ThaiPublica > คอลัมน์ > ค่าไฟฟ้าครึ่งปีหลัง 2566 อยู่ในช่วงขาลงจริงหรือ (2)

ค่าไฟฟ้าครึ่งปีหลัง 2566 อยู่ในช่วงขาลงจริงหรือ (2)

7 มิถุนายน 2023


วีระพล จิรประดิษฐกุล

ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้วิเคราะห์ว่าค่าไฟฟ้าเอฟที งวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 จะมีแนวโน้มลดลงไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีเหตุผลประกอบ ดังนี้

1. ค่าไฟฟ้าเอฟที งวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ได้กำหนดสมมติฐานในการคำนวณค่าเอฟทีไว้สูงกว่าที่เกิดขึ้นจริง กล่าวคือ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 90.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (LNG Spot) อยู่ที่ 29.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ราคา Pool Gas อยู่ที่ 466 บาทต่อล้านบีทียู แต่ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าสมมติฐานในการประมาณการค่าเอฟที เช่น ราคาน้ำมันดิบดูไบจริงเคลื่อนไหวอยู่ที่ 78-86 ดอลลาร์ต่อบาเรล ราคา LNG Spot อยู่ระหว่าง 12-29 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ราคา Pool Gas ต่ำกว่า 466 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งทำให้ค่าเอฟทีที่เรียกเก็บสูงกว่าที่เกิดขึ้นจริง ทำให้มีเงินสะสมหรือค่า AF เป็นบวก เหลือมาใช้ลดราคาในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 จำนวนหนึ่ง

2. ค่าเอฟที งวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ก็น่าจะกำหนดสมมติฐานในการคำนวณค่าเอฟทีไว้สูงกว่าที่จะเกิดขึ้นจริง ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบกำหนดไว้ที่ 80.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคา LNG Spot อยู่ที่ 19.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ราคา Pool Gas อยู่ที่ 379 บาทต่อล้านบีทียู แต่ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือน พ.ค. ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ โดยราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคา LNG Spot อยู่ที่ 9.8-10.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ราคา Pool Gas ต่ำกว่า 379 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าที่เรียกเก็บไป จึงทำให้มีเงินสะสมน่าจะเป็นบวกเหลือจำนวนหนึ่ง ที่นำมาใช้ลดค่าเอฟทีในงวดถัดไปได้อีก

3. สำหรับแนวโน้มค่าเอฟที งวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 นั้นคาดว่าจะลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้แน่นอน โดยมีปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังของทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่กำลังอยู่ในภาวะถดถอย อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้ความต้องการพลังงานชะลอตัวลง ทำให้ให้ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดล่วงหน้าในช่วงครึ่งปีหลังลดลงมาอยู่ในระดับ 72-74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ราคา LNG Spot ก็เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ 10-12 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดลงจากช่วงก่อน เนื่องจากสูตรราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยสัมพันธ์กับราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 8-12 เดือน ซึ่งในขณะนั้นราคาน้ำมันเตามีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเตายังส่งผลให้ราคาก๊าซจากเมียนมาจะชะลอตัวลดลงตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 3 เดือนด้วย สุดท้ายก็จะส่งผลให้ราคา Pool Gas ลดลงจากช่วง พ.ค.-ส.ค. 2566 ได้อีกระดับหนึ่ง

ดังนั้น จึงคาดว่าค่าเอฟที งวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 จะลดลงจากงวดก่อนแถมยังมีเงินสะสมจาก 2 งวดที่แล้วมาช่วยลดราคาเอฟทีได้อีก จึงทำให้ค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 อาจลดลงได้มากถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าถึงแม้การจัดทบทวนและทำประมาณการค่าเอฟทีจะเป็นหน้าที่หลักของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็จริง แต่ก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันการประเมินสถานการณ์ ปัจจัยสมมติฐาน ตลอดจนการรวบรวมและจัดทำข้อมูลซึ่งต้องอาศัยระยะเวลา

