ThaiPublica > Native Ad > ยืดเวลาเอทานอล – ไบโอดีเซล ปรับตัวก่อนกองทุนน้ำมันฯ หยุดชดเชย

ยืดเวลาเอทานอล – ไบโอดีเซล ปรับตัวก่อนกองทุนน้ำมันฯ หยุดชดเชย

28 กันยายน 2022


ผลจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 ที่เห็นชอบให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 นั้น มีนัยยะสำคัญต่อทิศทางราคาน้ำมันในประเทศมากพอสมควร เพราะสะท้อนให้เห็นว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงถูกใช้เป็นกลไกช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันทั้งกลุ่มดีเซล และกลุ่มเบนซินหรือน้ำมันตระกูลแก๊สโซฮอลต่อไป

เดิมนโยบายนี้มีขึ้นเพื่อต้องการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งไทยต้องนำเข้ามหาศาล อีกทั้งยังช่วยเหลือพยุงราคาสินค้าเกษตรในกลุ่มพืชพลังงาน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีราคาตกต่ำอยู่เนืองๆ และการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพยังมีส่วนช่วยลดมลภาวะอีกด้วย แต่ด้วยต้นทุนของเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำมาผสมในเนื้อน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้น จึงต้องอาศัยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยชดเชยเพื่อจูงใจผู้ใช้น้ำมันหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพ

ต่อมา ภายหลังจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้กลายเป็นนิติบุคคลภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และมีข้อกำหนดว่า ต้องทยอยลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพลงภายใน 3 ปีหลังจากกฎหมายบังคับใช้ เพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง ซึ่ง 3 ปีที่ว่าคือภายในวันที่ 24 กันยายน 2565

แต่ด้วยสถานการณ์ราคาพลังงานโลกปี 2565 มีความผันผวนต่อเนื่อง และวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังไม่นิ่ง รัฐจึงได้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปก่อนอีก 2 ปี ซึ่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ มีบทเฉพาะกาลระบุไว้ให้มีความยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ แต่ก็เลื่อนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง และครั้งละไม่เกิน 2 ปี

แม้เหตุผลสำคัญของการขยายระยะเวลาดังกล่าวนี้ จะเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานที่นำมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง มีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตรกร แต่แน่นอนว่าเป็นการทอดเวลาให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งไบโอดีเซล และเอทานอล ได้มีเวลาปรับตัว เพื่อหันไปเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตต่อไป เช่น นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผลิตภัณฑ์ใช้ทางการแพทย์ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพว่า จะใช้ระยะเวลาที่มีอยู่พัฒนาปรับปรุงเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพได้มากน้อยเพียงใด