รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

บทรายงานข่าวของ nytimes.com เรื่อง Japan Has Millions of Empty Houses ระบุว่า จากกรณีที่ประชากรญี่ปุ่นลดน้อยลง ทำให้มีทรัพย์สินที่เป็นบ้านพักอาศัยมากกว่า 10 ล้านหลัง ที่ถูกละทิ้ง ทำให้เกิดปัญหายากลำบาก ที่จะหาคนที่ต้องการซื้อในจำนวนมากพอกับบ้านที่ร้าง ตามปกติ บ้านในญี่ปุ่นจะมีราคาลดลง จนแทบไม่มีค่า มีเพียงที่ดินเท่านั้น ที่ยังรักษาราคาไว้ได้ เจ้าของบ้านจึงไม่มีแรงจูงใจ ที่จะดูแลรักษาบ้านเก่า
ส่วนในกรณีของจีน การลดลงของประชากรจะกลายเป็นปัญหาของประเทศต่างๆในโลก เพราะจีนจะมีสภาพเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย คือทั้งประชากรลดลงและประชากรสูงอายุที่มีมากขึ้นพร้อมกัน หลายสิบปีที่ผ่านมา ประชากร “วัยทำงาน” จำนวนมหาศาลของจีน คือพลังเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจโลก เป็นทรัพยากรแรงงานค่าแรงถูก ที่ป้อนเข้าโรงงาน เพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลก ประชากรลดลงยังหมายถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนลดลงด้วย เป็นปัญหาต่อสินค้าแบรนด์เนมที่ขายในจีน เช่น iPhone หรือรองเท้าวิ่ง Nike
อะไรเรียกว่า “ประชากรสูงอายุ”
หนังสือ Time Bomb เขียนถึงผลกระทบจากประชากรสูงอายุต่อโลกเรา และชี้ให้เห็นว่า ทำไมจึงต้องดำเนินการก่อนจะสายเกินไป แม้คนเราทุกคนจะมีอายุมากขึ้นตลอดเวลา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่า ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างมาก และคนเรามีอายุยืนมากขึ้น ทำให้คนสูงอายุในโลก ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ทั้งในแง่จำนวนและสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมด พุ่งสูงขึ้น
ปัจจุบัน 35% ของประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากที่สุดกว่าประเทศใด ส่วนเกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ประชากรสูงอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2050 คาด 3 ประเทศนี้ จะมีสภาพแบบเดียวกับญี่ปุ่น

ทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
หนังสือ Time Bomb อธิบายว่า ปัญหาประชากรสูงอายุมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสังคมในทุกด้าน การที่จำนวนประชากรวัยทำงานลดน้อยลง ทำให้รัฐมีรายได้ลดน้อยลง รัฐต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากมากขึ้นในการติดสินใจ เช่นการเพิ่มอัตราภาษีที่เป็นอยู่ หรือหนทางการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ รัฐอาจจำเป็นต้องตัดงบประมาณรายจ่ายบางอย่าง หรืออาจจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายสูงขึ้น
การเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเป็นวิธีการที่เจ็บปวดน้อยที่สุด โดยที่รัฐบาลยังไม่มีต้นทุนรายจ่ายที่เกิดขึ้นทันทีในปัจจุบัน เปรียบเหมือนการพาครอบครัวไปทานอาหารเย็น และใช้บัตรเครดิตชำระค่าอาหาร การกู้เงินของรัฐบาลที่มากขึ้น คือการโอนภาระการชำระหนี้ไปให้คนในรุ่นต่อไปในอนาคต ที่พวกเขาไม่มีส่วนในการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ต้องมาแบกรับภาระการชำระเงิน ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมของคนระหว่างรุ่นต่างๆ
ความยุติธรรมระหว่างคนรุ่นต่างๆ เป็นสิ่งที่กำหนดทำให้รัฐบาลต้องมีวินัยทางการคลัง นอกจากนี้ ในกรณีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การที่งบประมาณขาดดุลมาก และรัฐบาลมีหนี้สินจำนวนมาก จะทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจทางการคลังน้อยลง ที่จะรับมือกับวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดภาษีหรือการเพิ่มรายจ่าย
ในอดีตสิบปีที่ผ่านมา ประเทศมีหนี้สินของรัฐสูงเช่น กรีซ อิตาลี สเปน และปอร์ตุเกส เมื่อประสบกับวิกฤติ ความจำเป็นในการกู้เงินของรัฐ ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยสูงขึ้น เพราะความเสี่ยงมีมากขึ้น หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องให้สถาบันการเงินระหว่างปรเทศเข้ามากอบกู้ ก็จะสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางการคลัง
กระทบต่อสวัสดิการของรัฐ
ประเทศที่มีประชากรสูงอายุแล้ว ทำให้การปฏิรูประบบสาธารณสุขและการประกันสังคม กลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก การที่ประชากรในวัยทำงานมีจำนวนลดน้อยลง หมายความว่างบประมาณด้านโครงการสวัสดิการต่างๆ ต้องอาศัยการทำงบประมาณที่ขาดดุลมากขึ้น เช่น เงินบำนาญจากรัฐ สำหรับคนเกษียณอายุ 65 ปีขึ้นไป
Time Bomb กล่าวว่า ปัญหานี้จะรุนแรงมากขึ้น เพราะอัตราความรวดเร็วของการสูงอายุของประชากร ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่เกิดขึ้นในปี 1865 แต่ใช้เวลา 145 ปี ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศประชากรสูงอายุแล้ว ในเวลานั้น คนฝรั่งเศสมากกว่า 65 ปี มีมากกว่าประชากรอายุต่ำกว่า 16 ปี

แต่สำหรับญี่ปุ่น ในปี 1960 ญี่ปุ่นเป็นประเทศกลุ่ม G-7 ที่ประชากรอายุน้อยที่สุด แต่เมื่อถึงปี 2008 ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมีประชากรอายุมากที่สุด และครองตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นใช้เวลา 1 ใน 3 ของฝรั่งเศส ในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมกำลังสูงอายุมาเป็นสังคมสูงอายุแล้ว ส่วนเกาหลีใต้เป็นสังคมกำลังสูงอายุในปี 1999 และเป็นสังคมสูงอายุแล้วในปี 2017
แม้ญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยมากที่สุดของโลก แต่ประเทศที่ประชากรมีอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดคือเกาหลีใต้ ฝรั่งเศสใช้เวลา 145 ปี กลายเป็นประเทศมีประชากรสูงอายุ ญี่ปุ่นใช้เวลา 50 ปี แต่เกาหลีใต้ใช้เวลา 30 ปี
รับมือการท้าทายก่อนสาย
นักวิเคราะห์เห็นพ้องกันว่า ประชากรมีอายุยาวนานขึ้นบวกกับปัญหาการเกิดของประชากรลดลง ทำให้เกิดผลกระหลายอย่างแก่สังคม ยิ่งประชากรในสังคมมีอายุมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้รัฐบาลมีเวลาและโอกาสน้อยลง ที่จะรับมือกับปัญหานี้
ประเทศที่มีประชากรในวัยทำงานมีจำนวนมาก เศรษฐกิจประเทศเติบโตขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า “ดอกผลจากประชากร” (demographic dividend) แต่เมื่อประชากรอายุมากขึ้น จำนวนแรงงานลดน้อยลง สิ่งที่เป็นดอกผลจากประชากร เปลี่ยนมาเป็น “ภาษีจากประชากร” (demographic tax) หรือ “ภาระจากประชากร” (demographic burden) ซึ่งกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะต่อไป เศรษฐกิจจะอาศัยการเติบโตเป็นหลักจากผลิตภาพ (productivity) ไม่ใช่จำนวนแรงงานที่มากขึ้น
ประชากรสูงอายุมากขึ้น ยังหมายถึงรัฐบาลมีรายจ่ายมากขึ้น แต่คนเสียภาษีมีจำนวนน้อยลง ทำให้รัฐมีรายได้ลดลง แรงงานที่มีจำนวนลดลง ก็หมายถึงเศรษฐกิจจะมีขนาดที่เล็กลง รายงานการศึกษายังพบว่า คนมีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะบริโภคลดลง เพราะเป็นกลุ่มคนมีรายได้ตายตัว และรายได้ที่เหลือใช้ก็มีน้อย

เมื่อประชากรสูงอายุมากขึ้น สัดส่วนของประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 16-64 ปีกับประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป จะลดน้อยลง จากตัวเลขในแคนาดา ปี 1960 สัดส่วนที่เรียกว่าการพึ่งพา (dependency ratio) อยู่ที่ 9 ต่อ 1 คือคนวัยทำงาน 9 คนต่อคนอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป 1 คน ในปี 2016 ตัวเลขลดลงมาที่ 4.7 ต่อ 1 เนื่องจากประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ในปี 2030 สัดส่วนจะเป็น 2.5 ต่อ 1
เศรษฐกิจที่ประชากรแรงงานมีจำนวนลดลง กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของทุกคนลดต่ำลงไปด้วย แรงงานที่น้อยลงจะต้องอาศัยผลิตภาพมากขึ้น เพื่อชดเชยกับแรงงานที่หายไป การผลิตที่จะได้มูลค่ามากขึ้น โดยมีจำนวนคนงานลดลง หมายถึงการลงทุนครั้งใหญ่ในเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตที่ทันสมัย
สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรม การลดลงของประชากรวัยทำงานหมายความว่า แรงงานมีฝีมือและไร้ฝีมือ เป็นเรื่องท้าทายที่จะต้องหาทางดึงดูดเข้ามาทำงาน เดิมสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาสำคัญของธุรกิจ แต่ในอนาคต ทรัพยากรมนุษย์จะมีความสำคัญกว่าตัวปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่น วัตถุดิบ การเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานจะมีความสำคัญมากขึ้น กว่าการปกป้องแรงงานภายในประเทศ
ประเทศที่พัฒนามีรายได้สูงกำลังประสบกับปัญหาประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายด้าน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายการคลังประเทศ การเพิ่มผลิตภาพ ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ และความยั่งยืนของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่เป็นอยู่
สิ่งที่เป็นปัญหาท้าทายสำคัญต่อผู้นำประเทศคือ ทำอย่างไรจะสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ในยามที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับพายุที่พัดกระหน่ำ ความท้าทายนี้รวมถึง การหาทางที่จะปรับปรุงนโยบายสวัสดิการของรัฐ ที่สามารถสนองความจำเป็นของประชากรสูงอายุ ที่นับวันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
เอกสารประกอบ
Japan Has Millions of Empty House, Want to Buy One for $25,000, nytimes.com, 17 April 2023.
Time Bomb: How the aging population will transform our world and why we must act before it’s too late, Mark Adler, Independently Published, 2019.