ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ปัดตอบคำถามการเมืองในเวลาราชการ – มติ ครม. ขยาย MOU ‘EEC – เกาหลีใต้’ อีก 3 ปี

นายกฯ ปัดตอบคำถามการเมืองในเวลาราชการ – มติ ครม. ขยาย MOU ‘EEC – เกาหลีใต้’ อีก 3 ปี

4 เมษายน 2023


เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการประชุม ครม. ณ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ ปัดตอบคำถามการเมืองในเวลาราชการ
  • ชงเลขาอาเซียนฯ บรรจุ “หมอกควันข้ามแดน” เป็นวาระเร่งด่วน
  • เผยข่าวดี – ไทยอาจเป็นเจ้าภาพจัดงาน “EXPO 2028” ที่ภูเก็ต
  • มติ ครม. ขยาย MOU “EEC – เกาหลีใต้” อีก 3 ปี หนุนการค้า-ลงทุน
  • ผ่านแผนพัฒนาสหกรณ์ 5 ปี นายกฯ ย้ำพบทุจริต ต้องลงโทษ
  • ปลื้มหนี้ครัวเรือนลด สิ้น ก.ย.2565 เกือบ 87% ของจีดีพี
  • ขึ้นทางด่วน “บูรพาวิถี-กาญจนาภิเษก” ฟรี 7 วัน เริ่ม 12 เม.ย.นี้
  • เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการกลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังจากที่ได้ลาราชการในช่วงครึ่งเช้า เพื่อไปจับฉลากหมายเลขพรรค โดยการประชุม ครม. วันนี้ มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมในสัดส่วนที่ประชุมได้ ถึงแม้จะมีรัฐบมนตรีบางท่านไม่ได้มาประชุม แต่งานทั้งหมดก็ถูกส่งต่อไปที่กระทรวงอยู่แล้ว เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีทุกคน

    ปัดตอบคำถามการเมืองในเวลาราชการ

    เมื่อถามถึง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “ครึ่งบ่าย เป็นครึ่งเวลาราชการ ส่วนครึ่งเช้าเป็นครึ่งเวลาของการเมือง เพราะฉะนั้นในช่วงบ่ายนี้ไม่ตอบการเมืองทั้งสิ้น ซึ่งได้ตอบไปแล้ว เมื่อวานพูดจนเจ็บคอ”

    ถามอีกว่า จากนี้จะหาเสียงอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างว่า นายกรัฐมนตรีจะลาครึ่งเช้า-บ่าย พลเอก ประยุทธ์ หัวเราะเบาๆ และตอบว่า “อ้อ เหรอ วันนี้เธอไม่มา เธอก็ลาฉันบ้างนะ”

    “เดี๋ยวเขาก็บอกเอง เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของพรรค ทางพรรคเขาจัดการ จะไปไหนอะไรยังไง ผมก็เป็นห่วงงานปกติ บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้า พวกเราทุกคนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงนี้มีปัญหาความเดือดร้อนกับประชาชนหลายอย่าง ก็จำเป็นต้องติดตาม-แก้ไข”

    พลเอก ประยุทธ์ ทิ้งท้ายว่า เรื่องเศรษฐกิจให้จะโฆษกฯ ชี้แจง ตอนนี้หลายๆ อย่างอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง รายจ่ายต่างๆ”

    “เอาส่วนดีๆ ไปออก (ข่าว) กันบ้างสิ ขอบคุณทุกคน น่ารักทุกคนนะจ๊ะ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    เผยข่าวดี – ไทยอาจเป็นเจ้าภาพจัดงาน “EXPO 2028” ที่ภูเก็ต

    ด้านนายอนุชา รายงานว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้พูดถึงประเด็นที่ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน EXPO 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยนายกรัฐมนตรี ดำเนินการประชุมเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปได้ด้วยดี ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน และได้พูดคุยและหาเสียงกับประเทศสมาชิกองค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ “BIE” เนื่องจากจะมีการลงคะแนนเสียงเดือนมิถุนายน 2566

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เรื่องนี้เป็นภารกิจที่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจ และนายกรัฐมนตรี อยากให้พี่น้องประชาชนไทยช่วยกันสร้างบรรยากาศบ้านเมืองช่วงที่ใกล้เลือกตั้งให้เป็นไปได้ด้วยดี เพราะต้องการเห็นภาพลักษณ์ไทยสู่ผู้มีโอกาสลงคะแนนเสียงให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

    “ในช่วงนี้ถึงเดือนมิถุนายน หลายหน่วยงานต้องทำงานอย่างเข้มข้นในการพูดคุยกับประเทศสมาชิก นายกรัฐมนตรี ขอให้คนไทยทุกคนร่วมกันเตรียมตัวรับฟัง หวังว่าจะเป็นข่าวดีที่เราจะได้รับการคัดสรรให้เป็นเจ้าภาพ นายอนุชา กล่าว

    ชงเลขาอาเซียนฯ บรรจุ “หมอกควันข้ามแดน” เป็นวาระเร่งด่วน

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี พูดคุยหารือกับเลขาธิการอาเซียนที่มาเยี่ยมประเทศไทยในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผานมา โดยนายกรัฐมนตรี หยิบยกประเด็นสถานการณ์หมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นความท้าทายของภูมิภาคไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีจุดความร้อน (hot spot) ที่เห็นได้ชัด

    “นายกรัฐมนตรี ขอรับการสนับสนุนจากเลขาธิการอาเซียนในการผลักดันการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่อาจข้ามมายังประเทศไทย โดยอยากให้ช่วยประสาน หารือ สนับสนุนการจัดการประชุมอย่างเร่งด่วนกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการลดจำนวนจุดความร้อนให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นโดยเร็ว เพราะส่งผลทั้งสุขภาพ การท่องเที่ยว และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” นายอนุชา กล่าว

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า เลขาธิการอาเซียนเห็นด้วยถึงความสำคัญ และจะดำเนินการพิจารณากลไกในความรับผิดชอบที่จะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

    มติ ครม. มีดังนี้

    นาวสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ขยาย MOU “EEC – เกาหลีใต้” อีก 3 ปี หนุนการค้า-ลงทุน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีฉบับใหม่ และได้อนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ของฝ่ายไทย

    ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในด้านธุรกิจ และอุตสาหกรรมระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ในพื้นที่ EEC ของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. ขอบเขตความร่วมมือ ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ เข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และจะมีการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์และมีความเป็นปัจจุบัน รวมถึงให้การสนับสนุนโดยตรงแก่บริษัทและโครงการต่างๆ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (automation and robotics) เกษตรกรรมขั้นสูง อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล การพัฒนา เมืองอัจฉริยะ เป็นต้น

    2. บันทึกความร่วมมือดังกล่าว มีผลบังคับใช้ 3 ปี เมื่อทั้งสองฝ่ายมีการลงนาม

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมา สกพอ. และ สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนสาธารณรัฐเกาหลี ได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิม ตามที่คณะคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 โดยได้ใช้มาตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 และได้สิ้นสุดการบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ด้วย

    ผ่านแผนพัฒนาสหกรณ์ 5 ปี นายกฯ ย้ำพบทุจริต ต้องลงโทษ

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566- 2570) โดยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย 6 นโยบายย่อย สรุปได้ ดังนี้

      1. พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการในสหกรณ์สู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านเทคโนโลยี และสร้างวัฒนธรรม แห่งการเรียนรู้ในสหกรณ์
      2. ส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรและดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ เช่น จัดหาและสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับบริบท ของแต่ละประเภทสหกรณ์ และพัฒนาหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ สำหรับบุคลากรสหกรณ์
      3. ยกระดับศักยภาพและสมรรถนะการดำเนินธุรกิจตามลักษณะธุรกิจและประเภท ของสหกรณ์ เช่น

        (1) ธุรกิจด้านการเกษตร สนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและความหลากหลาย ของสินค้าเกษตร
        (2) ธุรกิจด้านการเงิน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการเงิน สหกรณ์ ประเภทออมทรัพย์ และเครดิตยูเนี่ยน และ
        (3) ธุรกิจด้านการบริการ พัฒนาแพลตฟอร์ม และช่องทางการบริการสาหรับการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสม
      4. สร้างการเชื่อมโยงและร่วมมือกันทางธุรกิจและสังคมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น ออกแบบโครงสร้างขบวนการสหกรณ์ให้มีความเชื่อมโยงด้านธุรกิจและการร่วมมือในการพัฒนา สหกรณ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม และควบรวมสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี
      5. สร้างธรรมาภิบาลในขบวนการสหกรณ์ เช่น สนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการที่ดี และสร้างนวัตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงรุก ในสหกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
      6. ปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ขบวนการสหกรณ์และภาครัฐเพื่อให้ทันต่อ การเปลี่ยนแปลง เช่น ศึกษา วิจัย และพัฒนาเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึง การวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตของสหกรณ์แต่ละประเภทในด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจและการลงทุน

    สำหรับสถานการณ์ทั่วไปของสหกรณ์ของไทยมีจำนวน 7,520 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์พบว่ามีปริมาณธุรกิจด้านการให้เงินกู้มากที่สุด ส่วนชุมนุมสหกรณ์มีจำนวน 135 แห่ง ซึ่งมีแนวโน้มแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยมีสัดส่วนปริมาณธุรกิจในการให้บริการรับฝากสูงสุด

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ทั่วไปและสภาพเศรษฐกิจหลังการฟื้นตัวจากโควิด-19 พบว่า สหกรณ์ต้องเผชิญหน้าต่อความท้าทายต่างๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจหดตัว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเร่งแก้ปัญหาในกรณีที่พบการไม่สุจริต ซึ่งต้องมีมาตรการลงโทษด้วย

    ปลื้มหนี้ครัวเรือนลด สิ้น ก.ย.2565 เกือบ 87% ของจีดีพี

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบภาวะสังคมไตรมาสที่ 4/2565 และภาพรวมปี 2565 ตลอดจนประเด็นทางสังคมที่สำคัญที่ทางนโยบาย ต้องให้ความสำคัญติดตามเข้าไปแก้ไขปัญหา ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน

    สศช.รายงานถึงสถานการณ์ด้านแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นโดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2565 ทั่วประเทศมีการจ้างงานทั้งสิ้น 39.6 ล้านคนนั้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ขณะที่การว่างงานก็ดีขึ้นโดยมีผู้ว่างงานทั้งหมด 4.6 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 1.15 ของแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงาน โดยประเด็นที่หน่วยงานเกี่ยวข้องจะต้องติดตามสำหรับภาคแรงงานนี้ ก็คือ การจ้างงานในอุตสาหกรรมการส่งออก และโอกาสการหางานของนักศึกษาจบใหม่ ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว

    สำหรับประเด็นหนี้สินครัวเรือน ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565 พบว่า หนี้สินครัวเรือนทั้งระบบอยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 86.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ที่อยู่ที่ร้อยละ 88.1 ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพหรือ NPL ยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 2.62 ของสินเชื่อรวม เกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนนี้ มีประเด็นที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องติดตามและให้ความสำคัญคือ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณผิดนัดชำระ และการกำหนดมาตรการเฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือกลุ่มหนี้เสียจากโควิด19

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านภาวะสังคมเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนพบว่าทั้งไตรมาสที่ 4/2565 และตลอดปี 2565 ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังสูงขึ้นได้แก่โรคปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก ขณะที่ปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง โดยข้อมูล ณ ปี 2564 ระบุว่าคนไทยป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึง 358,267 คน จากปี 2563 ที่มีจำนวน 355,537 คน โดยมีประเด็นที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องดำเนินการขับเคลื่อนคือ การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ตลอดจนมาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศที่ยั่งยืน

    ในส่วนของการศึกษาซึ่งมีข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 นั้น แม้จะพบว่าเด็กไทยมีการเข้าเรียนในระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 81.7 แต่ภาพรวมการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติพื้นฐาน (O-NET) มีคะแนนลดลงในทุกระดับซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อระบบการเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูความรู้ของเด็กไทยที่หายไปในช่วงโควิด-19 ดูแลการพัฒนาที่สมวัยของเด็ก และแก้ไขปัญหากการหลุดออกนอกระบบการศึกษา

    ทางด้านประเด็นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่นั้น ณ ไตรมาส 4/2565 พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ขณะที่เฉลี่ยทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ส่วนของสถานการณ์คดีอาญา ตลอดปี 2565 มีการแจ้งความคดีอาญา 431,666 คดี ลดลงร้อยละ 18.4 แม้ภาพรวมจะลดลงแต่พบว่าคดีข่มขืนกระทำชำเรา และการประทุษร้ายต่อทรัพย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 17.3 และ 106.8 ตามลำดับ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามให้ความสำคัญกับการจัดการกับภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือภัยไซเบอร์ การแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดใหม่ การเล่นพนันออนไลน์ และการใช้ความรุนแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

    ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประสบภัยมากถึง 941,089 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากปีก่อนหน้า มีการเฝ้าระวังประเด็นที่นำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การหลอกลวงให้ประชาชนเปิดบัญชีม้า การหลอกลวงให้ใช้แอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน ปัญหาการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะแท็กซี่ ปัญหารถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย ปัญหาและความเสี่ยงการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์กับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

    ขึ้นทางด่วน “บูรพาวิถี-กาญจนาภิเษก” ฟรี 7 วัน เริ่ม 12 เม.ย.นี้

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคม สำหรับทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 66 เวลา 0.01 น. ถึง วันที่ 18 เมษายน 66 เวลา 24.00 น. รวม 7 วัน

    ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษ และอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเรื่องนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ กทพ.) แล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ประเมินว่า ตลอด 7 วันข้างต้น จะมีปริมาณการใช้ทางพิเศษรวม 2,578,394 คัน เฉลี่ย 368,342 คันต่อวัน รวมเป็นรายได้ที่ กทพ.ไม่ได้เรียกเก็บตลอด 7 วันรวม รวม 105.22 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม จะเกิดประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับทั้งด้านค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ และการประหยัดเวลาในการเดินทางคิดเป็นมูลค่ารวม 123.98 ล้านบาท แยกเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี 51.19 ล้านบาท และจากทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) 72.79 ล้านบาท

    โชว์ผลงานขับเคลื่อน 7 นโยบายหลัก 8 เรื่องเร่งด่วน

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 มกราคม 2566) เกี่ยวกับนโยบายหลัก 7 ด้านและนโยบายเร่งด่วน 8 เรื่อง มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

    นโยบายหลัก 7 ด้าน ที่ได้ดำเนินการเรียบร้อย อาทิเช่น

      1. ดำเนินโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านกิจกรรม “การแสดงแบบผ้าไทยใส่สนุก” ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน ส่งเสริมการเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพ “วิชชาลัยผ้าทอหนองลำภู” และกิจกรรมถ่ายทอดอัตลักษณ์ความหลากหลายผ้าพื้นถิ่นเมืองใต้ในพื้นที่ 14 จังหวัด
      2. วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น ฝึกอบรมเยาวชนขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจรและการป้องกันอุบัติภัยในโรงเรียน และบูรณาการมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเชิงรุก โดยกระทรวงมหาดไทยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้าในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น 998,000 เม็ด และ จังหวัดนนทบุรี 200,000 เม็ด
      3. จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แก่

        3.1 “วิถีถิ่น วิถีไทย – อารยธรรมแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมจีนไทยสานสายใยชาติพันธุ์” ณ จังหวัดนครสวรรค์ โดยเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล และผลักดัน “Soft Power” มีรายได้หมุนเวียนช่วงการจัดงานไม่น้อยกว่า 1.94 ล้านบาท
        3.2 งานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์
        3.3 จัดโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลดโลกร้อนและนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
      4. พัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG โดยดำเนินโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจและสังคม และพัฒนาฐานระบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 39 จังหวัด 53 พื้นที่

        4.1 พัฒนาภาคเกษตร โดยจัดงาน “ไถกลบแทนเผา บรรเทามลพิษ พิชิตหมอกควัน” ประจำปี 2566 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักรู้ถึงการทำเกษตรกรรมที่ไม่เผาฟางและตอซังพืช ลดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน
        4.2 พัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ภายใต้กิจกรรมสร้างเครือข่ายและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด “การเป็นเจ้าบ้านที่ดี” เช่น ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
        4.3 พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้าการบริการและการลงทุนในภูมิภาค โดยเปิดตัวแพลตฟอร์ม “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ผ่านแอปพลิเคชัน “MOC Agri Mart” ทำให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้โดยตรง และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า
        4.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยสร้างสรรค์เมนูอาหาร “ขนมชั้นแห่งอนาคต รางวัลชนะเลิศ Future for Sustainability” สูตรลดน้ำตาล ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารในงานเลี้ยงรับรองของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022
      5. จัดทำโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ” โดยมีเป้าหมาย “4H” ได้แก่ Head ด้านปัญญา Heart ด้านทัศนคติ Hands ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง และ Health ด้านสุขภาพ
      6. ยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จังหวัดระยอง ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อรองรับประชาชนและผู้ประกันตนในพื้นที่ EEC
      7. ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหน่วยงานต่างๆ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า สำหรับนโยบายเร่งด่วน 8 เรื่อง มีการดำเนินการ เช่น ขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาทจัดทำโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 680 แห่ง จำนวน 182,869 ราย จัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 โครงการประกันภัยข้าวนาปีสำหรับเกษตรกร 1.9 ล้านคน โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับเกษตรกร 7.5 หมื่นราย โครงการมหกรรมรวมพลัง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ภายใต้นโยบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด ฟื้นฟู พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย” เช่น กิจกรรมนัดพบแรงงาน และกิจกรรมจัดคลินิกส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

    “นอกจากการดำเนินงานที่เป็นผลงานรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำมาแล้วและกำลังทำอยู่ คือการดำเนินการเร่งด่วนที่สำคัญด้านการส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศเพื่อเพิ่มเม็ดเงินรายได้ให้ประเทศไทย และจัดการปัญหายาเสพติดเพื่อคุ้มครองชีวิตประชาชน โดย ณ เดือนมกราคม 2566 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 38 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 57,854 ล้านบาท และจับกุมคดียาเสพติด 7,324 คดี ยึดยาบ้า 9.75 ล้านเม็ด ไอซ์ 255.47 กก. เฮโรอีน 1.54 กก. เคตามีน 6.81 กก. ยาอี 8,480 เม็ด และฝิ่น 12.44 กรัม” นางสาวทิพานัน กล่าว

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 4 เมษายน 2566 เพิ่มเติม