ThaiPublica > เกาะกระแส > HOOK Learning แพลตฟอร์มออนไลน์ห้องเรียนแห่งยุคสมัย เรียนรู้ “เด็กสมัยนี้” คิดอะไรกันอยู่

HOOK Learning แพลตฟอร์มออนไลน์ห้องเรียนแห่งยุคสมัย เรียนรู้ “เด็กสมัยนี้” คิดอะไรกันอยู่

16 สิงหาคม 2023


ที่มาภาพ : https://hooklearning.com/hook-opening-event-talk/?fbclid=IwAR28NqcV1d0k3rFlOIOLJTI4V0bTE84XNeSLKj6pU1uDkOh25ixu7199U1Q

เด็กและเยาวชนคืออนาคตของประเทศ เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมที่เร็ว แรง สับสน วุ่นวาย และผันผวน ได้ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากมายไม่รู้ที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร ขณะเดียว ผู้ใหญ่ ที่รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู เองก็รับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้แทบไม่ทัน ทักษะและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยมีกลับไม่สามารถนำมาใช้ได้กับเด็กและเยาวชนยุคนี้ จนเกิดปัญหามากมายตามมา

ท่ามกลางความสับสน วุ่นวายนี้ ได้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นปัญหา และอยากมีส่วนร่วมในการเสนอทางเลือกที่สามารถใช้ได้จริงและน่าเชื่อถือ จึงรวมตัวกันสร้างแพลตฟอร์มขึ้น เป็นแพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์แห่งใหม่ ชื่อ HOOK Learning ที่ ‘จิรภัทร เสถียรดี’ ผู้อำนวยการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape หนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งบอกว่า จุดมุ่งหมายคือ การนำชุดความรู้ดี ๆ มาถ่ายทอดเป็นคอร์สการเรียนรู้ออนไลน์ ที่เป็นสาธารณะใช้บริการได้ฟรี โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นกองหนุนหลัก

‘ณัฐยา บุญภักดี’ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. บอกว่า ไอเดียนี้ สสส.และ Bookscape ใช้เวลาในการบ่มเพาะร่วมกับทีมงานหลากหลายมากว่า 2 ปี เพื่อให้ได้ความรู้ที่ช่วยให้ทุกคน ไม่ว่าเด็ก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ครู คนทำงานด้านเด็กและเยาวชน สามารถไปรอดได้ ไม่ใช่แค่รอดชีวิต แต่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เติบโตได้เต็มศักยภาพ

‘จิรภัทร’ กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของ HOOK คือ “เข้าใจเด็ก เข้าใจเรา และเข้าใจโลก” ด้วยการส่งต่อความรู้ที่น่าเชื่อถือ มีความร่วมสมัย เป็นปัจจุบัน ที่จะช่วยให้ “เข้าใจเด็ก” ผู้ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนของสังคมต่อไป “เข้าใจเรา” เพื่อเข้าใจถึงพัฒนาการของตัวเราซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็กมาก่อน มองเห็นพลวัตซับซ้อนระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ และ “เข้าใจโลก” ด้วยชุดข้อมูลความรู้ล่าสุดที่จะช่วยให้เราเป็นประชากรโลกที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจากการปรึกษาหารือกันแล้ว ระยะแรกจะเปิดสอนออนไลน์ 3 วิชา แต่ละวิชาจะมี 7 บทเรียน

ที่มาภาพ: https://hooklearning.com/hook-opening-event-talk/?fbclid=IwAR28NqcV1d0k3rFlOIOLJTI4V0bTE84XNeSLKj6pU1uDkOh25ixu7199U1Q

วิชาแรกที่มีการพูดคุยกันมาก และอยากนำเสนอ คือ เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก Child Psychology 101 ที่สอนและพัฒนาหลักสูตรโดย ครู’เม เมริษา ยอดมณฑป’ เจ้าของเพจ ตามใจนักจิตวิทยา มีผู้ติดตามประมาณ 3 แสนคน และเป็นที่พึ่งทางใจของคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ จุดเด่นของคลาสนี้ คือ ความเข้าใจเด็ก เข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์ หลักสูตรนี้ จึงไม่ได้พูดเพียงการพัฒนาการทางสมองของเด็ก แต่ผู้ใหญ่ดูได้ เพื่อจะเข้าใจตัวเอง และการเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์อาจจะแก้ปมที่เคยค้างคามาก่อน คอร์สนี้จึงทำให้เข้าใจตัวเอง การสร้างคุณค่าในตัวเอง รักตัวเอง

วิชาต่อมา คือ โรคซึมเศร้าในเยาวชน : ช่วยเหลือ รักษาต้นกล้าแห่งความหวัง เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น ขณะที่แพทย์มีจำนวนไม่ทันผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องโรคซึมเศร้า แบบไหนที่เรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้า กระบวนการรักษามีความซับซ้อนน่ากลัวหรือไม่ ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็ก และอยากที่จะเข้าไปช่วย แต่ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีความรู้ คอร์สนี้ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจําภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มาช่วยออกแบบชุดความรู้เพื่อให้ผู้ใหญ่มีความมั่นใจในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็ก ตั้งแต่การป้องกัน การเยียวยา และการก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ในคอร์ส จะมีตั้งแต่การจับสัญญาณ ไปจนถึง การอยู่ร่วมกันในบ้าน การสื่อสารเชิงบวก หรือกระทั่งการจับสัญญาณการฆ่าตัวตาย จนถึงการแก้ไขเชิงสังคม

“ปรากฏว่า คอร์สนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ทำงานเกียวกับเด็ก มีการแชร์ออกไปจำนวนมาก มีการแบ่งปันประสบการณ์ว่าได้ความรู้ และสามารถนำไปใช้ได้จริง”

วิชาที่สาม คือ มุ่งไปที่วัยรุ่นตอนปลาย หรือวัยมหาวิทยาลัย ที่มีปัญหาคลาสสิก คือ ไม่รู้จักตัวเอง ตอนเรียนมัธยมศึกษา จะรู้สึกว่า ไม่รู้จะเรียนต่ออะไรดี มืดแปดด้าน เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ทำอะไรดี คลาสนี้ได้ ‘เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล’ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ LUKKID และ d. Leader จาก Stanford d. school ผู้แปลหนังสือ คู่มือออกแบบชีวิต ด้วย Design Thinking

ผศ.นพ.พนม ผู้ออกแบบและพัฒนาหลักสูตร โรคซึมเศร้าในเยาวชน : ช่วยเหลือ รักษาต้นกล้าแห่งความหวัง กล่าวว่า ปัจจุบันเราเจอปัญหาสุขภาพจิตเยอะมาก โดย 1 ใน 8 ของคนทั่วโลกมีปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสุขภาพจิตที่เจอกันมาก คือ โรคซึมเศร้า ที่ไม่ได้เจอเฉพาะในผู้ใหญ่ แต่เด็กและวัยรุ่นมีจำนวนมาก และเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ 1 ใน 8 แต่ประมาณ 20-30% ที่อยู่ในอาการซึมเศร้า และในจำนวนนี้มี 10% ที่กลายเป็นโรคซึมเศร้ารวมอยู่ด้วย แต่ถ้ามีความรู้ และลองสำรวจตัวเองว่าเคยมีความรู้สึกซึมเศร้าหรือไม่ ถ้ายอมรับว่ามีก็จะหยุดได้

ทั้งนี้ โรคซึมเศร้า ตอนนี้พบสาเหตุชัดเจนว่า เกิดจากร่างกาย เกิดจากสารสื่อนำประสาทบางตัวในสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ที่พบบ่อยคือ เซโรโทนิน เหมือนโรคเบาหวานที่ขาดสารอินซูลิน แต่พอเซโรโทนินลดลง อารมณ์ก็ตก ถามว่า ลดลงได้อย่างไร มันลดลงเองได้โดยไม่มีสาเหตุ หรือมีสาเหตุแต่ลดลงเล็กน้อย หรือบางคนมีสาเหตุใหญ่ เช่น ความเครียดเรื้อรัง หรือภาวะต่าง ๆ เช่น หลังโควิดพบว่า มีคนซึมเศร้าเยอะขึ้น หลังภัยพิบัติสึนามิ คนที่ประสบเหตุแรง ๆ จะมีภาวะซึมเศร้าหลังจากนั้น ไม่ได้เกิดทันที สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุว่าทำไมรักษาให้หายได้ เพราะหลักการรักษาคือให้ยาปรับระดับเซโรโทนิน ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ โดยบางครั้งไม่ต้องแก้สาเหตุ แต่บางคนมีสาเหตุอื่นประกอบ นอกจากเซโรโทนินต่ำแล้ว จะมีปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องครอบครัว ในโรงเรียน ถูกบูลลี่ ถูกทำร้าย สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเสริม ถ้าช่วยกันแก้ไขก็จะทำให้หายเร็ว

“การได้ความรู้ หรือทักษะเบื้องต้นจากสื่อที่ HOOK ทำขึ้นจะทำให้ทำความรู้จักโรคซึมเศร้า เพื่อหาทางช่วยเหลือได้ ช่วยโรคนี้ จึงสามารถค้นหาได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นจิตแพทย์ และช่วยให้ดีขึ้นได้ในเบื้องต้น หรือช่วยให้ถึงมือแพทย์ผู้รักษาได้”

