ThaiPublica > เกาะกระแส > WHO ประกาศ Covid-19 พ้นสถานะภาวะฉุกเฉินโลกด้านสาธารณสุข

WHO ประกาศ Covid-19 พ้นสถานะภาวะฉุกเฉินโลกด้านสาธารณสุข

6 พฤษภาคม 2023


ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2021/12/1108452

องค์การอนามัยโลกประกาศการแพร่ระบาดของโควิด-19 พ้นสถานะภาวะฉุกเฉินโลกด้านสาธารณสุข

คณะกรรมการภาวะฉุกเฉินกฎอนามัยอนามัยระหว่างประเทศ หรือ International Health Regulations (2005) (IHR) Emergency Committee Emergency Committee) ของ WHO ได้มี การประชุมครั้งที่ 15 หารือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดในวันพฤหัสบดี(4 พ.ค.) ซึ่งคณะกรรมการได้ชี้ถึงแนวโน้มการเสียชีวิตจากโควิด-19ที่ลดลงของ การลดลงของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และการเข้ารักษาในหอผู้ป่วยหนัก ขณะที่ภูมิคุ้มกันของประชากรต่อโรคไวรัสโคโรนา(SARS-CoV-2)อยู่ในระดับสูง อีกทั้งคณะกรรมการได้ติดตามสถานการณ์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ตระหนักดีว่ายังมีความไม่แน่นอนจากวิวัฒนาการไวรัส SARS-CoV-2 แต่เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ไปสู่การจัดการการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในระยะยาว

เลขาธิการองค์การอนามัยโลก เห็นด้วยกับคำแนะนำของคณะกรรมการเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จึงประกาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินโลกด้านสาธารณสุข(Public Health Emergency of International Concern-PHEIC) อีกต่อไป

  • WHO ประกาศการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ เป็นภาวะฉุกเฉินโลกด้านสาธารณสุข
  • “การแพร่ระบาดมีแนวโน้มลดลงมากกว่าหนึ่งปีแล้ว ขณะที่ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นจากการได้รับวัคซีนและการติดเชื้อ ส่วนการเสียชีวิตลดลง และแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุงก็ผ่อนคลายลง” ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส เลขาธิการองค์การอนามัยโลก กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์

    “แนวโน้มนี้ทำให้ประเทศส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตเหมือนที่เราเป็นก่อนโควิด-19” ดร.เทดรอสกล่าว “เมื่อวานนี้ คณะกรรมการฉุกเฉินได้ประชุมกันเป็นครั้งที่ 15 และแนะนำให้ผมประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ผมก็เห็นด้วย”

    องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในเดือนมกราคม 2563 ประมาณ 6 สัปดาห์ก่อนที่จะระบุว่าเป็นการระบาดใหญ่(pandemic)

  • WHO ประกาศทางการไวรัสโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ Pandemic ของโลก
  • มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสเกือบ 7 ล้านคนทั่วโลกนับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการขององค์กรสหประชาชาติ แต่ดร.เทดรอสกล่าวว่า ยอดผู้เสียชีวิตจริงอยู่ที่อย่างน้อย 20 ล้านคน

    ดร.เทดรอสกล่าวว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่สายพันธุ์ใหม่อาจเกิดขึ้นและทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก และเตือนรัฐบาลแต่ละประเทศว่า ไม่ควรรื้อระบบที่สร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับไวรัส

    “ไวรัสนี้ยังคงมีอยู่ มันยังมีผลต่อชีวิตและเปลี่ยนสายพันธุ์ไป”

    แต่เลขาธิการใหญ๋องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่างๆ จะต้องปรับเปลี่ยนจากการตอบสนองภาวะฉุกเฉินไปสู่การจัดการกับโควิด เช่นเดียวกับโรคติดเชื้ออื่นๆ

    การติดเชื้อโควิดครั้งแรกเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เดือนธันวาคม 2562 เมื่อผู้ป่วยหลายรายเริ่มมีอาการปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ

    เมืองอู่ฮั่น ช่วงปิดเมืองที่มาภาพ: https://www.rte.ie/news/2020/0401/1127720-china-coronavirus-lockdown/

    โควิดระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในต้นปี 2563 นำไปสู่การปิดการเดินทางระหว่างประเทศและการปิดพรมแดนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากประเทศต่างๆ ไม่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสไว้ได้

    โควิดมีผลอย่างมากต่อผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มเปราะบางอื่นๆ และโรงพยาบาลระบบล่ม เพราะไม่มีเตียงหรือยาที่เพียงพอในการจัดการกับการป่วยและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

    รัฐบาลหลายประเทศใช้มาตรการควบคุมการใช้ชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดการเสียชีวิต แต่กลับนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงและการชะงักงันทางสังคม ซึ่งผลที่ตามมาในระยะยาวนั้นก็ยังไม่น่าจะได้ภาพชัดเจนไปอีกหลายปี

    “โควิด-19 เป็นมากกว่าวิกฤติด้านสุขภาพ” ดร.เทดรอสกล่าว “มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ฉุด GDP มูลค่านับล้านล้าน เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการค้า ทำลายธุรกิจ และทำให้หลายล้านคนตกสู่ความยากจน”

    “มันทำให้เกิดกลียุคทางสังคมอย่างรุนแรงด้วยการปิดพรมแดน จำกัดการเคลื่อนไหว โรงเรียนปิด และผู้คนหลายล้านคนต้องประสบกับความเหงา ความโดดเดี่ยว ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า” ดร.เทดรอสกล่าว

    จีนเผชิญเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าไม่แจ้งเตือนโลกให้เร็วกว่านี้ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ปักกิ่งปฏิเสธ และยังมีการกล่าวหาว่า WHO พึ่งพาข้อมูลจากปักกิ่งมากเกินไปในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่

    กว่าสามปีต่อมา ต้นกำเนิดของไวรัสยังคงเป็นปริศนาที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทั่วไปยังคงโต้เถียงกันว่าโควิดแพร่กระจายจากสัตว์ที่ติดเชื้อสู่มนุษย์ หรือรั่วไหลจากห้องทดลองในประเทศจีน

    รัฐบาลสหรัฐ ชาติพันธมิตร และองค์การอนามัยโลก ได้วิพากษ์รัฐบาลจีนว่าไม่มีระบบที่โปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูล ที่จะช่วยในการริเคราะห์ว่าการระบาดเริ่มได้อย่างไร

    PHEIC เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของ WHO สำหรับการจัดการภาวะฉุกเฉิน ในทางกลับกัน แต่ละประเทศก็ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของตนเอง และประเทศต่าง ๆ ใช้ภาวะฉุกเฉินนี้ในการจัดการทรัพยากรและยกเลิกกฎเพื่อบรรเทาวิกฤติ

    สหรัฐฯ จะยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับประเทศในวันพฤหัสบดีนี้(11 พ.ค.)

    ไวรัสยังอยู่และกลายพันธุ์

    โควิด-19 ยังคงแพร่กระจาย ไวรัสยังคงกลายพันธุ์และยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสาธารณสุขทั่วโลก แต่อยู่ในระดับที่น่ากังวลดลง เจ้าหน้าที่ของ WHO กล่าว

    “ภัยคุกคามด้านสาธารณสุขยังมีอยู่ และเราทุกคนเห็นว่าวิวัฒนาการของไวรัสนี้มีขึ้นทุกวันทั่วโลก มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องและความเปราะบางในชุมชนของเรา ทั้งความเปราะบางทางสังคม ความเปราะบางด้านอายุ ความเปราะบางในการป้องกัน และอื่นๆ อีกมากมาย” ดร. ไมค์ ไรอัน หัวหน้าโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO กล่าว

    ดร.มาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ โครงการสาธารณสุขฉุกเฉิน และหัวหน้าโครงการเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ของ WHO กล่าวว่า ระยะฉุกเฉินของวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลงแล้ว แต่โรคนี้ “มีอยู่” และไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคจะไม่หายไปเร็ว ๆ นี้

    “แม้เราไม่ได้อยู่ในโหมดวิกฤติ เราก็ไม่สามารถลดการป้องกันลงได้” ดร.แวน เคิร์กโฮฟ กล่าว “ในทางระบาดวิทยา ไวรัสตัวนี้จะยังคงมีผลให้ติดเชื้อเป็นระลอก สิ่งที่เราคาดหวังคือเรามีเครื่องมือเพื่อให้แน่ใจว่าระลอกการติดเชื้อในอนาคตจะไม่ส่งผลให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้น ไม่ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตระลอกใหม่ และเราสามารถดำเนินการได้ด้วยเครื่องมือที่เรามี เราแค่ต้องทำให้แน่ใจว่าเรากำลังติดตามไวรัสอยู่ เพราะมันจะมีวิวัฒนาการต่อไป”

    จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 765 ล้านรายตั้งแต่เริ่มระบาด มีผู้เสียชีวิตเกือบ 7 ล้านคน ยุโรปมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันมากที่สุดโดยรวม แต่อเมริกามีรายงานผู้เสียชีวิตมากที่สุด ประมาณ 1 ใน 6 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในสหรัฐอเมริกา

    จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงสุดในเดือนธันวาคม2565 เมื่อสายพันธุ์โอมิไครอน(Omicron) แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยมีการระบาดมากเป็นพิเศษในแปซิฟิกตะวันตก แต่มีการบริหารวัคซีนหลายพันล้านโดสทั่วโลก และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดก่อนหน้านี้มาก

    ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำที่สุดในรอบสามปี แต่ก็มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,500 คนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน และอีกหลายพันล้านคนยังคงไม่ได้รับวัคซีน

    ดร.เทดรอสกล่าวว่า หากจำเป็น ก็จะจัดประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินอีกในทันที และประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกอีกครั้ง หากมีจำนวนผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

    “โควิด-19 ได้ทิ้งรอยแผลลึกไว้บนโลกของเรา รอยแผลเป็นเหล่านั้นต้องเป็นเครื่องเตือนใจอย่างถาวรถึงศักยภาพของไวรัสตัวใหม่ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับผลร้ายแรง” ดร.เทดรอสกล่าว

    “หนึ่งในโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโควิด-19 คือ มันไม่น่าจะเป็นแบบนี้ เรามีเครื่องมือและเทคโนโลยีในการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดได้ดียิ่งขึ้น ตรวจจับได้เร็วกว่า ตอบสนองเร็วกว่า และสื่อสารผลกระทบได้ แต่ทั่วโลกขาดการประสานงาน ขาดความเท่าเทียม และขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หมายความว่าเครื่องมือเหล่านั้นไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร” ดร.เทดรอสกล่าว “เราต้องสัญญากับตัวเองและลูกๆ หลานๆ ว่าเราจะไม่ทำผิดพลาดแบบนั้นอีก”