GDP ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศและแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำหรับในปี 2565 ต้นทุนโลจิสติกส์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่า สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยจะปรับลดลงอยู่ที่ ร้อยละ 12.9 – 13.3 ต่อ GDP

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่านอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้า และบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 1/2561 เพื่อมอบหมายให้กรมศุลกากรเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการและพัฒนาระบบ NSW และกำหนดขอบเขตหน้าที่ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ให้เหมาะสม

ปลื้ม “ชุมชนไม้มีค่า” ใช้ไม้ 1.4 แสนต้น ค้ำหนี้ 136 ล้าน

ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่ ครม. มีมติ เมื่อ 18 กันยายน 2561 เห็นชอบการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า โดยมีเป้าหมายระยะ 10 ปี เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือน ด้วยการปลูกไม้มีค่าครัวเรือนละ 400 ต้น ส่งผลให้มีจำนวนต้นไม้ 1,040 ล้านต้น ได้พื้นป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ ส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1,040 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้นไม้มีค่า มี 58 ชนิด เช่น 1. สัก 2. พะยูง 3. เต็ง 4. รัง 5. มะขามป้อม 6. จามจุรี 7. สัตบรรณ 8. ตะเคียนทอง 9. นางพญาเสือโคร่ง 10. มะขาม ซึ่งในวันนี้ ครม. ได้รับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562-2564) กล่าวคือ

    1. มีการปลดล็อกกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1) กรมป่าไม้ออกพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 เพื่อปลดล็อกไม้หวงห้าม จากเดิมที่กำหนดให้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ขึ้นในที่ดินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ป่าเป็น “ไม้หวงห้าม” 2) จัดทำระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตให้ทำการปลูกสร้างสวนป่า หรือปลูกไม้ยืนต้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2565 และ 3) ผลักดันการลดภาษีและยกเว้นภาษีสำหรับไม้ ไม้แปรรูปและของทำด้วยไม้

    2. เพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์กล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจสูง อาทิ กรมป่าไม้เพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์กล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งสิ้น 243.8 ล้านกล้าไม้ และได้จัดทำเรือนเพาะชำกล้าไม้ชุมชนใน 730 ชุมชน ซึ่งสามารถผลิตกล้าไม้ได้ชุมชนละ 20,000 กล้าไม้ รวมทั้งสิ้น 14.6 ล้านกล้าไม้

    3. วิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน อาทิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น 1) ฐานข้อมูล “ชนิดไม้มีค่าที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และแปลงสาธิตการปลูก” 2) พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้เพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ 3) พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแม่นยำทางป่าไม้ (Precision Forestry) เพื่อสนับสนุนการจัดการและการประเมินมูลค่าไม้ 4) ใช้ประโยชน์จากไม้ขนาดเล็ก เศษไม้ ปลายไม้ เพื่อการสร้างบ้าน อาคาร เฟอร์นิเจอร์ เชื้อเพลิงอัดเม็ดและพลังงาน

    4. การขยายผลในพื้นที่ทั่วประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ขยายผลและสื่อสารสร้างการรับรู้และเข้าใจมีชุมชนเข้าร่วมโครงการผ่านกิจกรรมป่าครอบครัว 1,218 ราย ในพื้นที่ 15,123 ไร่ สามารถดำเนินการชุมชนไม้มีค่า คิดเป็นมูลค่า 227.74 ล้านบาท และการใช้ประโยชน์ทางอ้อมผ่านการประเมินมูลค่าระบบนิเวศสะสม พ.ศ.2562-2564 คิดเป็นมูลค่า 1,202.38 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 1,430.12 ล้านบาท

    5. ประเมินมูลค่าการตลาดและแปรรูป อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สร้างมูลค่าเพิ่มชุมชนไม้มีค่า 321 ชุมชน มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้และป่าไม้ประมาณ 90 ล้านบาท และได้ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนประมาณ 4.68 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรในการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน เบื้องต้นได้สนับสนุนเฉพาะในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ 292 ต้น และให้มูลค่าหลักประกันแก่เกษตรกรที่ใช้ต้นไม้ยื่นกู้คิดเป็นมูลค่า 3.1 ล้านบาท

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนผ่านกลไกอื่น ๆ อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการจดทะเบียนการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 1.43 แสนต้น จำนวนเงินค้ำประกัน 136.83 ล้านบาท นอกจากนี้ ความสำเร็จจากการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะในส่วนป่าเศรษฐกิจ ประมาณ 1.07 แสนไร่ สร้างความสมดุลของระบบนิเวศจากฐานความหลากทางชีวภาพในพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ และสามารถลดจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ทั้งนี้ แผนการดำเนินโครงการชุมชนไม้มีค่า ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-2567) คาดว่าจะเกิดชุมชนไม้มีค่าเพิ่มขึ้น 4,969 ชุมชน ประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ 4,650 ครัวเรือน มีต้นไม้เพิ่มขึ้น 60 ล้านต้น และมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 14,040 ไร่

ใช้ PPP สร้างทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) (โครงการร่วมลงทุน O&M) ตามหลักการของโครงการร่วมลงทุน O&M ที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คกก.PPP) ให้ความเห็นชอบ โดยให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ดร.รัชดา กล่าวว่า ปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (โครงการ M82) ระยะทางประมาณ 24.7 กม. แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ด้วยแหล่งเงินงบฯ ปี 63-65 คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 66 และระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ด้วยแหล่งเงินงบฯ เงินทุนค่าธรรมเนียม ผ่านทาง (เงินทุนค่าธรรมเนียมฯ) จากแผนประมาณการรายจ่ายที่ได้ขอความตกลงกับกระทรวงการคลังระหว่างปี 65-67 คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 68

ดร.รัชดา กล่าวต่อไปว่า โครงการร่วมลงทุน O&M ครอบคลุมงานออกแบบ ก่อสร้าง และติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องสำหรับโครงการ M82 ดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ M82 ทั้งในส่วนของงานโยธา ที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานระบบที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ทั้งนี้ โครงการร่วมลงทุน O&M มีลักษณะโครงการ ดังนี้ ควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ รองรับการสัญจรที่สามารถใช้ความเร็วได้อย่างปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด มีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) คิดค่าผ่านทางตามระยะทางแบบมีค่าแรกเข้า ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ระบบ M-Flow) หรือรูปแบบที่เหมาะสม-มีจุดขึ้น-ลง โครงการทางหลวงพิเศษ M82 เพื่อเชื่อมโยง กับโครงข่ายคมนาคมหลักตลอดแนวเส้นทาง รวม 6 แห่ง มีอาคารศูนย์ควบคุมกลาง อาคารหน่วยตรวจการณ์และกู้ภัย อาคารศูนย์ดำเนินงานและบำรุงรักษา และอาคารปฏิบัติงานซ่อมบำรุง

สำหรับระยะเวลาของโครงการร่วมลงทุน O&M รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 32 ปี นับแต่วันเริ่มต้นงานที่ ทล. กำหนดไว้ ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้างไม่เกิน 2 ปี และระยะเวลาการดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 30

ผ่านแผนยุทธศาสตร์วิจัย-นวัตกรรม ตั้งเป้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วปี’80

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ส่งเสริมให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน พ.ศ.2580 พร้อมทั้งเห็นชอบร่างแผนระยะ 5 ปี ซึ่งอยู่ภายใต้ร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ.2566 – 2570 และร่างแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566 – 2570 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ฉบับแรก ร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 เป็นการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” โดยมีเป้าประสงค์หลัก คือ 1) คนไทยมีสมรรถนะและทักษะสูงเพียงพอ 2) เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3) สังคมไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ร่างกรอบนโยบายนี้ จะขับเคลื่อนภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

    ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต แผนงานที่สำคัญ เช่น พัฒนาระบบเศรษฐกิจ BCG พัฒนาและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบราง

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนา อย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก แผนงานที่สำคัญ เช่น พัฒนาเมืองน่าอยู่ มุ่งเน้นการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต แผนงานที่สำคัญ เช่น พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและบริการแห่งอนาคต

    ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัย ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน แผนงานที่สำคัญ เช่น พลิกโฉมระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต พลิกโฉมมหาวิทยาลัยให้เป็นเลิศตามบทบาทการสร้างกำลังคน ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent)

ฉบับที่สอง คือ ร่างแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ.2566 – 2570 มีวิสัยทัศน์ คือ “อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา ปลูกฝังคุณธรรมเพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ดำเนินการภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ

    ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพคน (Capacity Building) ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1) การจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต 2) ยกระดับคุณภาพการศึกษาและสมรรถนะของกำลังคน 3)การสร้างเสริมบุคลากรคุณภาพสูง

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ 1) การวิจัย นวัตกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี 2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือปัจจัยเอื้อภายในสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation) ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1) การบริหารจัดการและธรรมาภิบาล 2) การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์ที่หลากหลาย 3) ส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินในระบบอุดมศึกษา 4) ส่งเสริมการอุดมศึกษาดิจิทัล

นอกจากนี้ ยังมีแผนเร่งด่วนภายใน 3 ปี ที่กำหนดเป็น 7 นโยบายหลัก เช่น 1. นโยบายด้านกำลังคนสมรรถนะและศักยภาพสูง ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2. นโยบายด้านวิสาหกิจชุมชน ระบบเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม รวมถึง SMEs ธุรกิจ ฐานนวัตกรรม และ Startup 3) การรองรับสังคมสูงวัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสมบูรณ์

