ด้วยดีมานด์ที่มากกว่าซัพพลาย จำนวนเก้าอี้ที่มีน้อยกว่าความต้องการ ทำให้การเสนอชื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ ตกเป็นข่าวแทบทุกปี สำหรับการขับเคี่ยวของบรรดานักการเมืองพรรคต่างๆ เพื่อ “แย่งชิง” ตำแหน่งนี้
เพราะนอกจากจะเป็นการ “โชว์เก๋า” แล้ว กมธ.ชุดนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับ “ตัวเลข” จำนวนมหาศาล โดยมีการ “ล่ำลือ” กันถึง “ช่องทาง” การแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม (อ่าน เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (1) )
ดังนั้น “ที่มา” ของ กมธ. งบประมาณ จึงไม่ธรรมดา!
กมธ. งบประมาณ 1 ชุด จะมี กมธ. จำนวน 63 คน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
มาจากตัวแทนของรัฐบาล อันได้แก่ รัฐมนตรี และข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่เหลือเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งหมดที่มีอยู่ โดยสัดส่วน กมธ. ที่แต่ละพรรคจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส. ซึ่งอัตราส่วนจะอยู่ที่ 10-11 คนต่อ 1 เก้าอี้ กมธ.
เมื่อได้รับการจัดสรรตำแหน่งเป็นรายพรรคแล้ว ต่อไปคือหน้าที่ของแต่ละพรรคที่จะไปบริหารจัดการเสนอชื่อคนของพรรคเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน ดังนี้
“พรรคเพื่อไทย” เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มี ส.ส. จำนวนมากที่สุดในสภา ทำให้จำนวนเก้าอี้ที่ได้รับการจัดสรรมามีจำนวนมากกว่าทุกพรรคการเมือง แต่กระนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของ ส.ส. ในพรรค ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องใช้วิธีการแบ่งโควตารายภาค โดยให้ ส.ส. แต่ละภาคไปดำเนินการจัดสรรกันเองตามกฎเกณฑ์ของภาคนั้นๆ บางภาคใช้วิธีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนการดำรงตำแหน่ง หรือการกำหนดคุณสมบัติของ ส.ส. มาเป็นตัวคัดเลือก เช่น ต้องเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 สมัย ขณะที่บางภาคให้เขตกลุ่มจังหวัดไปตกลงเจรจากันว่าจะส่งใครเป็นตัวแทนนั่ง กมธ. และหากไม่มีใครยอมใคร จนไม่สามารถตกลงกันได้ วิธีการ “จับสลาก” เสี่ยงดวงจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ
นอกจากโควตารายภาคแล้ว พรรคเพื่อไทยจะดึงเก้าอี้ไว้ที่ส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง หรือเรียกว่า “โควตากลาง” ที่จัดสรรไว้ให้กับนักการเมือง โดยมี “นายใหญ่” เป็นผู้กำหนด
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณางบประมาณ 2556 มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรบุคคลของพรรคเพื่อไทยใหม่ โดยเปิดให้บรรดา ส.ส. หน้าใหม่ เข้ามาเป็น กมธ. มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไข “ภาพลักษณ์” ของพรรคเพื่อไทยหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามี “กมธ. บางคน” ของพรรค ที่ทำตัวเป็น “ขาใหญ่” ใช้ตำแหน่งและหน้าที่ในทางที่ไม่ถูกต้อง
“พรรคประชาธิปัตย์” ใช้วิธีการเดียวกับพรรคเพื่อไทยในส่วนของการแบ่งโควตาออกเป็นรายภาค และมีการแบ่งโควตากลาง เพื่อแต่งตั้งให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญงานงบประมาณไปดำรงตำแหน่ง หรือ ส.ส. ที่พลาดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำสภา มาดำรงตำแหน่ง กมธ. งบประมาณแทน
“พรรคภูมิใจไทย” จะเป็นการแบ่งโควตาระหว่าง กลุ่มของ “เนวิน ชิดชอบ” กับของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” โดยในปีงบประมาณ 2556 พรรคภูมิใจไทยได้โควตา กมธ. งบ 3 คน ตกเป็นของ ส.ส. สายของ “เนวิน” 2 คน และที่เหลืออีก 1 คน เป็นของสาย “สมศักดิ์” อย่างไรก็ตาม ในส่วนโควตาของ “เนวิน” นั้นจะมี “ชัย ชิดชอบ” เป็นตัวยืนในการเป็น กมธ. เนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องงบประมาณมานาน ส่วนอีก 1 คนที่เหลือ จะสลับหมุนเวียนกันตามความเหมาะสม โดยบุคคลที่เคยเป็น กมธ. แล้วจะต้องสละให้กับคนที่ยังไม่เคยเป็นมาทำหน้าที่ดังกล่าว
“พรรคชาติไทย” คนที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น กมธ. งบประมาณ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความชำนาญเรื่องงบประมาณ และเป็นคนที่ “บรรหาร ศิลปอาชา” ให้ความไว้วางใจ
ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่จำนวน ส.ส. ในพรรค ไม่ถึง 10 คน ทำให้ไม่ได้รับโควตานั้น มีการเปิดทางให้ 3 พรรคการเมืองขนาดเล็กอันประกอบไปด้วย พรรครักษ์สันติ พรรครักประเทศไทย และพรรคมาตุภูมิ ได้รับโควตา 1 ที่นั่ง โดยให้หมุนเวียนกันปีละ 1 พรรค ให้ตัวแทนดำรงตำแหน่ง กมธ. งบประมาณ
แม้การก้าวเข้ามาเป็น กมธ. จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้อง “ชิงดำ” กับ ส.ส. ด้วยกัน แต่มี กมธ. งบประมาณบางรายได้เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองอยู่ไม่ใช่น้อย จากการตรวจสอบข้อมูลรายชื่อ กมธ. งบประมาณ 5 ปีย้อนหลัง หรือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2556 พบว่ามีเพียง 1 คนที่เป็น กมธ. ทุกสมัยคือ “วิทยา บุรณศิริ” รมว.สาธารณสุข ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย
รองลงมาคือ “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีต รมว.คลัง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็น กมธ. งบประมาณ 4 ครั้งจาก 5 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้ง 3 คนนี้เป็นรัฐมนตรีด้วย ทำให้การเป็น กมธ. บางครั้งต้องเป็นโดยตำแหน่งเพราะมาจากสัดส่วนของรัฐบาล เช่น ตำแหน่ง รมว.คลัง จะเป็นประธาน กมธ. งบประมาณ โดยตำแหน่งอยู่แล้ว
สำหรับ ส.ส. ที่ไม่เคยเป็นรัฐมนตรี แต่ได้ดำรงตำแหน่ง กมธ. มากที่สุดเมื่อย้อนหลังไป 5 ปี มีด้วยกัน 3 คน คือ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย “ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย และ “นันทนา สงฆ์ ประชา” ส.ส.ชัยนาท พรรคภูมิใจไทย โดยทั้งหมดนี้เป็น กมธ. จำนวน 3 ครั้งจาก 5 ครั้ง (อ่านรายชื่อ กมธ. งบฯ ย้อนหลัง)