ThaiPublica > เกาะกระแส > บทเรียนจากภูฏาน ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสุขมากที่สุดในโลก

บทเรียนจากภูฏาน ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสุขมากที่สุดในโลก

27 เมษายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

กรุงทิมพูของประเทศภูฏาน ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งเดียวในโลกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ภูฏานเพิ่งจะมีถนนสมัยใหม่สายแรกในปี 1962 และมีโทรทัศน์ในปี 1999 ภูฏานเป็นประเทศที่ไม่ติดทะเล ถูกขนาบด้วยประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียกับจีน อยู่อย่างแยกตัวโดดเดี่ยว มีประชากร 7 แสนกว่าคน และไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่โลกต้องการ

แต่ภูฏานมีความสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อกษัตริย์จิกมี วังชุก ประกาศนโยบาย “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ GNH (Gross National Happiness) ว่ามีความสำคัญกว่า “ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ” หรือ GNP (Gross National Product)

แนวคิด GNH เป็นการนำเสนอ “การพัฒนา” ที่มีความหมายมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ได้ผนวกรวมกับความหมายในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล เป็นการนำเสนอการพัฒนาในความคิดแบบองค์รวม ที่พยายามเข้าใจความสมบูรณ์ของความเป็นคนในหลายมิติ ในปี 2011 สหประชาชาติกำหนดให้ภูฏานเป็นโมเดลที่เอา “ความสุข” เป็นศูนย์กลาง ความพยายามของภูฏานจึงมีส่วนกำหนดเป้าหมายของสหประชาชาติ เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030

ความสุขมวลรวมประชาชาติ

บทความเรื่อง Why Bhutan Is the Happiest Developing Nation on Earth ของ realclearpolitics.com บอกว่า ในยามที่ประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ เช่น คนฝรั่งเศสประท้วงเรื่องการปฏิรูประบบบำนาญ ภูฏานกลับเป็นประเทศที่สามารถสนองความปรารถนาของประชาชนได้อย่างสันติและต่อเนื่อง ความสำเร็จของภูฏานไม่ใช่เรื่องอุบัติเหตุ ราชบัญญัติของภูฏานระบุชัดเจนว่า…

“หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความสุขแก่ประชาชน รัฐบาลก็ไม่มีเป้าหมายของการดำรงอยู่”

การนำแนวคิด GNH มาสู่ภาคปฏิบัติใช้เวลาหลายสิบปี ที่หมดไปกับความพยายาม การวางแผน และการดำเนินการ แนวคิด GNH ประกอบด้วย 4 เสาหลักและ 9 เป้าหมาย Lotay Tshering นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอธิบายว่า “หากนโยบายหนึ่งไม่ส่งเสริมเป้าหมายความสุข ก็ไม่ใช่นโยบายที่จะทำให้คนภูฏานมีความสุขมากขึ้น” ความสำเร็จในแนวคิด GNH ทำให้ความพึงพอใจของคนภูฏานมีสูงมาก รวมทั้งความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลด้วย

เสาหลักอันแรกของแนวคิด GNH คือการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ที่เที่ยงธรรมและยั่งยืน ภูฏานถือว่าความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนคือสิทธิขั้นมูลฐาน พลเมืองแต่ละคนสามารถเข้าถึงเครื่องนุ่งห่ม บ้านพัก การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้งการได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย จากการพูด ทรัพย์สินส่วนตัว สิทธิลงคะแนน และกระบวนการยุติธรรม ส่วนประชาชนทุกคนมีหน้าที่ที่จะทำงาน ปกป้องประเทศและวัฒนธรรม เสียภาษี และทำงานรับใช้ชุมชน

เสาหลักที่ 2 คือ การอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูฏานเป็นเมืองพุทธ ที่ให้คุณค่าเรื่องความสงบสันติ ความไม่รุนแรง ความเมตตา และความอดทนอดกลั้น การรักษามรดกทางวัฒนธรรมและพุทธศาสนานิกายมหายาน รวมถึงการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ คือเอกลักษณ์พื้นฐานของคนภูฏาน ค่านิยมส่วนรวมก็มีความสำคัญ ประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำเพื่อส่วนนรวม เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในอาคารและนอกอาคาร ส่งเสริมการแต่งกายประจำชาติ การใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่สอดคล้องกับเป้าหมาย GNH

เสาหลักที่ 3 คือ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภูฏานให้ความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ให้ความสำคัญเท่าเทียมกันที่การเติบโตจะดำเนินไปอย่างยั่งยืน เที่ยงธรรม และทุกคนมีส่วนร่วม หากมีการริเริ่มในโครงการเรื่องเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

เสาหลักที่ 4 คือ ธรรมาภิบาลที่ดี ธรรมเนียมด้านประชาธิปไตยของภูฏานมีขึ้นตั้งแต่ปี 1952 ที่มีการตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้นมา การเลือกต่างสภาผู้แทนกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2008 ภูฏานมีระบบนิติธรรมที่ทำงานได้ดี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง ระบบการเมืองแบบสองพรรค ผู้นำการเมืองมีความรับผิดชอบ ผ่านวัฒนธรรมความโปร่งใส

ขณะที่แนวคิด GNH ประกอบด้วย 4 เสาหลักดังกล่าว ความก้าวหน้าของ GNH จะประเมินการบรรลุเป้าหมาย 9 อย่างที่ประกอบด้วย ความสุขทางจิตใจ สุขภาพทางกาย การศึกษา การใช้เวลา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ธรรมาภิบาลที่ดี ความเข้มแข็งมีชีวิตชีวาของชุมชน ความหลากหลายของสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานความเป็นอยู่ เป้าหมายทั้งหมดนี้สอดคล้องกับการเป็นเมืองพุทธที่ยึดมั่น “ทางสายกลาง” เน้นภาระกิจที่สมดุล

การเติบโตทางเศรษฐกิจ

บทความของ realclearpolitics.com กล่าวว่า ตัวนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน Lotay Tshering ก็ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่รับเงินเดือนที่เพิ่มมากกว่าปีละ 28,000 ดอลลาร์ (840,000 บาท) โดยบริจาตส่วนที่เกินให้กับการกุศล ผลตอบแทนของนายกรัฐมนตรีภูฏานจึงต่ำสุดในบรรดาผู้นำการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง คือมีรายได้น้อยกว่า 2% ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นแพทย์มาก่อน ในช่วงวันหยุด Lotay Tshering จะทำงานเป็นแพทย์บริการประชาชน พฤติกรรมของผู้นำภูฏานทำให้คนภูฏานไม่ระแวงสงสัยถึงเจตนาของคนเหล่านี้ ที่ต้องการทำงานเพื่อประชาชน

ภูฏานยังได้รับการชื่นชมในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วงปี 2000-2019 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.5% ในช่วง 20 ปีของศตวรรษ 21 เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น 4 เท่าตัว รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้น 4.5 เท่า ภูฏานจึงเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตเร็วที่สุด ภูฏานเก็บภาษีนักท่องเที่ยวสูงสุดในโลก คือ 200 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน

บทเรียนต่อโลกเรา

การให้ความสำคัญต่อความสุข ทำให้ภูฏานได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ปี 2011 สมัชชาใหญ่สหประชาชาติผ่านมติ 65/309 อย่างเป็นเอกฉันท์ ให้ “ความสุข” เป็นวาระระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก เดินตามแบบอย่างของภูฏาน ที่ถือว่า “ความสุข” และ “ความเป็นอยู่ที่ดี” คือเป้าหมายพื้นฐานทางสังคม และ GDP เป็นตัวชี้วัดที่ไม่สมบูรณ์ในเรื่องความก้าวหน้าของสังคม

ดังนั้น ในแต่ละปี สหประชาชาติจะจัดพิมพ์รายงาน World Happiness Report แม้ว่าตัวชี้วัดในรายงานจะแตกต่างจากหลักเกณฑ์ของภูฏาน เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ สิ่งที่สร้างความสุขในแต่ละประเทศจึงแตกต่างกัน
แต่การที่ภูฏานให้ความสำคัญที่สุดเรื่องความสุข ก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อนานาประเทศ เป็นแบบอย่างทำให้ประเทศต่างๆ หันมามองวิธีการสร้างความก้าวหน้า และให้ความสำคัญต่อการเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองตัวเอง สหประชาชาติยังกำหนดให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็นวันความสุขโลก เพื่อเน้นหนักความสำคัญของความสุขในฐานะเป้าหมายของนานาประเทศ

บทความของrealclearpolitics.com สรุปว่า การให้ความสำคัญเรื่องความสุขของภูฏาน ให้บทเรียนเรื่องความสำคัญของการพัฒนา การแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมักเกิดขึ้นบนความเสียหายของค่านิยมอื่น ที่ประชาชนให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เช่น ความยั่งยืนและการที่ทุกคนไม่ถูกกีดกัน

แม้จะเป็นเมืองพุทธ แต่ภูฏานก็ดำเนินการในเป้าหมายที่สะท้อนค่านิยมของประเทศตะวันตก เช่น การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคน (dignity) ให้ประชาชนมีส่วนตัดสินใจในเรื่องที่กระทบต่อชีวิตพวกเขา (subsidiarity) และความเป็นระเบียบ นอกเหนือจากเป้าหมายที่เป็น “สาธารณประโยชน์” เช่น สิทธิเสรีภาพ การพัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และการสร้างความสงบสุข

การเดินทางของภูฏานสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสุขมากที่สุดในโลก เกิดจากผู้นำประเทศที่รู้แจ้ง มีรากฐานอยู่ที่หลักการ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” แนวทางการพัฒนาที่ก้าวพ้นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดสังคมที่ให้คุณค่าในเรื่องไม่มีใครถูกกัดกันให้อยู่นอกระบบ ความยั่งยืน และความเป็นอยู่ที่ดีถ้วนหน้า

เอกสารประกอบ
Why Bhutan Is the Happiest Developing Nation on Earth, Tettence Keeley, realclearpolitics.com, April 12, 2023.