ThaiPublica > คอลัมน์ > จาก “ดีลชินคอร์ป” ถึง “ดีลกลับบ้าน”

จาก “ดีลชินคอร์ป” ถึง “ดีลกลับบ้าน”

29 สิงหาคม 2023


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ประมาณคร่าวๆว่าราวปลายเดือนกันยายนนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ‘เศรษฐาหนึ่ง’ จะเข้าตึกไทยคู่ฟ้าก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แล้วเข้าสู่โหมดบริหารราชการแผ่นเดินเต็มตัว ซึ่งช้ากว่าไทม์ไลน์ที่ดร.วิษณุเคยประมาณไว้เกือบ 1 เดือน

ก่อน’รัฐบาลเศรษฐาหนึ่ง’ อุบัติ มี 3 เหตุการณ์เกิดขึ้นคือ หนึ่ง พรรคเพื่อไทยประกาศจับมือ 11 พรรค ตั้งรัฐบาลซึ่งมีลักษณะข้ามขั้ว เพราะ 2 พรรคในนั้น คือ พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคสองลุง ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับเพื่อไทยอย่างสิ้นเชิงในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต่างจากน้ำกับน้ำมัน หมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วระหว่างการแถลงข่าวเปิดตัว 11 พรรคร่วมรัฐบาล อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ว่า เพื่อหวังก้าวข้ามความขัดแย้ง

สอง ห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้น ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ เดินทางกลับไทย (เช้า 22 ส.ค. 2566) ก่อนกรมราชทัณฑ์นำตัวไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลฯ มีคำพิพากษา 3 คดีจำคุก 8 ปี จากนั้น กรมราชฑัณท์นำตัว ‘ทักษิณ’ เข้าเรือนจำพิเศษ และไม่ต้องกล้อนผมเนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบาง แต่ยังไม่ทันข้ามคืนมีการย้าย ‘ทักษิณ’ไปโรงพยาบาลตำรวจที่เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมกว่าเนื่องจากป่วยหนัก

และสาม สภา 482 เสียง โหวตเห็นชอบ ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ (บ่าย 22 ส.ค. 2566) โดยเสียงสนับสนุนจาก 11 พรรคร่วมรัฐบาล และเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกสาย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อย่างแข็งขัน

สื่อทุกสำนักรายงานอ้างรายงานข่าวบ้าง แหล่งข่าวระดับสูงบ้าง ถึงเบื้องหลัง 3 ฉากการเมืองสำคัญข้างต้น ว่ามาจากดีลหรือข้อตกลง เป็นดีลกลับบ้านของอดีตนายกฯ ทักษิณ ข่าวเรื่องดีลลับระหว่าง 2 ขั้วการเมืองสะพัดมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่าคนนั้นไปพบคนนี้ที่ลอนดอน มีการกล่าวถึงบุคคลสำคัญที่เกาะลังกาวี แต่ไม่มีการยืนยันเป็นทางการ และจนถึงวันนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าดีลดังกล่าวนั้นใครพบกับใคร ข้อตกลงครอบคลุมขนาดไหน และน่าสนใจว่า ดีลกลับบ้านโยงถึงถึงทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณที่ถูกยึดไปด้วยหรือไม่?

ย้อนไป 13 ปีก่อน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียงข้างมาก พิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 ยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) และสมาชิกในครอบครัวจำนวน 46,373,687.70 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามข้อกล่าวหาของ อัยการสูงสุดว่า (ทักษิณ) มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากช่วงดำรงตำแหน่ง อดีตนายกฯ ทักษิณออกนโยบายเอื้อประโยนช์ธุรกิจ และการกระทำที่เป็นขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือที่เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน

เงินก้อนที่ถูกยึดนั้นมาจากการขาย บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (ปัจจุบัน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ.ชินแซทเทลไลท์ (ปัจจุบัน บมจ.ไทยคม) ให้กับกองทุนเทมาเสกจากสิงคโปร์ รวมมูลค่าราว 73,000 ล้านบาท โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549

ดีลดังกล่าวซับซ้อน มีการจัดวางบริษัทและบุคคลเป็นตัวแทนในการซื้อ-ขายกิจการอย่างสลับซับซ้อน เพื่อประหยัดภาษีและเลี่ยงการเกี่ยวข้องกับ ‘ทักษิณ’ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯ เวลานั้น ทำให้ดีลดังกล่าวถูกเรียกว่าดีลชินคอร์ป

ดีลชินคอร์ปนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่การเมืองไทย ตลอดจนชะตากรรมของครอบครัวชินวัตร ส่วนดีลกลับบ้านจะนำสิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณทำหล่นหายระหว่างลี้ภัยตัวเองในต่างแดน 17 ปีกลับมาได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา

ป.ล. การเมืองไม่ว่าสถานการณ์ไหนล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น เหมือนคำแนะนำของโบรกเกอร์กับนักลงทุน ช่วงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ นักวิเคราะห์บอกว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ช้ากว่าคาดคือความเสี่ยง แต่เมื่อมีรัฐบาล กลับบอกว่า “รัฐบาลผสมหลายพรรคจะทำงานยากและเปราะบาง “คือความเสี่ยง”