ThaiPublica > เกาะกระแส > WHO ประกาศการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ เป็นภาวะฉุกเฉินโลกด้านสาธารณสุข

WHO ประกาศการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ เป็นภาวะฉุกเฉินโลกด้านสาธารณสุข

31 มกราคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/WHO/videos/2803414043030186/

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้แถลงและออกแถลงการณ์ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินของโลก

แถลงการณ์ของการประชุมครั้งที่สองของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินกฎอนามัยอนามัยระหว่างประเทศปี 2005 (International Health Regulations (2005) Emergency Committee) เพื่อพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) มีใจความว่า

การประชุมครั้งที่สองของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินซึ่งจัดขึ้นโดยเลขาธิการองค์การอนามัยโลก ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศปี 2005 เพื่อหารือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เริ่มขึ้นในจีนและแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น เริ่มขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 2563 เวลา 13.30-18.35 น.ตามเวลาในกรุงเจนีวา

คณะกรรมการภาวะฉุกเฉินมีหน้าที่ให้คำแนะนำต่อเลขาธิการเลขาธิการองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะกำหนดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หรือ Public Health Emergency of International Concern (PHEIC หมายถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่นๆ จากการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ และต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือกับเหตุการณ์นั้น) คณะกรรมการฯ ยังได้ให้คำแนะนำด้านสาธารณสุข และคำแนะนำที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการชั่วคราว

ขั้นตอนการประชุม

สมาชิกและที่ปรึกษาของคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินเริ่มประชุมผ่านระบบทางไกล

เลขาธิการองค์การอนามัยโลกได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและขอบคุณสำหรับการสนับสนุน พร้อมส่งต่อการประชุมให้กับศาตราจารย์ ดิดิเยร์ ฮุสเซน ประธานคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินฯ ซึ่งหลังจากกล่าวต้อนรับคณะกรรมการฯ แล้วได้ส่งต่อการประชุมให้กับเลขาธิการคณะกรรมการฯ

ผู้แทนจากฝ่ายการปฏิบัติตามการจัดการความเสี่ยงและจริยธรรมได้ชี้แจงคณะกรรมการฯ ถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังได้มีการเตือนให้คณะกรรมการฯ พึงตระหนักถึงหน้าที่ของการเก็บรักษาความลับและความรับผิดชอบในการเปิดเผยข้อมูลบุคคล ข้อมูลการเงิน หรือความเชื่อมโยงของข้อมูลการงานที่ตามบทบัญญัติแล้วถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน สมาชิกแต่ละรายที่เข้าร่วมได้ผ่านการตรวจสอบและพิจารณาแล้วพบว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอันเกี่ยวเนื่องกับการประชุม

จากนั้น ประธานในที่ประชุมได้รายงานหัวข้อการประชุมต่อที่ประชุมและแนะนำผู้รายงานสถานการณ์

ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขของจีนรายงานสถานการณ์ล่าสุดรวมทั้งมาตรการด้านสาธารณสุขที่ได้นำไปปฏิบัติแล้ว โดยมีผู้ติดเชื้อจำนวน 7,711 รายและมีการเฝ้าระวัง 12,167 รายทั่วประเทศ โดยในรายที่ผลการตรวจสอบยืนยันว่าติดเชื้อแล้วนั้น มี 1,370 รายอยู่ในภาวะวิกฤติ และมีผู้เสียชีวิต 170 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยที่รักษาหายและส่งตัวกลับบ้านจำนวน 124 ราย

เลขาธิการองค์การอนามัยโลกได้นำเสนอภาพรวมของสถานการณ์ในประเทศอื่นว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวน 83 รายใน 18 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ 7 รายไม่มีประวัติการเดินทางไปจีน และมีการติดเชื้อจากคนสู่คนใน 3 ประเทศซึ่งไม่ใช่จีน โดยที่ 1 รายอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ในการประชุมครั้งแรก คณะกรรมการฯ ได้แสดงมุมมองที่แตกต่างกันว่าเหตุการณ์นี้จะจัดว่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่ ในขณะนั้นก็มีข้อแนะนำว่าสถานการณ์ยังไม่รุนแรงที่จะจัดเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศได้ตามข้อบัญญัติ แต่คณะกรรมการฯ เห็นพ้องกันว่าเหตุการณ์นี้เป็นสถานการณ์เร่งด่วน และเห็นว่าคณะกรรมการฯ จะต้องมีการประชุมต่อเนื่องในวันถัดไป ซึ่งก็ได้บทสรุปเหมือนเดิม

การประชุมครั้งที่สองเริ่มขึ้นเพราะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนประเทศที่รายงานการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

สรุปผลการประชุมและข้อแนะนำ

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/WHO/videos/2803414043030186/
คณะกรรมการฯ พอใจต่อความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหารในระดับสูงสุดของรัฐบาลจีน การยึดมั่นในความโปร่งใส และความพยายามที่จะสืบสวนและสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา จีนสามารถระบุเชื้อไวรัสและรายงานผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ประเทศอื่นสามารถวินิจฉัยและป้องกันตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลให้มีการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ได้เร็วด้วย

มาตรการที่เข้มแข็งหลายมาตรการที่จีนได้นำมาใช้ ครอบคลุมถึงการรายงานสถานการณ์ประจำวันต่อองค์การอนามัยโลก รวมทั้งมีแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดไปหลายภาคส่วนอย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งยังมีมาตรการด้านสาธารณสุขในหลายเมืองและหลายมณฑล และกำลังศึกษาถึงการความรุนแรงและการส่งผ่านของเชื้อไวรัส ตลอดจนมีการแชร์ข้อมูลกับวัตถุทางชีวภาพ นอกจากนี้จีนยังได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกับประเทศอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ มาตรการที่ประเทศจีนนำมาใช้ไม่เพียงมีผลดีต่อจีนเองแต่กับทุกส่วนของโลก

คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงบทบาทผู้นำขององค์การอนามัยโลกและพันธมิตร รวมทั้งตระหนักดีว่ายังมีอีกหลายด้านที่ยังไม่มีข้อมูล มีการรายงานหลายกรณีต่อสำนักงานภูมิภาคองค์การอนามัยโลก 4 แห่งในหนึ่งเดือน และมีการติดเชื้อจากคนสู่คน นอกพื้นที่เมืองอู่ฮั่นและนอกประเทศจีน

คณะกรรมการฯ เชื่อว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เนื่องจากหลายประเทศได้มีมาตรการเข้มแข็งในการเฝ้าระวังการติดเชื้อ มีการคัดแยกและรักษา มีการตรวจสอบการติดต่อกับผู้อื่น และให้หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมในคนหมู่มากเพื่อป้องกันความเสี่ยง อย่างไรก็ตามสถานการณ์นี้ยังคงมีต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องดำเนินมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาด การติดเชื้อ อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่า การแพร่ระบาดได้เข้าเกณฑ์ที่จะจัดเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ จึงได้เสนอคำแนะนำชั่วคราว

คณะกรรมการฯ ย้ำว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนและชื่นชมจีน ประชาชนของจีน และการดำเนินการของจีนในแถวหน้าของการแพร่ระบาด อย่างโปร่งใส และหวังว่าจะประสบความสำเร็จ

โดยที่โลกต้องยืนหยัดอยู่ด้วยกัน คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความร่วมมือกันทั่วโลกมีความสำคัญในการเตรียมรับมือในภูมิภาคอื่นของโลกที่อาจต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม

ข้อแนะนำต่อ WHO

คณะกรรมการฯ ชื่นชมต่อภารกิจด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลกที่กำลังส่งต่อไปประเทศจีน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งควรทบทวนและสนับสนุนการดำเนินการในการตรวจสอบสัตว์ป่าที่เป็นแหล่งการแพร่เชื้อ รวมทั้งอาการของการโรคระหว่างรักษาและความรุนแรง การขยายไปสู่การติดเชื้อจากคนสู่คนในชุมชนและระบบการดูแลสุขภาพ ตลอดจนความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาด

ภารกิจนี้จะนำมาซึ่งข้อมูลให้กับประชาคมโลกในการช่วยเหลือด้วยความเข้าใจสถานการณ์และผลกระทบ รวมทั้งจะช่วยให้มีการแบ่งบันประสบการณ์และมาตรการที่ประสบความสำเร็จ

คณะกรรมการฯ ต้องการที่จะเห็นการตอกย้ำความสำคัญของการศึกษาของแหล่งที่เป็นไปได้ เพื่อแยกแยะการแพร่ระบาดที่แฝงอยู่และให้ข้อมูลมาตรการจัดการความเสี่ยง รวมทั้งย้ำถึงความจำเป็นที่จะเสริมการตรวจสอบในภูมิภาคนอกมณฑลเหอเป่ย รวมทั้งการหาลำดับจีโนมของเชื้อโรค เพื่อที่จะเข้าใจว่าวงจรการติดเชื้อในพื้นที่เกิดขึ้นหรือไม่

  • องค์การอนามัยโลกต้องใช้เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการอย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการสกัดการแพร่ระบาดได้ทั่วโลก
  • องค์การอนามัยโลกต้องให้การช่วยเหลืออย่างมากในการเตรียมการและการรับมือ โดยเฉพาะในประเทศและภูมิภาคที่เปราะบาง
  • รวมทั้งต้องมีมาตรการที่ทำให้มั่นใจได้ว่า มีการพัฒนาวัคซีนขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้าถึงวัคซีน การวินิจฉัย ยาต้านไวรัส และการบำบัดสำหรับประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลาง
  • องค์การอนามัยโลกต้องให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการและการดำเนินการทุกด้านที่จำเป็น ในการรับมือกับการแพร่ระบาด รวมทั้งผ่านเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวางและสถาบันที่ให้ความร่วมมือ ไปจนถึงการใช้กลยุทธ์การสื่อสารความเสี่ยงที่ครอบคลุม และเปิดให้มีการวิจัยและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าซึ่งเกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา
  • องค์การอนามัยโลกควรหาแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างการแจ้งเตือนในระดับปานกลางระหว่างความเป็นไปสองทางของภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หรือไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการนำบทบัญญัติของกฎอนามัยระหว่างประเทศปี 2005 มาหารือ
  • องค์การอนามัยโลกต้องมีการทบทวนสถานการณ์ในเวลาที่เหมาะสมด้วยความโปร่งใสและอัปเดตคำแนะนำบนฐานข้อมูล
  • คณะกรรมการฯ ไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือจำกัดการค้า จากข้อมูลสถานการณ์ล่าสุด

    เลขาธิการองค์การอนามัยโลกประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และยอมรับข้อแนะนำของคณะกรรมการฯ และประกาศใช้คำแนะนำนี้ชั่วคราวตามกฎอนามัยอนามัยระหว่างประเทศ

    คำแนะนำสำหรับประเทศจีน

    คณะกรรมการฯ แนะนำให้จีนยังคง

  • ใช้กลยุทธ์การสื่อสารความเสี่ยงที่ครอบคลุมเป็นระยะ เพื่อการแจ้งประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาด มาตรการป้องกันและการคุ้มครองสำหรับประชาชน และมาตรการรับมือในการสกัดการแพร่ระบาด
  • เสริมมาตรการด้านสาธารณสุขในการสกัดการแพร่ระบาด
  • ทำให้มั่นใจว่าระบบดูแลสุขภาพและการป้องกันสุขภาพของแรงงานมีความแข็งแกร่ง
  • เสริมการเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างเข้มแข็งทั่วประเทศจีน
  • ให้ความร่วมมือกับองค์กรอนามัยโลกและพันธมิตรในการตรวจสอบเพื่อที่จะเข้าใจถึงการกระจายของไวรัสและพัฒนาการของการแพร่ระบาด รวมทั้งมาตรการในการสกัด
  • ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกรณีที่เกิดขึ้นกับคน
  • เดินหน้าหาสาเหตุแหล่งที่มาของการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่จะแพร่กระจายร่วมกับองค์การอนามัยโลกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ใช้มาตรการการกลั่นกรองคนเดินทางออกนอกประเทศทั้งผ่านสนามบินและท่าเรือ เพื่อที่จะตรวจพบการติดเชื้อและอาการของผู้ที่เดินทาง ซึ่งจะช่วยให้มีการประเมินและรักษาได้อย่างทันการณ์ แต่ต้องแทรกแซงการเดินทางระหว่างประเทศน้อยที่สุด
  • นายแพทย์ เทโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุส เลขาธิการ WHO พบประธานาธิบดี สี จิ้นผิงของจีน ที่มาภาพ:https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1737014.shtml

    คำแนะนำสำหรับทุกประเทศ

    เป็นที่คาดว่าการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอาจจะเกิดขึ้นในประเทศใดก็ได้ ดังนั้นทุกประเทศต้องมีการเตรียมการเพื่อสกัด ซึ่งครอบคลุมถึงการเฝ้าระวัง การตรวจพบโดยเร็ว การแยกผู้ติดเชื้อและการจัดการ การตรวจสอบย้อนกลับไปยังที่ผู้ที่มีการติดต่อกับผู้ป่วย และป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อกระจายวงออกไป รวมไปถึงการให้ข้อมูลอย่างเต็มที่กับองค์การอนามัยโลก โดยสามารถหาคำแนะนำนี้ได้ในเว็บไซต์องค์การอนามัยโลก

  • ทุกประเทศต้องพึงตระหนักว่า กฎหมายกำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลให้กับองค์การอนามัยโลกภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ
  • การตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาในสัตว์ (รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ ผลการวินิจฉัย และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับการระบาด) ต้องรายงานองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health: OIE) ในฐานะโรคที่เกิดใหม่
  • ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับการลดการติดเชื้อในคน การป้องกันการแพร่กระจายต่อไปยังแหล่งที่สอง และการระบาดระหว่างประเทศ รวมทั้งการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือผ่านการสื่อสารหลายช่องทางและการร่วมมือและมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการให้ความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับไวรัสและเชื้อโรค ตลอดจนงานวิจัยที่มีความก้าวหน้า
  • คณะกรรมการฯ ไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือจำกัดการค้า จากข้อมูลสถานการณ์ล่าสุด

    ทุกประเทศต้องแจ้งองค์การอนามัยโลกถึงมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องระวังและรอบคอบต่อการดำเนินการใดๆ ที่จะมีผลต่อความรู้สึกหรือความแตกแยก เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 3 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ

    คณะกรรมการฯ ได้ขอให้เลขาธิการองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำเพิ่มเติมในประเด็นนี้ และหากจำเป็น ก็ต้องให้คำแนะนำเป็นรายกรณีไป หากสถานการณ์ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

    คำแนะนำต่อประชาคมโลก

    โดยที่ไวรัสที่แพร่ระบาดนี้เป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และก่อนหน้านี้มีกรณีให้เห็นแล้วถึงการระบาดของไวรัสโคโรนาที่สายพันธุ์ใกล้เคียงกันนั้นว่า ต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างมากในการที่จะแบ่งปันข้อมูลและมีการวิจัย ดังนั้นประชาคมโลกต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีการร่วมมือกัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 44 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ และเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการแยกแยะสาเหตและที่มาของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ โอกาสของการติดเชื้อจากคนสู่คน การเตรียมการรับมือสำหรับกรณีสำคัญๆ และงานวิจัยเพื่อพัฒนาการวิธีรักษา

    การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เพื่อให้มีการรับมือกับสถานการณ์ รวมทั้งการเอื้อให้มีการเข้าถึงการวินิจฉัย การรับวัคซีนและการบำบัด

    ภายใต้มาตรา 43 ของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ประเทศที่ใช้มาตรการสาธารณสุขเพิ่มเติมที่จัดว่าเป็นการแทรกแซงการเดินทางระหว่างประเทศ (การปฏิเสธการเข้าประเทศ หรือการออกนอกประเทศของผู้เดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งกระเป๋า คลังสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ สินค้า หรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียง หรือความล่าช้ามากกว่า 24 ชั่วโมง) และต้องแจ้งองค์การอนามัยโลกถึงเหตุทางการสาธารณสุขและการพิจารณาภายใน 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่มีการใช้มาตรการดังกล่าว องค์การอนามัยโลกจะพิจารณาเหตุผลและอาจจะขอให้ประเทศดังกล่าว ทบทวนมาตรการ รวมทั้งมาตรา 43 ยังกำหนดให้องค์การอนามัยโลกแจ้งต่อประเทศสมาชิกรายอื่นๆ ถึงข้อมูลของมาตรการและการพิจารณาที่ได้รับจากประเทศที่ใช้มาตรการดังกล่าว

    ทั้งนี้ คณะกรรมการภาวะฉุกเฉินจะเรียกประชุมอีกครั้งภายใน 3 เดือนหรืออาจจะเร็วกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเลขาธิการ