ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > กสิกรไทยเดินหน้าเปลี่ยนอาคารหลัก เป็น Zero Waste to Landfill ภายในปี 2566

กสิกรไทยเดินหน้าเปลี่ยนอาคารหลัก เป็น Zero Waste to Landfill ภายในปี 2566

27 มิถุนายน 2023


กสิกรไทยเดินหน้าเปลี่ยนอาคารหลัก เป็น Zero Waste to Landfill ของเสียจากอาคารหลักไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ ภายในปี 2566 นี้

กสิกรไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในองค์กรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติ พร้อมปักธง 4 อาคารหลัก มีของเสียไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ภายในปี 2566 นี้ เดินหน้าโครงการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รณรงค์สร้างการรับรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมพนักงานภายในองค์กร ควบคู่กับการออกแคมเปญออนไลน์สำหรับบุคคลทั่วไปร่วมสนุกผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ KBank Live ตลอดเดือนมิถุนายน มุ่งหวังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติจริงให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมไปด้วยกัน

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกรวน (Climate Change) ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องนี้ โดยได้ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อสนับสนุนความพยายามของประชาคมโลกในการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ธนาคารวางไว้ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) โดยธนาคารได้เดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง อาทิ การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ การวางแผนปรับเปลี่ยนวัสดุในการทำงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การปล่อยคาร์บอนลดลงให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการส่งเสริมบุคลากรและทุกภาคส่วนให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมบนหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและยั่งยืน

ภารกิจสำคัญอีกประการ คือ การจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจกรรมในธุรกิจธนาคารโดยเฉพาะอาคารหลัก 4 แห่งของธนาคาร ได้แก่ สำนักงานใหญ่พหลโยธิน อาคารราษฎร์บูรณะ อาคารแจ้งวัฒนะ และอาคาร KBTG ซึ่งมีพนักงานหมุนเวียนใช้งาน รวมประมาณกว่า 8,000 คน ดังนั้น การลดการสร้างขยะและการแยกขยะให้ถูกวิธีตั้งแต่ต้นทางจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้ของเสียจากอาคารไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) ในที่สุด ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้นำร่องดำเนินการเรื่องนี้ ตั้งแต่ปี 2565 ที่อาคาร KLOUD by KBank ต้นแบบพื้นที่ “กรีน” แห่งแรกในสยามสแควร์ ซึ่งเปิดให้บริการแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไป มีการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 100 จากแหล่งหมุนเวียน และนับเป็นอาคารแรกของธนาคารที่มีระบบการจัดการโดยลดปริมาณของเสียไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill)

เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะให้เกิดผลลัพธ์อย่างยั่งยืน ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ สำหรับ 4 อาคาร ภายในปี 2566 นี้ โดยเดินหน้าติดตั้งถังขยะ 6 ประเภท เพื่อคัดแยกขยะ 6 ชนิด ได้แก่ เศษอาหาร วัสดุรีไซเคิล ขยะเผาเป็นพลังงาน ขยะปนเปื้อน ขยะอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกำหนดระบบการจัดการขยะของแต่ละถังอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามหลัก Zero Waste ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางสุดท้าย เพื่อให้เหลือของเสียไปสู่หลุมฝังกลบน้อยลงและเป็นศูนย์ในที่สุด ควบคู่กับการให้ความรู้แก่พนักงานตระหนักถึงความสำคัญ มีความเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านแคมเปญสำหรับพนักงานในองค์กร “ทิ้งถูกไม่ถูกทิ้ง” ด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ “เท-แยก-ทิ้ง” โดยชวนพนักงานทั้งหมดมาเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมในการแยกขยะก่อนทิ้ง เน้นการให้ความรู้วิธีการแยกขยะและทิ้งให้ถูกถัง เพื่อให้ขยะไม่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า สามารถนำไปจัดการต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างพฤติกรรมการทิ้งขยะให้ถูกต้อง

นอกจากนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ลูกค้าและประชาชนเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ไปด้วยกัน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการแยกขยะอย่างเป็นระบบด้วยการสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในวงกว้าง ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยจัดกิจกรรมแคมเปญออนไลน์ “แยกครั้งนี้…พี่ภูมิใจ” เชิญชวนบุคคลทั่วไปให้โพสต์ภาพวิธีการแยกขยะในแบบของตัวเอง พร้อมอธิบายว่าการแยกขยะจะช่วยโลกได้อย่างไร โดยมีผู้สนใจร่วมสนุกผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ KBank Live อย่างต่อเนื่อง ตลอดเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นเดือนแห่งวันสิ่งแวดล้อมโลก ความเห็นที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับรางวัลเป็นถังขยะรีไซเคิลแบบกล่องกระดาษ จำนวน 300 รางวัล

นายกฤษณ์ กล่าวตอนท้ายว่า เดือนแห่งวันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นหมุดหมายหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ โดยธนาคารมุ่งมั่นในการดำเนินงานต่าง ๆ สู่ Net Zero อย่างต่อเนื่อง และมุ่งหวังให้แผนงานและแคมเปญสื่อสารของธนาคารที่เกิดขึ้นจะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติจริงให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนธุรกิจและไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง เพื่อร่วมกันส่งมอบโลกที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อไป

ซีรี่ย์ BCG in Action สนับสนุนโดย