ThaiPublica > เกาะกระแส > มายาคติในแบบเรียนไทย ถอดรหัสหนังสือ ภาษาพาที สู่โอกาสรื้อโครงสร้างแบบเรียนการศึกษาไทย

มายาคติในแบบเรียนไทย ถอดรหัสหนังสือ ภาษาพาที สู่โอกาสรื้อโครงสร้างแบบเรียนการศึกษาไทย

10 พฤษภาคม 2023


ระบบการศึกษาไทยกำลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ต้องการสร้างแรงสั่นสะเทือนเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาไทยอย่างถึงแก่น ทั้งระบบการเรียนการสอน หลักสูตร ครูผู้สอน ล่าสุด ปรากฎการณ์ กินข้าวต้มครึ่งซีก เหยาะน้ำปลา หรือ ข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ที่สะท้อนไปถึงหนังสือแบบเรียนภาษาไทย และไกลไปถึงวิชาอื่น ๆ ได้กลายเป็นจิ๊กซอว์อีกตัวหนึ่งที่เข้ามาประกบให้เห็นภาพใหญ่ของปัญหาระบบการศึกษาไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกันจัดเสวนา “มายาคติในแบบเรียนไทย: วิกฤติ หรือ โอกาส?” ขึ้น โดยนำคณาจารย์ และผู้สนใจด้านการศึกษามาร่วมพูดคุย ช่วยต่อให้เห็นภาพจิ๊กซอว์แต่ละตัวที่เป็นปัญหาในระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะเรื่องหนังสือแบบเรียนได้เด่นชัดขึ้น ที่คาดหวังว่าจะเป็นอีกแรงในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกริ่นถึงการเสวนาครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมามีการแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือ ‘ภาษาพาที’ แต่ละเรื่องถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมถึงความเหมาะสมทั้งแง่เนื้อหา วิธีการนำเสนอ รวมทั้งตั้งคำถามถึงความเหมาะสมที่หนังสือเล่มนี้ถูกผลิตและมาจากกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งคำถามที่ว่า สิ่งที่นักเรียนส่วนใหญ่กำลังเรียนมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงไร ที่สำคัญ มีการพูดถึงคือ ‘ภาษาพาที’ อาจไม่ได้เป็นแบบเรียนเดียว แต่มีหลายแบบเรียนที่มีความผิดพลาด โดยเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บางส่วนมีเนื้อหาเชิงพยายามปลูกฝังประเด็นบางเรื่องที่ถูกมองว่าล้าสมัย หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นไปของสังคม จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนาวันนี้ ที่ไม่ได้โฟกัสเฉพาะเรื่องของตัวแบบเรียนภาษาพาทีเท่านั้น แต่จะพูดถึงหนังสือเรียนในสังคมไทยเชิงภาพรวมด้วย

รศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการหลักสูตร สาขานวัตกรรมการเรียนรู้ (ป.โท ออนไลน์) คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องราวของเด็กหญิงใยบัว มีพลังในการสร้างการพูดคุย การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา โดยโพสต์แรก ๆ ที่พูด ไม่ใช่เรื่องภาษา แต่เป็นเรื่องโภชนาการ เป็นหลักวิทยาศาสตร์ ไข่ต้มครี่งฟองกับน้ำผักบุ้งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือการเติบโตของเด็ก และขัดกับประโยคด้านล่างเรื่องชีวิตพอเพียง การนำเรื่องแต่งโดยนำมุมมองวิทยาศาสตร์เข้าไปจับ ให้รู้สึกถึงความไม่สมเหตุสมผลในเรื่องราว ทั้งที่การกินไข่ต้มครึ่งฟองกับน้ำปลาไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เวลามองในหลักเหตุและผล เอาวิทยาศาสตร์มาอธิบาย ทำให้น้ำหนักเรื่องไม่สมเหตุสมผล ฟังขึ้น

“ส่วนตัวที่ “ว้าว” เพราะในทางวิทยาศาตร์ศึกษา เราพยายามส่งเสริมมากว่า เด็กที่เรียนวิทยาศาสตร์ ควรสร้างข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ได้ หมายความว่า ควรนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการอธิบายสิ่งที่อยู่รอบตัว ใช้ในการตัดสินใจ คิดอย่างมีวิจารณญาณว่า ควรเชื่อเรื่องอะไร ไม่ควรเชื่อเรื่องอะไร ไม่ควรทำอะไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนี้ทำให้ตระหนักขึ้น เกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์ การใช้เหตุและผล ที่สำคัญ คือข้ามศาสตร์ไปถึงหนังสือเรียนภาษาไทยเลย คล้าย ๆ จุดประกายว่า หนังสือหรือตำราเรียนที่ดี มันใช้ข้ามศาสตร์ได้ แล้วแต่ว่ากำลังมองเรื่องราวเหล่านี้ด้วยมุมไหน ซึ่งครูผู้สอนจำเป็นจะต้องเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และควรมีบทบาทเป็นผู้ออกแบบประสบการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้ มากกว่าหนังสือเรียนบอกอะไรมาก็สอนตามนั้น เพราะหนังสือที่คุณครูเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์”

ทั้งนี้ รศ.ดร.สิทธิชัย เห็นว่า หนังสือที่ส่งเสริมการอ่านยังคงมีความสำคัญ วรรณกรรมที่สนุก ความหลากหลายทำให้การอ่านมีอรรถรสมากขึ้น และมีข้อมูลชัดเจนว่า เด็กไทยอ่านเยอะ แต่อ่านหนังสือประเภทอื่น การประเมินวัดระดับนักเรียนทั่วโลก หรือ PISA จัดโดยองค์กรความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เคยทดสอบเรื่อง วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน เพราะ OECD เชื่อว่า 3 เรื่องนี้จะทำนายอนาคตเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่าปี 2018 เด็กไทยอ่านหนังสือนอกเวลา ‘การ์ตูน’เป็นอันดับ 1

นอกจากนี้การส่งเสริมสมรรถนะในการอ่านควรจะส่งเสริมให้อ่านหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะหนังสือเรียน เพื่อให้เด็กรู้จักการทำความเข้าใจ สรุปความว่าแต่ละเล่มพูดเรื่องอะไร และที่สำคัญ คือประเมินความน่าเชื่อถือ หรือประเมินความคิดในหนังสือ องค์ประกอบเหล่านี้ถูกละเลยไป ไม่มีใครช่วยหรือพาเด็กในการลองคิด คุยต่อ หลังจากอ่านหนังสือ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะไม่มีผลเรื่องคะแนน ประเทศไทยสอบเรื่องการอ่านทีไรก็จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกครั้ง และต่ำทั้ง 3 มิติ คือความเข้าใจ การสรุปความ และต่ำมากที่สุด คือการประเมินความน่าเชื่อถือ ที่เคยคาดหวังว่าโรงเรียนเก่ง ๆ โรงเรียนสาธิต หรือโรงเรียนวิทยาศาสตร์ คะแนนน่าจะไม่น้อย แต่ปรากฏว่า น้อยเหมือนกัน โรงเรียนที่คะแนนสูงในเรื่องการอ่าน คือ โรงเรียนที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ เด็ก ๆ จะมีความสามารถในการอ่านมากกว่าโรงเรียนอื่น ๆ แต่ในคะแนนที่สูง ยังมีมิติเรื่องการประเมินความน่าเชื่อถือที่ต่ำอยู่ดี

นี่เป็นหลักฐานหนึ่งให้เห็นว่าการส่งเสริมการอ่านในมิติของความหลากหลาย มิติที่พาไปเรื่องการวิเคราะห์ การสรุปประเด็นที่อยู่เบื้องหลังของบทอ่าน เป็นไปได้หรือไม่ว่า ยังน้อยอยู่ และยังไม่ได้ถูกส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

ขณะที่ ตำราเรียนยังมีความจำเป็น และควรมีการพัฒนา หรือสร้างอย่างประณีต โดยต้องการความมีส่วนร่วม สำหรับในส่วนของครู คือ มีมายาคติเป็นชุดความเชื่อบางอย่างที่จำกัดการกระทำ หรือการทำงาน การแสดงออกของคุณครู ประเด็นดรามาที่เกิดขึ้น มาจากความเชื่อที่ว่าครูต้องสอนหนังสือ แปลว่า หนังสือไม่ดี กระทบทำให้สอนไม่ดีไปด้วย พอมีเรื่องนี้คลุมอยู่ ก็คาดหวังว่า ต้องมีหนังสือที่ดีที่สุด เพอร์เฟคที่สุด หนังสือที่ไม่เพอร์เฟค เรารับไม่ได้ เพราะครูต้องสอนหนังสือ

“แต่อย่างที่หลายคนบอก ไม่มีหนังสือที่เพอร์เฟคที่สุด มีแต่หนังสือกำลังนำเสนอแง่มุมบางอย่างออกมาก คือ ถ้าขยับชุดความเชื่อไปอีกนิดหนึ่ง แทนที่จะบอกว่าครูสอนหนังสือ เป็นครูที่ออกแบบประสบการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้ ถ้าขยับไปตรงนี้ จุดสนใจจะไม่ได้อยู่ที่หนังสือ แต่อยู่ที่เป้าหมายการเรียนรู้ว่า อยากให้เด็กเรียนรู้อะไร แล้วค่อยเลือกตัวหนังสือเข้ามาเป็นเครื่องมือนำพาให้ไปถึงจุดนั้น อย่างข้อเสนอที่อยากให้เห็นความเป็นมนุษย์ ก็จะรู้แล้วว่าจะหยิบบทไหน หยิบเรื่องอะไร ขึ้นมาแล้วชวนกันคุย คือถ้ายกโฟกัสจากหนังสือ ไปอยู่ที่เป้าหมายการเรียนรู้ แล้วบทบาทของครู คือ นักออกแบบประสบการณ์ให้ถึงเป้าหมายการเรียนรู้นั้น มันจะไม่มีดราม่าเรื่องหนังสือ”

“แล้วก็จะต่อประเด็นที่ว่า ครูมีเวลาขนาดนั้นหรือในการออกแบบประสบการณ์ดี ๆ ให้เด็ก หรือในเวลาทำงานครูมีเวลามาทำบทบาทนี้จริง ๆ ในการออกแบบประสบการณ์ เลือกหนังสือมาใช้ มีเวลาส่วนนั้นให้ครูมากพอหรือยัง ครูสามารถทำงานร่วมกับครูในกลุ่มสาระอื่นในการช่วยกันคุย ช่วยกันดูว่าจะเล่าเรื่องนี้อย่างไร ผมคิดว่าเวลาเหล่านี้ในโรงเรียนยังน้อยอยู่”

ด้าน ผศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองว่า ก่อนจะมาถึงเรื่องน้องใยบัว หนังสือเล่มนี้ถูกพูดถึงเมื่อปีสองปีที่ผ่านมาถึง น้องเกี๊ยว ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่โต แล้วเงียบไป แต่ครั้งนี้น่ายินดี เพราะทั้งสังคมได้ช่วยกันคิด แม้จะมีความโกรธอยู่บ้างจากผู้ปกครอง แต่ทั้งหมดคิดว่าจะช่วยขับเคลื่อนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะว่าภาพหนังสือเรียนในอดีต จนถึงปัจจุบัน ผู้ปกครองมองว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พอผลิตโดยสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงศึกษาธิการแล้ว แทบจะกลายเป็นความจริงสัมบูรณ์ไปแล้ว ถ้าลูกตั้งคำถาม ก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่จะมีเวลาหรือไม่ที่จะแย้งกับหนังสือนั้น เพราะถ้าแย้งแล้ว ก็ไม่รู้ว่า ตอนตอบข้อสอบจะเป็นอย่างไร

“และถ้ายิ่งหนังสือเป็นแกนกลาง เล่มนี้ของชั้นประถม ก็ไม่แน่ใจว่า สุดท้ายแล้ว เวลาข้อสอบขึ้นชั้นมัธยม หรือข้อสอบชั้นมัธยมปลาย ถ้าไม่ใช้อันนี้ หรือทำคะแนนนี้ไม่ดี ตัวอย่างเช่น เคยอ่านข้อสอบหนึ่ง ตกใจเหมือนกัน ข้อสอบมีว่า ตัวละครท้ายบทที่ทำให้น้ำอ้อยอย่าลอกเลียนแบบ เพราะเธอชิงสุกก่อนห่าม ชื่ออะไร ก.กุ๊ก ข.กิ๊ก ค.เกี๊ยว ง.ก๊อง อยากรู้ว่า ข้อนี้ถามทำไม ถ้าเด็กจำไม่ได้ จะเสียคะแนนมั้ย แต่ถ้าท่องจำดี ตอบได้เกือบหมด ไม่ต้องวิเคราะห์อะไร”

นอกจากนี้ ภาษาคืออำนาจ ภาษาไทยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โชคดี ที่ได้เรียน มานะ ปิติ ชูใจ ทำให้สนุกกับการได้อ่าน พอโตแล้วกลับไปอ่าน ก็เจอแบบเดียวกัน คือหนังสือมีลักษณะการสอน แต่ภาษาพาที มีท่าที “สั่งสอน” สั่งด้วยว่าต้องเป็นแบบนี้เพื่อให้ได้ตาม หน้าแรกของภาษาพาที ที่เขียนไว้ว่า ทั้งหมดนี้สำหรับนักเรียนจะทำเพื่อพัฒนาตนเองให้สูงสุดเต็มศักยภาพ “เป็นนักเรียนไทยในอุดมคติและความหวังยิ่งของสังคมไทย” หรือที่ผู้ใหญ่ให้สัมภาษณ์ว่า ให้แยกออกจากกัน นี่เป็นเรื่องแต่ง ไม่ใช่เรื่องจริง และเรื่องน้องใยบัว เป็นเรื่องความสุข ไม่ใช่เรื่องของโภชนาการ แต่จริง ๆ แล้วมันแยกไม่ได้ อย่างที่อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เขียนหนังสือ เพลินเพื่อรู้ ความเพลิดเพลินจะนำไปสู่การเรียนรู้ ดังนั้น ทำอย่างไรที่เพลินแล้วเป็นความรู้ ใช้ได้จริง เราคงไม่สามารถแยก ความเพลินแล้วมานั่งคิดนั่งแยกว่า อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ อันนี้เป็นภาษาไทย อันนี้เป็นคณิตศาสตร์ มันรู้รวมอยู่ในนั้น

“นอกจากนี้ มีการฝากทุกอย่างไว้ที่คุณครู เพราะครูใช้หนังสือเล่มนี้ในการสอนเกือบทั้งประเทศ จะดีมากถ้าห้องหนึ่งมีนักเรียน 10 คน แต่ข้อเท็จจริงคือมี 50 คน คาบหนึ่งครูมีเวลา 50 นาที และครูเองได้รับการฝึกอบรมหรือไม่ในการอ่านหนังสือเล่มนี้ ว่า จะพูดคุยอะไรได้บ้าง หรือถ้าคุณครูอยากวิจารณ์ หรือสอนไม่เหมือนคนอื่น จะเกิดอะไรขึ้นกับครูหรือไม่ ขณะที่ครูหลายคนต้องยืนเวร ทำบัญชี ทำเทียนพรรษา ทำบัญชีร้านสหกรณ์ ร้านน้ำ ทำวิทยฐานะ สามีก็มี ลูกก็มี แล้วจะเอาเวลาตอนไหนมาทำสิ่งที่มีการพูดในวันนี้”

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.สุกัญญา เห็นว่า หนังสือเรียน หรือคู่มือ ยังคงต้องมี ซึ่งหลังจากมีกระแสนี้ขึ้นมา รักษาการรัฐมนตรี และเลขาธิการ สพฐ. ได้สั่งการให้ไปดูเนื้อหา และกล่าวว่าในตลาดหนังสือที่จะใช้เรียน เป็นตลาดเสรี ให้สำนักพิมพ์ปรับปรุงแล้วมาลองแข่งกัน ซึ่งไม่รู้ว่าเฉพาะภาษาพาทีเล่มเดียวหรือเปล่า แต่ถ้าให้ปรับปรุง และมี perspective แบบเดิม กรรมการชุดเดิม ก็อาจจะได้มุมมองเดิม ๆ ขณะที่มีคนรุ่นใหม่ ๆ ที่น่าจะถูกดึงเข้าไป ไปช่วยมอง ช่วยให้ความเห็นได้ และบ้านเรามีคนเขียนวรรณกรรมการเยาวชนจำนวนมาก และเป็นหนังสือดีมาก ทำไมไม่จัดประกวดหรือเชิญคนเหล่านี้มาช่วยกัน แล้วสุดท้ายมีโฟกัสกรุ๊ปหรือไม่ มีการให้ลองอ่านหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่กลุ่มที่ปรึกษาอย่างเดียว

ขณะที่อาจารย์ศราวุธ จอมนำ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หนังสือเรียนทุกวิชา ไม่เฉพาะภาษาไทย ถือเป็นเอกสารระดับชาติ เป็นความคาดหวัง เป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบมาก ๆ เมื่อสร้างออกมา โดยเฉพาะหนังสือที่บังคับให้ทุกคนเรียน จะอ้างว่าเป็นเรื่องแต่ง ไม่ใช่เรื่องจริง เพื่อจะบอกว่าแต่งอย่างไรก็ได้ แสดงถึงความไม่รับผิดชอบ และคนในสังคมคิดว่าหนังสือเรียนเท่ากับหลักสูตร ทั้งที่เป็นคนละส่วนกัน ประเด็นนี้ทำให้หนังสือเรียนคล้ายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องถูกทำออกมาเป็นอย่างดีแล้ว จึงจะส่งไปให้

ที่ผ่านมา มันเป็นภาวะที่ว่า หลักสูตรคือหนังสือเรียน และสอนตามหนังสือไป แต่ไม่ได้สร้าง หรือจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างการเรียนรู้จริง ๆ เราแทบไม่ค่อยมีโอกาสให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ หรือการมีปฏิกิริยาในการโต้ตอบผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน ไม่ค่อยมีพื้นที่แม้แต่การให้ครูวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาหรือการนำเสนอในหนังสือ เพราะมันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรามีหน้าที่ทำให้นักเรียนจำให้ได้ในสิ่งที่หนังสือกำลังสื่อสารก็พอแล้ว เป็นบทบาทหน้าที่หลักของครูในการสอนหนังสือ

“และอยากชวนคุยกันให้มาก โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา คือ อยากให้เด็กได้อะไรจากการศึกษากันแน่ ถ้าตอบคำถามนี้ได้ และตอบคำถามว่าการเรียนรู้คืออะไรกันแน่ มันเท่ากับการสอนหรือเปล่า จะทำให้หาฟังก์ชั่นของหนังสือเรียนได้เจอ และสร้างหนังสือเรียนที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ และร่วมมือกับหลายฝ่าย ช่วยกันทำให้หนังสือเรียนสนุกขึ้น ทำให้หนังสือเรียนเป็นอมตะได้ ไม่ใช่ 3-5 ปีเปลี่ยนที คือลงแรงให้เยอะ ให้ใช้ได้นาน ๆ จะมีประโยชน์มากกว่า และยุคนี้น่าจะปลูกฝังเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องทำอย่างไรให้เราพูดตรง ๆ ได้ โดยอีกฝ่ายไม่รู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ แล้วมีกำลังใจจะปรับปรุงต่อ”

อาจารย์ศราวุธ กล่าวว่า แม้ว่าหนังสือยังจำเป็นต้องมี แต่เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้หนึ่ง ที่ไม่ใช่แหล่งเรียนรู้เดียว คือต้องเรียนแต่หนังสือเล่มนี้เท่านั้น หรือทุกโรงเรียนต้องใช้หนังสือเล่มเดียวกัน ถ้ามีหนังสือหลากหลายเพียงพอ เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ แต่ว่ามีแก่นบางอย่างตรงกัน เหมาะสมกับผู้เรียนในช่วงวัยเดียวกัน แต่มีเนื้อหาหลากหลาย และน่าสนใจที่จะทำให้แต่ละพื้นที่ แต่ละบริบท แต่ละจังหวัดเลือกเอาไปใช้ได้ และหนังสือที่ออกมาเพื่อที่จะกล่อมเกลาเด็ก บอกว่า ความจริงเป็นแบบนี้เท่านั้น แบบนี้ ขณะนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะยุคนี้เด็กเข้าถึงความรู้ได้หลากหลาย เข้าถึงความจริงที่หลากหลาย

“แม้กระทั่ง คำหนึ่งที่คุยกันในห้องเรียน เช่น โภชนาการ ก็มีโภชนาการของคนหลายแบบ คนธรรมดา คนทำงาน นักกีฬา คนป่วย เป็นต้น ซึ่งเด็กอยู่กับข้อมูลพวกนี้ เขาไปไกลกว่าเรามาก อีกประเด็น ในระดับประถมศึกษา ทางคุรุศึกษาศาสตร์ จะมีวิชาเอกประถมศึกษา เพราะเขาคาดหวังว่าครูที่สอนประถมศึกษาจะสอนได้ทุกวิชา ที่ไม่ใช่คาบนี้ภาษาไทย คาบนี้คณิตศาสตร์ แต่ในหนึ่งเนื้อหาอย่างเรื่อง ไข่ต้ม แล้วชวนคุยต่อ เรื่องวิทยาศาสตร์ได้ ทำให้บทเรียนลื่นไหล เป็นธรรมชาติ เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ มาก มันไม่ได้ถูกเซ็ทไว้หมดทุกอย่างว่าต้องสอนตามนี้เท่านั้น แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดในห้องเรียน แล้วจับขมวดกลายเป็นการเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ ของศาสตร์อื่น ๆ ได้ นี่เป็นเสน่ห์ของคุณครูประถม ถ้ามีครูประถมศึกษา แล้วสอนในโรงเรียนประถมศึกษาจริง ๆ จำนวนมาก จะช่วยได้เยอะ และครูมีกลยุทธ์เยอะมากในการใช้สื่อต่าง ๆ ที่เหมาะกับเด็ก”

สำหรับส่งเสริมการอ่าน อาจารย์ศราวุธ เห็นว่า ต้องเริ่มจากที่บ้านรู้ทันว่า หนังสือเรียนก็คือหนังสือเรียน มีมาตรฐานระดับหนึ่ง และหนังสือการ์ตูนก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีมาตรฐาน อย่างการ์ตูนญี่ปุ่นที่พูดถึงเรื่องหมอ หรือเรื่องกีฬา ญี่ปุ่นเขาวิจัยเยอะมาก ให้คนในอาชีพนั้นอ่านก่อนด้วยซ้ำ ตนเองอ่านการ์ตูนแต่เด็ก และทำให้อ่านคล่องขึ้นเรื่อย ๆ เด็กจะ interact กับหนังสือไม่ค่อยเป็นหรอก ก็อ่านของเขา แต่คนใกล้ตัวจะทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับหนังสือเป็น ตั้งคำถามเป็น เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีวิจารณญาณ คิดเป็น แต่บริบทสังคมเราไม่ยอมรับการคิด การพูด หรือการตั้งคำถามเหล่านี้ คือจะบอกว่า เราต้องการให้เด็กเป็นแบบไหน สังคมก็ต้องรองรับลักษณะของเด็กที่จะเป็นด้วย

“สำหรับครูผู้สอนนั้น ไม่ใช่คาดหวังแต่ครูอย่างเดียว ต้องคาดหวังระบบที่ดูแลครูด้วย ถ้าให้ครูทำงานหนักแบบปัจจุบัน ครูจะเอาเวลาที่ไหนไปเตรียมสอน เอาเวลาไหนไปอ่านจนทะลุปรุโปร่ง ถ้าจะทำ ไม่ใช่แค่หนังสือเรียนอย่างเดียว จะต้องไปทั้งระบบ ทั้งวิธีคิด การจัดการ การซัพพอร์ตคุณครูเรื่องงานด้วย”

ด้าน รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ไม่มีใครพูดถึง และมีข้อสังเกต คือ คนที่รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มีปัญหา คือผู้ใหญ่ แต่ยังไม่รู้ว่า เด็กมีปัญหาหรือเปล่า และการที่เด็กไม่ได้บอกว่ามีปัญหา ไม่ใช่ว่าเด็กไม่มีปัญหา ขณะที่ผู้ใหญ่ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์จำนวนหนึ่งจะบอกว่า หนังสือเรียนภาษาไทยเวอร์ชั่น ภาษาพาที มีปัญหา สู้เวอร์ชั่นสมัยที่ตัวเองเรียนตอนเด็ก ๆ ไม่ได้ ไม่ว่าจะมานะ มานี บางท่านย้อนไปถึงดรุณศึกษา ซึ่งหนังสือเรียนเหล่านี้ผ่านตาผมมาหมดแล้ว ไม่มีเวอร์ชั่นไหนที่ไม่สอน ที่ไม่ได้มีท่าทีแบบนี้ ทุกเวอร์ชั่นเหมือนกันหมด แต่ที่แตกต่าง คือ นักเรียน เด็กสมัยก่อน ช่องว่างระหว่างตัวนักเรียนกับตัวแบบเรียนไม่ได้ต่างกันมากนัก เทียบกับเด็กในปัจจุบันกับหนังสือที่เขาอ่านมีช่องว่างเยอะขึ้น เพราะบริบทของยุคสมัยเปลี่ยนไป บางอย่างที่แต่ก่อนทุกคนยอมรับได้และยึดถือกันแบบพระรัตนตรัย แต่ทุกวันนี้คนตั้งคำถามกับมัน คือ เด็กมีความเปลี่ยนแปลง แต่แก่นของหนังสือเรียนไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก ทำให้ช่องว่างมีมากขึ้น

รศ.ดร.สิทธิชัย เห็นว่า หนังสือแบบเรียนของไทยมี 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือการให้หนังสือเรียนปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม อุดมการณ์ต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะหนังสือเรียนเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจากวรรณกรรม หรือภาพยนตร์ ที่ล้วนเสนอคุณค่าหรืออุดมการณ์บางอย่าง แต่หนังสือเรียนจะปลูกฝัง หรือสั่งสอน คุณธรรม จริยธรรมต่าง ๆ อย่างไรมากกว่า และเปิดโอกาสให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อแบบเรียน หรือต่อเนื้อหาอย่างไร อีกประเด็นคือ เรื่องฟังก์ชั่น หนังสือเรียนควรมีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง เช่น หนังสือเรียนภาษาไทย

นอกจากสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ปลูกฝังอุดมการณ์ เรียนรู้เรื่องคำศัพท์ตามฟังก์ชั่นพื้นฐานแล้ว ควรพิจารณาวิชาภาษาไทยหรือหนังสือเรียนภาษาไทยในมิติอื่นด้วย เพราะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่สำคัญมาก ว่าด้วยศาสตร์หลายแขนง ทั้งศิลปะ กวีนิพนธ์ วรรณคดี ปรัชญา วัฒนธรรมศึกษา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา และอื่น ๆ อีกมากมาย จึงจำเป็นต้องมีครูผู้สอนที่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ หรือสามารถสอนได้มากกว่าหนังสือเรียนบอกอะไรมาก็สอนตามนั้น

นอกจากนี้ หนังสือเรียน โดยเฉพาะหนังสือภาษาไทย ควรมีหน้าที่สร้างความเป็นมนุษย์ให้กับนักเรียนด้วย ผ่านตัวละคร หรือชีวิตตัวละครต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เช่น ไม่สอดคล้องกับชีวิตปัจจุบัน เด็กคนนี้ถูกสปอยล์ ก็ตาม แต่ครูควรให้เด็กได้พินิจความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่ปรากฎในหนังสือเรียน ฟังก์ชั่นของหนังสือเรียนยังควรมีหน้าที่กระตุ้นให้เด็กได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะด้วยการค้นคว้าด้วยตัวเองก็ตาม คุยกับคุณครู คุยกับพ่อแม่ ที่นำไปสู่ความอยากรู้ ความกระหายที่จะได้รู้ เพิ่มเติมจากต้องเรียนต้องอ่านเรื่องนี้ เพราะมีสอบซึ่งน่าเบื่อ

“มีประเด็นหนึ่งที่ต้องคิดกัน คือ จำเป็นที่จะต้องอ่านหรือไม่ หรือว่าจำเป็นต้องปลูกฝังให้เด็กอ่านหรือไม่ ในวันที่โลกมีช่องทางมากมาย มีสื่อบันเทิงมากมายที่เร้าและแย่งเวลาไปจากหนังสือ ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง เคี่ยวเข็ญให้เด็กอ่านหนังสือ แต่ผู้ใหญ่กำลังไถมือถืออยู่ เด็กจะเอาต้นแบบหรือความคิดว่าควรอ่านหนังสือมาจากไหน ถ้าเรามองว่า การอ่านยังจำเป็น ก็ต้องเห็นความแตกต่างระหว่างหนังสือกับสื่อชนิดอื่นว่ามันคืออะไร ถ้าความแตกต่างนี้เป็นประโยชน์ก็โอเค แต่ถ้าหาไม่ได้ว่าแตกต่างอย่างไร หรือดีกว่าอย่างไร การบอกว่า เด็กต้องอ่านหนังสือ อาจไม่ใช่สาระสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ปรีดา เห็นว่ามี 2 เรื่องใหญ่ที่ต้องปรับปรุง อย่างแรกคือหนังสือเรียน อย่างที่สอง คือตัวครู ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เด็กเข้าใจ ในเรื่องหนังสือเรียน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย น่าจะต้องแสวงหาความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะนักวิชาการด้านสื่อสำหรับเด็ก หรือนักเขียนร่วมสมัย นักเขียนเรื่องสำหรับเด็ก หรือนักประวัติศาสตร์ ที่เป็นสำนักอื่นที่ไม่ใช่สายชาตินิยม เพื่อให้หนังสือเรียนมีความหลากหลาย โดยไม่ควรอยู่ในกำมือของคนใดคนหนึ่ง หรือกระทรวงบอกว่าจะต้องเป็นแบบนี้แล้วสั่งลงมา รวมถึงแนวคิดให้ท้องถิ่นจัดทำ ซึ่งก้าวหน้ามาก แต่ก็กังวลว่า ในวันที่เราถูกสั่งถูกครอบมาตลอด วันหนึ่งบอกว่า เชิญทำได้ตามแต่ที่เห็นสมควร ก็กังวลคนเหล่านั้นจะไปอย่างไรต่อ ซึ่งต้องหารือในระยะยาวว่าจะต้องทำอย่างไร สำหรับครูผู้สอน ที่ถูกคาดหวังสูงจากพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่จะทำอย่างไรให้ครูเห็นความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ และพัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาตัวหนังสือเรียน

สุดท้าย จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง นักร้องและนักเขียน ได้ร่วมให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา ผู้จัดทำหลักสูตรพยายามคัดสรรหนังสือต่าง ๆ รวมถึงค่านิยมที่คิดว่าดี แต่ในฐานะคนเขียนหนังสือ ทั้งหมดไม่ค่อยแนบเนียน ไม่สนุก ไม่ชวนให้รักหนังสือ รักภาษา จึงได้ไปดูกระบวนการว่า คัดใครมาเขียน อาจจะคัดคนมีศีลธรรม จรรยา มีวุฒิมาเขียน แต่ถ้ามองในแง่การคัดสรร ถ้าเชื่อว่าในหนังสือมีสารที่ดีอยู่แล้ว มีภาษาที่ดีอยู่แล้ว ก็ตั้งกรรมการมาคัดสรรงานที่เสร็จแล้ว แต่เท่าที่ได้ยิน คือ ตั้งกรรมการแล้วเริ่มเขียนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อทุกอย่างมีโจทย์มา โอกาสที่งานจะมีความเป็นศิลปะ ก็จะถูกลดทอนไปด้วยความต้องการที่มาก คือถ้าต้องการสอนภาษา ก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าให้มีเรื่องคุณธรรมด้วย อยากให้ร่วมสมัยด้วย

“ถ้าเป็นผม ผมก็จะคิดว่าความร่วมสมัยเหล่านี้คือความเข้าใจผิด ผมคิดว่า หลักสูตรพวกนี้ ภาษาพระเรียกว่า อกาลิโก คือคุณสามารถอ่านเรื่องกระต่ายกับเต่าไปจนสิ้นอายุขัยโดยไม่ต้องกังวล ว่า มีเรื่องอินเทอร์เน็ตหรือไม่ คือมันมีธรรมชาติบางอย่าง ความรักของแม่กับลูก ที่ไม่เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือหรือไม่ ทีนี้เมื่อมีความต้องการมาก และใช้คนที่เหมาะกับความต้องการของเขา งานก็เลยออกมาไม่ถูกจริตพวกเรา อันนี้เป็นการคาดเดา”