ผศ.นพ. พนม กล่าวว่า คอร์สนี้ออกแบบมาแบบครอบจักรวาล คือเด็ก วัยรุ่น เรียนรู้และใช้กับตัวเองได้ เหมือนแผนที่นำทางที่เชื่อมโยงไปคอร์สอื่น ๆ คือ จิตวิทยาเด็ก ที่สอนให้เรียนรู้เรื่องของตัวเอง คอร์สการออกแบบชีวิต เพื่อให้รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร มีเป้าหมายชัดเจน เป็นจุดสำคัญที่ทำให้มีความสุขในชีวิต ฉะนั้น คนที่มีพื้นฐานด้านจิตวิทยา มีการเลี้ยงดูที่ดี มีเป้าหมายชีวิตที่ดีตั้งแต่เด็กถึงวัยรุ่นก็จะไม่เข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่าย หรือถ้าเป็นก็จะหายเร็ว บางคนพบว่า หายได้ด้วยตัวเอง คือ ปัจจัยจากตัวเองที่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ผ่านมา ที่เสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ทำให้มีความแข็งแรงทางจิตใจ และไม่ซึมเศร้า หรือซึมเศร้าแต่หายได้เร็ว

ขณะที่มีปัจจัยภายนอกที่ช่วยฟูมฟักเขา โอบอุ้มเขา คือพวกเราทุกคน ทั้งพ่อแม่ ครู ถ้าเข้าใจเรื่องนี้จะป้องกันได้เยอะ และเสริมสร้างด้วย ปัจจุบัน จิตแพทย์เริ่มไปทำงานกับโรงเรียนในการเสริมสร้างกับเด็กและวัยรุ่นในโรงเรียนไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ เหนือกว่านั้นเชื่อว่า เขามีศักยภาพเต็มที่ในการต่อสู้กับชีวิต ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขได้

สำหรับวิธีสังเกต เช่น คนที่อกหัก คนที่สูญเสีย มีภาวะซึมเศร้าได้ แต่จะเป็นชั่วคราว ภายในเวลาประมาณ 3 เดือน เพราะเชื่อว่าคนเรามีกลไกทางจิตใจที่จะเอาชนะอาการเหล่านี้ได้จากการปรับตัวของเรา แต่ถ้าเป็นยาวกว่านั้น ให้สงสัยว่าอาจจะมีความปกติเกิดขึ้น เพราะถ้าโซโรโทนินลดต่ำถึงระดับหนึ่ง กลไกเหล่านั้นใช้ไม่ได้แล้ว ต้องใช้ยาช่วย โดยอาการของโรคซึมเศร้า เริ่มจากอารมณ์ตก จากน้อย ๆ ไม่สนใจอะไร ไม่สดชื่นร่าเริง และหมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ อะไรที่เคยทำได้และสนุก จะลดลงไป ตื่นเช้าไม่อยากลุกไปไหน ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากทำงาน สองอาการนี้สำคัญมาก เป็นอาการหลักของโรคซึมเศร้า หลังจากนั้นจะรบกวนร่างกาย เช่น เบื่ออาหาร กินไม่ได้ หรือนอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ ตื่นตีสอง ตีสาม แล้วหลับต่อไม่ได้ สมาธิ ความจำลดลง พลังลดลง เหนื่อยง่าย เพลียง่าย ไม่มีแรง มองทุกอย่างด้านลบหมดทั้งต่อตัวเองและคนอื่น จนกระทั่งรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า อยู่ไปไม่มีประโยชน์ และอยากตาย คิดฆ่าตัวตาย ซึ่งสามารถเข้าไปดูได้ใน HOOK

“สรุป คือ โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ทางร่างกาย และไม่ใช่โรคจิต ไม่ใช่โรคประสาท อาจจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคทางอารมณ์ หรือ mood disorders โดยผลการรักษาค่อนข้างดีมาก รักษาหายถึง 80% โดยใช้ยาร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ สิ่งแวดล้อมที่ดี ส่วนใหญ่จะหายปกติ”

‘เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล’ ผู้ออกแบบและพัฒนา คอร์ส Design Thinking for Student Life กล่าวว่าแนวคิดการออกแบบชีวิต Stanford d. school ใช้หลักแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบธุรกิจ มาปรับใช้กับการแนะแนวชีวิต โดยหลักสูตรใน HOOK เป็นหลักสูตรให้น้อง ๆ นักเรียนหาเส้นทางเจอมากขึ้นว่า ควรใช้ชีวิตอย่างไรดี ไปอย่างไรต่อดี เพราะทุกคนกำลังอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง บริบทของชีวิตเปลี่ยนไป บริบทของโลกเปลี่ยนไป เวลาออกแบบชีวิตจึงไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยกรอบความคิดแบบเดิม มีคำหนึ่งในหนังสือของมาแชล โกลด์สมิธ ว่า “สิ่งที่พาคุณมาถึงตอนนี้ อาจจะไม่สามารถพาคุณเดินต่อไปข้างหน้าได้” what got you here, won’t get you there การก้าวไปข้างหน้าจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนท่าเสมอ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ปกติ เวลาเจอการเปลี่ยนแปลงในชีวิต จะตกใจ นึกภาพตอนโควิดมา เราตกใจ สักพักเมื่อการเปลี่ยนแปลงยังคงอยู่ เราจะเข้าสู่โหมด denier คือ ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ อารมณ์ประมาณ อยู่แป๊บเดียวคงไปมั้ง คงไม่กระทบชีวิตเราขนาดนั้น ไม่ได้คิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะยั่งยืนและมีผลต่อการปรับตัว สักพักก็เริ่มปลง accept ทำใจว่าชีวิตคงเป็นแบบนี้ ต้องปรับตัวให้ได้

“แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่การปรับตัวไม่คงที่ ก็จะเริ่มเข้าสู่โหมด depress กดดัน ซึมเศร้า ฯลฯ เป็นจุดที่คนมักจะเครียดและไปต่อไม่ได้ สับสน ว่าชีวิตเราจะไปต่ออย่างไรดี Design Thinking เป็นกระบวนการหนี่งที่เชื่อมโยงกับภาวะเหล่านี้ การออกแบบชีวิตได้ คือ ต้องพาตัวเองออกจากแอ่งที่ว่า โดย experimental คือ ออกแบบการทดลองใหม่ ๆ คอร์สนี้”

สื่อการเรียนรู้จาก HOOK Learning ที่มาภาพ : https://hooklearning.com/hook-opening-event-talk/?fbclid=IwAR28NqcV1d0k3rFlOIOLJTI4V0bTE84XNeSLKj6pU1uDkOh25ixu7199U1Q

เมษ์ บอกว่า “เป้าหมายของคอร์ส อาจจะไม่ใช่ดูแล้วรู้เลยว่าปลายทางชีวิตคืออะไร มันไม่ใช่ยาวิเศษขนาดนั้น เป้าหมายหลักสูตรจึงไม่ใช่ออกแบบปลายทาง เพราะสิ่งที่เราคิดกับชีวิตจริงไม่ได้เหมือนกัน แนวคิดของหลักสูตรนี้ จะเน้น ถ้าชีวิตจริงเป็นแบบนี้ เราจะออกแบบเข็มทิศของตัวเองอย่างไรดีให้รู้ว่า เราควรเลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา หรือจะหยุดแป๊บหนึ่ง ยังไม่เดินไปข้างหน้า เป็นการออกแบบเข็มทิศของตัวเอง”

โดยหลักสูตรจะแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน เรียกง่าย ๆ ว่า heart head hand คือ ถ้าจะออกแบบเข็มทิศของตัวเอง ก่อนจะเริ่มต้นคิดอะไร ขออยู่กับตัวเองสักพักก่อนว่า จริง ๆ จุดแข็งจุดอ่อน สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขคืออะไร เราเคยคิดหรือไม่ แม้กลุ่มเป้าหมายจะเป็นน้อง ๆ แต่คุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณครู ก็สามารถเป็นกระจกส่องให้น้อง ๆ ได้ พอเข้าใจแล้วก็หา option ให้ตัวเอง ลองตั้งคำถามใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยตั้ง สิ่งที่ดูตัน ๆ คุณพ่อคุณแม่ช่วยตั้งคำถามที่เป็นทางออกได้หรือไม่ เราอาจจะไม่ได้ให้คำตอบแต่ช่วยตั้งคำถามให้ และสุดท้าย การออกแบบเหมือนการทดลอง ต้องลงมือทำ

“ส่วนตัวดีใจมากที่มีเพจนี้ ปกติจะถูกเชิญไปบรรยายเรื่องนี้ในโรงเรียน แต่การมีแพลตฟอร์มนี้จะทำให้เด็ก ๆ จำนวนมาก คุณครูจำนวนมากเข้ามาดูซ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ เวลาไหนก็ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร และเป็นหลักสูตรที่เหมาะกับน้องที่กำลังสับสนว่าตัวเองจะไปต่ออย่างไรดี เคยสังเกตุตัวเองหรือไม่ จริง ๆ มีทางเลือกให้กับตัวเองหรือไม่ นอกจากน้อง ๆ คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ก็อาจจะได้ประโยชน์จากการชวนน้อง ๆ ลูกหลาน ลูกศิษย์ มาตั้งคำถามกับกระบวนการเหล่านี้ ที่สำคัญ คือไม่ใช่นั่งเรียนเฉย ๆ แต่เอาแนวคิดที่ได้ไปลองทำจริง ๆ”