อีกทั้งการประกาศค่าเอฟทีแต่ละงวดยังเป็นการประมาณการล่วงหน้าถึง 4 เดือน ซึ่งยังไม่นับรวมช่วงเวลาในการรวบรวม จัดทำและประมวลผลข้อมูลล่วงหน้าถึง 45 วัน เพื่อให้ทันต่อการประกาศค่าเอฟทีในแต่ละงวด ที่ต้องประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนตามข้อตกลงกับทางภาคธุรกิจเอกชน ที่ต้องการระยะเวลาการเตรียมพร้อมและปรับตัว ยกตัวอย่าง เช่น ค่าเอฟทีในงวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 กระบวนการประมาณการค่าเอฟทีจะต้องเริ่มตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. 2566 และประกาศใช้ก่อนสิ้นเดือน ส.ค. 2566 ดังนั้น จึงทำให้ยังคงมีความเสี่ยง ความไม่แน่นอนหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย เริ่มตั้งแต่สมมติฐานในช่วง ก.ย.-ธ.ค. 2566 ของราคาน้ำมันดิบดูไบ ราคา LNG Spot และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในขณะนี้ยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะเกิดอะไรขึ้นยังไม่มีใครรู้ นโยบายอัตราดอกเบี้ยและปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันแม้จะอยู่ในช่วงขาลงแต่ก็มีความผันผวน

ดังนั้น ความยากลำบากในการบริหารค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. ในช่วงค่าไฟฟ้าขาลง จึงอยู่ที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทั้งในและนอกภาคพลังงานที่ยังคงยืดเยื้อยังไม่มีข้อสรุป กับการตอบสนองความต้องการ ความคาดหวัง ความไม่พอใจของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับผลกระทบจากค่าไฟแพงและต้องการให้ไฟฟ้าถูกลง หน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยังคงต้องประมาณการค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 ก่อน ที่ตั้งสมมติฐานในช่วงกลาง ก.ค. 2566 นั้นจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ ถึงปัจจัยต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่นแนวโน้มราคา Forward ของราคาน้ำมันดิบดูไบ และ LNG Spot รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มาประกอบการประมาณการ มิเช่นนั้นอาจจะทำให้ค่าประมาณการเอฟทีกับค่าที่เกิดขึ้นจริงอาจจะคลาดเคลื่อนได้

ทั้งยังอาจจะทำให้ถูกต่อว่าต่อขาน ว่าเก็บเงินค่าเอฟทีประชาชนเกินกว่าที่จะเกิดขึ้นจริงเหมือนสองงวดที่ผ่านมา ทั้งที่ในความเป็นจริง มีข้อจำกัดที่ต้องยอมรับและเข้าใจร่วมกันด้วยว่า เป็นเรื่องของการคาดการณ์และระยะเวลาที่ต้องใช้ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลในแต่ละช่วง

แม้กลไกเอฟทีก็ยังเป็นเพียงกลไกเดียว ที่สามารถจะนำเอาเงินค่าไฟมาคืนให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงในงวดถัดๆ ไป แต่ค่าเอฟทีที่สูงขึ้นไปแล้วนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและความเป็นอยู่ของประชาชนไปแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่ละเลยไม่ได้คือ ปัญหาการคืนเงินค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระล่วงหน้าไว้กว่า 160,000 ล้านบาท ที่ กกพ. ต้องพิจารณาและแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้ กฟผ. มีปัญหาสภาพคล่องและลุกลามกระทบต่อเครดิตของ กฟผ. จนกระทบต่อความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าของประเทศด้วย

โดยสรุป จากปัจจัยที่ได้หยิบยกมาให้ดูกัน การพิจารณาค่าเอฟทีในงวดสุดท้ายของปี 2566 ที่ดูเผินๆ เหมือนจะง่าย แต่ก็คงไม่ง่ายซะทีเดียวสุดท้ายผู้เขียนขอเอาใจช่วยและเชื่อมั่นว่า กกพ. จะบริหารค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายในห้วงของค่าเอฟทีขาลง ท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนซึ่งยังมีอยู่มาก