ทางรอดอุตสาหกรรมเอทานอล หลังกองทุนน้ำมันฯ ลดการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพปี 2567
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้มีแค่บทบาทในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศเท่านั้น แต่ตามกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ยังกำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องทยอยลดการชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพลงด้วย โดยกฎหมายกำหนดให้ลดการอุดหนุนภายในวันที่ 24 กันยายน 2565 หรือ 3 ปีนับจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ หากจำเป็นสามารถเลื่อนได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 2 ปี ซึ่งก็ได้ขยายไปแล้วรอบแรกถึงวันที่ 24 กันยายน 2567
ความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาออกไปเป็นเพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การขยายเวลาลดการชดเชยออกไปจะเป็นกลไกในการรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ สร้างส่วนต่างราคาขายปลีกจูงใจให้เกิดการใช้พลังงานชีวภาพ และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการขยายพืชผลทางเกษตรในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก
อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ซึ่งรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ได้ติดตามข้อมูลของทางผู้ประกอบการเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อดูทิศทางการปรับตัวของธุรกิจว่ามีศักยภาพเพียงใดในการรับมือกับสถานการณ์หากต้องยกเลิกการชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในที่สุด
เมื่อเร็วๆนี้ สกนช. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงผลิตเอทานอลขนาดใหญ่ของประเทศ โดยทางซีอีโอของบริษัทฯ นางสาวสุรียส โค้วสุรัตน์ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดเชื้อเพลิงชีวภาพหากต้องยกเลิกการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ มี 2 แนวทางที่ผู้ประกอบการเห็นว่า ภาครัฐยังคงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
โดยแนวทางแรก ต้องพัฒนาการใช้เอทานอลเกรดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ใช้ในภาคพลังงาน และการผลิตเจลแอลกอฮอล์ เพราะเอทานอลสามารถนำไปใช้ต่อยอดผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆได้หลากหลายมาก ทั้งการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ยาและเครื่องสำอาง การผลิตโซเวนท์ผสมสี เป็นต้น แต่ติดข้อจำกัดที่ยังไม่เปิดเสรีเอทานอล เนื่องจากมีการควบคุมในเรื่องการนำไปผลิตสุรา จึงเสนอให้เปิดเสรีเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
อีกแนวทางหนึ่ง นโยบายพลังงานต้องส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน รวมถึงควรผลักดันการใช้งานเอทานอลเกรดเชื้อเพลิงไปสู่อุตสาหกรรมการบินเพื่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับเครื่องบิน ซึ่งจะเป็นการหนุนปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศให้ใกล้เคียงกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6.72 ล้านลิตรต่อวัน แต่ปริมาณการใช้มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
ข้อเสนอที่ดูจะเป็นทางรอดให้กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มเอทานอลจะได้รับการสนองตอบหรือไม่ยังคงต้องขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ แผนด้านน้ำมัน (Oil Plan) หนึ่งในแผนพลังงานชาติที่อยู่ระหว่างการจัดทำของกระทรวงพลังงาน ตลอดจนสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ความผันผวนของราคาน้ำมันที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อถึงปี 2567 เงื่อนเวลาในการลดการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพก็อาจถูกขยายออกไปอีกรอบก็เป็นได้ถ้าสถานการณ์ในขณะนั้นไม่เป็นใจ