นางเจีย สะเร็ย(Chea Serey) รองผู้ว่าการ ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (National Bank of Cambodia-NBC) หลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนีลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม
การแต่งตั้ง เจีย สะเร็ย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ถือเป็นการรับช่วงต่อจาก บิดา นายเจีย จันโต ซึ่งทำหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชามาหลายสิบปี นับตั้งแต่ปี 1998
เจีย สะเร็ยเริ่มงานที่ธนาคารกลางตั้งแต่ปี 2542 ในสายงานกำกับดูแลธนาคาร จากนั้นย้ายไปดูแลด้านระบบการชำระเงิน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากระดับผู้อำนวยการ(director-general)เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ ตามลำดับ และเป็นรองผู้ว่าการในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลาการทำงานกับธนาคารกลาง เจีย สะเร็ย ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของกัมพูชา ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาตลาดระหว่างธนาคารและโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินรายย่อย
เจีย สะเร็ย ยังเป็นแกนในการพัฒนาระบบการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร Bakong ของ NBC และโซลูชั่นการชำระเงินรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชน
เจีย สะเร็ยเกิดที่พนมเปญเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524 ปัจุบันมีอายุ 42 ปี บิดาของเธอคือนายเจีย จันโต ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท MBA ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัย SOAS แห่งลอนดอนในสหราชอาณาจักรในปี 2553 และได้รับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศออสเตรเลียในปี 2564
เจีย สะเร็ย เป็นผู้หญิงแถวหน้าในภาคการธนาคาร มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปและพัฒนาระบบธนาคารของกัมพูชา โดยเฉพาะในการส่งเสริมสกุลเงินเรียล ซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศ
เจีย สะเร็ย เป็นแกนนำสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อส่งเสริมอธิปไตยของประเทศในด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน ภายใต้การนำของเธอ ได้มีการนำเครื่องมือเชิงนโยบายเชิงนวัตกรรมมาใช้ เพื่อพัฒนาตลาดระหว่างธนาคารและส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ภายในธนาคารกลางและระดับประเทศ โดยเป็นประธานของบริษัทข้อมูลเครดิต(Credit Bureau Cambodia Ltd.) ซึ่งเป็นเครดิตบูโรที่ดำเนินการโดยเอกชนรายแรกและรายเดียวในกัมพูชา ภายใต้การนำของเจีย สะเร็ย โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสำหรับรายย่อยได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยด้วยระบบที่ใช้ร่วมกันในระดับประเทศสำหรับการทำธุรกรรมผ่านบัตรและระบบการชำระเงิน FAST ซึ่งเป็นการโอนเงินแบบเรียลไทม์จากบัญชีธนาคารหนึ่งไปยังอีกบัญชีธนาคารหนึ่งในกัมพูชา
ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานสำนักหักบัญชี เจีย สะเร็ย เป็นผู้นำโครงการ Bakong ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของธนาคารแห่งชาติกัมพูชาในการหาแนวทางใหม่และพัฒนาระบบการชำระเงินใหม่ๆโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เจีย สะเร็ย ยังเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาสตรีธนาคารโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Southeast Asia Advisory Council of Women World Banking) และเป็นสมาชิกของ Young Global Leaders รุ่นชั้นปี 2019 ซึ่งเป็นเวทีของ Young Global Leaders ที่ก่อตั้งโดย World Economic Forum เจีย สะเร็ยเป็นผู้สนับสนุนตัวยงในการเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิงและการเงินที่ทั่วถึง และยังทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการระดับสูงของ Gender and Women’s Financial Inclusion (GWFIC) ของ Alliance for Financial Inclusion’s (AFI’s) และเป็นนักวิชาการอาวุโสของ Lee Kuan Yew School of Public Policy
