ThaiPublica > Sustainability > Headline > ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ กับเป้าหมายท้าทาย “ด้านความยั่งยืน” ที่ต้องเดินต่อ

‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ กับเป้าหมายท้าทาย “ด้านความยั่งยืน” ที่ต้องเดินต่อ

25 มิถุนายน 2023


นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์

นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้สัมภาษณ์ ‘ไทยพับลิก้า’ ถึงเรื่องความคืบหน้าด้านความยั่งยืนกับการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป้าหมายที่ยังไม่ถึงฝัน ตลอดจนความท้าทายท่ามกลางกฎเกณฑ์ใหม่ๆ และประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจ

​นับตั้งแต่ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักชื่อ ‘เจียไต้จึง’ ก่อตั้งขึ้นในปี 2464 และต่อยอดธุรกิจมาไล่ตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ แปลงทดสอบสายพันธุ์ผัก โรงเรือนเลี้ยงไก่ จนกลายเป็นโรงงานอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2516 แล้วจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในปี 2519 เรื่องราวนี้คือจุดเริ่มต้นของเครือซีพีที่อยู่คู่ประเทศไทยมาแล้ว 1 ศตวรรษ

​ปัจจุบันเครือซีพี อายุ 102 ปี มีธุรกิจที่หลากหลายครอบคลุม8 สายธุรกิจหลักใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้มีการประกาศยุทธศาสตร์ความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์ครอบคลุมทั้ง 3 มิติของความยั่งยืน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมออกรายงานความยั่งยืนฉบับแรกเมื่อปี 2559 และได้มีการพัฒนาเป้าหมายและจัดทำรายงานความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเครือซีพีได้จัดทำรายงานความยั่งยืนไปแล้ว 7 ฉบับโดยในปีนี้ได้จัดทำรายงานภายใต้แนวคิด เพื่อพรุ่งนี้ ที่ดีกว่า(Making Today a Better Tomorrow)

“คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี พูดเสมอว่า ความยั่งยืนต้องผนวกให้เป็นเนื้อเดียวกันกับการทำธุรกิจ เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าจะลงทุนหรือทำอะไร ความยั่งยืนต้องมา ธุรกิจต้องมาด้วย เป็นความยากส่วนหนึ่ง”

15 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573

นายสมเจตนา กล่าวว่า รายงานเครือซีพี ได้มุ่งเน้นไปที่การเปิดเผยและรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ การบริหารจัดการ เป้าหมายและผลการดำเนินงาน เพื่อก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืนของเครือฯ ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเครือซีพีได้กำหนดและเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 2573 รวมทั้งสิ้น 15 หัวข้อ ภายใต้ 3 เสาหลักคือ Heart – Health – ​ Home ครอบคลุมทุกมิติของความยั่งยืน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา
ที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ได้แก่

  • Heart (Living Right) ประกอบด้วย (1) การกำกับดูแลกิจการ (2) สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน (3) การศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำ (4) การพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล และ(5) ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูล
  • Health (Living Well) ประกอบด้วย (1) สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (2) คุณค่าและการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (3) ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงโภชนาการ (4) การบริหารจัดการนวัตกรรม และ (5) ความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย
  • Home (Living Together) ประกอบด้วย (1) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (3) การดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ (4) การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และ (5) การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ
  • นายสมเจตนา กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนเครือฯ สู่ปี 2573 นั้นเครือซีพีได้มีการปรับเพิ่มหัวข้อ เข้ามาตามประเด็นปัญหาของโลกที่เปลี่ยนไป ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูล ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีหลายประเด็นที่ทำแล้วบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะประเด็นในหมวด Heart และ Health อีกทั้งเรื่องบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่-ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ ก็สามารถทำได้เกือบ 100% แล้ว

    “การขับเคลื่อนเป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของเครือซีพี ได้ยกระดับการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 เป้าหมายหลักที่มีความท้าทายสูง คือ 1.การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Scope 1 และ 2) ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 2.การลดขยะของเสียที่ส่งไปกำจัดที่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 พร้อมสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3.การดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือที่เรียกว่า Inclusive Business ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสของการเข้าถึง ผ่านการพัฒนาระบบการศึกษาให้ทุกคน สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม”

    ​จากเป้าหมายสู่การปฏิบัติ นำไปสู่การยอมรับระดับโลก ในปี 2565 เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนของ S & P Global ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates โดยได้รับคะแนนสูงสุดในมิติด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้รับการประเมินด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก CDP อยู่ในระดับ A-

    ​นายสมเจตนา กล่าวว่า เครือฯ ดำเนินธุรกิจบนความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกฎระเบียบ และมาตรฐานที่ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อปรับตัวให้ทันกับความคาดหวังและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมไปถึงยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

    TNFD รายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

    ​ตัวอย่างการปรับตัวที่ชัดเจนคือ การจัดทำรายงานความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มเติมตามแนวทางของ TNFD(Taskforce on Nature-related Financial Disclosure) ซึ่งรายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงาน ความเสี่ยง และโอกาสของเครือฯ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่เครือฯ ได้นำปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงาน

    ​จากข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาระบบนิเวศและความหลากหลายทางธรรมชาติ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของเครือฯ ยกตัวอย่างผลกระทบที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องดินและการควบคุมการพังทลายของดิน การป้องกันน้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ การฟื้นฟูทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฤดูกาล ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ล้วนแต่กระทบต่อธุรกิจหลักของเครือฯ โดยตรง

    ​ในขณะที่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฤดูกาล หรือที่เรียกว่า Climate Change ก็เป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายของเครือฯ เพราะหากไม่สามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หรือในระยะยาวไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ ก็จะส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

    ​“ปัจจุบัน เครือซีพี ได้รายงานและเปิดเผยผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้ง scope 1, 2 และ 3 ผ่านทางรายงานความยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2559 เครือฯ ได้วางกรอบแนวทางการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมาย Net Zero ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การดำเนินงานภายในองค์กรเท่านั้น แต่จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับกลุ่มคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปพร้อมกับเราด้วย ทุกวันนี้เราได้ขยายขอบเขตการเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของวัตถุดิบและสินค้า ซึ่งทำให้ทราบว่า แหล่งที่มาของวัตถุดิบและสินค้าที่ขายให้เรามี Carbon Footprint เท่าไร”

    Double and Dynamic มุมมองความยั่งยืนจากภายนอก

    ​สืบเนื่องจากรายงาน TNFD นายสมเจตนา กล่าวต่อว่า เครือฯ เป็น 1 ในกว่า 200 องค์กรสมาชิกของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งทำให้ต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่ชื่อ “Double and Dynamic Materiality” โดยที่นำผลกระทบด้านความยั่งยืนไปผนวกรวมกับกลยุทธ์องค์กร โดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นไปในลักษณะ Double Materiality คือ การที่เครือฯ ทำการประเมินผลกระทบภายนอกต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และผลกระทบภายในที่มีต่อมูลค่าองค์กร การมองอย่างรอบด้านนี้ ทำให้เครือฯ รู้จักบทบาทและความรับผิดชอบของเครือฯ ในการจัดการกับข้อกังวลด้านความยั่งยืนได้อย่างรอบคอบ โดยการตรวจสอบผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการดำเนินงานของเครือฯ ห่วงโซ่อุปทาน และผลิตภัณฑ์/บริการของเราที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มมุมมองเรื่องการเงิน (Financial) เข้าไป ต้องบอกในรายงานให้ได้ว่าผลกระทบด้านตัวเงิน เป็นเท่าไร”

    ​“ฝั่งยุโรปผู้กำหนดมาตรฐานมองว่า ประเด็นนี้ต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น และบอกว่าวิธีเดิมที่ผ่านมา ไม่ได้สะท้อนความจริงที่ว่า เรื่องนี้สำคัญและมีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงผลประกอบการและอนาคตขององค์กร”

    ​ส่วนคำว่า Dynamic คือ การประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มอนาคต 3 – 5 ปี ว่ามีประเด็นความเสี่ยงเหล่านั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร โดยองค์กรจะต้องจัดลำดับความสำคัญเนื่องจากบางประเด็นที่มีผลกระทบในระดับต่ำ ณ ปัจจุบัน อาจจะมีผลกระทบในระดับสูง ในอนาคตได้ โดยที่การประเมินแบบ Dynamic นี้คือแนวทางประเมินที่ตระหนักว่าปัญหา ESG และข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสียแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ประเด็น เช่น กฎหมาย หรือกลยุทธ์ของบริษัท เป็นต้น

    ​โดยประเด็นที่ถูกจัดลำดับว่ามีนัยสำคัญ (Significant Importance) ที่ใส่ไว้ในยุทธศาสตร์เครือซีพี มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) เช่น การสร้างสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบ รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาความยั่งยืนระดับโลก เป็นต้น

    ก้าวแรกที่ท้าทายสู่ Net Zero

    ​ในปี 2565 เครือซีพีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 73.35 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยแบ่งเป็น Scope 1และ 2 กว่า 6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ Scope 3กว่า 67 ล้านคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

    ​“การจะนำองค์กรไปสู่ Net Zero เครือซีพี ทำคนเดียวไม่ได้ต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเราปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ 2 เพียง 8% ซึ่งส่วนที่เหลือใน Value Chain ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำอีก 92% อยู่กับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ”

    ​เครือซีพี จึงได้ดำเนินการตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 อยู่ที่ 42 % และ Scope 3 อยู่ที่ 25 % ภายในปี 2573 จากปีฐาน 2564

    นายสมเจตนา กล่าวว่า เป้าหมายที่ ‘ท้าทาย’ อย่างมากก็คือ Scope 3 หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งหมด นับตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง และการบริการ โดยมีเป้าหมายว่า เครือฯ จะส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 25% ภายในปี 2573

    ส่วนเป้าหมายระยะยาวที่กำหนดภายในปี 2593 แบ่งเป็น (1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 90% สำหรับ Scope 1 และ 2และ (2) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 90% สำหรับ Scope 3

    เครือซีพีได้ทุ่มเงินลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 2562-2565 เครือฯ ได้ลงทุนไปกว่า 4,822 ล้านบาท ใน 3 ด้านหลัก คือ 1. การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน2. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ 3. การจัดการของเสีย

    ​ปัจจุบันเครือซีพีมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 15 % เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทั้งหมด โดยดำเนินการผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ อาทิ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น การใช้เศษไม้สับ แกลบ กะลาปาล์ม และซังข้าวโพด เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 64 % ของพลังงานทดแทนทั้งหมด การเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานชีวภาพจากมูลสุกรและน้ำเสียเพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มและโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 13 % การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ภายในฟาร์มและโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 11 % และการสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดจากการซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คิดเป็นสัดส่วน 12% ตามลำดับ

    ​นายสมเจตนา กล่าวเสริมว่า หลังจากที่เครือซีพี ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ ทำให้จัดตั้งบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ในเครือฯ ที่ทำธุรกิจด้านพลังงานสะอาดเพื่อมาดูแลด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะและเราพยายามมองทั้งความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

    ​ด้านการปลูกต้นไม้และฟื้นฟูพื้นที่ป่า เครือซีพีมีเป้าหมายว่าภายในปี 2568 จะต้องปลูกต้นไม้ให้ได้ 20 ล้านต้นใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

    เป้าหมายที่ท้าทาย Waste : ลดขยะของเสียส่งไปหลุมฝังกลบเป็นศูนย์ในปี 2573

    ​อีกประเด็นที่ท้าทายของเครือซีพี ในการดำเนินงานลดขยะของเสียที่ส่งไปกำจัดที่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2573 ด้วยการสร้างกลไกและแนวทางตามกรอบระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในปี 2565 เครือฯ มีความคืบหน้าในการลดปริมาณขยะอาหารและปริมาณของเสียที่ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีการส่งไปกำจัดที่หลุมฝังกลบ ซึ่งยังทำได้ในระดับต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายในระยะยาวไว้

    ​เครือซีพี มองว่า การแก้ไขปัญหาขยะของเสียที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตัวอย่างเช่น การบริจาคผักและผลไม้ให้กับกรมอุทยานฯ การส่งมอบอาหารส่วนเกินให้แก่กลุ่มผู้เปราะบาง และการรวบรวมพลาสติกที่ผ่านการใช้งานเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล เป็นต้น

    “เครือซีพี มีหลายกลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่การผลิตอาหาร การค้าปลีกและจัดจำหน่าย รวมถึงธุรกิจการสื่อสาร ซึ่งในแต่ละกลุ่มธุรกิจมีขยะของเสียที่แตกต่างกัน เครือซีพีต้องมีแผนการทำให้ขยะของเสียที่เกิดขึ้นไปหลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเป้า Circular Economy ที่ท้าทาย เราต้องลดให้ได้”

    ​แม้ปริมาณของเสียในแต่ละปีจะลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2562อยู่ที่ 1.6 แสนตันต่อปี ปี 2563 อยู่ที่ 1.2 แสนตันต่อปี ปี 2564 อยู่ที่ 1.05 แสนตันต่อปี แต่ในปี 2565 เครือซีพี ก็ยังคงมีของขยะของเสียในระดับสูงถึง 1.1 แสนตันต่อปี และในจำนวนนี้มีขยะของเสีย 11% ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้

    เป้าหมายที่ท้าทาย ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : ส่งเสริมการศึกษาทุกมิติ

    ​นายสมเจตนากล่าวต่อว่า “ตามคำกล่าวของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มองว่า ความเหลื่อมล้ำ เป็นหนึ่งในความท้าทายของประเทศไทย ดังนั้นในฐานะภาคเอกชน จึงต้องมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เครือซีพี มองว่าหากไม่ลงมือแก้ไข ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

    ​โดยเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่สำคัญคือ เรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้ยังรวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของเครือฯ อีกกว่า 440,000 คน และพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่อีก 2,064 คน

    ​ในปี 2565 เครือซีพี มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การทำให้เยาวชน-ผู้ใหญ่ เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพรวมกว่า 44ล้านคน จากเป้าหมายที่ 50 ล้านคน รวมถึงเยาวชน-ผู้ใหญ่ ได้รับการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ ประมาณ 1.26 ล้านคน พร้อมกับมอบทุนการศึกษา รวมแล้วกว่า 1.4 แสนคน

    ​ในโลกปัจจุบันฯ ที่เต็มไปด้วยปัจจัยความผันผวน และปัญหาต่างๆ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เผชิญกับความท้าทาย นับตั้งแต่ ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาโลกร้อน ตลอดจนปัญหาความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งเครือซีพีได้ปรับตัวและยึดมั่นในหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤติต่างๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

  • ‘เครือซีพี’ ติด 11 บริษัทระดับโลกจัดทำรายงานความยั่งยืนที่ดีของ ‘WBCSD’