ดร.รัชดากล่าวว่า ฉบับที่สาม คือ ร่างแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566 – 2570 มีวิสัยทัศน์ “พลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วและพร้อมสำหรับ โลกอนาคต โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างมูลค่าและคุณค่าด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย โดยการสานพลังหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม” ดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า แผนงาน เช่น พัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนา การผลิตและการส่งออกอาหาร ผลไม้ไทย และสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน แผนงาน เช่น พัฒนาผู้สูงอายุในภาคชนบทและเมือง เพิ่มโอกาสและลดช่องว่างของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค แผนงาน เช่น พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าสู่อนาคต อวกาศ รวมทั้งดาวเทียม ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แผนงาน เช่น พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกรที่มีทักษะสูงให้มีจำนวนมากขึ้น และตรงกับความต้องการของประเทศ

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า กรอบนโยบายที่กำหนดครั้งนี้ ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่จะพลิกโฉมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยบูรณาการทุกภาคส่วน รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับเอกชนและภาคี ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีในระดับสากลและกำลังคนของประเทศมีผลิตภาพและศักยภาพที่สูงขึ้น

เห็นชอบแผนแม่บทอวกาศ – นโยบายดาวเทียม

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566-2580 (National Space Master Plan 2023-2037) และเห็นชอบหลักการร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566-2580 (National Space Master Plan 2023-2037) มีวิสัยทัศน์ คือ “มุ่งพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศเพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ดำเนินพันธกิจ เช่น พัฒนาและส่งเสริมความมั่นคงอวกาศ พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอวกาศ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศ ติดตาม เฝ้าระวัง วิจัยและสำรวจอวกาศ ร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติฉบับนี้ จะขับเคลื่อนภายใต้ 8 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

    ยุทธศาสตร์ที่ 1 กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง

    ยุทธศาสตร์ที่ 2 กิจการอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ

    ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ

    ยุทธศาสตร์ที่ 5 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศ

    ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน

    ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ

    ยุทธศาสตร์ที่ 8 การสร้างกลไกการขับเคลื่อนแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ โดยมีเป้าหมาย เพื่อใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศในการรักษาความมั่นคง สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การให้บริการสาธารณะและเชิงพาณิชย์ รวมถึงขับเคลื่อนกิจการอวกาศแบบบูรณาการ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอวกาศที่มีคุณภาพ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับกิจการอวกาศ และร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการอวกาศ

ส่วนร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการมีดาวเทียมสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่สามารถกำกับดูแลและบริหารจัดการเอง เพื่อใช้ในการให้บริการสาธารณะ ความมั่นคง และเชิงพาณิชย์ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐได้รับการจัดสรรช่องสัญญาณ จำนวน 1 วงจรดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หรือสัญญาสัมปทานดาวเทียม เพื่อใช้ในกิจการของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานในปัจจุบัน ต่อมาหน่วยงานของรัฐได้มีการเช่าซื้อช่องสัญญาณของดาวเทียมเพิ่มเติมจากดาวเทียมไทยคม 6 ไทยคม 7 และช่องสัญญาณจากต่างชาติ โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมภาพถ่าย ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และดาวเทียมระบบนำร่อง จึงจำเป็น ต้องมีดาวเทียมที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐหรือดาวเทียมที่รัฐ มีสิทธิในการควบคุม บริหารจัดการเพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องร่างนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติขึ้น โดยมีแนวความคิดหลัก คือ

    1.จัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ

    2.ใช้ประโยชน์จากเอกสารข่ายงานดาวเทียมและตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมในนามประเทศไทย

    3.ให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT)รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ

    4.ดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เป็นการแข่งขันกับเอกชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ NT ดำเนินการจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสำรวจความต้องการใช้งานดาวเทียมในเชิงลึกต่อไป และร่วมพิจารณาเพื่อให้การดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติเกิดผลสำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ครม. ยังได้รับทราบความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงการดำเนินงานศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทย ได้มอบหมายสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ให้ดำเนินการขยายผล และส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจอวกาศแก่ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงขยาย ขีดความสามารถของศูนย์ประกอบทดสอบดาวเทียมแห่งชาติให้รองรับการให้บริการหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป

ตั้งสถาบัน Big Data แห่งชาติ

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เพื่อเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นหน่วยงานกลางเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศโดยตรง ทำหน้าที่ให้บริการ ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย

นางสาวทิพานันกล่าวว่า เดิมสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562-มิถุนายน 2565 ปัจจุบันได้สิ้นสุดไปแล้ว

และการดำเนินการของ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐดังกล่าว มีผลการดำเนินการที่สำคัญพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีข้อมูลของประเทศกว่า 2,300 คนและให้บริการด้านข้อมูลขนาดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 104 โครงการ อาทิเช่น

    1. โครงการ Health Link เป็นโครงการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาทั่วประเทศ เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติการรักษา ทำให้มีการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านประวัติการรักษาข้ามโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกปลอดภัยให้กับการดูแลสุขภาพของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางสำหรับการขอประวัติการรักษา ลดค่าบริหารจัดการเอกสารของโรงพยาบาล

    2. โครงการ Co-Link ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อบริหารจัดการเตียง ทะเบียนผู้ติดเชื้อ การครองเตียง ผลตรวจและการฉีดวัคซีน

    3. โครงการ Travel Link ระบบบริการข้อมูลอัจฉริยะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งเป็นข้อมูลให้บริการข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะช่วยวางแผนธุรกิจท่องเที่ยว

    4. โครงการ National Health Data Platform ที่เป็นความร่วมมือของ 5 กระทรวง คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เมื่อสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หมดระยะเวลาดำเนินการ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงเสนอ ร่าง พ.ร.ฎ.นี้ โดยมีหลักการยกฐานะสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นสถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อขยายภารกิจจากเดิม โดยให้เน้นการพัฒนาให้เกิดสังคมการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของประเทศไทย (Data-Driven Nation) โดยเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานส่งเสริมให้คำปรึกษาและบริการการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันในการวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็น Thailand 4.0 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สถาบันคลังข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่จะจัดตั้งตามกฎหมายนี้จะเป็นองค์การมหาชน ในกลุ่มที่ 2บริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้านหรือสหวิทยาการ เป็นหน่วยงานกลางเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน วิเคราะห์ และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศโดยตรงมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ด้าน คือ

    1. จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

    2. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างให้เกิดแพลตฟอร์มข้อมูลที่บูรณาการข้อมูลรายสาขา สำหรับการใช้ประโยชน์เชิงวิเคราะห์ เช่น การกำหนดนโยบายในเรื่องต่างๆ การวางแผนธุรกิจ

    3. ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาด้านข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน และ

    4. ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมด้านข้อมูลขนาดใหญ่ให้มาตรฐาน

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า สถาบันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่จะใช้ข้อมูลร่วมกันในการวางแผนนโยบายพัฒนาประเทศ นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายของประเทศและการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ โดยในแผนงานระยะ 5 ปีจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว แรงงาน และยุติธรรม รวมไปถึงการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ ข้อมูลข้ามสาขา (Agenda-based) และเป็นการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่เน้นสนับสนุนเชิงนโยบายด้านการจัดการข้อมูลภาครัฐ ด้านการแพทย์ การพัฒนาหน่วยงานภาครัฐให้สามารถทำงานผ่านระบบดิจิทัล และสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบสถิติของประเทศ ทั้งนี้ในเรื่องของชื่อสถาบันที่จะจัดตั้ง ทาง ครม. ได้มอบให้สำนักงานกฤษฎีกาไปพิจารณาและแก้ไขเพื่อความเหมาะสมและถูกต้องต่อไป

แก้ กม. ป้องกันสถานศึกษาบีบ นร. ตั้งครรภ์ย้ายที่เรียน

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 7 แห่งกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 โดยให้เพิ่มเติมว่า “การย้ายสถานศึกษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์” เพื่อเป็นการคุ้มครองนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องจริงๆ

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งสร้างโอกาสในการศึกษาที่เสมอภาคและต้องการให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาในระบบได้ จึงมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำกรณีที่มีนักเรียนนักศึกษาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแล้วต้องออกจากระบบการศึกษา ซึ่งในปี 2561 ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ข้อ 7 ว่า “สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการเป็นการย้ายสถานศึกษา”

แต่ร่างกฎกระทรวงใหม่นี้จะเพิ่มเติมเป็น “สถานศึกษาตามข้อ 2 ที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษาต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการเป็นการย้ายสถานศึกษาตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองนักเรียน หรือ นักศึกษา ซึ่งตั้งครรภ์ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ไม่ถูกผลักดันให้นักเรียนหญิง ซึ่งตั้งครรภ์ออกจากสถานสถานศึกษาเดิม จึงได้เสนอให้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในข้อ 7 ให้การย้ายสถานศึกษา “ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้เป็นการอุดช่องว่างสภาพปัญหาในทางปฏิบัติ ในกรณีที่สถานศึกษาบังคับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ย้ายสถานศึกษาโดยที่นักเรียนไม่เต็มใจ แล้วต้องพบปัญหาในการหาสถานศึกษาเข้าใหม่” นางสาวทิพานัน กล่าว

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2565 เพิ่มเติม