อิน จันนี ประธานและกรรมการผู้จัดการกลุ่ม Acleda Bank Plc กล่าวกับสำนักข่าว Khmer Times ว่า เจีย สะเร็ย ไม่เพียงมีประสบการณ์ทางการทำงานที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังมีพื้นฐานทางความรู้ด้านการธนาคาร ทั้งในด้านที่จะเดินหน้าต่อไปและสิ่งที่ส่งต่อกันมา ในอุตสาหกรรมการธนาคารของประเทศ ทั้งธนาคารกลางและภาคธนาคารเอกชน
“เจีย สะเร็ย เป็นคนผลักดันธนาคารดิจิทัลและยังสร้างวินัยการธนาคารในประเทศของเรา ซึ่งหมายความว่าเธอต้องดูแลสองด้านในอุตสาหกรรมการธนาคาร” จันนีกล่าว และว่า เจีย สะเร็ยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งเครดิตบูโร ที่ช่วยป้องกันบริการให้กู้ยืมที่ผิดกฎหมายในกัมพูชาและสร้างวินัยการธนาคารที่มีประสิทธิภาพ
จันนี ชี้ว่า Bakong เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เจีย สะเร็ยได้ขับเคลื่อน เนื่องจากระบบนี้ได้ช่วยให้ธนาคาร การเงินรายย่อย สถาบันการชำระเงิน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก
“เธอมีประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ และความเป็นผู้นำ ดังนั้นการแต่งตั้งเธอจึงเป็นประโยชน์และถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เธอมีความสามารถ จัดว่าเป็นคนของโลก เพราะเธอสามารถสื่อสารได้ทั่วโลก ซึ่งนำธนาคารกลางและธนาคารเอกชนของเราไปสู่เวทีระดับโลก ผมเชื่อว่าเธอจะพัฒนาภาคส่วนของเราจากระดับปัจจุบันไปอีกระดับหนึ่ง”
จันนียังชี้ให้เห็นว่า
เจีย สะเร็ย เป็นผู้หญิงกัมพูชาคนแรกที่ได้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง เนื่องจากไม่เคยมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งนี้ในธนาคารกลางของกัมพูชา
“อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งไม่ใช่เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะความสำเร็จ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์”
สก เวิน ประธานสมาคมการเงินรายย่อยของกัมพูชาและซีอีโอและ LOLC (กัมพูชา) แสดงความยินดีกับเจีย สะเร็ย ที่ได้รับการแต่งตั้ง และยกย่องเธอในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาในอุตสาหกรรม
“เธอมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมและพัฒนาภาคการเงิน และผมคิดว่าเธอเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาฟินเทค [เทคโนโลยีทางการเงิน] และการเข้าถึงทางการเงินในกัมพูชา”
Toch Chaochek ซีอีโอของ Cambodia Post Bank Plc กล่าวถึงเจีย สะเร็ยว่า เป็นผู้นำที่มีความเป็นมืออาชีพสูง และหวังว่าอุตสาหกรรมจะเติบโตต่อไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืนภายใต้การนำของเธอ
“เรายินดีกับเธอกับตำแหน่งใหม่ของเธอ เธอมีคุณสมบัติที่เหมาะสมอย่างมาก โดยอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มานานนับเป็นสิบๆปี
“เจีย สะเร็ยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาในภาคส่วนนี้ โดยเฉพาะในฟินเทคเพื่อการเข้าถึงทางการเงินและความรู้ทางการเงิน เช่นเดียวกับระบบ Bakong ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาโซลูชั่นการชำระเงินแบบดิจิทัล”
BAKONG ระบบชำระเงินกับการสร้างสังคมที่ยั่งยืนในกัมพูชา
ในการให้สัมภาษณ์กับ Japan Up Close เมื่อปลายเดือนเมษายน เจีย สะเร็ย ได้พูดถึงการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการ และความมุ่งมั่นที่จะผลักดันการเข้าถึงบริการทางการเงิน
“ฉันเพิ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ก่อนหน้านั้น ฉันได้ทำงานในสายงานกำกับดูแลภาคธนาคาร จากนั้นก็โยกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการทั่วไปอีกด้านหนึ่งที่ดูแลระบบการชำระเงิน นโยบายเศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่ถึงแม้จะย้ายไปแล้ว ฉันก็ยังมีใจรักในเรื่องความรู้ทางการเงิน และเหตุผลก็คือ ในทางหนึ่งมันเป็นเรื่องส่วนบุคคล”
เจีย สะเร็ยบอกว่า ในตอนแรก ไม่เคยอยากทำงานธนาคารเลย อยากเป็นนักบินอวกาศเพราะชอบภาพยนตร์เรื่อง X-Files อย่างมาก และประโยคขายแสนติดหูของ X-Files คือ “มีความจริงอยู่ข้างนอกนั้น” และเธอต้องการค้นหา ความจริง
ดังนั้นเจีย สะเร็ยในช่วงวัยรุ่นก็อยากจะทำอย่างนั้น
เมื่อเธอบอกพ่อว่าต้องการเรียนดาราศาสตร์หรือบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสาขานั้น “พ่อบอกว่า เธอจะหางานทำในกัมพูชาไม่ได้ เพราะเราจะไม่เปิดตัวอะไรแบบนั้นไม่ว่าช่วงไหน อาจจะไม่ใช่ในช่วงชีวิตของพ่อ เขาหัวโบราณมาก แล้วฉันก็บอกเขาว่าฉันอยากเป็นสถาปนิก ฉันต้องการที่จะสร้าง”
พ่อก็บอกอีกว่า “มันค่อนข้างจะยาก เพราะเธอจะต้องทำงานมากในสาขาก่อสร้างที่มีคนงานชายจำนวนมาก และเธอเป็นผู้หญิง มันไม่ง่ายเลย”
เจีย สะเร็ย จึงถามพ่อว่าอยากให้เรียนอะไร พ่อก็บอกว่า “ทำไมไม่เรียนบัญชี? เป็นเรื่องดีสำหรับเด็กผู้หญิงเพราะเธอไปทำงานตอนแปดโมงเช้าและกลับถึงบ้านตอนห้าโมงเย็น เป็นงานที่ง่ายจะตาย”
ดังนั้นเจีย สะเร็ยจึงเรียนบัญชี แต่ไม่ได้สนใจมากนัก
แต่หลังจากที่ทำงานธนาคาร ซึ่งได้เริ่มงานด้านการตรวจสอบเพราะเป็นงานด้านกำกับธนาคาร ก็พบว่ามันค่อนข้างน่าเบื่อ แต่วันหนึ่งได้มีโอกาสไปตรวจนอกสถานที่ในจังหวัดหนึ่ง ก็ได้ทำการ “ตรวจสามเส้า”(triangular check) ตรวจเอกสารนอกสถานที่ธนาคารก็จะส่งเอกสารมาให้ที่ทำงาน หลังจากตรวจแล้ว ก็ออกไปสถานที่จริงเพื่อตรวจสอบอีกครั้งว่าทุกอย่างปกติดีหรือไม่ และส่วนที่สามคือไปเยี่ยมลูกค้าและดูว่าได้มีการกู้ยืมออกไปจริงตามที่รายงานไว้ในงบดุลของสถาบันการเงินหรือไม่
จากการตรวจสอบลูกค้า เจีย สะเร็ยได้พบกับครอบครัวหนึ่ง ซึ่งได้เล่าเรื่องราวของเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก้อนแรก ซึ่งได้บอกว่า ต้องขอบคุณเงินกู้ก้อนแรกที่ทำให้ธุรกิจเติบโต ตอนนี้สามารถส่งลูกไปโรงเรียน เริ่มยืนหยัดเดินหน้าได้ และตอนนี้มาตรฐานการครองชีพของครอบครัวดีขึ้นมาก
“และเป็นช่วงที่ฉันตระหนักว่างานของฉันไม่น่าเบื่อจริง ๆ เพราะฉันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ด้วยการทำหน้าที่ของฉันให้ดี โดยทำให้แน่ใจว่าสถาบันการเงินปฏิบัติตามกฎระเบียบและยั่งยืน เพื่อให้สามารถให้กู้ยืมเงินได้มากขึ้น เพื่อให้ผู้คนมีโอกาสที่ดีขึ้นในการพัฒนาชีวิต
เจีย สะเร็ยบอกว่า ความเข้าใจเรื่องการเข้าถึงการเงินของเธอจึงเริ่มต้นจากนั้น “การเข้าถึงแหล่งเงินทุนอาจค่อนข้างยุ่งยาก เพราะคุณไม่ควรให้สินเชื่อแก่ผู้ที่ไม่ต้องการ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา … วิธีเดียวที่จะช่วยสร้างความเข้าใจคือผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการสำหรับเด็ก
“นั่นเป็นช่วงที่เราเริ่มพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและเตรียมพร้อม เราเข้าใจตรงกันว่าเราจะรวมความรู้ทางการเงินไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วไป ดังนั้นเด็ก ๆ ตั้งแต่เกรด 1 ถึง 12 จะสามารถเรียนรู้ด้านการเงินได้”
สำหรับ Bakong หรือ บากอง เจีย สะเร็ยให้ข้อมูลว่า เป็นชื่อวัดหนึ่งในศตวรรษที่ 9 เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชในปี 2496 ได้ตัดสินใจสร้างอนุสรณ์สถานเอกราชโดยจำลองมาจากวัดบากอง ดังนั้น บากองในฐานะโครงการก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของเอกราชและความภาคภูมิใจของชาติอีกด้วย บากองโดยตัวมันเองไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัล แต่เป็นระบบการชำระเงินหลัก โดยใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์(distributed ledger)ที่จะช่วยใน 2 เรื่อง
ประการแรก ช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้และช่วยเชื่อมต่อธนาคารและสถาบันระบบการชำระเงินต่างๆ เข้าด้วยกัน ก่อนที่จะมีบากองลูกค้าธนาคารสามารถส่งเงินภายในระบบของตนเองได้ และยังสามารถส่งเงินให้กับลูกค้ารายอื่นภายในธนาคารเดียวกันได้ ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว ไม่สามารถทำการโอนข้ามธนาคารได้ เว้นแต่จะมีธนาคาร สองหรือสามแห่งที่ได้จัดทำข้อตกลงทวิภาคีหรือไตรภาคี ซึ่งก็สามารถทำได้
แต่ในระดับที่ใหญ่ขึ้น มีการพัฒนาหลายอย่างเกิดขึ้นและธนาคารไม่ได้คุยกัน อีกอย่างต้องเข้าใจว่าคนที่มีบัญชีธนาคารนั้นมีเงินมากกว่า มีงานทำและมีเงินเดือน แต่กัมพูชาก็มีผู้ให้บริการชำระเงินที่ให้บริการ e-wallets ซึ่งผู้ที่ใช้บริการเหล่านี้มักจะเป็นคนในชนบทที่มีรายได้น้อย เพราะเปิดง่าย และไม่ต้องดูแลมากนัก
ปัญหาคือ ผู้ให้บริการทั้งสองประเภทนี้ไม่สามารถส่งเงินให้กันและกันได้ และนี่คือการสร้างความแตกแยกทางสังคมระหว่างเมืองและชนบทโดยไม่รู้ตัวการมีบากองเป็นระบบการชำระเงินหลักและช่วยให้ผู้คนสามารถส่งเงินถึงกันได้อย่างง่ายดาย ทลายกำแพงระหว่างเมืองและชนบท คนมีเงินที่มั่งคั่ง และคนที่มีน้อย ดังนั้นคนจึงอยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน
ประการที่สอง เมื่อมีการส่งเสริมการเชื่อมโยงบริการทางการเงิน ก็ต้องการให้การเงินมีราคาไม่แพง สะดวก และง่ายมากขึ้น ดังนั้น ด้วยการสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการเงินต่างๆ ทำให้ไม่เพียงแต่สามารถใส่เงินในบัญชีธนาคารเท่านั้น แต่ยังชำระเงินได้โดยตรงจากบัญชีธนาคารเดียวกันโดยใช้รหัส QR และส่งเงินให้ใครก็ได้โดยไม่ต้องถอนเงินสดหรือธนบัตรจาก ตู้เอทีเอ็ม ที่ง่ายและสะดวกให้กับผู้คนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ ดังนั้น ความสามารถในการจ่าย ความปลอดภัย และความสะดวกสบายจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการพัฒนาระบบบากอง
ในรายงานประจำปีของ ธนาคารกลาง 2565 “ระบบธนาคาร” ที่เป็นทางการของกัมพูชา ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 59 แห่ง ธนาคารเฉพาะกิจ 9 แห่ง สถาบันการเงินรายย่อยที่รับเงินฝาก 5 แห่ง และสถาบันการเงินรายย่อยที่ไม่รับฝากเงิน 82 แห่ง (MFI) สถาบันสินเชื่อในชนบท 224 แห่ง และบริษัทลีสซิ่ง 16 แห่ง
นอกจากนี้ยังมีู้ประมลผลภายนอก 5 ราย ผู้ให้บริการชำระเงิน 34 ราย เครดิตบูโร 1 ราย สำนักงานตัวแทนธนาคารต่างประเทศ 6 แห่ง และธุรกิจแลกเปลี่ยนเงิน 2,869 ราย
จากข้อมูลของธนาคารกลาง ณ สิ้นปี 2565 สินเชื่อผู้บริโภค มีจำนวน 226.7 ล้านล้านเรียล (56.0 พันล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 18.9% เงินฝากผู้บริโภค 174.4 ล้านล้านเรียลเพิ่มขึ้น 9.2% และทุนของระบบธนาคารพาณิชย 63.3 ล้านล้านเรียล เพิ่มขึ้น 13.9% จากปีก่อนหน้า
ส่วนจำนวนบัญชี e-wallet ที่ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 19.5 ล้านบัญชี และจำนวนธุรกรรมทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 708 ล้านเป็นหนึ่งพันล้านรายการ โดยมีมูลค่ารวม 272.8 พันล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้น 34%) ประมาณ 9 เท่าของGDP รายงานระบุ