ThaiPublica > คอลัมน์ > เรียนรู้ “ปรากฏการณ์งูเห่า”

เรียนรู้ “ปรากฏการณ์งูเห่า”

30 กรกฎาคม 2023


วรากรณ์ สามโกเศศ

หัวเรื่องอย่างนี้มิได้หมายความว่าจะเขียนถึงนักการเมืองที่ทรยศ “ย้ายพรรค” หรือพูดถึงอวัยวะส่วนบนของชายชราท่านใด หรือการไม่ตระหนักบุญคุณของชาวนาหรือของผู้ใด หากเป็นเรื่องของปรากฏการณ์เกี่ยวกับงูเห่าที่มีบทเรียนในการออกนโยบายของภาครัฐและการดำเนินชีวิต

มนุษย์มักนำเอาสัตว์มาใช้ในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจเสมอ เริ่มตั้งแต่กระต่ายแข่งกับเต่า หรือเงาก้อนเนื้อในน้ำ หรือราชสีห์กับหนูของนิทานอีสป และเรื่องที่จริงจังแกมวิชาการ เช่น “กบในน้ำเดือด” กับ “ปรากฏการณ์นกกระจอกเทศ” ที่ผมเคยเขียนถึงแล้ว

เรื่อง “กบในน้ำเดือด” มาจากเรื่องเล่ากันมาที่ว่ากบเมื่ออยู่ในหม้อน้ำบนเตาไฟที่ร้อนขึ้นอย่างช้าๆ จะไม่กระโดดหนีออกมาจนในที่สุดก็ตาย อุปมาเหมือนกับมนุษย์ที่ไม่ปรับตัว มัวแต่พอใจกับสถานะที่เป็นอยู่โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งรอบข้างกำลังเปลี่ยนแปลง และกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว เมื่อฟังแล้วก็ดูเป็นอุปมาอุปมัยที่เป็นเหตุเป็นผลดี แต่มันเสียตรงที่ว่าไม่เป็นความจริงเพราะกบเมื่อน้ำร้อนขึ้นก็จะโดดหนีออกมา

เรื่องเล่าเกี่ยวกับกบนี้มีมาเป็นร้อยๆ ปีแล้วในโลกตะวันตก มีการทดลองใน ค.ศ. 1869 ว่า จริงๆ แล้วกบโดดหนีแต่ก็ไม่มีใครเชื่อ จนในปี 1995 Douglas Melton อาจารย์ที่ฮาวาร์ดได้ทดลองและสรุปว่าไม่ใช่เรื่องจริงโดยบอกว่า “กบโดดออกจากหม้อเมื่อน้ำร้อนขึ้น มันไม่นอนอยู่เพื่อเอาใจมนุษย์หรอก” (เเละมันไม่อยากกลายเป็นกบต้มโคล้งให้มนุษย์อีกด้วย)

เรื่องนี้เอาไปต่อยอดได้ว่า ในเรื่องกบมีสิ่งที่เรียกว่า creeping normality ซึ่งหมายถึง “การคืบคลานสู่ความเป็นปกติ” กล่าวคือ คนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ว่าเป็นสถานการณ์ปกติได้หากมันเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ในสังคมไทยเรามีหลายตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ที่เห็นชัดก็คือการใช้ภาษาที่หยาบคายมากขึ้นทั้งในที่สาธารณะและการใช้ระหว่างบุคคล อีกทั้งการออกเสียงตัว “ร” และคำกล้ำก็น่าตกใจ

เรื่องที่สองคือ “ปรากฏการณ์นกกระจอกเทศ” (ostrich effect) เป็นที่เชื่อกันมานานว่าเวลานกมันตกใจก็จะเอาหัวซุกทราย ดังนั้น มนุษย์จึงเอาไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ในหลายลักษณะ เช่น ไม่ยอมไปตรวจสุขภาพเพราะกลัวพบความจริงว่าป่วยแล้วจะเกิดความทุกข์ ไม่ยอมทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพราะกลัวไม่สบายใจเมื่อรู้ความจริงเกี่ยวกับการใช้จ่าย ไม่ติดต่อธนาคารเมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้เพราะทุกข์ใจและหวังลมๆ แล้งๆ ว่าธนาคารอาจลืม ไม่รับฟังข้อมูลในเรื่องที่ตรงข้ามกับความเชื่อและความชอบของตน ฯลฯ พฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงทั้งหมดนี้ไม่เป็นคุณแต่อย่างใดแต่ก็ยังปฏิบัติกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เรื่องนกกระจอกเทศเอาหัวซุกทรายก็ผิดอีกแบบเดียวกับเรื่องกบ คนเข้าใจผิดเมื่อเห็นมันขุดหลุมใหญ่เพื่อวางไข่ และลงไปไข่ในหลุม มันก้มหัวลงไปใกล้ดินเพื่อพลิกไข่ให้ได้รับความร้อนทั่วถึงจึงนึกว่ามันเอาหัวซุกทราย

คราวนี้กลับมาเรื่องงูเห่าของเรา “ปรากฏการณ์งูเห่า” (cobra effect) เกิดขึ้นในอินเดียสมัยอังกฤษปกครองเมื่อต้นทศวรรษ 1900 ทางการพบว่าในเมืองเดลี (เป็นเมืองหลวงในปี 1911 โดยย้ายจากกัลกัตตา และในปี 1927 เปลี่ยนชื่อเป็นนิวเดลี) มีงูเห่าชุกชุม จึงออกมาตรการให้ “สินบน” ในการจับงูที่ตายแล้วมาขึ้นเงิน โดยหวังว่าสิ่งล่อใจนี้จะช่วยให้ผู้คนช่วยกันกำจัดงูเห่า

ในตอนแรกโครงการรณรงค์นี้เป็นไปด้วยดี ประชาชนมีรายได้จากการจับงู และงูที่เอามาขึ้นเงินก็มีจำนวนมากขึ้นทุกทีจนทางการสงสัยและพบว่า แท้จริงแล้วมีการเพาะงูเห่ากันเพื่อเอามาขึ้นเงิน ทางการจึงประกาศยกเลิกโครงการ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้เลี้ยงงูทั้งหลายจึงพร้อมใจกันปล่อยงูเพราะเลี้ยงไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น งูเห่าจึงออกมาเพ่นพ่านและคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่าเมื่อตอนเริ่มโครงการด้วยซ้ำ

เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮามาก เพราะมาตรการที่ใช้กลับก่อให้เกิดผลในทางตรงข้ามกับที่ตั้งใจไว้ แรงจูงใจกลับให้รางวัลอย่างไม่ตั้งใจแก่ผู้ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ในทางวิชาการเรียกว่า “perverse incentive” หรือแรงจูงใจที่ก่อให้เกิดผลกลับทาง นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Horst Siebert แห่ง University of Kiel ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและเขียนเป็นหนังสือออกมาในปี 2002 โดยยกตัวอย่างเรื่องงูเห่าดังกล่าว และตั้งชื่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นว่า cobra effect หรือ CE)

เมื่อค้นหาเรื่องราวในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเกิด CE ก็รู้สึกแปลกใจเพราะมันมีอยู่ทั่วไปดังต่อไปนี้

(1) ในปี 1902 เมืองฮานอยของเวียดนามในช่วงเวลาที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมีหนูชุกชุม จึงออกแบบนโยบายที่จะขจัดโดยมีมาตรการให้ “สินบน” แก่ผู้นำหางหนูมาขึ้นเงินกับทางการ เเต่ในเวลาไม่นานก็เกิดมีหนูหางด้วนวิ่งอยู่เต็มเมือง เมื่อสืบสาวดูก็พบว่าเมื่อเขาจับหนูได้ก็ตัดหางและปล่อยมันไปเพื่อว่าจะได้ไปขยายพันธุ์ให้มีหางให้ตัดมากขึ้น

(2) อัฟกานิสถาน ในปี 2002 มีนโยบายลดการผลิตฝิ่น ทางการอังกฤษจึงออกมาตรการจูงใจโดยเสนอให้เงิน 700 เหรียญสหรัฐต่อเอเคอร์ของแปลงฝิ่นที่ถูกทำลาย ผลปรากฏว่าชาวบ้านผู้ปลูกพากันขยายพื้นที่ปลูกฝิ่นเป็นการใหญ่เพื่อให้มีพื้นที่ในการทำลายฝิ่นมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นหลายรายเก็บเกี่ยวฝิ่นก่อนที่จะทำลาย จึงได้รับเงินสองเด้งคือจาก “สินบน” และจากผลิตผลฝิ่น ในภาพรวมปรากฏว่ามีฝิ่นออกสู่ตลาดมากกว่าตอนเริ่มมาตรการ

เมื่อลองประยุกต์แนวคิด CE อย่างกว้างในการดำเนินชีวิตก็พบว่ามีลักษณะคล้ายกันอยู่มากดังเช่น (1) มาตรการรัดเข็มขัดนั้นดีมาก แต่งานวิชาการที่ศึกษาพบว่า มันมีส่วนทำให้ผู้ขับขี่มีความรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น จนขับรถอย่างสุ่มเสี่ยงและมีจำนวนคนตายมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรเข็มขัดนิรภัยก็ช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุลงไปมาก เรื่องนี้ก็คล้ายกับการที่คนขับขี่รถที่มีประกันเต็มที่จะมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงมากกว่าคนขับขี่ที่มีประกันน้อย

(2) สิ่งที่เรียกว่า moral hazard (อันตรายมันเกิดจากศีลธรรม) ก็เข้าข่ายนี้เช่นกันดังเรื่อง (ก) ทางการตั้งใจช่วยเหลือประชาชนให้เป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพด้วยการให้เงินอุดหนุนครอบครัว แต่ปรากฏว่ากลับไม่อยากทำงาน อยู่บ้านผลิตลูกเพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือมากๆ (ข) พ่อแม่ดูแลลูกเข้าข่าย “พ่อแม่รังแกฉัน” กล่าวคือ ดูแลประคบประหงมลูกมากเกินไปจนลูกอ่อนแอ ไม่สู้ชีวิต ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ตัดสินใจไม่เป็น ฯลฯ ความตั้งใจให้ลูกมีความสุขก็เลยกลายเป็นได้ลูกที่มีความทุกข์

(3) WFH (work from home) หรือทำงานออนไลน์จากบ้านซึ่งติดพันจากช่วงโควิดระบาด เพื่อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาก ผลปรากฏในหลายแห่งว่าทำให้ได้งานน้อยลง คนรู้สึกขี้เกียจทำงาน การทำงานที่บ้านกลายเป็นการพักผ่อน อาทิตย์หนึ่งทำงานจริงๆ เพียงสามวัน

CE อาละวาดจากทั้งมาตรการของรัฐและเอกชนตลอดจนการเลี้ยงดูลูกของครอบครัวด้วย กล่าวคือ ตั้งใจอย่างหนึ่งโดยให้แรงจูงใจและการกระทำอย่างดีที่สุด แต่ปรากฏว่าผลมันเป็นไปในทางตรงข้าม บทเรียนนี้สอนให้ต้องระมัดระวังอย่างมากในการออกแบบนโยบายและออกมาตรการต่างๆ เพราะไม่ว่าจะตั้งใจดีอย่างไร ก็มีโอกาสที่ผลจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามได้เสมอ พฤติกรรมของมนุษย์ที่ตอบรับต่อแรงจูงใจที่เสนอนั้นแตกต่างกันในแต่ละสังคมและในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์จะช่วยให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 25 ก.ค. 2566