ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียวางแผนใหญ่ดึงลงทุนเพิ่มขยายอุตสาหกรรม EV

ASEAN Roundup มาเลเซียวางแผนใหญ่ดึงลงทุนเพิ่มขยายอุตสาหกรรม EV

27 สิงหาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 20-26 สิงหาคม 2566

  • มาเลเซียวางแผนใหญ่ดึงลงทุนเพิ่มขยายอุตสาหกรรม EV
  • อินโดนีเซียเล็งผ่อนปรนเกณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ส่งเสริมการลงทุนสีเขียว
  • MAS ออกกรอบกำกับดูแล Stable Coin
  • ข้อตกลง FTA สร้างรายได้ปีละหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯให้เวียดนาม
  • เมียนมาห้ามส่งออกข้าวต้นเดือนกันยายน
  • ลาวระงับการจ่ายไฟฟ้าให้กับธุรกิจขุดคริปโทเคอเรนซี่
  • กัลฟ์เล็งขยายโครงการลงทุนในเวียดนาม

    มาเลเซียวางแผนใหญ่ดึงลงทุนเพิ่มขยายอุตสาหกรรม EV

    ที่มาภาพ: https://www.nst.com.my/business/2023/07/932810/tesla-officially-launches-model-y-malaysia-delivery-start-early-next-year
    มาเลเซียเตรียมดึงการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า(EV) หลังจากบรรลุข้อตกลงสำคัญกับเทสลา(Tesla)

    มาเลเซียได้ตั้งเป้าไปที่ธุรกิจห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่การแข่งขันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อนแรงหลังเทสลาประกาศตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในประเทศมาเลเซีย

    “รถยนต์ไฟฟ้าคือ สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก” นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียกล่าวกับมาร์ติน ซุง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีในการให้สัมภาษณ์พิเศษเมื่อวันศุกร์(18 ส.ค.)ที่สำนักงานนายกรัฐมนตรีในเมืองปุตราจายา ทางตอนใต้ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศ และออกอากาศทาง The CNBC Conversation ในปลายสัปดาห์

    การบรรลุข้อตกลงของเทสลา(Tesla) กับมาเลเซีย ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ซึ่งจะตอกย้ำสถานะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในห่วงโซ่อุปทานของ EV และเป็นข้อตกลงแรกภายใต้โครงการริเริ่ม Battery Electric Vehicle Global Leaders ของประเทศ

    ข้อตกลงดังกล่าวยังหมายถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ในการขยายสู่ตลาดใหม่ หลังการเติบโตในจีนและตลาดหลักอื่นๆชะลอตัว

    ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงของเทสลากับมาเลเซีย เทสลาจะสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในเซี่ยงไฮ้ได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าหรือผ่านพ่อค้าคนกลาง

    นอกจากนี้ เทสลาจะจัดตั้งสำนักงานใหญ่และศูนย์บริการระดับภูมิภาคในเมืองสลังงอร์ ซึ่งมีเครื่องมือวินิจฉัยขั้นสูงและมีเจ้าหน้าที่ช่างเทคนิคของเทสลาที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี

    ผู้ใช้รถยนต์เทสลายังจะสามารถเข้าถึงเครือข่ายสถานีชาร์จในเขตเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ โดยแผนแรกจะเริ่มในตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์ นอกจากนี้เทสลายังมีแผนที่จะเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ EV ในมาเลเซีย

    นายกฯอันวาร์กล่าวว่า มาเลเซียเปิดกว้างสำหรับการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงจากผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน แต่ผู้ผลิตรถยนต์ชาวจีน “ไม่ได้ถาม” แต่ “มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดกว้าง”

    นายกฯอันวาร์กล่าวว่า จะมีการผนึกกำลังทางธุรกิจจากการที่บริษัทต่างชาติ เช่น เทสลาลงทุนในมาเลเซีย โดยเสริมว่า “มันจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในประเทศ 3 หรือ 4 แห่ง”

  • เทสลาได้รับข้อยกเว้น
  • มาเลเซียมีนโยบายภูมิบุตรที่ใช้กันมายาวนานซึ่งสนับสนุนประชากรของประเทศ รวมถึงชุมชนชาวมลายูมุสลิมที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ และกลุ่มชนพื้นเมืองที่ไม่ใช่ชาวมาเลย์

