ThaiPublica > เกาะกระแส > สถาบันปิดทองหลังพระฯ ดันแบรนด์ทุเรียน 3 จว.ใต้ ‘บาตามัส’ เพิ่มรายได้เกษตรกร

สถาบันปิดทองหลังพระฯ ดันแบรนด์ทุเรียน 3 จว.ใต้ ‘บาตามัส’ เพิ่มรายได้เกษตรกร

15 สิงหาคม 2023


สถาบันปิดทองหลังพระฯ ร่วมเกษตรกร เอกชน และส่วนราชการในพื้นที่ พัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้  สร้างแบรนด์ ‘บาตามัส’ กลิ่นหอม เนื้อหนานุ่ม หวานมัน เป็นราชาทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้  เพิ่มมูลค่าทสร้างรายได้ให้เกษตรกร 402 ล้านบาท

“ “บาตามัส” หรือ ทุเรียนหมอนทอง กลิ่นหอม เนื้อหนานุ่ม หวานมัน” เป็นราชาทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้

ที่ผ่าน การปลูกทุเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเพียงรายได้เสริมที่เข้ามาทดแทนรายได้จากสวนยางพาราเท่านั้น  มีผลตอบแทนต่ำที่สุด โดยตลาดทุเรียนภาคตะวันออกอย่าง จ.จันทบุรี จ.ระยองยังคงเป็นตลาดใหญ่

นอกจากนี้ทุเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แม้จะมีรสชาติหวาน อร่อยไม่แตกต่างจากทุเรียนภาคตะวันออก แต่มักจะขาดองค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพ การต่อรองกับตลาด เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ประสบปัญหาถูกกดราคา ต้องขายทุเรียนในราคาต่ำมานาน

กระทั่งในปี 2561 มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจำนวนมากร้องขอให้ช่วยเหลือ ทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริได้เข้ามาดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน  ภายใต้โครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณเพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนโดยกระบวนการดำเนินงานของสถาบันปิดทองหลังพระฯภายใต้ความร่วมมือบูรณาการจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปัตตานี นราธิวาสและยะลา

ตลอดระยะเวลา 5 ปีนับจากปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เพื่อเพิ่มมูลค่าประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ให้เกษตรกร และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน  และเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ

เมื่อไม่นานมานี้ นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ได้ลงพื้นที่จังหวัดยะลา แลกเปลี่ยนการดำเนินการโครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณ เพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ร่วมกับ นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าจังหวัดปัตตานี นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้  และตัวแทนสภาเกษตรกรกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่

นายกฤษฎา กล่าวว่า โครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณเพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน และสามารถสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรมากขึ้น จากการได้น้อมนำแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมาภายใต้หลักการ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา”

การพัฒนาคุณภาพทุเรียนใต้จึงเริ่มจากการทำความ “เข้าใจ” สาเหตุของปัญหามาจากคุณภาพของทุเรียนที่ขาดการดูแลที่ดีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดูแลการบำรุงต้นไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ทำความเข้าใจสภาพภูมิอากาศที่ทำให้มีหนอนเจาะเมล็ด ผลมีหนามแดงต้องจำหน่ายแบบเหมาสวน

หลังจากนั้น “เข้าถึง” เกษตรกร โดยการคัดเลือกเกษตรกรที่มีความขยันหมั่นเพียรใจสู้และมีความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพทุเรียนมาเรียนรู้การดูแลบำรุงรักษาสวนทุเรียนโดยเข้าร่วมกับโครงการก่อน ตามขั้นตอนในคู่มือการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพของสถาบันปิดทองฯและจัดทำขั้นตอนในการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ต้นทางกลางทางและปลายทาง

ส่วน “พัฒนา” จะเริ่มให้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่การจัดการบำรุงรักษาดินและน้ำในแปลงการดูแล ตามระยะการเจริญเติบโต การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลางทางคือการติดตามความก้าวหน้าและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอนจนถึงการเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ คือ ทุเรียนต้องไม่อ่อน มีปริมาณแป้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32 และปลายทางคือเชื่อมโยงตลาดพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนในการรับซื้อทุเรียน เพื่อสร้างมาตรฐานการรับซื้อ การคัดคุณภาพ และการรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

5 ปีคุณภาพทุเรียนสูง -สร้างเกษตรกรรายได้

นายกฤษฎา กล่าวว่าการพัฒนาคุณภาพทุเรียนประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกของโครงการฯ เมื่อสามารถเพิ่มผลผลิตทุเรียนคุณภาพจาก 800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,571 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รวม 402.02 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากรายละ 60,000 บาท เป็น 262,731 บาทต่อปี

“ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2561-2565 มีจำนวน 1,229 ราย จำนวนต้นทุเรียน 48,635 ต้นในพื้นที่ปลูก 2,432 ไร่ มีแปลงทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวม 770 คน และมีเกษตรกรที่สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพรวม 90 ราย เมื่อเทียบกับงบประมาณดำเนินการ 61,689,777 บาท คิดเป็นสัดส่วนความคุ้มค่าต่อการลงทุน 6.47 เท่า ส่วนในปี 2566 คาดการณ์จะมีผลผลิต 700 ตัน จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรวม 59.5 ล้านบาท”

นอกจากนี้ได้สร้างการรวมกลุ่มเกษตรจากเดิมที่เกษตรกรต่างคนต่างทำ ส่งทำให้ต้นทุนในการผลิตมีต้นทุนสูง มีปัญหาการปลูก ไม่รู้จะปรึกษาใคร ไม่มีอำนาจต่อรองในการขายผลผลิต สถาบันปิดทองหลังพระฯ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพ 20 วิสาหกิจชุมชน

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการเองได้อย่างยั่งยืนทั้งเรื่องคุณภาพ ตลาด และราคาที่เกษตรกรกำหนดได้เอง มีการจัดตั้งกองทุนปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น “หมอนทอง” (Monthong Application)

นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับติดตามผลผลิตทุเรียนคุณภาพทุกระยะ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการผลิตให้ได้ทันท่วงที และพัฒนาช่องทางจำหน่ายออนไลน์แบบสั่งจองล่วงหน้า

ผลการดำเนินงานของโครงการฯ ยังปรับเปลี่ยนให้รายได้ของเกษตรกรจากทุเรียนจากรายได้เสริมกลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ยกระดับเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ หรือ Smart Farmer ที่สามารถดูแลสวนทุเรียนอย่างเป็นระบบตามหลักเกษตรสมัยใหม่ พัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการ รู้จักกลไกตลาด การรวมกลุ่มที่มีอำนาจในการต่อรองราคา และวิธีบริหารจัดการ

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ

ควบคุมคุณภาพ ห้ามขายทุเรียนอ่อน

ส่วนการควบคุมคุณภาพไม่ให้มีการขายทุเรียนอ่อน นายกฤษฎา ได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการตัดทุเรียนอ่อน ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนเกษตรกรอำเภอ ตัวแทนกระทรวงพานิชย์ ออกตรวจสอบสวนทุกเรียนให้ให้การรับรองว่าไม่มีการตัดทุเรียนก่อนวันที่ 8 สิงหาคม 2566  หากสวนไหนตัดทุเรียนตามมาตรฐานก็ให้มีป้ายรับรองแต่หากสวนใหญ่ตัดทุเรียนอ่อนให้มีมาตรการ ไม่รับซื้อทุเรียนจากสวนดังกล่าวเป็นมาตรการลงโทษ

“หลังจากเข้ามาร่วมกับเกษตรกรและภาคเอกชน และราชการมาตลอด 5 ปี ทางสถาบันฯเห็นความสำเร็จ และเครือข่ายเกษตรกรเองเริ่มเข้มแข็งจึงจะขยับขยายเข้าไปส่งเสริม อาชีพอื่นๆ เช่น การเลี้ยงแพะนม แพะเนื้อ และหาพืชเกษตรกรรมตัวใหม่ อาทิ กาแฟ กล้วย มะพร้าว มาส่งเสริมให้เกษตรกรได้พิจารณาและที่สำคัญพืชชนิดใหม่ที่จะมาแนะนำเกษตรกรนั้น สถาบันปิดทองหลังพระฯ จะหาตลาดไว้รองรับก่อนด้วย”

ทุเรียน3ใต้ชายแดนใต้ ‘บาตามัส หรือทุเรียนหมอนทอง กลิ่นหอม เนื้อหนานุ่ม หวานมัน”

เร่งสร้างแบรนด์ทุเรียนใต้ ‘บาตามัส’

สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาโครงการคุณภาพทุเรียนฯ นายวีรเทพ  พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ  กล่าวว่า  เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ ตั้งใจสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ ‘บาตามัส’ ซึ่งแปลว่าหมอนทอง ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ ‘กลิ่นหอม เนื้อหนานุ่ม หวานมัน’ เป็นราชาทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเชื่อว่าสามารถแข่งขันกับทุเรียนในพื้นที่อื่นได้

ส่วนช่องทางการจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อทุเรียนในพื้นที่ในรูปแบบพันธมิตรการค้า หรือล้งพันธมิตร ที่ให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไปและยินดีร่วมสนับสนุนเงินเพื่อสบทบเข้ากองทุนพัฒนาทุเรียนของโครงการกิโลกรัมละ 2 บาท โดยเงินกองทุนนี้จะนำไปพัฒนาความรู้ของเกษตรกรในการดูแลทุเรียนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง การขายออนไลน์ในรูปแบบการสั่งจองล่วงหน้า ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนมากขึ้นและการประมูลผลผลิตทุเรียนยกสวนให้แก่ผู้รับซื้อหลายรายที่ให้ราคาสูงที่สุดซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการขายที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการขายรูปแบบใหม่ที่เกษตรกรสามารถกำหนดราคาทุเรียนได้เอง ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคา

นายวีรเทพ กล่าวว่าผลการดำเนินงานโครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณทุเรียนเพื่อเพิ่มมูลค่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี พบว่า เกษตรกรที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาก่อน เริ่มเห็นถึงกระบวนการ และผลการพัฒนาของโครงการ จึงขอให้อาสาสมัครพัฒนาคุณภาพทุเรียนของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ช่วยแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จได้ดีอย่างหนึ่ง

นายอับดุลมาจิก สะละ เกษตรกร ชาวสวนทุเรียน จ.ยะลา บอกว่าการเข้ามาร่วมกลุ่มเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน ทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการขายทุเรียนจากเดิมที่เราเหมาสวนให้ล้งเลย ราคาจะต่ำกว่า แต่เมื่อเรารวมกันคัดคุณภาพ และพัฒนาการปลูกร่วมกัน ทำให้เราสามารถต่อรองในเรื่องราคาได้ แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันได้

เช่นเดียวกับนายนิคม แก้วปลอด ต.ถ้ำทะลุ อ.บันนังสตา จ.ยะลา บอกว่าเดิมมีอาชีพปลูกยางพารา และปลูกทุเรียนเป็นอาชีพเสริมตามสวนยาง แต่เมื่อยางราคาตกก็เริ่มมาสนใจทุเรียน แต่ช่วงแรกในการปลูกไม่ได้ราคาเพราะขาดความรู้ และไม่เข้าใจว่าทุเรียนต้องดูแลอย่างไรให้มีคุณภาพ

แต่หลังจากปี 2562 เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพกับสภาบันปิดทองฯ ทำให้รายได้จากเดิมเพียง 5 หมื่นบาท ตอนนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าของรายได้เดิมและคิดว่าน่าจะสามารถสร้างรายได้จากทุกเรียนได้มากขึ้น เพราะจากปี 2562 รายได้จากการขายทุกเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี

ส่วนการขายจากเดิมที่ขายยกสวนฯ แต่เมื่อมารวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนทำให้สามารถคุยเรื่องราคากับล้งได้เพราะคัดเกรดทุเรียนส่ง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ปัจจุบันเครือข่ายฯ เริ่มมีความเข้มแข็งสามารถดำเนินการได้ด้วยกลุ่มเองเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินงานโครงการในระยะต่อไปสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาเพื่อให้กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน