ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > ไอลอว์ชี้ 6 ปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. ”จ่าหน้าซองผิด-บัตรเขย่ง”

ไอลอว์ชี้ 6 ปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. ”จ่าหน้าซองผิด-บัตรเขย่ง”

9 พฤษภาคม 2023


ไอลอว์ พบ 6 ปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. จ่าหน้าซองผิดเขตอาจส่งผลเกิด “บัตรเขย่ง” ผู้มีมาใช้สิทธิมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิในเขต ส่งผลต่อการนับคะแนนรวมในวันที่ 14 พ.ค. 2566 แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเอาผิด กกต. เข้าคุกได้ ขณะที่เชิญชวนประชาชนออกมาจับตานับคะแนนเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค. โดยถ่ายภาพทุกแผ่นการนับคะแนนส่งมาร่วมกันเพื่อเอาผิด กกต. หากพบการทุจริตคะแนนไม่ตรงกับการรายงานผล ส่วนองค์กรสื่อ 50 องค์กร ร่วมรายงานผลคู่ขนานการรายงานของ กกต.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารชี้แจงว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ได้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้ง และ ณ ที่เลือกตั้งกลาง สำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงขอประชาสัมพันธ์จำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า โดยสรุปผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ในเขต-นอกเขต เกือบ 2 ล้านคน คนพิการใช้สิทธิเลือกตั้ง 2 พันคน มีรายละเอียดดังนี้

ผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง มีผู้ลงทะเบียน จำนวน 60,786 คน ผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 57,362 คน คิดเป็นร้อยละ 94.37 โดยประมาณ

ส่วนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งมีผู้ลงทะเบียน จำนวน 2,222,380 คน มีผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 2,030,628 คน คิดเป็นร้อยละ 91.37

สำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 2,356 คน ผู้มาใช้สิทธิล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง จำนวน 1,372 คน ผู้มาใช้สิทธิล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง จำนวน 752 คนรวมจำนวน 2,124 คน คิดเป็นร้อยละ 90.15 โดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ามีปัญหาร้องเรียนและเกิดความผิดพลาดในการจัดเลือกตั้งจำนวนมาก โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน “ไอลอว์” ได้จัดอาสาสมัครภาคประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งราว 40 คน กระจายกันไปสังเกตการณ์การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าของประชาชน และการทำหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ตามสถานที่เลือกตั้งกลาง ก่อนพบข้อมูลความผิดพลาดบกพร่อง โดยจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 พ.ค. 2566

ความผิดพลาด 3 ประเด็นเลือกตั้งล่วงหน้า

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า ปัญหาของการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมามี 3 ประการ คือ หนึ่งเรื่องของสถานที่แออัด รถติด อากาศร้อน ทำให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าไม่ถึงสถานที่และเดินทางกลับบ้านไปก่อน ซึ่งจากการประเมินผู้ที่ลงทะเบียนและไม่ไปใช้สิทธิจำนวนมาก จากสถิติที่เคยประเมินพบว่าผู้ลงทะเบียนแล้วไม่ได้มาลงทะเบียนในวันเลือกตั้งล่วงหน้าประมาณ 10% ถึง 20% แต่ กกต. เปิดเผยตัวเลขล่าสุดออกมาประมาณ 9% ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นตัวเลขที่ชัดเจนแค่ไหน

สอง ความผิดพลาดทางเทคนิค คือประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้แล้ว แต่เมื่อไปถึงสถานที่เลือกตั้งกลาง กลับมีคนมาลงคะแนนเสียงไปแล้ว ซึ่ง “ถูกสวมสิทธิเลือกตั้งแล้ว” รวมทั้งการไปแล้ว แต่ไม่พบชื่อตัวเองจากการติดใบที่ไม่ครบถ้วนของ กกต.

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

จ่าหน้าซองผิด “ความผิดพลาด” ของ กกต.

ส่วนปัญหาที่สาม นายยิ่งชีพกล่าวว่า ปัญหาเรื่องการจ่าหน้าซองผิด เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งปัญหาในข้อนี้จะกระทบต่อคะแนนที่จะออกมาจริงๆ และส่งผลกระทบมากที่สุด โดยประเมินว่าการจ่าหน้าซองผิดและจะทำให้คะแนนที่ไม่ถูกนับน่าจะมีมากกว่า 1000 คะแนน โดยแบ่งออกเป็นดังนี้ คือ

การจ่าหน้าซองสถานที่ผิดมีมากกว่า 10 แห่ง โดยมีแห่งที่สามารถทักท้วงแก้ไขได้ และมีหลายแห่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งผลของการจ่าหน้าซองผิดจะแบ่งลักษณะดังนี้ คือ ถ้าหากว่าเขตเลือกตั้งถูก แต่ใส่รหัสผิด โดยที่รหัสนั้นไม่มีอยู่จริง ก็มีโอกาสถูกนับตามปกติ แต่ถ้าใส่เขตเลือกตั้งผิด แต่ใส่รหัสถูก และเขตเลือกตั้งนั้นไม่มีอยู่จริง ก็มีโอกาสที่จะไปถึงและถูกนับอย่างถูกต้องเช่นกัน

แต่ถ้าผิดทั้งเขตเลือกตั้งและรหัสผิดและไม่มีเขตเลือกตั้ง รหัสเลือกตั้งไม่มีอยู่จริงทั้งคู่ ก็มีโอกาสที่จะไม่สามารถนำส่งปลายทางได้

อย่างไรก็ตาม ที่อันตรายมากที่สุดคือ ถ้าเขตเลือกตั้งผิด รหัสผิด แต่มีเขตเลือกตั้งจริง คือเป็นเขตเลือกตั้งที่มีอยู่จริงแต่ไม่ใช่เขตเลือกตั้งที่ผู้ใช้สิทธินั้นต้องการไปใช้สิทธิ อันนี้จะไปถึงปลายทางและถูกนับคะแนนหลัง 14 พ.ค. 2566 ตอน 17.00 น เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่แกะออกมาไม่รู้ว่าผิดหรือไม่ เนื่องจากหน้าซองเขียนถึงเขตที่ถูกต้อง ก็จะไม่รู้ว่าผิด โดยบัตรลงคะแนนบัญชีรายชื่อหรือบัตรปาร์ตี้ลิสต์ไม่มีปัญหาเพราะเป็นเบอร์เดียว ถูกนับรวมเข้าไปทั้งประเทศไม่มีปัญหา แต่บัตร ส.ส.เขต อาจจะถูกนับเอาคะแนนเราไปให้คนอื่นๆ โดยอาจจะเป็นพรรคอื่นที่อยู่ในเขตนั้น ซึ่งเท่ากับคะแนนที่เราลงคะแนนไปจะเป็นของคนอื่น

“บัตรเขย่ง” ซองที่จ่าหน้าผิด บัตรเลือกตั้งมากกว่าผู้ใช้สิทธิ

สุดท้าย นายยิ่งชีพกล่าวว่า เขตเลือกตั้งที่จ่าหน้าซองผิด เมื่อบัตรไปถึงนับคะแนนรวมออกมาจำนวนคะแนนจะมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ คือ มีบัตรเขย่ง และเขตเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิมีอยู่จำนวนคะแนนที่ออกมาน้อยกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิก็จะมีปัญหาบัตรผิด

ดังนั้น การจ่าหน้าซองผิดหนึ่งครั้งจะมีปัญหาสองหน่วยเลือกตั้ง และถ้าผิด 1,000 ครั้งจะมีปัญหา 1,000 หน่วย ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่วุ่นวายมากและอธิบายไม่ได้ แต่คะแนนทั้งหมดจะถูกนับและประกาศออกมาออกมาในที่สุด

“โอกาสเดียวที่จะรู้ว่าเกิดความผิดพลาดหรือไม่ คือต้องมีภาพถ่ายใบคะแนนทั้งหมดจากหน่วยที่นับคะแนนจากการเลือกตั้งล่วงหน้า ถึงจะรู้ว่าการจ่าหน้าซองผิดทำให้บัตรเขย่ง หรือมีปัญหาจำนวนไม่เท่ากันแค่ไหน”

ส่วนที่มีผู้สงสัยว่า เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งหรือ กปน. มีโอกาสทุจริตหรือไม่ นายยิ่งชีพบอกว่า เจ้าหน้าที่ กปน. มาจากหลากหลายสถานที่ คือ เป็นข้าราชการทั่วไป อาจจะเป็นครู หรือบางแห่งอาจจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่เทศบาล ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีใครอยากอาสาสมัครมาทำงานเท่าไหร่ เพราะภาระงานหนัก ทำงานตั้งแต่ตีห้าจนปิดหีบเลือกตั้ง นับคะแนน มีค่าตอบแทนแค่ 350 บาท และไม่สามารถไปไหนได้เลย ดังนั้น เขาก็ทำหน้าที่ของเขา โอกาสที่จะทุจริตมีน้อยมาก นอกจากจะซื้อยกหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งก็ยาก เนื่องจากมาจากหลากหลายหน่วยงาน

เอาผิด กกต. เข้าคุกต้องมีหลักฐาน

ส่วนการเอาผิด กกต. ในความผิดพลาดเรื่องการจัดเลือกตั้งล่วงหน้า นายยิ่งชีพกล่าวว่า การเอาผิดผิด กกต. มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 157 ว่าด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นการละเว้นโดยไม่ชอบ ดำเนินคดีอาญาเอาผิดให้คนติดคุกได้ แต่ต้องมีหลักฐานชัดเจนอันปราศจากข้อสงสัยว่า กกต. ละเว้นการทำงาน หรือเมื่อผิดพลาดแล้ว กกต. ไม่มีความพยายามทำอะไรให้ดีขึ้นหรือแก้ไขทันทีที่เกิดขึ้น อันนี้อาจจะบอกว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เมื่อยื่นศาลไปแล้วมีโอกาสที่ กกต. จะไม่ผิด เนื่องจาก กกต. จะอ้างว่าเอาคู่มือที่มีเอกสารรายละเอียดให้แล้ว มีการอบรมแล้ว ดังนั้น ในทางปฏิบัติที่ชนะคดี และ กกต. ติดคุกได้จริง ยังมีไม่มากพอ

ส่วนโอกาสที่จะสามารถเอาผิด กกต. ได้คือ เรื่องการทุจริต ถ้ามีหลักฐานคือการจงใจโกงเพื่อให้ใครได้ประโยชน์ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งในประเด็นนี้ยังไม่เห็นชัดเจนในการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. 2566 เพราะว่าการจ่าหน้าซองผิดเราไม่รู้ว่าใครได้เปรียบเพราะว่าคนที่จ่าหน้าซองผิดนั้น เขาเลือกใครและอาจจะไม่รู้ว่าเขตที่จ่าหน้าซองผิด ใครเป็นผู้สมัครและใครจะได้เปรียบขึ้นจากความผิดนั้น

ดังนั้น การจ่าหน้าซองผิดในวันเลือกตั้งล่วงหน้าอาจจะบอกทันทีไม่ได้ว่าเป็นเจตนาทุจริต แต่วันที่ 14 พ.ค. 2566 จะมีการเลือกตั้งและนับคะแนนทั้งประเทศ และจะมีการรายงานผลคะแนน ถ้าหากว่าวันนั้นมีความผิดปกติ ใครได้เปรียบ ใครชนะในการายงานคะแนน อาจจะชี้ว่าทุจริตได้

อย่างไรก็ตาม นายยิ่งชีพกล่าวว่า เราต้องการหลักฐาน การจะเอา กกต. เข้าคุกได้ แปลว่าเราทุกคนต้องไปร่วมสังเกตการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง จับตาการนับคะแนน ถ่ายภาพบอร์ดนับคะแนน กระดานที่กากบาทนับคะแนนสดๆ ภาพทุกใบทุกแผ่นแล้วส่งมารวมกัน ถ้าเรามีภาพทุกใบ ทุกหน่วยอย่างครบถ้วน แล้วการประกาศคะแนนสุดท้ายออกมาผิดพลาด ไม่ตรงกับที่ประชาชนถ่ายภาพมา เรามีหลักฐานชัดเจน คราวนี้จะเพียงพอที่จะบอกว่าเป็นการทุจริตหรือเปล่า และอาจจะเพียงพอที่จะบอกว่าใครจะติดคุก ดังนั้นอยากเชิญชวนทุกคนให้ไปร่วมจับตาการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง และถ่ายภาพส่งมาร่วมกัน เพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง

ภาพจาก :โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

ไอลอว์ ชี้ 6 ประเด็นเลือกตั้งล่วงหน้าผิดพลาด

ไอลอว์ได้เผยแพร่บทความการวิเคราะห์ความผิดพลาดการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 พบว่าจะมีผล 6 ข้อดังต่อไปนี้

1. คนพลาดวันเลือกตั้งล่วงหน้าใช้สิทธิไม่ได้แล้ว

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของ @Vote62 และเครือข่ายผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม พบว่ามีหลายสถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากอากาศร้อนและสถานที่อยู่กลางแจ้ง ยังมีปัญหาเรื่องที่จอดรถและการจราจรติดขัดไม่มีการจัดการ ซึ่งทำให้ประชาชนหลายคนตัดสินใจไม่ใช้สิทธิแล้วและกลับบ้านไปก่อน โดยคนเหล่านี้ก็จะเสียสิทธิเลือกตั้งไปในทันที เพราะไม่สามารถไปหย่อนบัตรในวันเลือกตั้งทั่วไปได้แล้ว

อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ มีประชาชนจำนวนมากที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว แต่กลับไม่มีชื่ออยู่ในรายชื่อทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าหน่วย แม้ว่าจะมีการเช็คสิทธิบนเว็บไซต์ของกรมการปกครองไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม

กรณีนี้จะทำให้ประชาชนเหลือตัวเลือกในวันที่ 14 พฤษภาคม เพียงสองตัวเลือก คือ เดินทางกลับไปเลือกตั้งยังภูมิลำเนาเดิม หรือสละสิทธิการเลือกตั้ง แล้วค่อยไปแจ้งกับนายทะเบียนภายหลังเพื่อป้องกันการถูกตัดสิทธิทางการเมืองสองปี

ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า หากไม่เป็นเพราะความสะดวกสบายเพราะใกล้ที่อยู่ปัจจุบัน ก็เป็นเพราะไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่ไกล ติดภาระงาน หรืออุปสรรคอื่นๆ การไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ จึงบีบให้เหลือเพียงผู้ที่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาเท่านั้นที่ได้ไปลงคะแนน ขณะที่เสียงของประชาชนผู้ไม่สามารถกลับไปใช้สิทธิจะไม่ถูกนับ เนื่องจากความผิดพลาดในการทำงานของราชการ

“การขาดเสียงของผู้ที่ไม่สามารถเดินกลับไปเลือกตั้งที่ภูมิลำเนา อาจจะส่งผลต่อผลคะแนนและการแพ้ชนะทางการเมืองในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน”

2. เกิด “บัตรเขย่ง” ซองที่จ่าหน้าผิดทำให้บางเขตมีบัตรเลือกตั้งมากกว่าผู้มาใช้สิทธิ

ในวันที่ 7 พฤษภาคม มีปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ การจ่าหน้าซองของบัตรเลือกตั้งผิด ซึ่งไม่ใช่การผิดรายครั้ง หรือผิดเฉพาะบางคูหา แต่เกิดความผิดพลาดเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ความเสียหายที่เป็นข่าวอย่างน้อยหลายร้อยบัตรลงคะแนน ขณะที่ความเสียหายที่ยังไม่ตกเป็นข่าวนั้นไม่สามารถประมาณได้

จากการรับฟังปัญหาที่อาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งและประชาชนทั่วไปแจ้งเข้ามายัง Vote62 พบว่า ช่องที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ต้องกรอกรหัสเขตเลือกตั้ง มักมีข้อผิดพลาดจากการกรอกผิดเลข จากที่ต้องกรอกรหัสเขตกลายเป็นการกรอกรหัสไปรษณีย์แทน

ตัวอย่างสำคัญ คือ กรณีเขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่กรอกรหัสไปรษณีย์ ‘57210’ แทนที่จะเป็นรหัสเขตเลือกตั้ง ‘57002’ ซึ่งหลังอาสาสมัครได้เข้าไปสอบถาม เจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่า ทุกซองจะต้องกรอกรหัสไปรษณีย์เท่านั้น

กรณีเช่นนี้ อาจทำให้ซองบัตรลงคะแนนถูกส่งไปนับคะแนนผิดที่ กล่าวคือบัตรเลือกตั้งอาจไม่ได้ไปถูกนับที่ภูมิลำเนาของแต่ละคน แต่อาจจะถูกส่งไปยังเขตเลือกตั้งที่บังเอิญมีรหัสเขตเลือกตั้งตรงกับรหัสไปรษณีย์พอดี จนทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิของเขตเลือกตั้งนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหรือเรียกกันว่า เกิด ‘บัตรเขย่ง’ ขึ้น จากการที่จำนวนบัตรในหีบมีมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิในคูหา

แม้หลายกรณีที่เกิดขึ้น สามารถแก้ไขได้ทันจากการท้วงติงของประชาชนและอาสาสมัคร แต่สังคมก็ไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีอีกกี่คูหาที่ความผิดพลาดดังกล่าวถูกดำเนินการสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

3. คะแนนจำนวนหนึ่งถูกนับไม่ตรงกับเจตจำนงของคนเลือก

อีกหนึ่งกรณีความผิดพลาดที่สุดของการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 คือ การที่ กปน. เขียนกำกับเขตเลือกตั้งหน้าซองผิดพลาด ทำให้จากที่ต้องลงคะแนนในพื้นที่หนึ่งของจังหวัดหนึ่ง กลับจะกลายเป็นการลงคะแนนให้อีกพื้นที่หนึ่งในจังหวัดอื่นแทน

จากการรวบรวมข้อมูลของอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งพบว่า มีการจ่าหน้าซองผิดเขตเกิดขึ้นในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าเขตดินแดง เขตบางเขน และเขตในจังหวัดชลบุรี ซึ่งพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ซอง โดยยังไม่รวมกรณีที่ยังไม่ได้รับแจ้งซึ่งอาจมีอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้เมื่อบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตเลือกตั้ง เป็นลักษณะบัตรโหล คือ มีเพียงเบอร์ของผู้สมัครและช่องให้กาเท่านั้น หากบัตรใบนี้ถูกนำไปนับที่เขตอื่นจะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่า คะแนนที่กาในบัตรมีเจตจำนงตามที่ประชาชนลงคะแนนไปหรือไม่

ตัวอย่างความผิดพลาด เช่น หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าที่ศาลากลางเขตชลบุรี มีผู้ร้องเรียนว่า เต๊นท์หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าจังหวัดบุรีรัมย์เขียนจ่าหน้าซองทุกซองเป็นเขต 1 แม้ผู้ร้องเรียนใช้สิทธิในเขต 7 การทำเช่นนี้จะทำให้หากกาเบอร์ 10 ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นคะแนนให้พรรครวมแผ่นดิน หากกาเบอร์ 4 ให้ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทยจะกลายเป็นคะแนนให้แก่พรรคไทยสร้างไทย และหากกาเบอร์ 2 ให้ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ก็จะกลายเป็นคะแนนให้แก่พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น เหตุการณ์นี้เมื่อไม่ถูกแก้ไขปัญหาให้จบลงตั้งแต่ก่อนการนำบัตรเลือกตั้งไปส่งให้ไปรษณีย์ จะก่อให้เกิดความผิดพลาดของการนับคะแนนขนาดใหญ่

4. บัตรหาย ไปไม่ถึงเขต ซองที่จ่าหน้าผิดไม่รู้จะไปไหน ไม่ถูกนับ

ปกติในการเลือกตั้ง จำนวนบัตรเสียจะเกิดขึ้นจากปัญหาในการกากบาทหรือการฉีกขาดของบัตรลงคะแนน ทว่าในการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 พบว่า ต้นเหตุสำคัญเกิดจากกระบวนการเชิงจัดการในคูหาด้วย

ประการแรก บัตรลงคะแนนที่ถูกใส่ซองแต่จ่าหน้าผิด คือ ผิดทั้งรหัสเขตและหมายเลขอื่นๆ บนหน้าซอง สิ่งนี้จะทำให้บัตรลงคะแนนไม่ถูกส่งไปถึงมือกรรมการนับคะแนน เพราะพนักงานไปรษณีย์ไม่สามารถนำส่งได้

ประการที่สอง หากการกรอกหน้าซองบัตรลงคะแนนผิดพลาดจนไม่มีการกรอกเลขอะไรเลย เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าพนักงานของไปรษณีย์จะเป็นผู้กรอกให้ จนเกิดการเว้นว่างเอาไว้ก็อาจทำให้พนักงานไปรษณีย์ไม่สามารถนำส่งได้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

ประการที่สาม พบว่าเจ้าหน้าที่ฉีกบัตรลงคะแนนออกจากสมุดเล่มผิดพลาดจนบัตรฉีกขาด ซึ่งกรณีนี้มีประชาชนโต้แย้งให้นำบัตรลงคะแนนใหม่มาให้ เนื่องจากอาจจะนับเป็นบัตรเสียในวันที่ 14 พฤษภาคมได้ จนเจ้าหน้าที่ยินยอมให้บัตรลงคะแนนใบใหม่ ทว่าอาจเกิดปัญหาลักษณะนี้ในที่อื่นที่ไม่มีอาสาสมัครไปรายงาน

5. เกิดข้อกังวล วันที่ 14 พ.ค. อาจผิดพลาดได้อีก

การเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า กปน. บางส่วนไม่ได้ถูกอบรมมาอย่างถูกต้องโดย กกต. จนทำให้เกิดความผิดพลาดรายหน่วยเลือกตั้งจำนวนมาก

ในวันที่ 7 พฤษภาคม พบว่า เกิดการติดเทปผิดพลาด ลงชื่อผิดที่ ฉีกขั้วบัตรขาด ไปจนถึงการลืมติดเอกสารบนบอร์ดหน้าคูหา และปัญหาการจ่าหน้าซอง สิ่งเหล่านี้ชี้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนในแทบทุกระดับยังไม่พร้อมในการจัดการเลือกตั้ง 2566

ปัญหาที่จะสืบเนื่องมาถึงวันที่ 14 พฤษภาคม คือ เวลาทบทวนบทเรียนและอบรมใหม่ระหว่าง กกต. และ กปน. แทบจะไม่มีเนื่องจากมีเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นในการเน้นย้ำข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ กปน. ทั้งประเทศ จุดที่จะสร้างความเสียหายมากที่สุดหากเกิดความผิดพลาด คือ ช่วงเวลานับคะแนนของวันที่ 14 พฤษภาคม หลังเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากการทำงานทั้งวันในสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจจะทำให้มีการขานบัตรดี/บัตรเสีย ขานตัวเลข ขีดนับคะแนน ไปจนถึงรวมผลคะแนนผิดพลาดได้

หากเกิดความผิดพลาดขึ้นในช่วงเวลานับคะแนน จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผลคะแนนและการแพ้ชนะในระดับเขตและการจัดตั้งรัฐบาลในระดับชาติ ประชาชนและอาสาสมัครจึงควรออกไปช่วย กปน. ทำงานด้วยการจับตาการนับคะแนนเพื่อรับประกันว่าทุกคะแนนจะถูกนับอย่างโปร่งใส

6. ผลการเลือกตั้งไม่สะท้อนเสียงประชาชน ถ้าส่งบัตรผิดจำนวนมาก

ความผิดพลาดครั้งนี้จะนำไปสู่ปัญหาหลังเลือกตั้ง เนื่องจากการชนะเลือกตั้งปี 2566 จะต้องนำคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ามารวมกับคะแนนเลือกตั้งในที่ 14 พฤษภาคม หากผลคะแนนที่มาจากการเลือกตั้งล่วงหน้ามีปัญหาด้านความถูกต้องในจำนวนมาก คะแนนรวมทั้งหมดก็จะมีปัญหาไม่สะท้อนเสียงของประชาชนเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ แม้ความผิดพลาดจากปัญหาในวันที่ 7 พฤษภาคม จะเกิดขึ้นไปแล้ว แต่ประชาชนก็ยังสามารถป้องกันความผิดพลาดของปัญหาในวันที่ 14 พฤษภาคม ได้ด้วยการร่วมเป็นอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งกับ @Vote62 เพื่อเฝ้าหน้าคูหาขณะนับคะแนน ตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ขานคะแนนถูกต้องหรือไม่ มีความชัดเจนแค่ไหน รวมคะแนนออกมาถูกต้องไหม จากนั้นถ่ายรูปกระดานรวมคะแนนทั้งหมดกลับมาให้ @Vote62

ในการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด อย่างน้อยการร่วมเป็นอาสาสมัครในวันที่ 14 พฤษภาคม ก็เป็นโอกาสของทุกคนในการเก็บหลักฐานสำคัญหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น อีกทั้งภาพผลคะแนนจากมือของประชาชนในแต่ละคูหาจะถูกนำกลับมาตรวจสอบผลคะแนนรวมของ กกต. อีกครั้งหลังจบการเลือกตั้ง

นี่จึงอาจเป็นโอกาสเดียวในการปกป้องสิทธิของเรา และการหาหลักฐานเอาผิดผู้ที่ควรรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมด เพราะหากไม่มีอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้งกับ Vote62 ที่มากพอ ปัญหาในการเลือกตั้ง 2566 อาจจะทำให้ผู้ต้องรับผิดชอบต่อเสียงที่เสียไปของเรามีโอกาสลอยนวลและรัฐบาลที่ได้ไม่ได้สะท้อนเสียงของเรา

สมาคมทีวีดิจิทัล 50 องค์กรจับตารายงานผลเลือกตั้ง 2566 แบบเรียลไทม์

สมาคมทีวีดิจิทัล 50 องค์กรจับตารายงานผลเลือกตั้ง 2566 แบบเรียลไทม์

ด้านสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และเครือข่ายพันธมิตร 50 องค์กร ร่วมประชุมและแถลงข่าวถึงความพร้อมในการเตรียมการจัดการรายงานคะแนนเลือกตั้ง 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นการรายงานผลแบบเรียลไทม์อย่างไม่เป็นทางการ โดยอาสาสมัครเข้าร่วมการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง คู่ขนานไปกับ กกต.

โดยที่ผ่านมา ทางสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และเครือข่ายพันธมิตร 50 องค์กร ร่วมกันทำโครงการ รายงานผลคะแนนเลือกตั้งภาคประชาชนเป็นครั้งแรก โดยอาศัยการระดมทุนสนับสนุน และจัดหาอาสาสมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง เพื่อร่วมกันรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งจากจุดต่างๆ ทั่วประเทศ

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ระบุว่า เพื่อความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงมีการประสานระบบหลังบ้านร่วมกับทาง กกต. เพื่อประมวลผลข้อมูลพร้อมกัน แบบเรียลไทม์ โดยมีการใช้ระบบคลาวด์เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งมั่นใจได้ว่า ระบบจะไม่ล่ม และข้อมูลการรายงานผลการเลือกตั้ง 2566 นี้มีความน่าเชื่อถือ ขอให้ประชาชนมั่นใจในการรายงานผล

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการโครงการฯ ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อมมาเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะมีการประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยคณะทำงานในโครงการ The Watcher จะพยายามรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการเชิญองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมกันทำงานในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วที่สุด ขณะนี้มีสำนักข่าวทั้ง 38 สำนักที่เข้าร่วมกันในครั้งนี้ จะใช้ข้อมูลนี้ในการวิเคราะห์และรายงานผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

กกต. ชี้แจง จ่าหน้าซองผิดไม่กระทบนับคะแนน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงกระบวนการคัดแยกบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้ง และนอกราชอาณาจักร ณ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด จะดําเนินการคัดแยกซองไปรษณีย์โดยตรวจสอบความถูกต้องของรหัสเขตเลือกตั้งอย่างละเอียด ทั้งนี้ ตัวเลข 3 ตัวแรก คือ รหัสจังหวัด และตัวเลข 2 ตัวหลัง คือ รหัสเขตเลือกตั้ง (ไม่ใช่รหัสไปรษณีย์แต่อย่างใด) ซึ่งมีการจ่าหน้าซองถึงประธานเขตเลือกตั้ง สามารถเป็นจุดสังเกตที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการคัดแยกซองใส่บัตรเลือกตั้งก่อนที่จะจัดส่ง จัดส่งบัตรเลือกตั้ง แต่ละประเภทให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งตามที่

ดังนั้น กรณีการจ่าหน้าซองผิดในบางเขตเลือกตั้ง จะมีระบบการตรวจสอบกับหลักฐานที่เกี่ยวข้องและแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง และนําส่งบัตรเลือกตั้งไปยังเขตเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องต่อไป