    การลงทุนจากต่างประเทศที่จัดตั้งในมาเลเซียจะต้องให้ชาวมลายูและชนพื้นเมืองเดิม(Bumiputeras) ถือหุ้นขั้นต่ำ 30% แต่เทสลาได้รับการยกเว้นจากกฎเกณฑ์นี้

    “สำหรับผม [ข้อตกลงกับเทสลา] นั้นดีพอๆ กับการให้ถือหุ้น 30%” นายกฯอันวาร์กล่าว “ในความเป็นจริง ประโยชน์ที่แท้จริงกลับคืนให้กับเศรษฐกิจ ซึ่งก็ดีกว่า”

    หลังจากที่เข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว อันวาร์ให้คำมั่นว่าจะต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นและสร้าง “มาเลเซียเพื่อชาวมาเลเซียทุกคน Malaysia for all Malaysians,” เปิดใจรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาอาจต้องการเลิกสิทธิพิเศษของชาวมลายูและชนพื้นเมืองเดิม

    “มันไม่ใช่ประเด็น…ของการถอนสิทธิพิเศษ แต่เป็นประเด็นของการทบทวนในบางด้าน ซึ่ง [มีความสำคัญ]” อันวาร์กล่าว

    “ตัวอย่างเช่น ประเด็นของการยืนยันสิทธิประโยชน์(ของบุคคลบางกลุ่ม) ซึ่งขยายจากการคำนึงถึงเชื้อชาติไปสู่ความต้องการเป็นหลัก เราไม่สามารถพูดถึงเรื่องคุณธรรมล้วนๆ ได้”

  • ให้สิทธิพิเศษจูงใจให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี
  • การยกเว้นให้เทสลาไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการถือหุ้น 30% ของภูมิบุตร ไม่ใช่ครั้งเดียวที่มาเลเซียได้ให้สิ่งจูงใจดังกล่าว

    “นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการยกเว้นมาก่อน …เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และสำหรับกิจกรรมหรือการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับไอที” นายกรัฐมนตรีกล่าว “เราได้ทำสิ่งนั้นมาแล้วในอดีต – คัดเลือกมาอย่างดี ดังนั้นปัญหาไม่ใช่แค่อีลอน มัสก์เท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าจำเป็นมากในประเทศนี้เพื่อให้ความมั่นใจและการมีส่วนร่วมของผู้เล่นของเรา”

    การประกาศของเทสลา มาตามหลังแผนมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนเจ้อเจียง จีลี่(Zhejiang Geely) เพื่อขยายการดำเนินงานในตันหยง มาลิม(Tanjong Malim) ในรัฐเประ และแผนมูลค่า 5 พันล้านยูโร (5.46 พันล้านดอลลาร์)ในการขยายโรงงานผลิตน้ำกูลิม(Kulim) ในรัฐเคดาห์ ของ ผู้ผลิตชิปสัญชาติเยอรมัน Infineon Technologies

    รัฐบาลอันวาร์ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อชักชวนการลงทุนจากต่างประเทศใ้หมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการดูแลเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเขามาเลเซียในไตรมาสสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน มีมูลค่าสุทธิ 3.1 พันล้านริงกิต (666.9 ล้านเหรียญสหรัฯ) เทียบกับ 12 พันล้านริงกิตในไตรมาสก่อนหน้า

    “ก็ควรให้สิ่งจูงใจ” นายกฯอันวาร์กล่าว “แต่ในความคิดของผม สิ่งที่สำคัญมากกว่าเมื่อเทียบกับการให้ถือหุ้น ก็คือการฝึกอบรม” นายกฯอันวาร์กล่าว

    “มันเป็นการถ่ายทอด [ของ] เทคโนโลยี ว่ามีความพร้อมที่จะถ่ายทอดต่อเนื่องและฝึกอบรมบุคลากรของเรา และตามข้อกำหนดที่ปรับเปลี่ยน ตามที่เราให้ความสำคัญในปัจจุบันหรือไม่”

  • เตรียมความพร้อม
  • อย่างไรก็ตาม อันวาร์ยังไม่ฟันธงว่า สายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบอยู่ในแผน

