ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > สกพอ.รุก EFC นำร่องห้องเย็น คงคุณภาพทุเรียน ขายราคาดีตลอดปี เพิ่มรายได้เกษตรกร

สกพอ.รุก EFC นำร่องห้องเย็น คงคุณภาพทุเรียน ขายราคาดีตลอดปี เพิ่มรายได้เกษตรกร

15 กุมภาพันธ์ 2021


สกพอ. จับมือ ปตท.- กนอ. ผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) นำร่องระบบห้องเย็นเก็บรักษาคุณภาพทุเรียน ขายได้ตลอดปี ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา เพิ่มรายได้ดีให้เกษตรกรในพื้นที่ EEC

หลังจากที่สำนักคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกันจัดทำห้องเย็นระบบ Blast freezer & Cold storage ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) โดยนำพลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ “LNG” มาใช้ประโยชน์ในการเก็บรักษาคุณภาพของผลไม้ และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ ให้มีสภาพสดใหม่ และรสชาติคงเดิมได้ยาวนานมายิ่งขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากขายผลิตผลทางการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ EFC ว่า ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เป็นโครงการหลักที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาภาคเกษตรในเขตพื้นที่ EEC โดยเฟสแรกของโครงการ จะนำร่องกับผลิตภัณฑ์ประเภทผลไม้ เช่น ทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ก่อน จากนั้นจะต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น อาหารทะเลต่อไป

สำหรับเหตุผลในการดำเนินโครงการ เพราะว่าในช่วงเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคมของทุก ๆปี จะมีผลิตผลทุเรียนออกเข้าสู่ตลาดปีละประมาณ 600,000 ตัน และจะมีพ่อค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อผลไม้ถึงในสวนมีการกดราคาจากเกษตรกร หากไม่รีบตัด-รีบขาย ปล่อยทิ้งไว้ผลไม้ก็จะสุกงอมเสียหาย เกษตรกรก็จะขาดทุน ตรงนี้เป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี

ทาง สกพอ.จึงหารือกับผู้บริหารของบริษัท ปตท. และ กนอ. เพื่อจัดทำระบบห้องเย็นช่วยเกษตรกร จนได้ข้อสรุปว่า บริษัท ปตท.จะลงทุนก่อสร้างห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน โดยใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กลับมาเป็นก๊าซ สามารถเก็บรักษาผลไม้ให้อยู่ในสภาพคงเดิมได้นานที่สุด 12 เดือน ส่วน กนอ.จะจัดพื้นที่ขนาด 40 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park เตรียมไว้ให้ บริษัท ปตท.ลงทุนก่อสร้างห้องเย็น นี่คือ ที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า หลังจากก่อสร้างห้องเย็นเสร็จเรียบร้อย สกพอ.ได้จัดเตรียมแผนการบริหารห้องเย็น โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง , สหกรณ์การเกษตร (ทุเรียน) และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า ร่วมกันส่งตัวแทนเข้าไปบริหารห้องเย็นเพื่อเปิดให้บริการแก่เกษตรกรต่อไป ห้องเย็นนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีทุเรียนขายได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาอีกต่อไป

ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

“ปกติเกษตรกรจะขายทุเรียนกิโลกรัมละ 80-100 บาท หากคิดค่าบริการแช่แข็ง 5% ของราคาทุเรียนที่ขายตามท้องตลาด ค่าบริการจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 4-5 บาทต่อเดือน แช่เก็บไว้ในห้องเย็น 5 เดือน ต้นทุนชาวสวนทุเรียนเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม แต่มีรายได้จากการขายทุเรียนตลอดทั้งปี ซึ่งทุเรียนที่ขายนอกฤดูกาลกิโลกรัมละ 180-200 บาท ถามว่าเกษตรกรจะเอาแบบนี้หรือไม่” ดร.คณิศ กล่าว

“โครงการนี้มีหลักการคล้าย ๆกับโครงการรับจำนำข้าวที่ยุ้งฉาง คือ ชะลอผลิตผลทางการเกษตรไม่ให้ไหลเข้าสู่ตลาดเร็วและมากเกินไป จนทำให้ล้นตลาด ราคาตกต่ำ ส่วนที่แตกต่างกัน คือ โครงการนี้ภาคเอกชนดำเนินการกันเองโดยไม่ต้องขอการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยโครงการนี้จะลดบทบาทของพ่อค้าคนกลางลง และไม่ได้จำกัดแค่การดูแลผลิตผลทางการเกษตรแช่แข็งเพียงอย่างเดียว แต่โครงการยังดูแลให้ตลอดสายการผลิต ทั้งช่วยเกษตรกรศึกษาตลาด เตรียมห้องเย็นที่ทันสมัย วางระบบการค้าขายผ่าน e-commerce หรือ e-auction พัฒนาบรรจุภัณฑ์ จัดระบบโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าไปส่งที่ท่าเรือ หรือ สนามบิน เพื่อส่งไปขายในตลาดโลกด้วย” ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการขับเคลื่อน “โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก” ภายใต้แผนพัฒนาภาคเกษตรในเขตพื้นที่ EEC ของ สกพอ.แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

    1.ศึกษาความต้องการตลาด เน้นศึกษาความต้องการ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ภาคตะวันออก สำรวจตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรสนิยมผู้บริโภค โดย สกพอ. อยู่ระหว่างศึกษาความต้องการตลาดทุเรียน เริ่มจากผู้บริโภคชาวจีน
    2.วางระบบการค้าสมัยใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-Auction พัฒนา และลงทุนบรรจุภัณฑ์ ผลไม้จากภาคตะวันออก เพื่อส่งขึ้นเครื่องบินออกไปขายในตลาดโลกได้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
    3.จัดทำระบบห้องเย็นที่ทันสมัย เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้สดใหม่เหมือนเก็บจากสวน ส่งขายได้ตลอดปี และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการระยะแรกได้ภายใน 12 เดือน
    4. จัดระบบสมาชิก โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ช่วยรวบรวมสมาชิกชาวสวนทุเรียน เพื่อนำร่องโครงการ โดยสมาชิกที่ร่วมโครงการ จะต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตที่ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการตลาด
นายวิทวัส สวัสดิ์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

นายวิทวัส สวัสดิ์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการห้องเย็น เพื่อเก็บรักษาผลิตผลทางการเกษตรให้อยู่ในสภาพคงเดิมให้ได้นานที่สุด เป็นโครงการที่มีการพูดถึงกันมานาน แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนทำสำเร็จ ซึ่งการลงนามใน MOU ครั้งนี้ ทางบริษัท ปตท.ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยนำพลังงานความเย็นที่เหลือจากการเปลี่ยน “LNG” ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลวกลับไปเป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปกติจะมีพลังงานความเย็นบางส่วนถูกปล่อยทิ้งไปกับน้ำทะเล แต่ตอนนี้กำลังจะถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่ง ปตท.มีองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม สามารถออกแบบการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกรูปแบบ และครบวงจร

นายวิทวัส กล่าวต่อว่า ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2562 คงจะจำกันได้ บริษัท ปตท.ร่วมทุนกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส (BIG) จัดตั้งบริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ เพื่อทำธุรกิจแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะ LNG กลับมาเป็นก๊าซธรรมชาติ ผลิตก๊าซต่าง ๆส่งขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ก๊าซออกซิเจน , ฮีเลียม , ไนโตรเจนเหลว , คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น สำหรับตัวไนโตรเจนเหลวนี้เราจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมห้องเย็น ซึ่งจะทำให้น้ำในเซลกลายเป็นน้ำแข็งได้อย่างรวดเร็ว หรือ ที่เรียกว่า “Blast Freezer” โดยไม่ทำให้เซลของผลไม้ได้รับความเสียหาย

“การนำไนโตรเจนเหลวมาใช้ในการฟรีซ หรือ แช่แข็งผลไม้จะแตกต่างจากระบบการทำความเย็นทั่ว ๆไป ซึ่งจะค่อย ๆเย็น ทำให้น้ำในเซลกลายเป็นแท่งผลึกแหลมทิ่มแทงเซลจนได้รับความเสียหาย แต่ถ้าใช้ไนโตรเจนเหลวมาใช้ในการฟรีซผลไม้ มันจะทำให้น้ำในเซลกลายเป็นผลึกน้ำแข็งทรงกลมได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ทำให้เซลผลไม้เสียหาย สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน คุณภาพ และรสชาติยังคงเดิม หลังจากที่นำผลไม้ออกจากห้องฟรีซแล้ว ก็ต้องเอาไปเก็บไว้ในห้องเย็นต่อ หรือที่เรียกว่า Cold storage เพื่อรักษาน้ำในเซลผลไม้ให้อยู่ในสภาพคงเดิม คือ เป็นผนึกทรงกลม ซึ่งปตท.จะต้องเข้าดูแลในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ด้วย การขนส่งก็ต้องใช้รถตู้แช่ ส่งขึ้นเรือ หรือ เครื่องบินก็ต้องมีตู้เย็น เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าก่อนที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค ตอนนี้เราก็ส่งทีมวิศวกรลงไปดูพื้นที่ เพื่อออกแบบและดีไซน์ห้องเย็น ส่วนอีกทีมกำลังศึกษาเรื่องระบบโลจิสติกส์” นายวิทวัส กล่าว

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park เบื้องต้นประมาณ 40 ไร่ เตรียมไว้ให้บริษัท ปตท.ดำเนินการก่อสร้างโรงงานห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน เพื่อเก็บรักษาผลไม้ให้เกษตรกรภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โดยนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,383 ไร่ ตั้งอยู่ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ภายในโครงการจะมีระบบสาธารณูปโภคพร้อม ไม่ว่าจะถนน ไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และศูนย์ข้อมูล Data Center ทั้งนี้ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล และศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างสมบูรณ์แบบ คาดว่าจะเริ่มลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆได้ภายในปี 2564

“การจัดทำห้องเย็นภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเก็บรักษาคุณภาพของผลไม้ให้มีความสดและใหม่ได้นานขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของ กนอ. ในเรื่องการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ECO Center) ที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรสามารถเติบโตควบคู่ไปด้วยกัน” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว

ทั้งหมดเป็น ความคืบหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) คาดว่า ปตท.จะเริ่มลงมือก่อสร้างโรงงานห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน บนพื้นที่ 40 ไร่ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ภายใน12 เดือนนับจากนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคงสามารถส่งผลไม้ไทยออกไปแข่งขันได้ทั่วโลก และพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดผลไม้ของโลกได้ในอนาคต…