ThaiPublica > เกาะกระแส > บังคลาเทศ เสือเศรษฐกิจแห่งเบงกอล ความมหัศจรรย์ ท่ามกลางภาวะย้อนแย้ง

บังคลาเทศ เสือเศรษฐกิจแห่งเบงกอล ความมหัศจรรย์ ท่ามกลางภาวะย้อนแย้ง

23 ตุลาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.theguardian.com/global-development/2019/oct/09/bangladesh-women-clothes-garment-workers-rana-plaza

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ theguardian.com รายงานความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของบังคลาเทศว่า ในระยะที่ผ่านมา ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจได้บังเกิดขึ้นกับประเทศนี้ แม้จะมีต้นทุนมหาศาล ที่แบกรับโดยคนงานสตรีของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า แต่สถาณการณ์ต่างๆเริ่มดีขึ้น เช่น ชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน และสภาพแวดล้อมการทำงาน

บทความชื่อ The rise and rise of Bangladesh ของ theguardian.com กล่าวว่า อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ที่จ้างงานกว่า 4.5 ล้านคน กลายเป็นปัจจัยที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ และชื่อเสียงให้กับบังคลาเทศ แรงงานสตรีกำลังจะช่วยให้ประเทศนี้พัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง นับจากปี 1980 เป็นต้นมา เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องมาตลอด ในปี 2018 มีรายได้ต่อคนอยู่ที่ 1,698 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมของบังคลาเทศ ก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 1991 ประชากรที่มีชีวิตอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน มีอยู่ 44% ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ที่ 13% ประชากรโดยเฉลี่ย มีชีวิตยาวนานเพิ่มขึ้น 1 ใน 3 แต่ความสำเร็จนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น โดยปราศจากเรื่องราวที่เป็นโศกนาถกรรม เมื่อ 6 ปีมาแล้ว ตึกโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า รานาพลาซ่า (Rana Plaza) ในกรุงธากา เกิดพังถล่มลงมา ทำให้มีคนงานเสียชีวิตไป 1,100 คน

ภาวะย้อนแย้งของบังคลาเทศ

บังคลาเทศเป็นประเทศที่มีอายุน้อยสุดในเอเชียใต้ โดยได้รับเอกราชในปี 1971 จากการทำสงครามที่นาน 9 เดือน เพื่อแยกประเทศออกจากปากีสถาน ช่วงที่ผ่านมากว่า 40 ปี บังคลาเทศปกครองโดยทหาร และต่อมาโดยรัฐบาลพลเรือน ที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชัน และความไม่สงบทางการเมือง ปัจจุบัน มีประชากร 157 ล้านคน และเป็นประเทศ ที่มีประชากรมากที่สุดอันดับ 8 ของโลก

แม้จะเป็นประเทศที่การเมืองไม่มีเสถียรภาพ และขาดโครงสร้างพื้นฐานที่พอเพียง ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง หรือการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่บังคลาเทศกลับกลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารโลกเคยกล่าวว่า บังคลาเทศเป็น 1 ใน 18 ประเทศกำลังพัฒนา ที่เศรษฐกิจเติบโตปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2% เลย และนับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยที่ปีละ 6%

หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ผู้นำประเทศตะวันตกเคยเรียกบังคลาเทศว่า “ตะกร้ารับบริจาคนานาชาติ” แต่หลายสิบปีต่อมา นักวิเคราะห์เริ่มใช้คำว่า “ภาวะย้อนแย้ง” หรือ “ปริศนา” ของบังคลาเทศ ทัศนะที่เคยมองบังคลาเทศแบบมืดมนไร้ความหวังเริ่มหายไป บังคลาเทศกำลังกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย โกลแมน แซคส์ เรียกว่าเป็น 1 ใน 11 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่วนรายงานของ McKinsey คาดการณ์ไว้เมื่อปี 2011 ว่า บังคลาเทศสามารถกลายเป็นประเทศ ที่ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่สุดของโลก

หนังสือชื่อ Bangladesh: A Political History since Independence (2016) เขียนไว้ว่า แม้จะเป็นประเทศที่ถูกถือว่ายากจนที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ขาดทรัพยากรมนุษย์ และประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างซ้ำซาก เช่น ไต้ฝุ่นและน้ำท่วม แต่บังคลาเทศสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ช่วงปี 1972-79 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.8% ช่วงปี 1980-89 เพิ่มเป็นปีละ 3.2% ปี 1990-99 อยู่ที่ปีละ 4.8% ปี 2000-12 อยู่ที่ปีละ 5.5% และปี 2013-15 อยู่ที่ปีละ 6%

ความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของบังคลาเทศ ยังดำเนินไปพร้อมกับความสำเร็จในด้านดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม ในปี 1973-74 ประชากรที่มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนมีอยู่ 74% ลดเหลือ 48.9% ในปี 2000 และเหลือ 31.5% ในปี 2010 ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “การเติบโตที่เอื้อประโยชน์คนยากจน” (pro-poor growth) นอกจากนี้ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านสุขภาพประชากร และโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้นของเด็กผู้หญิง เป็นต้น

ความก้าวหน้าทางสังคมของบังคลาเทศ มาจากนโยบายของรัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการพัฒนาสังคม ไม่ว่าประเทศจะอยู่ในการเมืองสมัยใด นโยบายการพัฒนาสังคม หรือสวัสดิการคนจน ดังกล่าวประกอบด้วย การวางแผนครอบครัว การจัดการภัยพิบัติ การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด และการขยายการศึกษาระดับปฐมศึกษา เป็นต้น บังคลาเทศถือว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง สาธารณประโยชน์ (public goods)

สาเหตุแห่งความสำเร็จ

ที่มาภาพ : https://www.theguardian.com/fashion/2019/may/30/despite-fashion-living-wage-pledges-low-pay-still-a-reality-study-says

หนังสือ Bangladesh กล่าวว่า ความสำเร็จของบังคลาเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นจากสาเหตุเดียว แต่เกิดจากปัจจัยหลายประการในด้านเศรษฐกิจและสังคม มีคนหลายกลุ่มคนที่มีบทบาทสร้างความสำเร็จดังกล่าว เช่น นโยบายที่ต่อเนื่องของของรัฐ บทบาทองค์กรเอกชนเพื่อการพัฒนา ผู้ประกอบการเอกชน และกลุ่มแรงงาน ได้แก่ แรงงานสตรีในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า แรงงานทำงานในต่างประเทศ และเกษตรกรในประเทศ

อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังคลาเทศ เพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อต้นทศวรรษ 1980 จนปัจจุบัน ทำให้บังคลาเทศกลายเป็นประเทศส่งออกเสื้อผ้าใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีการจ้างแรงงานกว่า 4 ล้านคน โดย 90% เป็นแรงงานสตรี ในปี 1978 การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าเพียง 4 หมื่นดอลลาร์เท่านั้น ในปี 2012-13 เป็นเงินถึง 27 พันล้านดอลลาร์ ความสำเร็จในเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไม่เพียงแต่เป็นผลงานของผู้ประกอบการเอกชนเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า แรงงานสตรีสามารถมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของบังคลาเทศได้อย่างไร ทั้งๆที่สภาพการทำงานของแรงงานเหล่านี้ ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก

แรงงานที่ทำงานต่างประเทศ ก็มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แรงงานของบังคลาเทศเริ่มออกไปทำงานในต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยปี 1974 ที่ประเทศอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเศรษฐกิจเฟื่องฟูจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ต่อมานับจากทศวรรษ 1980 แรงงานก็ออกไปทำงานในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย จากปี 1976-2013 แรงงานออกไปทำงานต่างประเทศ 8.7 ล้านคน ช่วยทำให้อัตราการว่างงานในประเทศลดต่ำลง และประเทศได้รับเงินตราต่างประเทศ ในปี 2013 มีสัดส่วนถึง 11% ของ GDP

หนังสือ Bangladesh กล่าวว่า ในส่วนภาคเกษตรกรรม บังคลาเทศประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องการผลิตข้าว ช่วงปี 1971-2013 การผลิตข้าวเพิ่ม 3 เท่าตัว จาก 10 ล้านเมตริกตัน เป็น 35 ล้านเมตริกตัน การผลิตด้านการเกษตรที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น มาจากใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง และพื้นที่เพาะปลูกที่มีระบบชลประทาน มีปริมาณเพิ่มขึ้น

บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ก็มีส่วนทำให้บังคลาเทศ ประสบความสำเร็จในเรื่องการพัฒนาด้านสังคม โครงการสินเชื่อรายย่อยของธนาคารกรามีน (Grameen Bank) เป็นการให้เครื่องมือแก่สตรีในชนบทจำนวนมากของบังคลาเทศ ในการทำธุรกรรมย่อยทางเศรษฐกิจ องค์กรพัฒนาชื่อ BRAC และ NGO อื่นๆ มีบทบาทอย่างมาก ในเรื่องการบริการด้านการศึกษา และสาธารณสุขแก่คนในชนบท

ความสำเร็จของบังคลาเทศ ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2005 ว่า บังคลาเทศทุกวันนี้ ไม่ใช่ “ตะกร้ารับบริจาค” อีกต่อไป แต่กลับเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง แต่ก็ยังมีหนทางที่ประเทศจะก้าวเดินไปข้างหน้า หากใช้ยุทธศาสตร์และการลงทุน ที่ถูกต้อง

ส่วนหนังสือ Bangladesh ตั้งคำถามว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของบังคลาเทศมาจากการทำงานที่หนักของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ยากจน เช่น เกษตรกรและคนงาน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ พวกเขาต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงในชีวิต คำถามมีอยู่ว่า ประเทศนี้จะรักษาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคง ได้ต่อเนื่องหรือไม่ หากไม่มีการจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

เอกสารประกอบ
The rise and rise of Bangladesh – but is life getting any better? theguardian.com, 09 October 2019.
Bangladesh: A Political History since Independenc, Ali Riaz, I.B.Tauris, 2016.