    เมื่อถามว่ามาเลเซียตั้งเป้าที่จะเป็น “ผู้ประกอบรถที่จบเกมนี้” และไต่ระดับห่วงโซ่อุปทานหรือไม่ อันวาร์ตอบว่า “ยังเร็วเกินไปสำหรับผมที่จะบอกชัด” “แต่ที่สำคัญคือเรามีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนแบตเตอรี่ … ที่จำเป็นในรถยนต์”

    จากตัวอย่างของความร่วมมือที่ลึกมากขึ้นระหว่าง จีลี่ และโปรตอน(Proton) แบรนด์รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย นายกฯอันวาร์ฉายภาพถึงการขาดความพร้อมในปัจจุบัน แต่มาเลเซียพร้อมยิ่งกว่าพร้อมที่จะผลิตแบตเตอรี่ EV

    ในขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็ชักชวนเทสลามาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เกิดความร่วมมือที่จับต้องได้กับอีลอน มัสก์ ในเรื่องเป้าหมายแบตเตอรี่รถยนต์ EV

    อินโดนีเซียเป็น “เพื่อนบ้านที่สำคัญสำหรับเรา และ [เรามี] หลายอย่างที่เหมือนกัน” นายกฯอันวาร์กล่าว

    “เราทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีทั้งภาครัฐและเอกชน และผมคิดว่าแทนที่จะอยู่ในเกมที่มีการแข่งขันอันดุเดือด เราน่าจะสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้”

    “นั่นเป็นจิตวิญญาณของการสนทนาของรัฐบาลของฉันกับประธานาธิบดี Jokowi และตามมาด้วยอุตสาหกรรม”

    อินโดนีเซียเล็งผ่อนปรนเกณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ส่งเสริมการลงทุนสีเขียว

    ที่มาภาพ: https://www.adb.org/news/adb-finances-first-ever-utility-scale-solar-pv-plants-indonesia-160-million-renewables-deal

    อินโดนีเซียจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่ถ่วงการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศที่พึ่งพาถ่านหิน เป็นการชั่วคราว โดยยกเลิกหนึ่งในอุปสรรคด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่มีมาก ซึ่งจะตัวถ่วงในการมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษ

    รัฐบาลจะ ยกเลิกเกณฑ์ที่กำหนดให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ต้องใช้วัสดุส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศจนถึงปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าโรงงานแผงโซลาร์เซลล์แห่งแรกของอินโดนีเซียจะเริ่มการผลิต จากการประมาณการแบบระมัดระวัง อินโดนีเซียสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากกว่า 4,000 เท่าของกำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบัน

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ให้ความสำคัญกับการเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเป็นลำดับต้นๆ และการยกเลิกข้อกำหนด “วัสดุในประเทศ” สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในการปฏิรูปนโยบายที่มีมากกว่าสิบรายการที่ระบุไว้ในร่างแผนการลงทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม(Just Energy Transition Partnership:JETP) มูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ประธานาธิบดีโจโกวี เจรจากับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และประเทศร่ำรวยอื่นๆ

    ร่างแผนนี้จัดทำโดยสำนักเลขาธิการ JETP ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จัดขึ้นในกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของอินโดนีเซีย และได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย

    ดาดัน กุสเดียนา ปลัดกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์

    แผนดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่สำคัญหลายประการสำหรับ JETP รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนหรือเงินกู้ต้นทุนต่ำจากประเทศร่ำรวยที่ไม่เพียงพอ และการที่สถาบันการเงินเอกชนไม่เต็มใจที่จะให้ทุนสนับสนุนอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน รวมถึงการเลิกใช้ก่อนกำหนด

    ในส่วนของอินโดนีเซีย การปรับเปลี่ยนข้อกำหนดด้านพลังงานแสงอาทิตย์อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการปฏิรูปกฎหมายตามที่แผนกำหนด ปัจจุบันอินโดนีเซียผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้น้อยกว่านอร์เวย์ และผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ รัฐบาลต้องการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 5 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้าตามแผนการลงทุน แต่จะต้องใช้เงินเกือบ 2.4 พันล้านดอลลาร์ในการดำเนินการ

    นอกจากนี้ ยังจะต้องจัดการกับนโยบายและกฎหมายอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการสำคัญ ที่จะทดแทนถ่านหินด้วยพลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือ ปัจจุบันอินโดนีเซียให้เงินอุดหนุนไฟฟ้าจากถ่านหิน สาธารณูปโภคของรัฐมีความสามารถจำกัดที่จะระดมเงินเพื่อลงทุนในพลังงานหมุนเวียน การใช้ถ่านหิน สำหรับโรงงานในพื้นที่โดยเฉพาะ ซึ่งไม่ได้จ่ายไฟให้กับโครงข่ายไฟฟ้า กำลังแพร่หลายและเพิ่มมากขึ้น

    ข้อจำกัดที่มีอยู่เกี่ยวกับการขายทรัพย์สินของรัฐยังจำกัดทางเลือกในการปิดโรงงานถ่านหินด้วย โดยเฉพาะข้อห้ามการขายทรัพย์สินของรัฐในราคาต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี และแม้ว่ากฎหมายได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันการทุจริตและการเอื้อพวกพ้อง แต่ก็ทำให้ข้อตกลงประเภทต่างๆ ที่เอื้อต่อการเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก่อนกำหนด มีความยุ่งยาก แผนการลงทุนเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติระบุชัดเจนว่าจะไม่เป็นความผิดทางอาญาจากสถานการณ์จำเพาะนี้

    MAS ออกกรอบกำกับดูแล Stable Coin

    ที่มาภาพ: https://www.ledgerinsights.com/mas-digital-currency-programmability/
    เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 Monetary Authority of Singapore (MAS) ได้ประกาศกรอบการกำกับดูแลใหม่ เพื่อดูแลให้มูลค่า stablecoin ที่กำกับดูแลในสิงคโปร์มีเสถียรภาพสูง หลังจากที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นในเดือนตุลาคม 2565

    Stablecoins คือ โทเค็นการชำระเงินดิจิทัลที่มีกลไกคงมูลค่าเทียบกับสกุลเงิน(fiat currencies)ที่ระบุตั้งแต่หนึ่งสกุลเงินขึ้นไป หากมีการกำกับดูแลที่ดีเพื่อรักษาเสถียรภาพของมูลค่า Stablecoins สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่เชื่อถือได้เพื่อสนับสนุนนวัตกรรม รวมถึงการซื้อและการขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบออนไลน์

    กรอบการกำกับดูแลของ MAS จะใช้กับ single-currency stablecoins ที่ผูกกับดอลลาร์สิงคโปร์หรือสกุลเงินประเทศ G10 และออกในสิงคโปร์ ผู้ออก SCS จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดสำคัญดังนี้

      เสถียรภาพของมูลค่า: สินทรัพย์สำรองของ SCS จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านองค์ประกอบ การประเมินมูลค่า การเก็บรักษา และการตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจในการรักษาเสถียรภาพของมูลค่า
      เงินทุน: ผู้ออกจะต้องคงเงินทุนพื้นฐานขั้นต่ำและสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงที่จะล้มละลาย และช่วยให้ธุรกิจปิดกิจการได้ตามขั้นตอนได้อย่างเรียบร้อยหากจำเป็น
      การไถ่ถอนในมูลค่าที่ตราไว้(par): ผู้ออกจะต้องไถ่ถอนตามมูลค่าที่ตราไว้ของ SCS ให้กับผู้ถือภายใน 5 วันทำการนับจากวันที่ร้องขอไถ่ถอน
      การเปิดเผยข้อมูล: ผู้ออกจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมให้กับผู้ใช้ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับกลไกการรักษาเสถียรภาพมูลค่าของ SCS สิทธิ์ของผู้ถือ SCS ตลอดจนผลการตรวจสอบสินทรัพย์สำรอง

    ผู้ออก Stablecoin ที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมดภายใต้กรอบการกำกับดูแลเท่านั้นที่สามารถยื่นขอ MAS ให้รับรอง Stablecoins ที่ออกและใช้ข้อความว่าเป็น “Stablecoins ที่กำกับดูแลโดย MAS” ได้ ข้อความกำกับนี้จะช่วยให้ผู้ใช้แยกแยะความแตกต่างระหว่าง Stablecoins ที่ควบคุมโดย MAS จากโทเค็นการชำระเงินดิจิทัลอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย รวมถึง “Stablecoins” ซึ่งไม่อยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแล Stablecoin ของ MAS

    บุคคลใดก็ตามที่แอบอ้างว่าโทเค็นเป็น stable coin ที่ควบคุมโดย MAS อาจถูกลงโทษตามกรอบการกำกับดูแล stablecoin ของ MAS และ ติดอยู่ในรายชื่อแจ้งเตือนนักลงทุนของ MAS ผู้ใช้ควรตัดสินใจด้วยตนเองจากข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง หากเลือกที่จะถือ stable coin ที่ไม่ได้กำกับดูแลด้วยกรอบการกำกับดูแลของ MAS

    โฮ เฮิร์น ชิน(Ho Hern Shin) รองกรรมการผู้จัดการ MAS กล่าวว่า “กรอบการกำกับดูแล Stablecoin ของ MAS มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ Stablecoin เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสกุลเงิน Fiat และระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัล และขอแนะนำให้ผู้ออก SCS ที่ต้องการให้เหรียญ stablecoin ได้รับการยอมรับว่าเป็น “stablecoin ที่กำกับดูแลโดย MAS” เตรียมการท่่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบตั้งแต่เนิ่นๆ”

    ลาวระงับการจ่ายไฟฟ้าให้ธุรกิจขุดคริปโทเคอเรนซี่

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2023/08/25/laos-suspends-power-supply-to-cryptocurrency-mining-businesses/

    รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว หรือ Electricite du Laos (EDL) ประกาศว่าจะไม่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับธุรกิจขุดคริปโทเคอเรนซี่(cryptocurrency) ในประเทศลาวอีกต่อไป เนื่องจากมีหนี้ค้างจ่ายมานาน

    ประกาศที่ออกโดย EDL เมื่อวันพุธ(23 ส.ค.) ระบุว่า ลาวประสบภาวะภัยแล้งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เนื่องจากความร้อนจัดทำให้เกิดความต้องการไฟฟ้าสูง ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำประสบปัญหาในการที่จะผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ

    จากข้อมูลของ EDL พบว่า 95% ของไฟฟ้าของประเทศผลิตโดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำผ่านระบบของรัฐ EDL และบริษัทพลังงานที่เป็นของรัฐตั้งใจที่จะจ่ายไฟฟ้าในท้องถิ่น รวมทั้งส่งออกปริมาณมากไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGET) ) เพื่อจ่ายไฟให้กับโครงข่ายไฟฟ้าของไทยตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงในปี 2567

    ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวในเดือนนี้ว่าหากภัยแล้งในลาวรุนแรงขึ้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวจะผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง ส่งผลให้กำลังการผลิตส่งออกลดลง

    ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ลาวกล่าวว่าการขุดคริปโทเคอเรนซี่ ไม่สามารถชำระหนี้จำนวนมากได้

    “อีกเหตุผลหนึ่งที่เราต้องระงับการจ่ายไฟฟ้าให้กับธุรกิจการขุดคริปโทเคอเรนซี่ ในลาว ก็คือ พวกเขาไม่สามารถชำระค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระได้” พนักงาน EDL เปิดเผยกับ Laotian Times

    ธนาคารกลางลาวได้ยุติการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจสกุลเงินคริปโทคเคอรเรนซี่ในเดือนมกราคมปีนี้ เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินและรักษาเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนส่งเสริมการจัดหาสินเชื่อให้กับภาคการผลิต

    ในเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลลาวอนุญาตให้บริษัท 6 แห่งทำการซื้อขายและขุดสกุลเงินคริปโทเคอเรนซี่ เพื่อทดลองขุดและซื้อขายสกุลเงินคริปโท เช่น Bitcoin, Ethereum และ Litecoin

    ข้อตกลง FTA สร้างรายได้ปีละหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯให้เวียดนาม


    การดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีผลเชิงบวกต่อการส่งออก การนำเข้า และการดึงดูดการลงทุนของเวียดนาม

    การส่งออกของเวียดนามไปยังประเทศสมาชิก ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) และ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) เพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี จากการเปิดเผยของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ( Ministry of Industry and Trade:MoIT)

    เวียดนามได้ลงนามและดำเนินการ FTA รุ่นใหม่หลายฉบับ รวมถึง CPTPP, EVFTA และข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร – เวียดนาม (Vietnam-UK Free Trade Agreement:UKVFTA) นอกจากนี้เวียดนามยังเพิ่งลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอล ซึ่งเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรีแรกที่มีกับประเทศในเอเชียตะวันตก ข้อตกลงนี้เปิดโอกาสในการลดภาษีสินค้าเวียดนามที่ส่งออกไปยังอิสราเอลมากถึง 92%

    ในปี 2565 ปริมาณการค้ากับประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นมากกว่า 14% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงที่ 104.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการส่งออกของเวียดนามไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีการเติบโตอย่างมาก เช่น แคนาดาที่เติบโตมากกว่า 20% และบรูไนที่เติบโตสูงถึง 163%

    สำหรับ EVFTA การค้าระหว่างเวียดนามและประเทศในสหภาพยุโรป (EU) มีมูลค่าเกิน 62.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 9% เมื่อเทียบกับปี 2564 ประเทศในสหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าเวียดนามมูลค่าเกือบ 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปีเดียวกัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน

    เวียดนามบรรลุการเกินดุลการค้ากับอังกฤษมากกว่า 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2565 หลังจากข้อตกลง UK-VFTA มีผลบังคับใช้มาแล้วกว่าหนึ่งปี

    แม้ว่าเขตการค้าเสรีรุ่นใหม่เหล่านี้จะสร้างรายได้หลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปีให้กับการส่งออกของเวียดนาม แต่ MoIT ชี้ให้เห็นว่าความท้าทายยังคงมีอยู่ ที่จะใช้ศักยภาพของ FTA อย่างเต็มที่ ปัจจุบันธุรกิจเวียดนามเพียงไม่กี่รายที่ได้ใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA โดยประมาณ 5% ใช้ประโยชน์จาก CPTPP, เกือบ 26% จาก EVFTA และประมาณ 24% จาก UKVFTA

    ภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงมีสัดส่วนที่โดดเด่นในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ในขณะที่ธุรกิจในประเทศดำเนินธุรกิจหลักในการแปรรูปหรือส่งออกวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป

    “เมื่อเร็วๆ นี้ ธุรกิจเกิดใหม่ได้เข้าสู่บางส่วนของห่วงโซ่อุปทาน แต่ความสามารถของพวกเขาในด้านคุณภาพการส่งออก ความปลอดภัยของอาหาร และข้อกำหนดทางเทคนิคยังคงมีจำกัด โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับอุปสรรคทางเทคนิคที่ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งออกมาในรูปมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี” กระทรวงฯระบุ

    ส่งผลให้ธุรกิจเวียดนามที่พัฒนาตราสินค้าของตนเองเพื่อส่งออกไปยังตลาด FTA ยังมีจำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจกับธุรกิจยังกระจัดกระจายอยู่บ้าง และยังมีกรณีของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เช่น การทุ่มตลาด

    เพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้และเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอย่างมีประสิทธิผล MoIT เสนอให้จัดสรรเงินทุนพิเศษเพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม กระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์เพื่อหาแหล่งสินเชื่อที่เหมาะสมและอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อสำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต

    ในขณะเดียวกัน องค์กรธุรกิจควรใช้สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองมาตรฐานที่สูงขึ้นตามที่ตลาดส่งออกกำหนดได้อย่างรวดเร็ว

    MoIT เสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่ครอบคลุมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทต่างๆ ในการเข้าถึงและใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์แหล่งกำเนิดที่ระบุไว้ในข้อตกลงทางการค้าแต่ละฉบับ

    เมียนมาห้ามส่งออกข้าวต้นเดือนกันยายน

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/myanmar-eyes-to-increase-rice-exports-in-coming-months/266454.vnp
    เมียนมากำลังวางแผนที่จะห้ามส่งออกข้าว หลังจากอินเดียและประเทศอื่นๆ ห้ามการส่งออกข้าวไปก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าตลาดโลกและตลาดข้าวในประเทศอาจไม่มีเสถียรภาพมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคลังสินค้าของรัฐบาลมีสต๊อกข้าวเต็มไปหมด และได้เตรียมแผนจัดหาข้าวเพิ่มตามภาวะความไม่แน่นอนของโลก

    สมาชิกอาวุโสของสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมากล่าวกับสื่อว่า จะมีการห้ามการส่งออกข้าวชั่วคราวเป็นเวลา 45 วันนับจากสิ้นเดือนนี้ การที่เจ้าหน้าที่ต้องตัดสินใจเรื่องนี้เนื่องจากราคาข้าวในตลาดประเทศปรับตัวสูงขึ้น

    เมียนมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก โดยส่งออกข้าวมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา

    เมื่อเดือนที่แล้วอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด ได้ห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติก เพื่อรักษาเสถียรภาพอุปทานข้าวในตลาดประเทศ ส่งผลให้ปริมาณข้าวสู่ตลาดโลกลดลง 10 ล้านตันหรือ 20% และยังห้ามการส่งออกข้าวนึ่งเช่นกัน

    เมียนมาไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดข้าวเช่น อินเดีย หรือไทย แต่การสั่งห้ามจะเกิดขึ้นในช่วงที่อุปทานทั่วโลกของข้าวลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดโลก

    ผู้ค้าเชื่อว่าความเคลื่อนไหวของเมียนมาจะทำให้ตลาดข้าวโลกไม่มีเสถียรภาพอีกต่อไป ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ซื้อ ประเทศผู้ส่งออกชั้นนำเช่น ไทย เวียดนาม ยังได้ขึ้นราคาข้าวเป็นผลจากการตัดสินใจของอินเดียที่จะควบคุมการส่งออกข้าว

    ในทางกลับกัน รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจซื้อข้าวเปลือกและข้าวจำนวน 16.50 แสนตันจากตลาดในประเทศ ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคมและเสร็จสิ้นในสิ้นเดือนนี้ ณ วันที่ 23 สิงหาคม ซื้อข้าวเปลือกและข้าวได้แล้วประมาณ 1,294,301 ตัน และเก็บรักษาไว้ 2,046,995 ตันไว้ในโกดังของรัฐบาล

    ในฤดูกาลนี้ ประเทศผู้ผลิตข้าว อินเดีย ไทย และเวียดนาม มีการผลิตลดลง ด้วยเหตุนี้ราคาข้าวในตลาดโลกจึงสูงขึ้น ประกอบกับไม่มีการต่ออายุข้อตกลงธัญพืชรัสเซีย-ยูเครน ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกจึงสูงขึ้นเช่นกัน

    กัลฟ์เล็งขยายโครงการลงทุนในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/thai-group-eyes-investment-projects-in-thanh-hoa/266637.vnp

    บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จากไทย สำรวจการลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคในจังหวัดทัญฮว้าตอนกลางของเวียดนาม

    ผู้อำนวยการทั่วไปของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี เวียดนาม( Gulf Energy Vietnam) พนาวิทย์ สิเดชชายาภรณ์(Panawit Sidejchayabhon) เปิดเผยในการประชุมร่วมกับผู้นำจังหวัดทัญฮว้าเมื่อเร็วๆ นี้

    รองประธานคณะกรรมการประชาชนประจำจังหวัด เหงียน วัน ทิ ชื่นชมความร่วมมือในการสำรวจครั้งนี้ และย้ำว่าพลังงานหมุนเวียนและปิโตรเลียมเหลวเป็นเป้าหมายสำคัญของจังหวัดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

    นอกจากนี้ยังได้แนะนำเขตเศรษฐกิจพิเศษหงีเซิน (Nghi Son) ซึ่งเป็น 1 ใน 8 เขตเศรษฐกิจชายฝั่งที่สำคัญ ที่เสนอสิทธิพิเศษจูงใจด้านการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดในประเทศ และส่งเสริมความสัมพันธ์แบบร่วมมือมือกันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    ในการประชุมตัวแทนจากกัลฟ์ แสดงความหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นในการทำความเข้าใจกรอบกฎหมายและการดำเนินโครงการต่างๆ

    จังหวัดทัญฮว้าอยู่ในกลุ่มจังหวัดและเมืองชั้นนำ 10 แห่งทั่วประเทศในการดึงดูด FDI จากนักลงทุนรายใหญ่จำนวนมากทั่วโลก รวมถึงบริษัทไทย เช่น
    ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

    ในช่วง 7 เดือนแรกของปี จังหวัดได้รับโครงการ FDI จำนวน 10 โครงการ มูลค่า 134.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เป็นทุนจดทะเบียนจากต่างประเทศ

    ปัจจุบัน จังหวัดกำลังมุ่งเน้นไปที่การดึงดูดการลงทุนในหลายสาขาที่ได้เปรียบ เช่น เกษตรกรรม การปลูกป่า ประมงทะเล อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ การดูแลสุขภาพ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานของนิคมอุตสาหกรรม