ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > อนาคตใหม่ : เมื่อ “ภูฏาน” ส่งออก GNH สู่ภาคธุรกิจ

อนาคตใหม่ : เมื่อ “ภูฏาน” ส่งออก GNH สู่ภาคธุรกิจ

15 ตุลาคม 2017


“เมื่อวันที่ 11 – 15 กันยายน 2560 ที่ผ่านมาศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Centre) ประเทศภูฏาน และเวที Sustainable Brand Bangkok 2017 ประเทศไทย ได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำในหัวข้อ “Exploring Leadership for the Good Life”  ณ ประเทศภูฎาน ถือเป็นครั้งแรกในการทำหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงและองค์กรธุรกิจชั้นนำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ไปใช้ในองค์กรธุรกิจ

เจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก ประธานศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Centre) เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำฯ Leadership Summit ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา
เจ้าหญิงมีพระดำรัสตอนหนึ่งความว่า การเปลี่ยนคนภูฏานให้เข้าสู่สังคมของความสุขมวลรวมประชาชาตินั้น ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสามัคคีและจิตวิญญาณที่มีความเข้าใจเรื่องของความสุข   ที่มา: GNH Centre,SB’17 Bangkok

ในแง่ประวัติศาสตร์แนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness:GNH ) เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของอดีตพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก พระราชาธิบดีลำดับที่ 4 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน กษัตริย์ผู้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาแห่งยุคสมัยใหม่ของภูฏาน  พระราชบิดาของพระราชาธิบดีจิกมี่ เกเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริษย์องค์ปัจจุบัน ที่นับตั้งแต่ 4 ทศวรรษก่อนพระองค์ประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่ในการสร้างความสุขให้กับประชาชนในประเทศมากกว่าการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

สวนกระแสความเชื่อหลักของการพัฒนาทั่วโลกที่เน้นตัวเลข ยึดมั่นเอาความเจริญทางเศรษฐกิจและใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP (Gross National Product) เป็นตัวตั้ง

ในเวลานั้นแม้จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา GNH ได้เปลี่ยนให้ประเทศในหุบเขาเล็กๆที่อยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งอินเดียและจีน ซึ่งมีประชากรราว 700,000 คนแห่งนี้ ให้กลายเป็นที่จดจำของโลกและกลายเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวรักธรรมชาติและวัฒนธรรมจากทั่วโลก

 GNH และการขยายพรมแดนสู่ภาคธุรกิจ

ล่าสุด จากการสำรวจความเห็นชาวภูฏาน ตามดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ GNH Index ที่จัดทำโดยคณะกรรมการความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Commission)  ครอบคลุมดัชนีชี้วัด 9 ด้าน (9 Domain)ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ คุณภาพชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้เวลา วัฒนธรรม การมีสภาพทางจิตใจและความเป็นอยู่ที่ดี การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และธรรมาภิบาล คะแนนในภาพรวมในการพัฒนา “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” นั้นดีขึ้น เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน  แม้ว่ายังมีหลายประเด็นที่มีสัญญาณทีน่าเป็นห่วง อาทิ วัฒนธรรม ความเข้มแข็งของชุมชนและธรรมาภิบาล โดยมีผลจากบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

“เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีที่สุด แต่มันคือวิถีของภูฏานและเราต้องการทำให้คนเข้าใจวิถีที่เป็น” ดร.โธ ฮา วิน ผู้อำนวยการศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Centre) กล่าวถึงเรื่องนี้ตอนหนึ่งระหว่างการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงและภาคธุรกิจจากประเทศไทยใน การประชุมสุดยอดผู้นำในหัวข้อ “ Exploring Leadership for the Good Life” ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศภูฎาน ระหว่างวันที่ 11 – 15 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของภูฏานปัจจุบัน ยังคงเดินบนความชัดเจนในการสร้างสมดุลของการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ “ภูฏาน 2020”  โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และฐานวัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างแบรนด์ ภูฏาน ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก

จากนี้สู่อนาคตของภูฏาน จึงเป็นการรักษาจังหวะในแบบที่เคยเป็น พร้อมไปกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

การส่งออก “ความสุข” กับภูฏาน ในยุคสมัยใหม่

การขยาย “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ไปยังพรมแดนใหม่อย่างภาคธุรกิจ อาจเป็นหนึ่งในการกำหนดจังหวะใหม่ในสากล เมื่อเจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก ประธานศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Centre) มีความริเริ่มที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำฯลฯ ที่จะนำซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจจากประเทศไทย ไปร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ที่เมืองธัมปู และพาโร ในระยะเวลา 5 วัน 4 คืน เพื่อให้ผู้นำทำความเข้าใจแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ และนำไปปรับใช้กับธุรกิจ

โดยการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ซึ่งจัดขึ้นที่ผ่านมาเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง ศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Centre) ประเทศภูฏาน และเวที Sustainable Brand Bangkok ประเทศไทย โดยถือเป็นครั้งแรกของภูฏานในการจัดหลักสูตร GNH สำหรับซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจ โดยก่อนหน้านี้ ศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ เคยทำงานกับหลายสถาบันการศึกษาชั้นนำในโลก อาทิ มหาวิทยาลัยชูมาร์เกอร์ ในสหราชอาณาจักร เอ็มไอที ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการมีหลักสูตรการเรียนรู้ GNH ในระดับเข้มข้น “มาสเตอร์ คลาส”ของ ผู้นำทางความคิด จากทั่วโลกที่ใช้ระยะเวลากว่า 9 เดือนเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับภูฏาน

ดร.จูเลีย คิม ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH Centre) หนึ่งในผู้ออกแบบหลักสูตรในครั้งนี้  กล่าวว่า “แม้ว่าที่ผ่านมาGNH จะทำให้ภูฏานกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มีการนำไปในระดับรัฐบาลและการพัฒนาระดับประเทศ หรือท้องถิ่นสนใจนำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนา แต่สำหรับภาคธุรกิจเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ภูฏานพึ่งหันมาส่งออกความคิดนี้สู่ภาคธุรกิจ เมื่อปีที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันภาคธุรกิจมีความสำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ว่ากันว่าหนึ่งในสามของประเด็นความท้าทายในโลกสมัยใหม่ของภูฏาน คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เนื่องจากอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักของประเทศทั้ง อุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Power) ที่ส่งออกไฟฟ้าไปยังอินเดีย และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก การขยายความคิดนี้ไปยังระดับนานาชาติ รวมถึง “ภาคธุรกิจ” ผู้ที่สร้างผลกระทบให้กับโลกจึงเป็นโจทย์ ในการสร้าง “ความเป็นไปได้” ใหม่ๆในการแก้ปัญหา และน่าจะทำให้ GNH และภูฏานเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในระดับโลก

ถอดรหัสหลักสูตรผู้นำ ในนิยามของ “ความสุข”

   

เวิร์คช็อปสำหรับผู้นำภาคธุรกิจ ถูกออกแบบเพื่อให้ผู้นำธุรกิจที่เข้าร่วมเวิร์คช็อป เกิดการทบทวน 3 ด้าน ได้แก่ 1)การเชื่อมโยงกับตัวเอง (Reconnecting to Self) 2) เชื่อมโยงกับผู้อื่น (Reconnecting to others) และ 3) เชื่อมโยงกับธรรมชาติ (Reconnecting to Narture) โดยผสมผสานการพัฒนาทักษะในการสร้างความสุข ทั้ง “ภายใน”กับ “ภายนอก” เกี่ยวกับเงื่อนไขที่จะสร้างความสุข มีเป้าหมายจะให้เข้านิยาม “ความสุข” ตามปรัชญา GNH  มีเนื้อหาครอบคลุม

  • การสำรวจเกี่ยวกับ GNH การประเมินผล และการประยุกต์ใช้ปรัชญานี้ของรัฐบาลภูฏานในการกำหนดนโยบายและการประยุกต์ใช้ในระดับสากล
  • สัมผัสประสบการณ์ของดินแดนแห่งวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ภายใต้ GNH และสำรวจว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญอย่างไรและจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างไรในโลกของการทำงานและสังคมสมัยใหม่
  • ทบทวนเกี่ยวกับตัวเองและการกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ กับหนึ่งในสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ของภูฏานที่จะช่วยให้ได้ค้นพบความหมายของการเป็นผู้นำที่แท้
  • เรียนรู้เกี่ยวกับบทเรียนจากองค์กรธุรกิจในการที่จะเริ่มต้นบูรณาการ GNH เข้าไปในธุรกิจ ตลอดจนสำรวจศักยภาพและความเป็นได้ขององค์กร

ค้นให้พบ “ตัวเอง” และค้นหา “การเป็นผู้นำที่แท้”

บรรยากาศ Mindfulness practice ทุกเช้าก่อนการประชุมหรือการทำกิจกรรมในแต่ละวัน

ทุกๆเช้าผู้นำที่เข้าร่วมประชุมจะเริ่มต้นวันด้วยการทำสมาธิและภาวนา ที่เรียกว่า Mindfulness practice  ในโปรแกรมตลอด 5 วัน 4 คืน นอกจากการถ่ายทอดประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้ GNH สู่นโยบายและการดำเนินการในการบริหารประเทศและความสำเร็จของการทำงานในระดับรัฐบาล การนำGNH ไปประยุกต์ใช้ในธูรกิจ ในห้องประชุม

ในแต่ละผู้เข้าร่วมประชุมยังมีโอกาสพบกับผู้นำทางศาสนาระดับสูง โดยเดินทางไปพบในวัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีสำคัญทางศาสนาเพื่อฟังบรรยาย เชื่อมโยงและทำความเข้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาในแบบวชิรญาณซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของ GNH

ดร.จูเลียกล่าวว่า “เวลาเราพูดถึงความสุขเราอาจจะเข้าใจว่ามันคือความรู้สึก แต่สำหรับ GNH เราพูดถึงหลายระดับ ระดับแรก กำลังหมายถึงการที่ทำให้คนได้เชื่อมโยงกับตัวเอง และได้เข้าใจความหมายของชีวิต ระดับที่ 2 คือการที่เราต้องเชื่อมโยงกับคนอื่น และระดับสุดท้ายคือการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ การที่เราอยู่ในเมืองการกลับสู่ธรรมชาตินั้นสำคัญมาก นั่นจะทำให้เราเข้าใจความหมายว่า เวลาเราพูดถึงการทำให้สิ่งแวดล้อม เราทำเพื่ออะไร ถ้าเขาเชื่อมโยงไม่ได้จะไม่รู้ความหมายของสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ”

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์

หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่สุด อยู่ที่การเดินขึ้นลงเขาที่อยู่สูง 3,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล  โดยใช้เวลาเดิน 7 ชั่วโมงตั้งแต่เช้าจรดเย็นที่เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า “ทักซัง” หรือไทเกอร์ เนสท์ (Tiger Nest) หนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญที่มีคุณค่าทางจิตใจอย่างมากของชาวภูฏาน

“วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือเบทาโกร กล่าวถึงประสบการณ์ในครั้งนี้ว่า “ สิ่งที่ได้มากที่สุดคือการเชื่อมโยง (connect) กับตัวเอง การได้หยุดตัวเองออกมานั่งเรียนนั่งฟัง อะไรในอีกโลกทัศน์ ช่วยให้เราได้ทบทวนกลับไปถึงตัวเองว่าในทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากตัวเราเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ใช่เราไม่เคยถูกสอน แต่โดยบริบทและความท้าทายที่เข้ามาตลอดเวลาทำให้เราลืม พอได้เสียงสะท้อนทำให้เราได้กลับมาทบทวนอีกครั้งว่า เราจะทบทวนสิ่งเหล่านี้อย่างไร”

“ทุกก้าวที่เดินขึ้นไทเกอร์ เนสท์ เป็นครั้งแรกที่ผมก้าวทุกก้าวอย่างมีสติเพราะเขาสอนเราก่อนที่จะเดินขึ้นให้มีสติ สติทำให้ได้อยู่กับตัวเอง ในเวลาที่เราเดิน เราไม่รู้ว่าอะไรอยู่ข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้น ผมเดินก้าวทีละก้าวและถามตัวเองว่า เราสนใจอะไรมากที่สุดซึ่งได้คำตอบว่า เราสนใจความมั่นคง ปลอดภัย การได้อยู่กับตัวเอง คือการถอยกลับไปมองภาพใหญ่และคือ จุดเริ่มต้นสำคัญ ของการเปลี่ยนแปลง”

 “มองกลับมาที่ตัวเองเวลาเราทำธุรกิจ มันก็เคยมีช่วงเวลาที่เรามององค์กรแบบแข่งขันมาก เพราะในช่วงเวลานั้นองค์กรอยู่ในภาวะของการแข่งขันมาก เราให้การแข่งขันมาชี้นำองค์กร คำถามก็คือจากนี้ไปเราอยากให้น้ำหนักกับการแข่งขันเหมือนเดิมหรือเราอยากให้น้ำหนักกับเรื่องความยั่งยืน อันนี้เป็นโจทย์ที่เราต้องไตร่ตรอง”

“เกศรา มัญชุศรี” ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า “ GNH เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราพยายามจะทำความเข้าใจ และเช่นเดียวกับหลายๆความคิดไม่ว่าจะเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เวลาทำต้องไม่ได้แค่ทำตามเช็คลิสต์เพื่อบอกว่าคุณดี แต่คำถามคือ ทำแล้วอะไรคือคุณค่ากับธุรกิจด้วย เราเชื่อว่าการทำอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับการที่องค์กรจะสร้างเงื่อนไขของความสุขในแบบของ GNH”

“ ความสุข” สำคัญอย่างไรกับ “ธุรกิจ”

ปัจจุบันนอกจาก บีกริม ในประเทศไทย ธุรกิจที่นำแนวคิด GNH ไปประยุกต์ใช้ยังมีไม่มากนัก แต่ในความน้อย มีความมากในผลลัพธ์ อย่างกรณีศึกษาแบรนด์แฟชั่นระดับโลกจากนิวยอร์ค ซึ่งมีมูลค่าราว184 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ชื่อ “ไอรีน ฟิชเชอร์” (Eileen Fisher) โดยไอรีน ในฐานะผู้นำองค์กรสนใจแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” มาตั้งแต่ปี 2556

เธอเคยเดินทางมาที่ภูฏานและเริ่มนำการวัดและประเมินจากดัชนีชี้วัดทั้ง 9 ด้าน เข้าไปใช้เป็นแนวทางและการประเมินผลในธุรกิจ ตัวอย่างที่ไอรีน นำองค์ประกอบของ GNH ไปประยุกต์ใช้ อาทิ ด้านชุมชนภายในบริษัท มีกรอบแนวทางอย่างวิธีคิดในเรื่องวัฒนธรรมและคุณค่าขององค์กร การมองประเด็นเรื่องความร่วมมือกันในการลดความขัดแย้ง ความโปร่งใสในการตัดสินใจในงาน หรือในเรื่องการใช้เวลา ที่ทำให้องค์กรต้องตั้งคำถามถึงคุณภาพการใช้เวลาในการประชุม การใช้เวลาร่วมกันในกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนในองค์กร ฯลฯ เป็นการเปิดมุมมองของการบริหารจัดการองค์กรที่เพิ่มขนาดของมุมมองทั้งที่กว้างและลึก

โดยวิธี ในระดับปฏิบัติ ไอรีน ใช้การเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล โดยมองว่าการจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์กรที่คนมีความสุขได้ ต้องทำงานกับทั้งด้านในและด้านนอกของคนในองค์กร จึงลงทุนในการจัดโปรแกรมการที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านใน เช่น สมาธิ โยคะ ฯลฯ ที่จะช่วยให้คนค้นพบตัวเองและความต้องการของตัวเอง ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการสร้างความสุขซึ่งในทรรศนะของเธอแล้วถือว่ามีผลลัพธ์ที่ดี

“วิสัยทัศน์” สร้าง “ความคิดใหม่”

ไอรีน ให้เหตุผลในการนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในองค์กรไว้ว่า “เราเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางการเงิน แต่ก็มีความเครียด เราไม่แน่ใจว่าพนักงานจะมีความสุขหรือเปล่า ฉันคิดว่ามันควรมีอะไรที่จะสามารถวัดและประเมินผลองค์กรได้มากกว่าผลลัพธ์ทางการเงิน”

ปัจจุบันนอกจากบริษัทจะกำหนด VISION 2020 ที่จะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน 100% ในเรื่องต่างๆ อย่าง น้ำ สารเคมี วัตถุดิบ การปล่อยคาร์บอน ฯลฯ เป็นต้น และนั่นทำให้เกิดโครงการสำคัญหลายโครงการเช่น “กรีน ไอรีน” ที่นำเสื้อผ้าตกรุ่นหรือได้รับบริจาคมาออกแบบและทำเป็นเสื้อผ้ารุ่นใหม่ จนวันนี้ไอรีน ฟิชเชอร์ ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแฟชั่นยั่งยืนระดับโลก ที่พึ่งได้รับการรับรองจาก B-Corp ไปเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

ทั้งหมดเป็นผลจากการตัดสินใจบนวิสัยทัศน์ของ ไอรีน ฟิชเชอร์ ที่ว่า “เราต้องการเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่เป็นบริษัทที่ใหญ่”

ดร.จูเลีย เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานกับภาคธุรกิจที่นำGNH ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรว่า “การจะนำ GNH ไปใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จ สำหรับผู้บริหารวิสัยทัศน์เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยทั่วไปเราจะพบว่าผู้บริหารส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่เครียด กดดัน และในการทำธุรกิจจะโฟกัสมากๆถึงเป้าหมายทางการเงิน ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำในเวิร์คช็อปนี้ ก็คือ เราอยากให้เขารู้ว่าเป้าหมายทางการเงินมีความสำคัญแต่มันก็ไม่ได้เป็นอย่างเดียวที่จะขับเคลื่อนคนในองค์กรในฐานะผู้นำองค์กรเราต้องการยกระดับผู้นำไปสู่อีกจุดหนึ่งในการทำอะไรให้กับโลก”

 “ความสุข” ภาษาสากล และอนาคตขององค์กรที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” เธอเชื่อว่า “คนที่จะสนใจเรื่องความสุขไม่ใช่จะเกิดขึ้นกับทุกคน การที่มีองค์กรที่สามารถนำแนวคิดไปใช้และมีผลลัพธ์ที่ดีเพราะมีพื้นฐานและใจที่ดี”  กระนั้นดัชนี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ จะเป็นแนวทางที่เปิดมุมมององค์กรให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล

และนี่คือก้าวเพื่อที่จะก้าวต่อในการขยายความคิด GNH สู่ภาคธุรกิจทั่วโลก

ก่อนที่บทเรียนจากการประชุมสุดยอดผู้นำฯในครั้งที่ผ่านมา จะได้รับการถ่ายทอดอีกครั้งบนเวที Sustainable Brand Bangkok 2017 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2560 ที่จะถึง  “ดร.ศิริกุล เลากัยกุล” ผู้อำนวยการการจัดประชุม Sustainable Brand Bangkok 2017 กล่าวว่า ความสุขเป็นภาษาสากล (universal language) และในเวลาเดียวกันก็มีคุณค่า ที่เป็นสากล(universal value ) ด้วยเช่นกัน เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่า ความหมายที่แท้จริงของความสุข ไม่ใช่ความสุขส่วนตัวแต่เป็นความสุขที่เกิดจากการที่เราทำให้คนอื่นมีความสุข และสำหรับองค์กรที่จะประยุกต์ใช้ต้องรู้จกวิธี “สร้างเงื่อนไขของความสุข” เป็นเงื่อนไขที่ต้องเกิดจากการเข้าใจและฟังคนในองค์กรอย่างแท้จริง ว่าอะไรที่จะทำให้เขามีความสุข

“เรายังเชื่อว่าความสุขจะเป็นปลายทาง และจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้องค์กรมีความชัดเจนขึ้นว่าเวลาพูดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเรากำลังพูดถึงอะไรมันก็ยากที่จะสร้างการมีส่วนร่วมจากคนอื่นในองค์กร เหมือนกับเราบอกให้คนปลูกต้นไม้ โดยไม่บอกถึงผลกระทบเชิงบวกของมัน อย่างเช่น เวลาออกดอกมันสวยนะ”

GNH จึงเป็นจุดหมายปลายทางของความยั่งยืน ที่ยังสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ และให้ความสำคัญกับทางสายกลาง เพื่อทำให้เกิดความสมดุลและตอบสนองความต้องการของความเป็นมนุษย์ภายใต้ข้อจำกัดของผลผลิตจากธรรมชาติบนพื้นฐานที่ยั่งยืน

และเป็น “ปัญญา” และ “ความยั่งยืนแบบตะวันออก” ที่อาจจะเป็นทางเลือกเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์กรอย่างมีคุณค่า

**ติดตามประสบการณ์การประชุมสุดยอดผู้นำ ณ ประเทศภูฏานของผู้บริหารระดับสูงและนักธุรกิจชั้นนำของไทยกับการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้กับธุรกิจ ควบคู่ไปกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรเพิ่มเติม ได้ในงาน SB’17 Bangkok วันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2560 โดยดูรายละเอียดการเข้าร่วมงานได้ที่ www.sustainablebrandsbkk.com