ThaiPublica > คอลัมน์ > “กบในน้ำเดือด”: เรื่องจริงหรืออิงนิยาย

“กบในน้ำเดือด”: เรื่องจริงหรืออิงนิยาย

19 กันยายน 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องราวของ “กบในน้ำเดือด” ที่กบตายอย่างไม่รู้ตัวมีมานานแล้วโดยถูกใช้เป็นเรื่องเล่าสอนใจ ไม่ว่าเป็นเรื่องจริงหรืออิงนิยายก็ตาม มันมีที่มาที่ไปที่สนุกและมีแง่ให้คิดอย่างสมควรพิจารณา

มีการพูดอ้างกันมานานว่าหากเอากบใส่ในหม้อน้ำที่ตั้งไว้บนเตาไฟตั้งแต่น้ำยังเย็น มันจะอยู่อย่างมีความสุขถึงแม้อุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเป็นสัตว์เลือดเย็นทำให้สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายให้สอดคล้องกับข้างนอกได้โดยมิได้ตระหนักถึงอันตราย กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อน้ำเดือดและพร้อมต่อการกลายเป็นส่วนประกอบของต้มโคล้งไปแล้ว

เราได้ยินเรื่องเล่านี้กันบ่อยๆ โดยเอาไปโยงกับการที่คนหรือองค์กรไม่ยอมปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยเหมือนอุณหภูมิของน้ำรอบตัวกบ และกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว

เมื่อได้ยินเรื่องเล่าแปลกๆ อย่างนี้ก็จำเอาไปประยุกต์ต่อกันมานับร้อยๆ ปี โดยหารู้ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องอิงนิยาย เพราะเมื่อมีการทดลองจริง กบจะโดดออกมาตั้งแต่เริ่มร้อนแล้ว

ในปี 1869 แพทย์ชาวเยอรมัน Friedrich Goltz สาธิตให้เห็นว่า แม้แต่กบที่สมองถูกผ่าออกไปก็จะทนอยู่ในน้ำร้อนได้เพียง 25 องศาเซลเซียส แล้วก็จะโดดออกจากหม้อ อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1872 และ 1875 มีนักวิทยาศาสตร์ทดลองและป่าวประกาศว่ากบไม่โดดออกจากหม้อหากเพิ่มความร้อนทีละน้อยจนมันสุกตาย

ต่อมาก็มีผู้ทดลองอีกในปี 1875 และยืนยันว่าหากเพิ่มความร้อนในอัตรา 0.002 องศาเซลเซียส ต่อวินาทีแล้วกบก็จะไม่โดดออกมาและตายในเวลา 2.5 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1995 มีการทดลองเรื่องนี้ (หลังจากที่กบตายไปแล้วหลายตัว) ซึ่งถือว่าเป็นอันยุติ กล่าวคือ Professor Douglas Melton แห่ง Harvard ได้ทดลองและสรุปว่าไม่ใช่เรื่องจริง เพราะ “กบโดดออกมาจากหม้อเมื่อน้ำร้อนขึ้น มันไม่นั่งอยู่เพื่อเอาใจมนุษย์ และถ้าโยนกบลงไปในหม้อน้ำเดือดมันไม่โดดออกมาแน่นอน เพราะมันตายแล้ว”

ใน YouTube ท่านผู้อ่านอาจเห็นการทดลองเรื่อง “กบในน้ำเดือด” โดยแสดงให้เห็นว่ากบไม่ได้โดดออกมาจนลอยตายอยู่ในน้ำเดือด ขอเรียนว่าเป็นการทดลองที่เก๊ เพราะตอนจบมีข้อความบอกว่าไม่มีกบตายจริง ซึ่งก็หมายความว่ากบในหม้อน้ำเดือดเป็นกบยาง นี่คือคำสารภาพว่าเป็นการทดลองที่เชื่อถือไม่ได้

ถึงมันจะเป็นเรื่องไม่จริง แต่ก็สามารถนำไปคิดต่อยอดและใช้เตือนใจผู้คนได้ดี (ตราบที่รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะมันอาจเป็นเรื่องของการปล่อยไก่มากกว่าต้มกบ) ดังที่มีคนนำไปใช้ในคำว่า creeping normality ซึ่งหมายถึง “การคืบคลานสู่ความเป็นปกติ” กล่าวคือคนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ว่าเป็นสถานการณ์ปกติได้หากมันเกิดขึ้นช้าๆ โดยไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงอย่างมากและอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นๆ แล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ยอมรับ

Jared Diamond นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของผลงานเรืองชื่อ Gun, Germs, and Steel (1997) อธิบายโดยใช้แนวคิด creeping normality ว่าเหตุใดในระยะยาวสิ่งแวดล้อมจึงเลวร้ายลงได้จากการตัดต้นไม้โดยดูเหมือนว่าผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินขาดความมีเหตุมีผล

Diamond อธิบายว่าเมื่อเริ่มตัดต้นไม้เพราะมีประชากรอยู่อาศัยมากขึ้นก็จะตัดไปทีละเล็กทีละน้อย กว่าต้นไม้ต้นใหญ่ต้นสุดท้ายจะถูกตัดลง ประโยชน์ของมันก็หมดความสำคัญเชิงเศรษฐกิจไปนานแล้ว ที่เหลือก็คือต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อยที่พอมีให้ตัดเป็นประจำจนไม่มีใครสังเกตว่าต้นไม้ใหญ่นั้นมันไม่มีเหลืออยู่แล้ว

การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยที่สำคัญของมนุษย์ก็คือคุณธรรมหลักที่อยู่ในใจของแต่ละคน คงไม่มี creeping normality ใดที่เลวร้ายไปกว่าการเห็นคนเลวและความเลวเป็นเรื่องธรรมดาและสังคมเห็นว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรที่คงที่เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ สิ่งสำคัญก็คือต้องระวังให้มันเปลี่ยนแปลงทีละน้อยไปในทิศทางที่เป็นคุณแก่สังคมและตนเอง

ไม่ว่า “กบในน้ำเดือด” เป็นเรื่องจริงทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่น่าคิดก็คืออะไรที่ฆ่ากบ คำตอบไม่ใช่น้ำร้อนแต่เป็นความไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะกระโดดออกมาเมื่อใด ถ้าหากโดดออกมาแต่เมื่อเริ่มร้อนก็รอด แต่ถ้าหากลังเลความร้อนก็จะทำลายเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อจนทำให้โดดออกมาไม่ได้ มนุษย์ก็เช่นกันต้องอยู่ในความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ และต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจสำคัญๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างหรือตัดความสัมพันธ์ การเปลี่ยนอาชีพ หรือเปลี่ยนงาน การพัฒนาตนเอง การลงมือปฏิบัติในบางเรื่อง ฯลฯ หรือยังรอไปก่อน มนุษย์ทุกคนจึงล้วนเป็น “กบในน้ำเดือด” ที่ต้องตัดสินใจกระโดดอย่างถูกเวลาด้วยกันทั้งนั้น

ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงในด้านวัตถุนิยมอย่างรวดเร็วจนเข็มทิศศีลธรรมชำรุด กบก็สามารถมีคำสอนให้มนุษย์ได้ว่าสิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทีละน้อยในตนเองในทางลบอย่างมิได้สังเกตเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอ ทัศนคติ ค่านิยม วัตรปฏิบัติ ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยกันทำให้แขนขาเป็นอัมพาตเพราะจมปลักอยู่กับความเสื่อม จนไม่สามารถโดดออกจากหม้อน้ำที่กำลังร้อนขึ้นทุกทีได้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าทุกเรื่องที่ได้ยินอาจไม่เป็นจริงแต่ก็สามารถเอามาหาประโยชน์ได้ตราบที่เราไม่ด่วนปฏิเสธด้วยจิตที่คับแคบ ทุกสิ่งล้วนมีประโยชน์จากแต่ละแง่มุมของมัน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 ก.ย. 2560