ThaiPublica > คอลัมน์ > ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (2)

ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (2)

31 มกราคม 2023


วีระพล จิรประดิษฐกุล

ต่อเนื่องจากตอน “ทางเลือกและข้อจำกัดในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า (1)”

ผู้เขียนได้สรุปหลากหลายมุมมอง และสาเหตุเกี่ยวกับค่าไฟแพงทิ้งเป็นประเด็นเอาไว้ว่ามาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าไม่มีประสิทธิภาพ และปัญหาเชิงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบผู้ซื้อรายเดียว (enhanced single buyer — ESB) เป็นระบบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการแข่งขัน ในตอนนี้ลองมาดูแนวทางการแก้ไขและการดำเนินการในมุมมองของผู้เขียน

ก่อนอื่น การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นประเด็นที่จะต้องให้ความสำคัญ และจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพื่อการผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับแรก โดยควรจะเร่งผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติคาดว่ากลางปี 2566 ปตท.สผ. จะผลิตได้มากขึ้นจากระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจะผลิตได้เต็มที่ 800 ในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเมื่อผลิตได้มากขึ้น การนำเข้า LNG ก็จะลดลง และเมื่อสถานการณ์วิกฤติพลังงานคลี่คลายลง ภาครัฐจะต้องเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ในรูปสัญญารยะยาว เพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา spot LNG และเร่งดำเนินการจัดหาก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นลำดับต่อไป

ในปัจจุบัน กิจการไฟฟ้าของไทยเป็นระบบผู้ซื้อรายเดียว โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ส่งกระแสไฟฟ้าให้แก่ฝ่ายจำหน่าย (กฟน. และ กฟภ.) เป็นลักษณะโครงสร้างแบบรวมศูนย์ และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลและพลังงานทดแทนในรูปโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งมีชื่อเรียกตามรูปแบบและกำลังการผลิตประเภทต่างๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPPs) โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPPs) และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก (VSPP) โดย IPPS และ SPPs มีสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) กับ กฟผ. ซึ่งในสัญญาจะมีค่าความพร้อมจ่าย (available payment — AP) ซึ่งค่า AP เป็นค่าความพร้อมในกรณีที่ระบบต้องการกระแสไฟฟ้าต้องสามารถเดินเครื่องผลิตได้ทันทีตามต้องการ ดังนั้น จึงเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องเดินเครื่องหรือไม่ก็ยังต้องค่า AP อีกส่วนคือค่าเชื้อเพลิง (energy payment — EP) จ่ายตามราคาเชื้อเพลิง ซึ่งผู้ผลิตไม่ต้องรับภาระเมื่อราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น ภาระค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งหมดก็ด้วยเหตุผลที่ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงมาตลอดว่า เพื่อให้การให้บริการไฟฟ้ามีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้าของไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละเกือบ 60 ซึ่งขณะนี้มีราคาแพงและมีความผันผวนค่อนข้างมาก สาเหตุต่อมาคือ เรามีโรงไฟฟ้าสำรองสูงมากถึงร้อยละ 50 ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานทั่วไปที่ร้อยละ 15 (ซึ่งปัจจุบันในการคำนวณปริมาณไฟฟ้าสำรองแท้จริงก็ยังคงแตกต่างกัน โดยภาคนโยบายยังคงยืนยันว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไม่ได้สูงตามที่กล่าวหาจากฝั่งตรงข้าม และขณะนี้อยู่ในระดับ 30% รวมทั้งเชื่อว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และปริมาณความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง)

อีกส่วนหนึ่งคือกิจการก๊าซธรรมชาติมีลักษณะผูกขาดเช่นดียวกัน ปตท. เป็นผู้ขายรายเดียว ราคาก๊าซที่ขายให้ กฟผ., IPPs และ SPPs เป็นราคา pool gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของก๊าซฯ จากอ่าวไทย สหภาพพม่า และนำเข้า LNG

ไล่เรียงเหตุแห่งปัญหาต่างๆ ผู้เขียนอยากให้ย้อนกลับไปมองเพื่อให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุเป็นสำคัญ คือ การที่ประเทศยังบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซเป็นระบบผู้ซื้อรายเดียว และสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงรอบนี้ อาจทำให้กระทรวงพลังงานจะต้องกลับมาพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างจริงจัง ทั้งนโยบายบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ESB ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ที่จะส่งเสริมให้มีการแข่งขันมากขึ้น ส่งเสริมตลาดให้มีการแข่งขันอย่างจริจังและเป็นธรรม ทั้งในส่วนของการผลิต ส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ ราคา pool gas จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสมสอดคล้องกับตลาดไฟฟ้าที่จะมีการแข่งขันมากขึ้น เพราะราคา pool gas เป็นอุปสรรคในการส่งเสริมการแข่งในตลาดไฟฟ้า

ทั้งหมดนี้เป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานในระยะยาว จะต้องมีการกำหนดนโยบายและแผนงานอย่างชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอนไป เพื่อให้มีการแข่งขันในตลาดไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะเกิดประสิทธิภาพทั้งภาคไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติในระยะยาว ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้เมื่อเทียบกับระบบปัจจุบัน

ในการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ขึ้นกับภาคนโยบายจะเป็นผู้ตัดสินใจและกำหนดทิศทาง อีกกลไกหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ให้เป็นไปด้วยราบรื่น สร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม และดูแลสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงานได้ ก็คงต้องพึ่งพา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบาย