ThaiPublica > คนในข่าว > ‘กัณวีร์ สืบแสง’ พรรคเป็นธรรม ชูสันติภาพกินได้ กระจายอำนาจ 3 จว.ชายแดนใต้ ‘จัดการตนเอง ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน’

‘กัณวีร์ สืบแสง’ พรรคเป็นธรรม ชูสันติภาพกินได้ กระจายอำนาจ 3 จว.ชายแดนใต้ ‘จัดการตนเอง ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน’

16 มิถุนายน 2023


‘กัณวีร์ สืบแสง” ว่าที่ ส.ส. คนเดียวของพรรคเป็นธรรม กะเทาะรากเหง้าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำไม 19 ปีทุ่มงบ 5 แสนล้านแก้ปัญหาไม่ได้ เสนอยกเลิกกฎอัยการศึก, ยุบ กอรมน., ศอ.บต. พาทหารกลับบ้าน ทำความสะอาดถนน ยกเลิกด่านความมั่นคงประมาณ 1,800 ด่าน ระบุให้จังหวัดจัดการตัวเองแต่ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน

นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม

ทันทีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ประกาศจัดตั้งรัฐบาล ชื่อของ “พรรคเป็นธรรม” ในฐานะพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 1 ใน 8 พรรค และ “กัณวีร์ สืบแสง” เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียงคนเดียว เป็นที่สนใจทันทีเช่นกัน

หากย้อนเส้นทางการเมืองของ ‘พรรคเป็นธรรม’ พบว่า ไม่ใช่พรรคใหม่ที่พึ่งเปิดตัวในการเลือกตั้งปี 2566 แต่ได้เริ่มทำงานการเมืองมาแล้วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในนาม ‘พรรคกลาง’ ลงเลือกตั้งในปี 2562

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม อดีตเป็น ส.ส. 3 สมัยในกรุงเทพมหานคร ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ต้องการสร้างการเมืองใหม่ จึงเข้ามาพัฒนาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘พรรคเป็นธรรม’ เพื่อเข้ารับการเลือกตั้งในปี 2566 โดยชูนโยบายการสร้างสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พาทหารกลับบ้าน

ด้วยนโยบายสิทธิมนุษยชนนำการเมือง ทำให้ได้รับคะแนนโหวต 181,226 คะแนน และพรรคเป็นธรรม มีว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 คน คือ “กัณวีร์ สืบแสง” เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ซึ่งเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับแรก กระทั่งนายพิธา ประกาศจัดตั้งรัฐบาล และพรรคเป็นธรรมได้รับการติดต่อให้ร่วมรัฐบาล

‘กัณวีร์’ บอกกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า ตอนได้รับการติดต่อรู้สึกแปลกใจเพราะว่ามีแค่เสียงเดียว แต่ก็รู้สึกยินดีในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการบอกว่าพรรคเป็นธรรมมีดีเอ็นเอเดียวกันกับพรรคก้าวไกล

ส่วนเส้นทางการเมืองของ ‘กัณวีร์’ พรรคเป็นธรรมไม่ใช่พรรคแรกในการทำงานการเมือง เพราะก่อนหน้านั้น 2 ปี เขาเคยร่วมงานกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย โดยถูกวางตัวให้เป็นผู้สมัคร ส.ส. เขตสวนหลวง กทม.

แต่ด้วยความสนใจงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จึงตัดสินใจยุติงานการเมืองมาตั้ง “มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ Peace Rights Foudation” เพื่อทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้

กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม

สิทธิมนุษยชน เส้นทางการเมือง ‘กัณวีร์’

ก่อนที่ ‘กัณวีร์’ จะตั้งมูลนิธิเพื่อสันติภาพ ผ่านประสบการณ์การทำงานกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในสำนักความมั่นคงกิจการชายแดนและการป้องกันประเทศ และมีโอกาสลงพื้นที่หลังเหตุการณ์ “กรือเซะ” ในปี 2547 โดยเข้าไปช่วยดูแลในการพัฒนาโครงการในพื้นที่

“ผมเคยทำงานที่ สมช. ดูแลเรื่องความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย และรวมถึงปัญหาชายแดนภาคใต้ ดูแลนโยบายเตรียมความพร้อมการฝึกซ้อม และด้านกำลังต่างๆ แต่ตัดสินใจลาออกจาก สมช. เนื่องจากในช่วงการทำงาน 8 ปี มีรัฐประหารถึง 2 ครั้ง โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า สมช. เป็นองคาพยพในการทำรัฐประหาร ซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์ส่วนตัว ทำให้เมื่อมีการรัฐประหารครั้งสุดท้าย ได้ลาออกจาก สมช.”

จากนั้น ‘กัณวีร์’ เข้าไปทำงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) โดยทำงาน ใน 8 ประเทศ อาทิ ซูดาน, ซูดานใต้, ยูกันดา, บังกลาเทศ, พม่า และไทย ที่ดูแลปัญหาผู้ลี้ภัยการสู้รบชาวพม่าในไทย

“ผมทำงานกับชาวพม่า ผมเห็นว่ายูเอ็นเข้ามาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไม่ได้ในตอนนั้น ไม่มีองค์กรไหนสามารถช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นในประเทศได้เลย ผมเลยตัดสินใจลาออกมาสร้างมูลนิธิฯ เอง เพื่อจะมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในฝั่งพม่า และช่วยในส่วนคนที่ข้ามชายแดนมาฝั่งไทย”

เขาเริ่มก่อตั้งมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ เน้นการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดยเริ่มทำงานแรกคือปัญหาของ พี่น้องอุยกูร์ เนื่องจากในช่วงที่ทำงาน UNHCR ในปี 2557 เขาพบชาวอุยกูร์ถูกขังที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ผ่านไปกว่า 9 ปี ก็ยังพบว่ามีชาวอุยกูร์ 50 คนถูกขังอยู่ที่เดิม

“ผมว่ามันนานเกินไปที่ห้องขัง ตม. สามารถขังคนได้นานกว่า 9 ปี มีห้องน้ำเดียว แต่กักขังคนประมาณ 50-60 คน มันแย่เกินไป”

การแก้ไขปัญหาชาวอุยกูร์ ไม่สามารถทำได้ด้วยความช่วยเหลือจากมูลนิธิอย่างเดียว เพราะหลายปัญหาเป็นเรื่องของกฎหมาย หากต้องการให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืนต้องเข้าไปทำงานกับฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา

‘กัณวีร์’ จึงเข้าไปทำงานร่วมกับกรรมาธิการฯ ในนามของมูลนิธิฯ แม้ว่าจะมีเสียงตอบรับในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดี แต่สุดท้ายก็ไปต่อไม่ได้เพราะติดปัญหาขั้นตอนราชการอีกมากมาย จนต้องตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตอีกครั้งหันกลับไปทำงานการเมือง

“ผมตัดสินใจว่าจะไม่ยืมจมูกใครมาหายใจเพราะการทำมูลนิธิฯ คงไปไม่สุดแล้ว”

‘กัณวีร์’ ตัดสินใจทำงานการเมืองกับ พรรคเป็นธรรม หลังจาก ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้า “พรรคเป็นธรรม” ชวนมาร่วมงานและต้องการให้ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นใจกลางสำคัญและเป็นนโยบายของพรรค โดยเริ่มที่ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และประธานยุทธศาสตร์ จนมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคเป็นธรรมในปัจจุบัน

กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม

ยึดหลักสิทธิมนุษยชนนำการเมือง

พรรคเป็นธรรมเลือก 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการทำงานการเมืองด้วยหลักการ สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ

‘กัณวีร์’ บอกว่า ‘จริงๆ พรรคเป็นธรรมของเรา ไม่ใช่พรรคที่จะทำงานแค่ชายแดนภาคใต้หรือพื้นที่ปาตานีอยางเดียว แต่เพราะการเริ่มต้นงานการเมืองครั้งแรก เราอยากมีหมุดหมายเริ่มต้นให้ได้ก่อน จึงเลือกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพราะผมทำงานพื้นที่นี้มาก่อน หลังจากนั้นเราจะขยายไปทั่วประเทศ’

แม้การเลือกตั้ง 2566 ไม่ได้คาดหวังมากนัก เนื่องจากในพื้นที่ปาตานีซึ่งหมายถึงพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ยังมีบ้านใหญ่อย่างพรรคประชาชาติ แต่ต้องการลองสนามเลือกตั้งเพื่อทำงานการเมืองในอีก 4 ปี ข้างหน้า คือการเลือกตั้งในปี 2570

“การเลือกตั้งครั้งนี้เพราะอยากทำการเมืองใหม่จริงๆ ผมคาดหวัง ถ้าได้หมื่นคะแนน ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะพรรคเป็นธรรมเริ่มต้นทำงานการเมืองเพียงแค่ 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น คือเริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา แต่เมื่อเราได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ที่นั่ง ถือว่าประสบความสำเร็จ”

คะแนนเสียงของพรรคเป็นธรรมไม่ได้อยู่เพียงแค่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเขาได้คะแนนพรรคฯ 1.2 หมื่นคะแนน แต่คะแนนที่ได้ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กาญจนบุรี หรือภาคเหนือ อย่าง เพชรบูรณ์ ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากนโยบายพาทหารกลับบ้าน

“คะแนนเสียงที่ได้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ แต่มาจากจังหวัดที่ต้องส่งลูกหลานไปยังพื้นที่ 3 จังหวัด เช่น กาญจนบุรี ซึ่งตลอด 19 ปีที่ผ่านมาสูญเสียทหารในพื้นที่จำนวนมาก จึงวิเคราะห์กันว่า นโยบายพาทหารกลับบ้านน่าจะถูกใจคนในพื้นที่แถวนั้น”

‘กัณวีร์’ บอกว่า แม้จะได้โหวตจนได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ที่นั่ง แต่ก็มีคนออกมาด้อยค่าเสียงโหวตบอกว่ามีการกาผิด เพราะเป็นพรรคได้เลขตัวเดียวเลือกได้ง่าย ซึ่งปัญหานี้น่าจะกลับไปวิเคราะห์ที่ต้นเหตุของปัญหา คนที่สร้างกฎเกณฑ์ให้มีบัตร 2 ใบมากกว่า แต่เราก็เชื่อว่า เขาไม่ได้เลือกพรรคฯ ผิด

ไม่เพียงนโยบายพาทหารกลับบ้าน พรรคเป็นธรรมยังเสนอนโยบายทำความสะอาดถนนที่เต็มไปด้วยด่านความมั่นคงกว่า 1,800 ด่าน ที่สร้างต่อเนื่องมานาน 19 ปี แต่ไม่สามารถจับคดีความมั่นคงในด่านได้เลย

“จับคนร้ายที่ด่านความมั่นคงไม่ได้เลย เพราะพอเขาเห็นด่านเขาก็หลบหมดแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในด่านคืออุบัติเหตุเพราะว่ามันเยอะจริงๆ พอเราคำนวณในพื้นที่ 3 จังหวัด ในทุก 6 กิโลเมตรจะมีหนึ่งด่าน มันเยอะเกินไป”

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิ จากการใช้กฎหมายพิเศษ ทั้ง กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งไปปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของคนในพื้นที่ เช่น หากเดินทางผ่านด่านต้องถ่ายรูป ถ่ายบัตรประชาชน

‘กัณวีร์’ มองว่า กฎหมายพิเศษต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการพาทหารกลับบ้าน รวมไปถึงการทำความสะอาดถนนให้ไม่มีด่านความมั่นคง จะเป็นตัวชี้วัดในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้

ที่ผ่านมาการสร้างสันติภาพของรัฐไทยไม่ถูกฝาถูกตัว และพยายามกดปัญหาในพื้นที่ปาตานีให้เป็นปัญหาในพื้นที่ ไม่ใช่ปัญหาระดับชาติ

“พอปัญหาถูกกดให้เป็นปัญหาในพื้นที่ ก็จะใช้หน่วยงานความมั่นคงและใช้กฎหมายพิเศษ กดทับให้ปัญหามันคงที่อยู่ในพื้นที่ มันก็เลยไม่สามารถสร้างสันติภาพที่ถูกต้องได้สักที”

นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม

ยกปัญหา 3 จว. ชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ

ประสบการณ์ทำงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติในการจัดการปัญหาชายแดนใต้ หลังเหตุการณ์กรือเซะ ทำให้พบว่าการบริหารจัดการงบประมาณ และการเข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่ยังไม่ตรงเป้าหมาย

โดยขณะนั้นรัฐบาลใช้งบกลางทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านบาท แบ่งให้ฝ่ายความมั่งคงทำงาน 3,000 ล้านบาท และสภาพัฒน์ฯ อีก 9,000 ล้านบาท โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขชายแดนใต้ แต่การจัดการงบประมาณการพัฒนาโครงการในขณะนั้น ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่มากนัก

“ผมเข้าไปอยู่ดูแลเรื่องพัฒนาแผนงานโครงการของหน่วยงานความมั่นคง แต่เราไม่สามารถจัดการอะไรได้มากนัก ทำได้เพียงกลั่นกรองโครงการ ซึ่งบางโครงการที่เสนอมา เช่น การสร้างสนามฟุตบอล เสริมสร้างเยาวชนไม่ให้หมกหมุ่นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน แต่ไปสร้างบนภูเขาที่เดินทางลำบากเป็นต้น”

ขณะที่การเจรจาสันติภาพก็ผิดฝาผิดตัว แตกต่างจากการทำงานในเวทีเจรจาสันติภาพในระดับสากลซึ่งเขาจะใช้มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน นำสร้างสันติภาพ แต่การเจรจาของไทยใช้ทหารนำ โดยใช้ทหารของทั้ง 2 ฝ่ายนั่งคุยกัน และมีคู่เจรจาเป็น BRN โดยเวทีการเจรจาใช้พื้นที่ของประเทศมาเลเซียเป็นหลัก ไม่มีการเจรจาในพื้นที่

“ในเวทีระหว่างประเทศ ไม่เคยเห็นว่าการเจรจาสันติภาพจะนำเอาทหารมาคุยกับทหาร ซึ่งหากเป็นเวทีระหว่างทหารจะเป็นเรื่องของการหยุดยิง แต่การหยุดยิงไม่สามารถสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้ และการคุยกันก็มาคุยที่มาเลเซีย ไม่ยอมคุยกันในพื้นที่เกิดเหตุปัญหาจริงๆ และไม่ยอมเอาคนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมในการเจรจา”

19 ปี ใช้งบฯ 5 แสนล้าน แต่สร้างสันติภาพไม่ได้

ตลอด 19 ปีการแก้ปัญหาชายแดนใต้จึงใช้งบประมาณมากถึง 5 แสนล้านบาทแล้ว แต่การสร้างสันติภาพยังไม่เกิดขึ้น แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลมาตลอด แต่การเจรจราที่ผิดฝาผิดตัว ทำให้การสร้างสันติภาพไม่มีอะไรคืบหน้าในพื้นที่

“รัฐไทยเองยังไม่ยอมใช้คำว่าสันติภาพ แต่ใช้คำว่าสันติสุข ซึ่งความหมายแตกต่างกัน ขณะที่กระบวนการเจรจาเองก็ไม่มีภาคประชาชนเข้ามาร่วมในเวที และไม่มีการใช้พลเรือนในการนำการเจรจา หลายครั้งเจรจากันแล้วก็ไม่มาบอกว่าคุยอะไรกันบ้าง แม้จะยังไม่ตกผลึก แต่ประชาชนต้องเข้าใจว่าไปเจรจาอะไรบ้าง เพราะงบประมาณ 5 แสนล้านบาทเป็นเงินภาษีประชาชน”

ประเด็นที่ทำให้การสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐขาดความจริงใจ ไม่ยอมยกระดับให้การแก้ไขปัญหาเป็นการแก้ปัญหาระดับชาติ พยายามกดให้อยู่ในพื้นที่ หน่วยงานความมั่นคงและกฎหมายพิเศษทำให้ทุกอย่างอยู่ในพื้นที่ ปัญหาชายแดนใต้ต้องเข้าไปสู่รัฐสภา

“รัฐไทยต้องแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาที่เคยกดให้อยู่เพียงแค่ระดับพื้นที่ ต้องยกระดับขึ้นมาให้เข้าสู่เวทีรัฐสภา ทำให้เป็นเรื่องของ ส.ส. ทั้งหมด 500 คนในสภาไม่ใช่เพียงแค่ ส.ส. ในพื้นที่ 13 คน”

การยกระดับการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นวาระแห่งชาติจะทำให้กฎหมายทั้งในเรื่อง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ เช่น อาจต้องมีพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองคู่ขัดแย้ง ให้สามารถเข้ามาพูดคุยในไทยต่อหน้าประชาชน และบอกว่า เขาเป็นตัวแทนประชาชนจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาการเจรจาสันติภาพไม่ได้ทำตามแนวทางนี้เลย

กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม

ต้องสร้างสันติภาพที่กินได้

‘กัณวีร์’ บอกว่า สันติภาพต้องกินได้ แม้ว่าการสร้างสันติภาพในพื้นที่อย่างอัฟกานิสถาน ซีเรีย จะเป็นเรื่องไกลตัว

แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สันติภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ก็ไม่สามารถสร้างสันติภาพได้

“การสร้างสันติภาพกินได้ไม่ใช่เรื่องวาทกรรม แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาในพื้นที่ไม่เคยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางเลย นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 4 จนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับปัจจุบัน ยังไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม”

การพัฒนาในหลายโครงการในปัจจุบัน เช่น การทำเหมืองหินทุ่งคล้า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และเหมืองบาตูฆอ จ.ยะลา ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และประชาชนในพื้นที่ต้องการให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีการจัดทำ และยังไม่รับฟังเสียงของคนในพื้นที่แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาพุลายควาย ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งมีพื้นที่ 1.5 หมื่นไร่ แต่การพัฒนาต่างๆ ไม่เคยถามพี่น้องประชาชนว่าพุลายควายคืออะไร และพื้นที่ดังกล่าวเกี่ยวกับวิถีชีวิตประชาชนที่เขาอยู่มาตั้งแต่โบราณจนปัจจุบันอย่างไร

‘กัณวีร์’ บอกว่า สันติภาพไม่เกิด เพราะว่าประชาชน กินไม่อิ่ม นอนไม่หลับ ไม่มีงานทำ คนต้องออกจากพื้นที่ไปทำงานที่อื่นหมดเลย ซึ่งความจริงแล้วทรัพยากรในพื้นที่มีอยู่แล้ว แต่การพัฒนาที่เข้ามาไม่ได้ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดี เพราะไม่ได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ขาดเสรีภาพ ‘รากเหง้า’ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีมากกว่าบริบทความมั่นคงอย่างเดียว มีปัญหาสังคม การศึกษา สาธารณสุข เหมือนกับในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ แต่พื้นที่ 3 จังหวัดใต้มีพิเศษเพิ่มขึ้น โดยที่รัฐไม่เคยพูดถึงคือรากเหง้าปัญหาตั้งแต่แรกในเรื่องประวัติศาสตร์ เราพยายามตัดประวัติศาสตร์ ความรู้สึก สิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไป

ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนพุดคุยกันเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ การใส่ชุดมลายู การยกมือตะเบ๊ะ กลายเป็นเรื่องหมิ่นเหม่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่สั่งสมมานาน

นอกจากนี้ การพัฒนายังมาจากส่วนกลาง ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม เช่น นิคมอุตสาหกรรมจะนะ คือตัวอย่างการพัฒนาจากส่วนกลาง โดยไม่ได้คุยกับประชาชนในพื้นที่ว่าเขาต้องการพัฒนาอย่างไร และยังเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิชุมชน

‘กัณวีร์’ บอกว่า ปัญหาที่สะสมคือเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ในพื้นที่มีกฎหมายที่ปิดกั้นพี่น้องประชาชนในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 113 มาตรา 116 และมาตรา 215 กฎหมายทั้ง 3 มาตราเปิดกั้นไม่ให้โอกาสพี่น้องประชาชนในพื้นที่ออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพ

“ในพื้นที่มีกฎหมายพิเศษที่สามารถควบคุมตัวได้ 37 วันก่อนใช้ ป.วิอาญา มีคนกว่า 100 คนที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ และใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สามารถคุมตัว 37 วันแล้วปล่อยตัวออกมา บอกว่าไม่มีความผิดอะไรเลย ซึ่งการควบคุมตัวโดยที่เขาไม่มีความผิด สร้างปัญหาทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ ไม่รวมครอบครัว ลูกหลานเขา ดังนั้น ผมคิดว่าการใช้กฎหมายพิเศษต้องแก้ไข”

นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ สส.ปาตี้ลิส เลขาธิการพรรคเป็นธรรม

ยุบ ศอ.บต.-กอ.รมน. นโยบายพรรคสุดโต่ง

ขณะที่นโยบายของพรรคเป็นธรรม เสนอยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถูกจัดว่าเป็นนโยบายสุดโต่ง

แต่ ‘กัณวีร์’ เห็นว่าเหตุผลในการเสนอยุบ ศอ.บต. และ กอ.รมน. เนื่องจาก ศอ.บต. เป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับ ครม. ส่วนหน้า และมีรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับ ทำให้การทำงานไม่เกิดการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที

โดยในหลายเรื่อง ศอ.บต. ไม่สามารถตัดสินใจได้เลย บอกว่าต้องรอรัฐบาลส่วนกลาง เช่น กรณีพี่น้องประมง หลังจากรัฐบาลไทยไปเซ็นIUU กับอียูมีทั้งหมด 10 ข้อ พี่น้องประมงไม่สามารถออกเรือไปทำประมงได้ จนต้องปิดกิจการไปจำนวนมาก

“การทำประมงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวบ้านในพื้นที่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา เมื่อเรือต้องจอดไม่สามารถออกไปหาปลาได้ก็มีปัญหากระทบตลอดห่วงโซ่ ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็ง ช่างเครื่อง ช่างสี ประมาณ 3-4 แสนคนตกงาน แม้ ศอ.บต. มีโครงการช่วยเหลือก็ตัดสินใจไม่ได้ทันที”

ผลกระทบในพื้นที่ของพี่น้องประมงจำนวนมากไม่ได้รับความช่วยเหลือย่างทันท่วงที แม้ว่า ศอ.บต. จะมีงบประมาณ แต่ติดปัญหาเรื่องของขั้นตอนราชการ หรือการตัดสินใจทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ต้องยุติการทำประมงลง

“นโยบายของเราไม่ได้สุดโต่งเพราะการยุบ ศอ.บต. หรือการเปลี่ยนโครงสร้างของ กอรม. ทั้งนี้เพื่อให้ 3 จังหวัด ชายแดนใต้สามารถทำงานได้ โดยโครงสร้าง กอ.รมน. อาจต้องดึงทหารออก เอาพลเรือนเข้าไปทำงาน เนื่องจาก กอ.รมน. คืองานภายในประเทศ ส่วนนอกประเทศจึงเป็นงานของทหาร เอาคนที่ทำงานจริงๆ มาทำงานใน กอ.รมน. ศอ.บต.”

กระจายอำนาจ -3 จังหวัดชายแดนใต้ ‘จัดการตัวเอง’

ข้อเสนอกระจายอำนาจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของพรรคเป็นธรรม ไม่ต่างจากข้อเสนอของพรรคก้าวไกล คือ เรื่องของการกระจายอำนาจ และให้จังหวัดจัดการตัวเอง

ก่อนจะมาเป็นข้อเสนอเรื่องจังหวัดจัดการตัวเอง พรรคเป็นธรรม ทำการศึกษา รับฟังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เห็นด้วยกับการจัดการตัวเองในรูปแบบกระจายอำนาจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมี 31 จังหวัดชายแดนและอีก 21 จังหวัดชายฝั่งทะเลโดยจังหวัดเหล่านี้สามารถสร้างเม็ดเงินสินค้าชายแดน 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี

“ถ้าเรานำตรงนี้มาเป็นสารตั้งต้นจะสามารถบริหารงบประมาณภาษีได้ ทำให้สามารถกระจายอำนาจ และเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดได้ เพราะเราสามารถสร้างระเบียงเศรษฐกิจชายแดนได้”

ระเบียงเศรษฐกิจชายแดน จะใช้แนวทางผสมผสานวิถีชีวิต ศาสนา ภาษา โรงเรียน และมหาวิทยาลัยใช้ภาษามลายูเป็นหลัก เนื่องจากภาษามลายูมีหลายประเทศใช้ภาษานี้ นอกจากนี้ อาจจะสร้างอาหารฮาลาล ทำให้เป็นจังหวัดจัดการตนเองได้ หรือการกระจายอำนาจผ่านการจัดการตัวเอง รวมไปถึงข้อเสนอเรื่องเมืองคู่แฝด เช่นเดียวกับเชียงใหม่เป็นเมืองคู่แฝดกับญี่ปุ่น ทำให้สามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลได้

นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม

จังหวัดจัดการตัวเองไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน

หลายคนเป็นห่วงว่า การกระจายอำนาจลงไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อาจจะทำให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน อาจจะเพราะมีชายแดนติดกับมาเลเซีย แต่การจัดการตัวเองคือการกระจายอำนาจ ไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร โดยพรรคเป็นธรรมยืนยันในการมีรัฐเดียวภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ

“ไม่มีใครอยากแบ่งแยกดินแดน แต่รากเหง้าของปัญหาคือการปิดกั้นไม่ให้เขาพูดถึงอาณาจักรปาตานีของมลายูมาก่อน ทำให้พอมีคนพูดเรื่องปาตานีจึงเป็นคำแสลงหูของฝ่ายความมั่นคงและคิดไปถึงการแบ่งแยกดินแดน แต่การจัดการตัวเองคือการกระจายอำนาจให้ประชาชนจัดการตัวเองได้ เพราะคนในพื้นที่รู้ปัญหาดีที่สุด นอกจากนี้ คำว่าจัดการตัวเองยังเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เพื่อไปสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

ข้อเสนอในการสร้างสันติภาพภาคใต้ของพรรคเป็นธรรมประกอบด้วย 3 ขา คือ ขาแรก ทำให้กระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีการพูดคุยเรื่องนี้ในรัฐสภา ออกพระราชบัญญัติการสร้างสันติภาพ และมีพระราชกฤษฎีกาในการคุ้มครองคู่เจรจา

นอกจากนี้ ต้องเปลี่ยนจาก‘การเจรจาสันติสุข’ ต้องเปลี่ยนเป็น ‘การเจรจาสันติภาพ’ และทำให้เป็นสากล เพราะฉะนั้น กระบวนการต้องมีการตั้งกรรมาธิการ การติดตามประเมินผล ในเวทีระดับชาติ

ขาที่สอง คือ สิทธิเสรีภาพ การแสดงออกในพี่น้องประชาชน ต้องได้รับการคุ้มครองและยอมรับจากภาครัฐ กฎหมายที่ปิดกั้นการแสดงออก มาตรา 113 มาตรา 116 และมาตรา 251 รวมทั้งกฎหมายพิเศษต่างๆ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยต้องยกเลิกกฎอัยการศึกก่อนเป็นอันดับแรก

ขาสาม คือ การปฏิรูประบบราชการในพื้นที่ การยุบ กอ.รมน. เตรียมโครงสร้าง กอ.รมน. ให้มีพลเรือน และนำทหารออกจากโครงสร้างนี้ รวมไปถึงต้องยุบ ศอ.บต. เอาคนที่ทำงานใน ศอ.บต. ไปทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านการกระจายอำนาจ และจัดการตัวเอง

การปฏิรูประบบโครงสร้างระบบราชการ ถ้ามีการกระจายอำนาจ ให้จังหวัดจัดการตัวเอง เนื่องจากการทำงานของ ศอ.บต. เป็นโครงสร้างซ้ำซ้อนกับรัฐบาลส่วนหน้า มีรัฐมนตรีที่ไปดูแลหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่ชายนแดนใต้อยู่แล้ว ทำให้โครงสร้างมีองคาพยพของหน่วยงานจำนวนมาก

เพราะฉะนั้น การปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการต้องจัดทำเร่งด่วน ทำจังหวัดจัดการตนเอง งบประมาณต้องให้จังหวัดบริหารจัดการ ผู้ว่าฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ส่วนปรากฏการณ์การเมืองใหม่ ‘กัณวีร์’ มองว่า ต้องพลิกโฉมการเมืองเดิมๆ เพราะประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตย 90 ปี แต่ไม่เห็นว่าประชาชนจะเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

“ผมทำงานด้านมนุษยธรรม ผมคิดว่า มนุษยธรรมต้องนำการเมือง มีหลายๆ คน บอกว่า เศรษฐกิจ นำการเมือง ทหารนำการเมือง รัฐราชการนำการเมือง เราไม่เห็นเลยว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จจริง ผมเลยเสนอหลักการมนุษยชนมานำการเมืองไทยให้ได้”

นอกจากนี้คือ การเมืองใหม่ต้องมีความเป็นกลาง ต้องเป็นกลางจริงๆ เพราะว่าในเวทีสากล เวลาเราคุยกับฝ่ายขัดแย้ง ถ้าเราไม่เป็นกลาง ไม่เอาเหตุผลมาเป็นตัวตั้ง ในพื้นที่สงครามเชื่อว่าเขายิงเราก่อน เลยต้องรักษาความเป็นกลาง และมาคุยหาทางออกด้วยเหตุผลร่วมกัน

ส่วนที่สาม หลักการไม่เอนเอียง เพราะถ้าเอนเอียงเมื่อไหร่ เท่ากับว่าปัญหาอยู่ที่เรา เช่น เราเลือกช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ก่อน ไม่ได้ ทุกอย่างต้องช่วยตามลำดับความสำคัญ

สุดท้าย คือ เรื่องของอิสรภาพของการทำงานในพื้นที่ลี้ภัย หากผู้บริจาคบอกว่าต้องให้คนนั้นคนนี้ก่อน ก็จะสร้างปัญหาในความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

“ผมคิดว่า 4 หลักการ น่าจะเหมาะสมกับการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ทุกประเทศในโลกนี้ เพราะฉะนั้น เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ถ้าเป็นกลาง ไม่เอนเอียง มีอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ก็จะสามารถสร้างการเมืองใหม่ได้”