ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาลล้วงเงินคงคลัง 1.3 แสนล้านบาท หมกเม็ดซุกหนี้

รัฐบาลล้วงเงินคงคลัง 1.3 แสนล้านบาท หมกเม็ดซุกหนี้

10 มิถุนายน 2021


เก็บตกที่ประชุม 4 หน่วยงานเสาหลักเศรษฐกิจ กางข้อมูลรายรับ-จ่ายรัฐบาล ชี้ตั้งงบฯใช้หนี้เงินคงคลังขาด 1.3 แสนล้านบาท เผยยอดเงินคงคลังล่าสุดลดลงกว่า 2.2 แสนล้านบาทในรอบ 1 ปี แนะนายกฯเคลียร์ให้จบก่อนวางมือ

เก็บตกจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ซึ่งมี 4 หน่วยงานเสาหลักที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศได้แก่ กระทรวงการคลัง , ธนาคารแห่งประเทศไทย , สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ)เข้าชี้แจงคณะกรรมมาธิการฯ

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางในเรื่องของการจัดทำงบประมาณ และความยั่งยืนทางการคลัง โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจนเต็มเพดาน และต้องเอาเงินคงคลังออกมาใช้

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้อยู่ที่ 2.73 ล้านล้านบาท (เป้าหมาย) ส่วนที่เหลือใช้วิธีการกู้เงินเพื่อนำมาชดเชยการขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท แต่พอลงมือปฏิบัติ ปรากฏว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ประมาณ 2.94 ล้านล้านบาท และงบฯปีก่อนๆ หรือที่เรียกว่า “งบฯเหลื่อมปี” อีก 2 แสนล้านบาท รวมแล้วในปีงบประมาณ 2563 มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 3.14 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลมีรายรับจริงๆแค่ 3.01 ล้านล้านบาท โดยมาจากการจัดเก็บรายได้แค่ 2.3 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดในเอกสารงบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท (พลาดเป้า) ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดานสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด 700,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่พอ

คำถาม ก็คือ รายได้ส่วนที่ขาดอีก 130,000 ล้านบาท (รายจ่ายจริง-รายรับจริง) มาจากแหล่งไหน เบิกเงินคงคลังออกมาใช้หรือไม่?

นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2564 มีแนวโน้มว่าจะซ้ำรอยเดิม โดยผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 กระทรวงการคลังเก็บรายได้พลาดเป้าฯไปประมาณ 1.29 แสนล้าน จากการคาดการณ์สำนักงบประมาณรัฐสภา (PBO) ประเมินว่าในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจะมีรายได้ทั้งสิ้น 2.46 ล้านบาท เทียบกับประมาณการรายได้ตามเอกสารงบประมาณแล้ว ต่ำกว่าเป้าหมายอย่างน้อย 2.2 แสนล้านบาท และถ้าหากปีนี้รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลเต็มเพดาน 7.4 แสนล้านบาท (สูงกว่าที่ประมาณการไว้ในเอกสารงบประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาท) ก็ยังไม่พอที่นำไปใช้จ่าย อาจจะต้องควักเงินคงคลังออกมาใช้อีกประมาณแสนล้านบาท

“ดังนั้นในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเก็บรายได้พลาดเป้าจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2565 ที่รัฐบาลกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเอาไว้เต็มเพดานตั้งแต่เริ่มต้นจัดทำงบประมาณ ทำให้ถ้ามีความเสี่ยงจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ก็จะมีผลทำให้รัฐบาลมีงบประมาณไม่พอใช้” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้สุทธิต่ำกว่าเป้าหมายเป็นผลมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    1) ผลของการหดตัวของรายได้นิติบุคคล
    2) เงินนำส่งรัฐวิสาหกิจที่พลาดเป้า
    3) การแพร่ระบาดของโควิดและเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง
    4) รายได้และเงินออมของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว
    5) แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

“ถึงรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนแบบนี้ การประมาณการรายได้ ก็อาจพลาดเป้าได้ โจทย์คือเราจะมีวิธีออกแบบงบประมาณอย่างไรให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และไม่เป็นภาระที่จะต้องชดใช้เงินคงคลังมากเกินไปในงบประมาณปีต่อๆ ไป”

นอกจากนี้นางสาวศิริกัญญา ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องสภาพคล่องในระยะสั้น โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดสภาพคล่องไม่ว่าจะเป็นดุลงบประมาณ และดุลงบประมาณต่อ GDP ถ้าย้อนกลับไปดูจะเห็นได้ชัดว่าลดลงมาจนต่ำกว่าเกณฑ์หลายไตรมาสติดต่อกัน ระดับเงินคงคลังเฉลี่ย 4 ไตรมาสต่องบประมาณทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าลดลงมาในระดับที่ต่ำกว่าปี 2562 โดยจากจุดที่เงินคงคลังสูงที่สุดในปี 2563 มาถึงไตรมาส 1/2564 เงินคงคลังลดลงแล้วจาก 572,104 ล้านบาท เหลืออยู่ 351,379 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ ถ้าการจัดเก็บรายได้พลาดเป้า (ดูภาพประกอบ)

กระทรวงการคลังชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ฯสั้น ๆ ว่า “เงินคงคลังจะมีเหลือพอที่จะบริหารสภาพคล่องได้ และคาดการณ์เงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 170,000 ล้านบาท”

“จากข้อมูลที่นำมาแสดงทั้งหมด เข้าใจว่ารัฐบาลตั้งงบฯประมาณมาใช้หนี้เงินคงคลัง 1.3 แสนล้านบาท ที่เบิกมาใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2563 ยังไม่ครบถ้วน โดยปีงบประมาณ 2564 ไม่ได้ตั้งงบฯชดใช้เงินคงคลังเลย ส่วนปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบฯชดใช้เงินคงคลังแค่ 597 ล้านบาท ที่สำคัญในปีงบประมาณ 2564 และ2565 มีแนวโน้มว่าจะเก็บรายได้หลุดเป้าเหมือนปีที่ผ่านมา คาดว่าในปีงบประมาณ 2566 อาจจะต้องมีการตั้งงบประมาณไปชดใช้หนี้เงินคงคลังไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งกรอบประมาณนั้นตั้งไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ก็ถือว่าน้อยอยู่แล้ว ทำให้งบฯที่จะนำไปใช้จ่ายได้จริง ก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก นางสาวศิริกัญญา กล่าว

นอกจากนี้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคที่หน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจใช้ยังมีปัญหา ทั้งความล่าช้า เก็บในความถี่ค่อนข้างห่าง และไม่สะท้อนความเป็นอยู่จริง ๆ โดยเฉพาะในยามวิกฤติ ทำให้คำนวณเงินเยียวยาต่ำเกินจริง ขณะที่ประเทศอื่นมีวิธีการสร้างตัวชี้วัดที่ทำได้รวดเร็ว หรือ Rapid Indicator เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีน้ำมัน, จำนวนการเดินทาง หรือ google mobility index ที่จะช่วยสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และนำมาสู่การวางแผนออกมาตรการของรัฐได้อย่างตรงจุด

นางสาวศิริกัญญากล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอฝากไปถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงเวลาที่เหลืออีก 1 ปี 6 เดือน ควรจะเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาทั้งหมดให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะวางมือ”