ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup กัมพูชา มาเลเซีย ไทย เวียดนามเจอภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากสหรัฐรอบใหม่

ASEAN Roundup กัมพูชา มาเลเซีย ไทย เวียดนามเจอภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากสหรัฐรอบใหม่

14 พฤษภาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-13 พฤษภาคม 2566

  • กัมพูชา มาเลเซีย ไทย เวียดนามเจอภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากสหรัฐรอบใหม่
  • มาเลเซียเตรียมยกเลิกการห้ามส่งออกพลังงานหมุนเวียน
  • นายกฯสิงคโปร์เรียกร้องอาเซียนเดินหน้าโครงการไฟฟ้าร่วม
  • เวียดนามพัฒนาเขตโลจิสติกส์ปลอดภาษีในไฮ ฟอง
  • โครงการรถไฟลาว-ไทยส่วนที่ 2 แล้วเสร็จ
  • ซัพพลายเออร์รองเท้า Adidas-Reebook ปลด 6,000 คนงานในเวียดนาม
  • ผู้นำอาเซียนย้ำเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ศูนย์กลางการเติบโตภูมิภาคและของโลก
  • กัมพูชา มาเลเซีย ไทย เวียดนามเจอภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากสหรัฐรอบใหม่


    กลุ่มประเทศ CMTV ประกอบด้วย กัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม อาจต้องจ่ายภาษีสูงถึง 254% สำหรับการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ ไปยังสหรัฐฯในเร็วๆนี้ หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐแถลงว่าบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ในจีนได้ใช้ฐานการผลิตใน 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เป็นฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ

    เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม วุฒิสภาได้ลงมติที่สอดคล้องกับตามสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้กฎหมาย Congressional Review Act (CRA) ยกเลิกคำสั่งประธานาธิบดี (executive order)ของประธานาธิบดี โจ ไบเดนที่ยกเว้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จากกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนามด้วยการระงับการเก็บภาษีทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุนเป็นเวลา 2 ปี หลังพบว่าการนำเข้าเหล่านี้เป็นการเลี่ยงภาษีสำหรับแผงโซลาร์จากประเทศจีน

    สภาคองเกรสและฝ่ายบริหารเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการบังคับใช้ทางการค้า แต่ไม่เห็นด้วยกับภาษีศุลกากรนี้โดยเฉพาะ สมาชิกสภาคองเกรสหลายคนสมองว่าการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์จากประเทศในกลุ่ม CMTV จำเป็นในการบังคับใช้กฎการค้าและจัดการกับการละเมิดทางการค้าของจีน ส่วนสมาชิกรายอื่นๆ มองว่าการใช้อัตราภาษีเหล่านี้เป็นเครื่องมือเสริมที่เจาะจงไปที่อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของจีน ซึ่งพบว่ามีการบังคับใช้แรงงาน ขณะที่ฝ่ายบริหารมองว่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์มีความสำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสภาพอากาศ

    การเก็บภาษีจะทำให้ผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์มีราคาแพงขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับวาระด้านสภาพอากาศของฝ่ายบริหาร โดยโทรี สมิทตั้งข้อสังเกตไว้ในการวิเคราะห์มติ CRA ไว้บนเว็บไซต์ American Action Forum

    มติของวุฒิสภาจะถูกส่งไปยังประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งคาดว่า อาจจะใช้สิทธิยับยั้ง(veto)มติดังกล่าว และจะคงการยกเว้นการเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ไปจนถึงเดือนมิถุนายนปี 2567 เพราะให้ความสำคัญกับวาระด้านสภาพอากาศภาพ จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างนโยบายด้านสภาพอากาศและนโยบายการค้า และมีความตึงเครียดระหว่างสภาคองเกรสและฝ่ายบริหารในด้านนโยบาย

    กระทรวงพาณิชย์ “เริ่มการไต่สวนการนำเข้าโซลาเซลล์ อุปกรณ์ ลามิเนต และแผงโซลาร์เซลล์ (ผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์) จากประเทศ CMTV ในเดือนเมษายน 2565 ตามคำร้องของ Auxin Solar ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กในแคลิฟอร์เนีย คำร้องดังกล่าวอ้างว่าสินค้านำเข้าจากสี่ประเทศนี้ เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีการทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุนผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์จากจีน ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2555 โดยในเดือนธันวาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ได้มีคำตัดสินเบื้องต้นในกรณีนี้ ว่าบริษัทในกลุ่มประเทศ CMTV เลี่ยงภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 250% ย้อนหลังและสำหรับการนำเข้าในอนาคต”

    การเก็บภาษีในอัตรา 250% ถือว่าเป็นอัตราภาษีที่ค่อนสูง ดังนั้นในเดือนมิถุนายน 2565 ประธานาธิบดีไบเดนจึงออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อชะลอการเก็บภาษีเป็นเวลา 2 ปี โดยระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการ “ส่งเสริมการขยายกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ รวมถึงความสามารถของสหรัฐในการผลิตโมดูลและปัจจัยการผลิตอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานพลังงานแสงอาทิตย์” กระทรวงพาณิชย์จึงมีประกาศกระทรวงที่อิงกับคำสั่งประชาธานาธิบดีในเดือนกันยายน และมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ก่อนที่จะถูกยกเลิกด้วยมติ CRA

    มาเลเซียเตรียมยกเลิกการห้ามส่งออกพลังงานหมุนเวียน

    ที่มาภาพ : https://www.bernama.com/en/thoughts/news.php?id=2166297

    มาเลเซียจะ ยกเลิกการห้ามส่งออกพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและเพิ่มการผลิตจากแหล่งเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซียกล่าวเมื่อวันอังคาร(9 พ.ค.)

    ปัจจุบันมาเลเซียผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้เพียง 1% ต่อปี และได้สั่งห้ามการส่งออกในเดือนตุลาคม 2564 ด้วยเป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ

    นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวว่า การยกเลิกคำสั่งห้ามจะช่วยให้บริษัทต่างๆ พัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนในระดับที่ใหญ่ขึ้น และได้ประโยชน์จากความต้องการสูงจากเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์

    “การพัฒนาระบบตลาดไฟฟ้าเพื่อหนุนการค้าพลังงานหมุนเวียนข้ามพรมแดนจะทำให้มาเลเซียก้าวไปข้างหน้าในฐานะศูนย์กลางพลังงานทดแทนระดับภูมิภาค” นายราฟิซิกล่าวในแถลงการณ์และว่า ระบบจะได้รับการพัฒนาโดยรัฐบาลในภายหลังแต่ไม่ได้ระบุวัน และไม่ได้ระบุว่าการห้ามส่งออกจะถูกยกเลิกเมื่อไร

    มาเลเซียให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

    International Renewable Energy Agency กล่าวเมื่อเดือนมีนาคมว่า มาเลเซียจะต้องเพิ่มการลงทุนด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐาน และประสิทธิภาพการใช้พลังงานสองเท่าเป็นอย่างน้อย 375 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้สูง

    นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังเพิ่มเป้าหมายสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 70% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2593 เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ กำลังการผลิตติดตั้งในปัจจุบันอยู่ที่ 25% ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งการขยายกำลังการผลิตจะช่วยให้นำกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนส่วนเกินมาทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้

    การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 637 พันล้านริงกิต (1.90 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์) จนถึงปี 2593 นายราฟิซีกล่าว ซึ่งรวมถึงแหล่งผลิตไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานโครงข่าย และความจุในการกักเก็บพลังงาน

    นายกฯสิงคโปร์เรียกร้องอาเซียนเดินหน้าโครงการไฟฟ้าร่วม

    แถลงความร่วมมือเชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซียในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (37th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562

    ในวันพุธ (10 พ.ค.)นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง แห่งสิงคโปร์เรียกร้องให้อาเซียนเดินหน้าโครงการโครงข่ายไฟฟ้าร่วม หลังโครงการบูรณาการพลังงานลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ประสบความสำเร็จ

    ความสำเร็จของโครงการซึ่งสิงคโปร์นำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาวผ่านไทยและมาเลเซีย แสดงให้เห็นว่าการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีในภูมิภาคนี้ “เป็นไปได้” นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง กล่าว

    โครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาคจะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและความยืดหยุ่นในประเทศสมาชิก และทำให้การลดคาร์บอนในระดับภูมิภาคก้าวหน้า นายกฯลีกล่าว

    โครงการบูรณาการลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่า “การซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีในภูมิภาคนี้เป็นไปได้” นายกฯลีกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวน บาโจ ประเทศอินโดนีเซีย

    สิงคโปร์เริ่มนำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาวผ่านไทยและมาเลเซียเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมนายกัน กิม หยง ในเดือนพฤศจิกายนได้ให้ข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับโครงการในการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อรัฐสภา ว่า ไฟฟ้ามากกว่า 170,000 เมกะวัตต์ชั่วโมงนำเข้าสิงคโปร์จาก สปป.ลาว ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนถึง 31 ตุลาคม ในปีนั้น และการส่งไฟฟ้านี้ “คงที่”

    เวียดนามพัฒนาเขตโลจิสติกส์ปลอดภาษีในไฮ ฟอง

    เขตโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมปลอดภาษีแหล็กเฮวี่ยน ในไฮฟองเวียดนาม ที่มาภาพ:https://tuoitrenews.vn/news/business/20230513/nontariff-zone-gets-off-the-ground-in-vietnams-hai-phong/73105.html

    การก่อสร้างโครงการเขตโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมปลอดภาษีแหล็กเฮวี่ยน(Lach Huyen)เริ่มขึ้นแล้วในวันเสาร์(13 พ.ค.)ที่เขตเศรษฐกิจดิ่ญหวู – กั๊ตหาย(Dinh Vu-Cat Hai)ในไฮฟอง เมืองท่าทางตอนเหนือของเวียดนาม

    พิธีวางศิลาฤกษ์ของเขตปลอดภาษีจัดขึ้นร่วมกันโดยคณะกรรมการประชาชนเมืองไฮฟองและ Xuan Cau-Lach Huyen Investment JSC ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในโครงการ โดยมีนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ เจ้าหน้าที่ส่วนกลางและเทศบาลเข้าร่วมด้วย

    การพัฒนาโครงการเขตโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมปลอดภาษีแหล็กเฮวี่ยน ได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564

    โครงการเขตโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมปลอดภาษีแหล็กเฮวี่ยนจะเป็นเขตปลอดภาษีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 752 เฮกตาร์ในเขตเศรษฐกิจดิ่ญหวู – กั๊ตหาย

    โดยคาดว่าโครงการเขตการค้าเสรีจะช่วยยกระดับโครงสร้างและห่วงโซ่มูลค่าของท่าเรือนานาชาติแหล็กเฮวี่ยนและปูทางไปสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจทางทะเลของเมืองท่าต่อไป

    นอกจากนี้ โครงการนี้คาดว่าจะมีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายของเมืองในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดิ่ญหวู – กั๊ตหาย ให้เป็นเขตเศรษฐกิจแบบบูรณาการเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองและบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศ

    นักลงทุนกล่าวว่าการจัดตั้งเขตปลอดภาษีพร้อมกับท่าเรือน้ำลึก เช่น ท่าเรือนานาชาติแหล็กเฮวี่ยนจะส่งผลให้มีระบบท่าเรือที่มากพอในพื้นที่

    โครงการนี้ยังคาดว่าจะดึงดูดธุรกิจการเดินเรือและโลจิสติกส์ชั้นนำของโลก สร้างศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าแห่งใหม่ และปูทางไปสู่การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเมืองไฮฟองและภาคเหนือ

    ซัพพลายเออร์รองเท้า Adidas-Reebook ปลด 6,000 คนงานในเวียดนาม

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/companies/adidas-reebook-supplier-to-sack-6-000-workers-4604564.html

    ผู้ผลิตรองเท้า Pou Yuen Vietnam ซึ่งเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดในนครโฮ จิมินห์ จะเลิกจ้างพนักงานเกือบ 6,000 คน หรือ 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งเป็นการปลดพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทไต้หวันที่เป็นซัพพลายเออร์ของ Adidas และ Reebok นับตั้งแต่เปิดดำเนินการในโฮ จิมินห์ ในปี 2539

    ในการประชุมกับเจ้าหน้าที่ของเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้บริหารของบริษัทกล่าวว่าคำสั่งซื้อที่ลดลงทำให้โรงงานต้องลดพนักงาน ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว บริษัทได้ปรับแผนการผลิต ปลดพนักงาน และสลับสับเปลี่ยนระหว่างโรงงานต่างๆ

    บริษัทคาดว่าจะปลดพนักงาน 5,744 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นสองชุดในวันที่ 24 มิถุนายนและ 8 กรกฎาคม พนักงานที่ถูกปลดออกจะได้รับค่าชดเชยในอัตรา 80% ของเงินเดือนสุดท้ายที่ได้รับแต่ละปีที่ทำงาน

    ในช่วงระยะเวลาการแจ้งถึงการลดพนักงาน คนงานที่ไม่มาทำงานจะยังคงได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน พนักงานที่ตั้งครรภ์ ลาคลอดบุตร มีบุตรอายุต่ำกว่า 12 ปี จากครอบครัวยากจน ทุพพลภาพ และประสบปัญหาอื่นๆ จะไม่ถูกปลดออกจากงาน

    Pou Yuen ได้เลิกจ้างคนงาน 2,358 คนในเดือนกุมภาพันธ์ และกว่า 2,800 คนในเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากที่โควิดระบาด

    การเลิกจ้างยังมีขึ้นในอีกหลายบริษัทเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การสำรวจ 4,000 บริษัทในไตรมาสที่ 1โดย Department of Labours, Invalids and Social Affairs ของเมืองพบว่า มี 31% ได้ลดจำนวนพนักงานลง และมีเพียง 19% ที่เพิ่มจำนวนพนักงาน การปลดพนักงานมีขึ้นมากในภาคธุรกิจ รองเท้า เสื้อผ้า การก่อสร้าง และการแปรรูปอาหาร

    โครงการรถไฟลาว-ไทยส่วนที่ 2 แล้วเสร็จ

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_89_y23/freeContent/FreeConten2023_SectionII89.php

    โครงการก่อสร้างรถไฟลาว-ไทย ระยะที่ 2 (Section II) แล้วเสร็จและพร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนใช้

    เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบระยะที่ 2 ของโครงการเปิดเผยกับสำนักข่าว Vientiane Times ว่างานเสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว ทางรถไฟเชื่อมไทยนี้จะเปิดให้ประชาชนใช้ภายหลังการสรุปข้อตกลงใบอนุญาตเดินรถไฟไทย-ลาว

    “เราคาดว่าจะเปิดให้บริการรถไฟระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม” สถานีเวียงจันทน์หรือสถานีคำสะหวาดของโครงการรถไฟลาว-ไทยระยะที่ 2 ตั้งอยู่ที่บ้านคำสะหวาดในเขตไซเสดถา ซึ่งคาดว่าการเชื่อมโยงทางรถไฟจะช่วยยกระดับบริการโลจิสติกส์ในภูมิภาค

    การก่อสร้างส่วนที่ 2 เริ่มขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 และเดิมทีโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 อย่างไรก็ตาม งานที่สถานีคำสะหวาดมีความล่าช้า

    ระยะที่ 2 ของโครงการประกอบด้วยส่วนต่อขยายทางรถไฟ 7.5 กิโลเมตร จากสถานีท่านาแล้งที่ชายแดนไทยถึงสถานีคำสะหวาด มีมูลค่าการลงทุน 994.7 ล้านบาท (ประมาณ 235.6 พันล้านกีบ) โดย 30% เป็นเงินให้เปล่า และ 70% เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.)ของไทย

    โครงการนี้ยังรวมถึงการก่อสร้างที่พักสำหรับพนักงาน สถานี รางรถไฟ และส่วนประกอบอื่นๆ

    โครงการก่อสร้างรถไฟลาว-ไทย ระยะที่ 2 (ส่วนที่ที่ 1) เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2556 และเปิดให้บริการในปี 2560

    ส่วนนี้รวมถึงรางแยกสำหรับจอดรถไฟที่สถานีท่านาแล้ง รางรถไฟส่วนต่อขยาย 5,800 เมตรจากสถานีท่านาแล้งไปยังลานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ และการอัพเกรดระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมจากอะนาลอกเป็นดิจิทัล ทำให้ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ได้

    นอกจากนี้การก่อสร้างลานตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 38,000 ตารางเมตร คลังสินค้าขนาด 5,000 ตารางเมตร ถนนคอนกรีตยาวกว่า 2,000 เมตร อาคารสำนักงานบริหารสูงสามชั้น ช่องทางเข้าชั่งน้ำหนัก ระบบป้องกันอัคคีภัย สถานที่จัดการขยะ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นไฟฟ้าและประปา ก็แล้วเสร็จเช่นกัน

    ทางรถไฟระยะที่ 1 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2551 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2552 ประกอบด้วยเส้นทางรถไฟระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ที่วิ่งจากสถานีท่านาแล้งในประเทศลาวข้ามพรมแดนไปยังจังหวัดหนองคายในประเทศไทยผ่านสะพานมิตรภาพลาว-ไทย

    นอกเหนือจากนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทางรถไฟลาว-จีน เพื่อวางรางและสร้างสถานีเวียงจันทน์ใต้ในบ้านท่านาแล้ง ซึ่งเส้นทางสายนี้จะเชื่อมโยงกับทางรถไฟลาว-ไทย

    รถไฟลาว-จีนและไทย-จีนเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายรถไฟระดับภูมิภาคที่วางแผนไว้เพื่อเชื่อมโยงจีนกับสิงคโปร์ผ่านลาว ไทย และมาเลเซีย การเชื่อมโยงทางรถไฟจะช่วยให้บริการโลจิสติกส์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพ

    ผู้นำอาเซียนย้ำเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ศูนย์กลางการเติบโตภูมิภาคและของโลก

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่มาภาพ :https://www.asean2023.id/en/gallery/photo
    การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2566 ที่เมืองลาบวน บาโจ จังหวัดนูซา เต็งการาตะวันออก ของอินโดนีเซีย ที่มีขึ้นภายใต้แนวคิด(Theme) “ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” และมีอินโดนีเซียได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

    ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของอาเซียนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน คงความเป็นเอกภาพและความเป็นกลางของอาเซียน เพื่อรักษาและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนการแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ รวมถึงการเคารพกระบวนการทางกฎหมายและการทูตอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องใช้การคุกคามหรือการใช้กำลัง ตามหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลของกฎหมายระหว่างประเทศ

    รวมทั้งตอกย้ำถึงความสำคัญของความเป็นอาเซียนที่มีสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่เปิดกว้าง ครอบคลุม โปร่งใส และยึดหลักกฎหมาย และกำลังดำเนินการเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของอาเซียนกับพันธมิตรภายนอกในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของภูมิภาคในการการตอบสนองต่อความท้าทายร่วมกันและที่เกิดขึ้นใหม่

    แถลงการณ์ยังเน้นย้ำถึงความทุ่มเทเพื่อเดินหน้าการสร้างประชาคมอาเซียน เพื่อประกันว่ามีการดำเนินการอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และย้ำถึงความสำคัญการร่วมกันของเสาหลัก การประสานงานข้ามภาคส่วนและความสำคัญของการประสานงานในองค์รวม การร่วมกันตอบสนองและมุมมองที่สอดคล้องกันในการจัดการกับปัญหาที่อาเซียนเผชิญในลักษณะหลายมิติและซับซ้อนมากขึ้น

    ที่ประชุมรับทราบและพอใจต่อความคืบหน้าของการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของการประเมินระยะกลาง (Mid-Term Reviews :MTRs) ของแผนงานประชาคมอาเซียนปี 2025 และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงของอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity :MPAC) ปี 2025 และชื่นชมความพยายามอย่างแข็งขันของประเทศสมาชิกอาเซียนและองค์กรภาคส่วนต่างๆ ทั่วทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ที่จะทำให้แผนประชาคมอาเซียนปี 2025 บรรลุผลอย่างมีประสิทธิผล ท่ามกลางความท้าทายระดับโลกและระดับภูมิภาค

    ที่ประชุมให้การรับรองในหลักการ ต่อองค์ประกอบหลัก(Core Elements)ของวิสัยทัศน์หลังปี 2025 ของประชาคมอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถตอบสนองและปรับตัวท่ามกลางโลกที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ในการจัดทำวิสัยทัศน์หลังปี ค.ศ. 2025 ของประชาคมอาเซียน ก็ตระหนักดีถึงความจำเป็นในการสร้างความสมดุลระหว่างแนวทางปฏิบัติและความคาดหวัง เพื่อให้อาเซียนยังคงมีเสถียรภาพและก้าวหน้าในขณะที่ยังคงยึดมั่นในอัตลักษณ์ของตน

    แถลงการณ์ได้ย้ำถึงความยืดหยุ่นของอาเซียน ซึ่งมีความสำคัญหลักในสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีพัฒนาการสูง และย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องมองไปข้างหน้า คาดการณ์ และจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ พร้อมมุ่งมั่นที่จะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางของการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทั่วโลกผ่านความร่วมมือที่เข้มแข็ง ซึ่งรวมถึงในภาคอาหาร พลังงาน สุขภาพ และการเงิน

    สำหรับข้อตกลงในหลักการที่จะรับติมอร์-เลสเตเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน ที่ประชุมได้ต้อนรับการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนของนายกรัฐมนตรีติมอร์-เลสเตเป็นครั้งแรกในฐานะผู้สังเกตการณ์ และยืนยันอีกครั้งถึงการสนับสนุนติมอร์-เลสเตในการที่เข้าสู่การสร้างประชาคมอาเซียน

    นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ออกแถลงการณ์อีกหลายฉบับ โดยแถลงการณ์ของการประชุมสภาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 22 (The 22nd Meeting Of The ASEAN ECONOMIC COMMUNITY COUNCIL) ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. เพื่อหารือเกี่ยวกับการนำความคิดริเริ่มภายใต้แผนงานประชาคมอาเซียน 2025(AEC Blueprint 2025)ไปปฏิบัติและความคืบหน้ารวมถึงอนาคตของเสาหลักของ AEC หลังปี 2025 โดยพิจารณาประเด็นใหม่ๆที่เกิดขึ้น การประชุมสภา AEC ครั้งที่ 22 ซึ่งมีนาย Airlangga Hartarto รัฐมนตรีกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เป็นประธาน ยังได้จัดประชุมนัดพิเศษเกี่ยวกับความริเริ่มเพื่อความยั่งยืน

    ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจระดับภูมิภาคในปัจจุบันที่มีผลและหล่อหลอมการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน เศรษฐกิจของอาเซียนมีการฟื้นตัวและกลับไปสู่การเติบโตที่ในระดับก่อนเกิดโรคระบาด โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 5.6% ในปี 2565 อาเซียนจะยังคงมีการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 4.7% ในปี 2566 และ 5.0% ในปี 2567 ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่สดใสท่ามกลางความซบเซา

    แถลงการณ์ย้ำถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักของอาเซียนในการเป็นประชาคมและกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัลชั้นนำ ซึ่งในเรื่องนี้ ที่ประชุมเรียกร้องให้มีการสรุปผลการศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Economic Framework Agreement:DEFA) และการพัฒนาองค์ประกอบหลักของกรอบนี้โดยเร็ว โดยคาดว่าจะให้การรับรองผลการศึกษา DEFA และการเปิดตัวการเจรจา DEFA ในการประชุมสภา AEC ครั้งที่ 23 ในเดือนกันยายนปีนี้

    สำหรับแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งคือเรื่องความเชื่อมโยงการชำระเงินและส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของอาเซียน หรือ ASEAN LEADERS’ DECLARATION ON ADVANCING REGIONAL PAYMENT CONNECTIVITY AND PROMOTING LOCAL CURRENCY TRANSACTION

    ที่ประชุมได้ทวนเป้าหมายของการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่กำหนดไว้ในแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ซึ่งแสดงภาพการสร้างเศรษฐกิจอาเซียนที่มีการบูรณาการในเชิงลึกและมีความเหนียวแน่นสูง ที่จะสนับสนุนการเติบโตสูงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและความยืดหยุ่น โดยที่ภาคการเงินมีความครอบคลุมและมั่นคง

    ที่ประชุมรับรู้ว่า ระบบและบริการชำระเงินข้ามพรมแดนที่เร็วขึ้น ถูกลง ปลอดภัยขึ้น โปร่งใสมากขึ้น และครอบคลุมมากขึ้นมีบทบาทมากขึ้น มีประโยชน์ที่กว้างขึ้นในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจดิจิทัล และยังตระหนักถึงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการเงิน การรวมกลุ่มทางการเงินในภูมิภาคให้ลึกขึ้น ด้วยยกระดับการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน และสนับสนุนห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค

    ที่ประชุมรับทราบว่า ความคิดริเริ่มต่างๆของอาเซียนมีผลให้มีการยกระดับการเชื่อมโยงการชำระเงินในภูมิภาคและส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการย้ายถิ่นฐานข้ามพรมแดนในภูมิภาค รวมถึงแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์เพื่อการบูรณาการทางการเงิน 2016-2025 (Strategic Action Plan (SAP) for Financial Integration(2016–2025)), โครงการริเริ่มการเชื่อมโยงการชำระเงินของอาเซียน(ASEAN Payment Connectivity Initiatives) และแนวปฏิบัติของอาเซียนเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือในการชำระสกุลเงินท้องถิ่น (ASEAN Guideline on Local Currency Settlement Cooperation Framework :LCSF)

    ที่ประชุมเน้นความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและระบบการชำระเงินเพื่อสนับสนุนการชำระเงินข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว ถูกกว่า ปลอดภัยกว่า โปร่งใสมากขึ้น และครอบคลุมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคและลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและความผันผวน

    นอกจากนี้ยินดีกับความคืบหน้าของความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการชำระเงินระดับภูมิภาคและการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาค รวมถึงบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการชำระเงินระดับภูมิภาคระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย การดำเนินการตาม LCSF ระดับทวิภาคี ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศและรับทราบถึงความสนใจของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมความคิดริเริ่มนี้

    ที่ประชุมมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินในภูมิภาคโดยใช้โอกาสที่เกิดขึ้น เป็นผลจากนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดนที่ราบรื่นและปลอดภัย โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของประเทศ

    รวมทั้งส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนในภูมิภาค และสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อวางแนวทางการพัฒนากรอบการทำธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่นของอาเซียน และสนับสนุนความร่วมมือเพิ่มเติมในการพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินระดับภูมิภาคและอำนวยความสะดวกให้ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนมีการทำงานระหว่างระบบ ยกรดะบโครงสร้างพื้นฐาน เร่งการนำการชำระเงินแบบดิจิทัลมาใช้

    ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือเพิ่มเติมในการส่งเสริมการทำธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น และบทบาทของหน่วยงานภาคการเงินเพื่อลดความเปราะบางของภูมิภาคต่อความผันผวนภายนอก ส่งเสริมการกำหนดราคาที่มีประสิทธิภาพ ดูแลให้การบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความยืดหยุ่น ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดการเงิน และลดต้นทุนของการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน

    ที่ประชุมชื่นชมความคิดริเริ่มในการเชื่อมโยงกรอบความคิดริเริ่มธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่นของอาเซียนกับความคิดริเริ่มการชำระเงินข้ามพรมแดน รวมถึงการเชื่อมโยงการชำระเงินในภูมิภาค และมีส่วนร่วมและร่วมมือกับพันธมิตรภายนอกของอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน เพื่อสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินระดับภูมิภาคและส่งเสริมการทำธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น

    ที่ประชุมมอบหมายให้รัฐมนตรีคลังอาเซียนและผู้ว่าการธนาคารกลาง รับผิดชอบดูแลการดำเนินการและความก้าวหน้าของการเชื่อมโยงการชำระเงินในภูมิภาค และหาแนวทางในการพัฒนากรอบการทำธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่นของอาเซียนด้วยความช่วยเหลือและการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง