ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > คลังวาง 3 แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ “สั้นเน้นเยียวยาเร็ว ครอบคลุม-ยาวลุย BCG Economy”

คลังวาง 3 แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ “สั้นเน้นเยียวยาเร็ว ครอบคลุม-ยาวลุย BCG Economy”

17 กรกฎาคม 2021


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Thailand Economic Monitor “เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยธนาคารโลก เพื่อเปิดตัวรายงาน Thailand Economic Monitor :The Road to Recovery ว่า รายงาน Thailand Economic Monitor ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 41 ของประเทศไทยและทุกครั้งรัฐบาลได้นำข้อคิดเห็นมาประกอบการจัดทำนโยบาย โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจหรือวิกฤติเศรษฐกิจแต่ละครั้ง

วิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจของโลกและแตกต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งอื่นๆที่ผ่านมา เพราะไม่ได้มีสาเหตุจากสถาบันการเงิน แต่เกี่ยวข้องกับคน การเคลื่อนย้ายของคน โดยเฉพาะในการท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศ และการเคลื่อนย้ายของกิจกรรมในประเทศ

“วิกฤติครั้งนี้จึงมีความรุนแรงมาก เพราะต้องจำกัดการเคลื่อนย้ายของคน จำกัดเสรีภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค มาตรการของรัฐบาลที่มีผลต่อคนโดยตรงก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ”

ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นช่วงแรกของการระบาด ในต้นปีถึงกลางปี ไทยสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างดี แต่การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของคนมีผลต่อการระบาด การแก้ไขการป้องกันก็ไม่สามารถควบคุมได้ผลเต็มที่ การระบาดรอบสองจึงเกิดขึ้นในปลายเดือนธันวาคมถึงต้นปี 2564 รอบที่สามเดือนเมษายนนี้และยังระบาดต่อเนื่อง

ในด้านเศรษฐกิจ ปีที่แล้วสามารถดำเนินการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำมากเกินไป ด้วยการสนับสนุนจากทั้งมาตรการการคลังและมาตรการการเงิน ในการจัดการกับการระบาดจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณ แต่เนื่องจากงบประมาณได้จัดสรรไปไว้ก่อนหน้าแล้ว การดำเนินมาตรการจึงต้องมีการกู้เงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาประชาชน

นายอาคมกล่าวว่า ปีนี้เริ่มเห็นสัญญานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากการส่งออกที่ขยายตัวค่อนข้างดี และการลงทุนภาคเอกชน ที่การนำเข้าสินค้าทุนเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีมาตรการภาครัฐเข้าไปช่วย เช่น โครงการคนละครึ่ง สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ตลอดจน มาตรการเยียวยา ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลผ่านโครงการช้อปดีมีคืนเพื่อพยุงการบริโภคในประเทศ

“ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทุนสำรองเงินตราอยู่ในระดับมั่นคง และหนี้สาธารณะยังต่ำกว่าเกณฑ์ โดยในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 55% ของ GDP ต่ำกว่าเกณฑ์ 60% ของ GDP แต่กระทรวงคลังยังไม่ประมาท ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง การออกพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเพื่อจัดการกับการระบาดและการกู้เพิ่มเพื่อแก้ไขวิกฤติ เป็นการก่อหนี้ของภาครัฐเพิ่มขึ้น ไม่ต่างจากประเทศอื่นในโลกทั้งอาเซียน ประเทศพัฒนาแล้ว”

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว เน้นการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก แต่มาตรการล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ สำหรับ 10 จังหวัดที่มีการระบาดหนัก จะเน้นไปที่ผู้ประกอบการโดยตรง โดยเฉพาะ SME โดยอิงกับระบบประกันสังคมที่มีทะเบียนผู้ประกันตนเกี่ยวข้องกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเวลา 1 เดือน มีการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนค่าน้ำค่าไฟฟ้า 2 เดือน รวมไปถึงการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่าเทอม

นอกจากนี้ยังมีมาตรการสินเชื่อ กับการพักชำระหนี้ ซึ่งธปท. จับมือสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ โดยสถาบันการเงินของรัฐซึ่งขยายระยะเวลาการชำระให้ไปถึงสิ้นปีนี้อยู่แล้วก็ได้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนนี้ด้วย

3 แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายอาคมกล่าวว่าในระยะต่อไป แนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลวางไว้มี 3 ด้าน คือ

1. มาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ในระยะสั้นยังมีความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงิน การพักชำระหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต้องทำต่อเนื่อง และมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนที่ประกาศล่าสุดอาจจะใช้เวลานานกว่าที่กำหนดไว้ เพราะการฟื้นตัวอาจจะไม่ได้เร็ว ผู้ประกอบการอาจจะไม่มีรายได้มากพอที่จะชำระหนี้ ดัวนั้นต้องติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

2. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ BCG Economy เศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น ตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ ซึ่งในด้านนี้มี 4 เรื่องหลักๆ คือ

    1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต้องมุ่งไปทีการลดใช้พลังงานหรือใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและนำพันธบัตรสีเขียวหรือ กรีนบอนด์ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลักเซมเบอร์ก
    2) เศรษฐกิจดิจิทัล จุดเปลี่ยนในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทั้งเอกชนและภาครัฐที่ต้องร่วมกัน ในส่วนของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังเป็นเรื่องของชำระภาษี รวมทั้งรัฐวิสาหกิจนำระบบอิเล็กทรอนิคส์มาใช้มากขึ้น และส่งเสริมการยื่นแบบชำระภาษีผ่านระบบระบบอิเล็กทรอนิคส์มากขึ้น ซึ่งสะดวกสบายลดการเดินทาง และลดการใช้เงินสด
    3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้ให้คำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะเริ่มจากรถจักรยานยนต์
    4) ด้านเฮลธ์แคร์ ซึ่งไทยทำได้ดีในด้าน medical tourism และต้องเสริมจุดแข็งเพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด รวมทั้งเพิ่มการดูแลผู้สูงอายุ

3. การบริหารเศรษฐกิจมหภาค ภาระการคลังมีมาก การพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐจึงมีความจำเป็น เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ให้มีความยั่งยืน เพื่อรองรับวิกฤตต่าง ๆ ไม่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ของประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจลงไปสู่ฐานราก และการคุ้มครองทางสังคม ระบบสวัสดิการสังคมมีความสำคัญ ซึ่งประชาชนเองก็ต้องมีส่วนร่วมด้วยทั้งในระบบประกันสังคมหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนบัตรสวัสดิการ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองทางสังคมได้ทั่วถึง

มาตรการเยียวยาเร็วและครอบคลุม

ทางด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งได้ร่วมในช่วงเสวนาในหัวข้อ การฟื้นฟูที่ยั่งยืน How can we support a sustained recovery? กล่าวว่า การระบาดรอบใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีและมีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการทางการคลังของรัฐบาลจะเน้นการลดภาระค่าครองชีพกับประชาชน กระทรวงการคลังและรัฐบาลเน้นความครอบคลุม และแต่การเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่จะพัฒนาไปในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาฐานข้อมูลต่างๆด้วย

“ในระยะนี้รัฐบาลเน้นความรวดเร็ว ความครอบคลุม มาตรการที่ออกมาในช่วงต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายน เราไม่คาดว่าจะมีรอบที่สาม รอบที่สี่ ตอนนั้นที่มีโครงการเราชนะ เรารักกัน ครอบคลุมคนอย่างน้อยประมาณ 42 ล้านคนเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้”

รัฐบาลยังคำนึงถึงผู้ประกอบการรายย่อย โดยมาตรการที่สนับสนุนการใช้จ่ายจะไปเน้นการให้เข้าถึงร้านค้ารายย่อยทั้งโครงการเราชนะ โครงการม33 เรารักกัน เป็นร้านค้าที่ไม่ใช่นิติบุคคล ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจึงเป็นการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย

นางสาวกุลยากล่าวว่า มาตรการที่ออกมามีทั้งการเยียวยาและมีการฟื้นฟู โดยเฉพาะจากใช้เงินกู้ ในการออกมาตรการเยียวยาก็ได้มีแผนไว้อยู่แล้วว่าในระยะต่อไปต้องมีการฟื้นฟูในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งไม่ได้คาดว่าจะมีการล็อกดาวน์ ดังนั้นในส่วนมาตรการฟื้นฟู เน้นการครอบคลุมทุกกลุ่มคน จะเห็นว่า 4 มาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติจะกระตุ้นการบริโภค ผ่านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ทั้งโครงการคนละครึ่งและยิ่งใช้ยิ่งได้ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อการครอบคลุมตรงนี้เปิดให้ถึง 50 ล้านคน ซึ่งมีประชาชนเข้ามาร่วมโครงการ 40 ล้านคน ก็คาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

“อย่างไรก็ตามในช่วงนี้เกิดการระบาดอีกครั้ง เม็ดเงินที่คาดว่าจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นฟูก็จะไม่เป็นไปตามคาดแล้ว เม็ดงินที่คาดว่าจะมีประมาณ 4 แสนล้านบาทในครึ่งปีหลังก็จะมีราวครึ่งหนึ่ง แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีผลจากการล็อกดาวน์ กระทรวงการคลังจึงไม่ไม่ปิดโครงการ เนื่องจากยังเดินหน้าได้ในระยะนี้ไปจนถึงปลายปี”

มาตรการที่ดำเนินมาถือว่าประสบความสำเร็จเพราะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ตกลงไปมาก หดตัวเพียง 6.3% ในปีที่แล้วจากการที่มาตรการครอบคลุมคน 30 ล้านคน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการภาษี เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทั้งการขยายเวลาการยื่นแบบชำระภาษี การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

“ในด้านการคลังเรายังมีพื้นที่นโยบายอยู่ และอาจจะต้องทำนโยบายเจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น หากพิจารณาจากข้อจำกัด ที่ต้องจัดสรรเงินที่มีตามลำดับความสำคัญ แต่หากไม่มีข้อจำกัดก็อาจจะให้ได้มากขึ้น”

“ความท้ายในการทำนโยบายแบบเจาะจงเป้าหมายคือ จะชี้เป้าใครคนไหน เป็นเรื่องของฐานข้อมูล จะเห็นการทำโครงการต้องมีการลงทะเบียนทุกครั้งแม้ข้อมูลที่มีสามารถนำมาใช้ได้ ตั้งแต่โครงการเราไม่ทิ้งกัน ลงทะเบียนครอบคลุม ต่อมาเราชนะมีการคัดกรอง แต่ต้องมีการพัฒนาอีกมากในการที่จะแจกจ่ายให้ถูกต้องตามเป้าหมาย โดยเฉพาะประเทศ ไทยที่ประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่อยู่ในระบบภาษี หรือไม่อยู่ในระบบการจ้างงานที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ดังนั้นการดำเนินมาตรการจึงมีความท้าทายในการที่จะใช้เงินให้มีประสิทธิภาพ หมายถึงไปสู่บุคคลที่ต้องการมากที่สุด”

เงินมีพอ หากจำเป็นขยายเพดานหนี้ได้

นางสาวกุลยากล่าวว่า ขณะนี้เม็ดเงินในการดำเนินมาตรการทางการคลังจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทมีการเบิกใช้ใกล้เต็มวงเงินแล้ว แต่ยังดำเนินโครงการไปจนถึงปลายปีนี้ ทั้งมาตรการฟื้นฟูและมาตรการเยียวยาชุดใหม่ที่จะออกมายังคงอยู่ภายใต้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

“รัฐบาลมีเงินกู้ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก 5 แสนล้านบาท เตรียมพร้อมรองรับการระบาดรอบใหม่ซึ่งเป็นรอบที่ 3 และรอบที่ 4 แต่ดำเนินการควบคู่ไปกับด้านสาธารณสุขด้วย โดยดูว่ามีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงแค่ไหน เพราะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ เพราะการเยียวยาการฟื้นฟูต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินการด้านสาธารณสุข”

“ในกรณีเลวร้ายสุด หากยังต้องกู้เงิน อาจจะมีคำถามว่ายังกู้ได้อีกหรือไม่ และอาจจะพูดถึงเพดานหนี้สาธารณะ แต่ในปีนี้เรายังสามารถรักษาวินัยทางการคลังได้ตามกรอบวินัยทางการคลังที่ 60% ของ GDP แต่จากความเห็นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกที่ว่าในช่วงวิกฤติสามารถเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะได้ เราก็จะต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสม เมื่อมีความจำเป็น แต่ขณะนี้เรายังมีพื้นที่นโยบายที่จะขยายได้เพราะยังไม่ถึง 60% ของ GDP ถ้ากู้ตามพ.ร.ก.ต่างๆที่วางแผนไว้ในปีนี้ ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบนี้ หากจะต้องทำมากกว่านี้ก็สามารถขยายเพดานเงินกู้ได้”

ฐานะการคลังมีเสถียรภาพแต่ต้องเพิ่มศักยภาพรับความเสี่ยงอนาคต

นางสาวกุลยากล่าวว่า การเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา บทเรียนที่สำคัญในรัฐบาลและกระทรวงการคลังนั้น มาตรการทางการคลังมีความสำคัญในภาวะวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง เพราะต้องบรรเทาผลกระทบของวิกฤติ ขณะที่เครื่องยนต์ภาคเอกชนไม่ทำงาน ด้วยการเข้ามาเยียวยาและดูแลสังคมทั้งในช่วงวิกฤติและหลังวิกฤติ ถ้าภาคการคลังไม่มีเสถียรภาพก็จะทำให้เศรษฐกิจไม่กลับไปที่การฟื้นฟูได้

“ในช่วงที่ผ่านมาภาคการคลังได้รับผลกระทบมาระยะหนึ่งทั้งการจัดเก็บรายได้ และการใช้งบประมาณในการบรรเทาผลกระทบ แต่ฐานะการคลังยังมีเสถียรภาพ ยังมีสภาพคล่องที่พอเพียงต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ สามารถที่จะใช้เครื่องมือในการบรรเทาผลกระทบได้อยู่ โดยในระยะสั้น ระยะปานกลาง ต้องดูว่าจะบริหารรายได้ รายจ่ายและการกู้เงินเพื่อที่จะให้เงินคงคลังและฐานะการคลัง อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างไร การกู้เงินต้องดำเนินการอย่างรัดกุมต้นทุนภายใต้ความเสี่ยงต่างๆที่เหมาะสม และคำนึงถึงกรอบวินัยทางการคลัง”

แม้ปัจจุบันฐานะการคลังมีเสถียรภาพแต่ต้องเพิ่มศักยภาพในอนาคต เพื่อให้สามารถฐานะการคลังรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะมีความเสี่ยงหลายด้านเพิ่มขึ้น ทั้งวิกฤติสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นก่อนวิกฤติครั้งนี้

ในระยะปานกลางได้จัดทำกรอบระยะปานกลาง เป็นการเน้นศักยภาพทางการคลังในระยะปานกลางด้วยหลัก 3R
ข้อแรก Reform การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้เพื่อส่งเริมรายได้ของรัฐฐาบให้มีความยั่งยืน ในระยะปานกลางและเน่นความเป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ เน้นประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อการจัดเก็บรายได้ในระปานกลางและระยะจะยาว

ข้อสอง Reshape จะต้องปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณในการลงทุนซึ่งมีความสำคัญในการที่จะก่อให้เกิดการใช้จ่ายในระดับพื้นที่ อาจจะขยายไปถึงการตัดงบที่ไม่จำเป็น

ข้อสาม Resilience การบริหารหนี้สาธารณะให้มีภูมิคุ้มกันต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิด บริหารให้ความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม

“ในระยะนี้ยังคงต้องใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว มีการขาดดุลงบประมาณ แต่ในระยะยาว หากเศรษฐกิจขยายตัวเต็มศักยภาพและรัฐบาลเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งรายได้และรายจ่าย ก็มีเป้าหมายระยะยาวที่จะทะยอยปรับลดขนาดของการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด ซึ่งจะเป็นระยะที่ยาวพอสมควร”

สิ่งที่กระทรวงการคลังดำเนินการควบคู่กับการจัดการกับวิกฤตินี้ คือ การปฏิรูปภาษีทั้งระบบ ทั้งโครงสร้างภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีด้วย ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้ที่เพียงพอรองรับการใช้จ่าย ในการฟื้นฟูหลังจากที่การระบาดของโควิดลดลง รวมไปถึงการรับมือกับความท้าทายและความเสี่ยงรอบด้าน ตลอดจนรักษาความยั่งยืนทางการคลัง