ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาคธุรกิจจับมือขับเคลื่อน SDGs ร่วมมือกันผลักดันสู่เป้าหมาย “Zero Carbon, Zero Poverty”

ภาคธุรกิจจับมือขับเคลื่อน SDGs ร่วมมือกันผลักดันสู่เป้าหมาย “Zero Carbon, Zero Poverty”

5 กรกฎาคม 2016


เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ที่โรงแรมดุสิตธานี กทม. มีการจัดงานประชุมระดมความคิดเห็น “ร่วมมือกันผลักดันสู่เป้าหมาย” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและยุติความยากจน (“Mobilizing Collective Action” to achieve the SDGs of a “Zero Carbon, Zero Poverty” World)

โดยงานประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เพื่อผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable  Development Goals: SDGs) ในภาคเอกชน ตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำหนดไว้ 17 ข้อ ด้วยเชื่อว่าภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ แต่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นเวทีแรกๆ ในลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยข้อคิดเห็นและข้อเสนอที่เกิดขึ้นในเวทีนี้บริษัทยูนิลีเวอร์ฯ จะรวบรวมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีไทยเป็นประธาน และตีพิมพ์ในรายงานของคณะกรรมการระดับโลกว่าด้วยธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Global Commission on Business and Sustainable Development) ที่มีนายพอล โพลแมน ประธานบริษัทยูนิลีเวอร์ฯ และบารอน มาร์ค-มัลล็อค บราวน์ อดีตรองเลขาธิการยูเอ็น เป็นประธานร่วม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม World Economic Forum ในปี 2560 ต่อไป

“สมคิด” ชี้การพัฒนายั่งยืนต้องขับเคลื่อนด้วย “ประชารัฐ”

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานมีรายละเอียดว่า งานวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมมือกันทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและต่อสังคม ในชีวิตการทำงานของตนตั้งแต่เป็นอาจารย์กระทั่งเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง ตนมีนิสัยอย่างหนึ่งคือการคิดคำศัพท์ใหม่ๆ เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมความคิดที่ทุกนเข้าใจกันและจะได้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ทุกคำศัพท์ที่เคยคิดมา ไม่มีคำศัพท์ไหนที่ส่งผลสะเทือนเท่าคำว่า “ประชารัฐ” อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาแม้หลายฝ่ายจะพยายามเขยื้อนภูเขา แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะต่างฝ่ายต่างทำ แต่ถึงวันนี้ทุกฝ่ายต้องมาร่วมมือกัน ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน

นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีที่บริษัทใหญ่อย่างเครือยูนิลีเวอร์หันมาผลักดันเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยูเอ็นยึดเป็นเป้าหมายใหญ่ เพราะได้บทเรียนแล้วว่าการพัฒนาที่ผ่านมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะความยากจน ความไม่เท่าเทียม รวมถึงสิ่งที่ไม่เคยจะเกิดขึ้น อย่างเช่นภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีการนำทรัพยากรที่มีออกมาใช้อย่างเต็มที่ ทำให้หลายคนเริ่มเกิดความหวาดหวั่น เพราะถ้าสังคมไหนที่มีคนรวยนิดเดียว แต่มีคนจนมหาศาล ก็ง่ายมากที่จะเกิดกลียุคขึ้น

“ยูเอ็นจึงหันมาเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 ด้าน คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ชูเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว และเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็น” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมารัฐบาลก็เน้นทำใน 3 มิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจที่ตนรับผิดชอบอยู่ ทั้งเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เน้นการเติบโตจากภายใน ลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยังไปเน้นการพัฒนาเชิงสังคม ทั้งการรักษาทรัพยากรและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนตัวก็อยากทำงานด้านสังคม เช่น เรื่องที่พักอาศัย ที่มีนโยบายเรื่องบ้านพักคนจน หรือยืดเวลาการเกษียณอายุของคนแก่

“การจะบรรลุ 3 มิตินี้ สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่หันไปมองรัฐบาล เอกชน หรือภาคประชาชนอย่างเดียว ต้องมา 3 ฝ่าย เป็น civil society หรือประชาสังคมของทุกประเทศ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยเน้นสิ่งเหล่านี้ ถ้า civil society แข็งแรง ก็คือประชารัฐนั่นแหล่ะ ทำเลยไม่ต้องรอรัฐบาล คุณจะให้รัฐบาลทำทุกอย่าง มันเป็นไปไม่ได้เลย” นายสมคิดกล่าว

ระบุ SDGs 17 ข้อ เป็นเป้าหมายใหม่การพัฒนาของโลก

จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “จาก SDGs ถึง COP21 ทิศทางและความท้าทายของธุรกิจไทย” โดย น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของ SDGs  ว่า เป็นทิศทางการพัฒนาใหม่ที่ยูเอ็นกำหนดขึ้น หลังจากดัชนีชุดเดิมคือ Millennium Development Goals ครบกำหนดในปี 2558 ที่ใช้มา 15 ปี ในแง่หนึ่งถือเป็นการต่อยอด MDGs ที่เน้นการแก้ปัญหาซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับประเทศที่มีรายได้น้อย เช่น ปัญหาความยากจน อัตราการรู้หนังสือ ฯลฯ ซึ่งประเทศรายได้ปานกลางอย่างไทยอาจไม่รู้สึกว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่พอเป็น SDGs จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าพูดถึงปัญหาของทุกๆ คน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป้าหมายนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา “ตัวชี้วัด” เนื่องจากเป้าหมายทั้ง 17 ข้อมีความหลากหลายมาก แต่ก็มีตัวชี้วัดหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกันและน่าสนใจ คือตัวชี้วัดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่ใช้เกณฑ์การประเมินจากดีไปถึงแย่ ด้วยสีจากสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งถ้าดูตัวชี้วัดนี้จะพบว่า หลายๆ หัวข้อ ไทยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น เรื่องพลังงานที่ไทยได้คะแนน 18% เหนือเกณฑ์สีแดง 15% เพียงเล็กน้อย ขณะที่ถ้าจะได้สีเขียวต้องได้ถึง 30%, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไทยได้สีแดงเพราะมีวิจัยต่อจีดีพีต่ำมาก, เรื่องความเป็นอยู่ที่ดีในเมือง ที่ไทยมีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองมาก เพราะมีมากถึง 22 ไมครอน มากกว่าเกณฑ์สีแดงที่ 20 ไมครอน ฯลฯ เป็นต้น

“การมีตัวชี้วัดจะทำให้ SDGs เป็นรูปธรรมมากขึ้น จากที่คุยกันมากว่า 20 ปียังพูดถึงแต่แนวคิดหรือปรัชญาเท่านั้น” น.ส.สฤณีกล่าว

น.ส.สฤณีกล่าวว่า ธุรกิจไทยมีความท้าทายมากๆ หากจะพัฒนาให้ได้อย่างยั่งยืน เพราะ CSR ที่หลายบริษัททำอยู่ก็อาจจะไม่ยั่งยืน ที่สำคัญ แต่ละธุรกิจก็มีความท้าทายที่แตกต่างกัน ส่วนตัวมองว่าจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่แต่ละธุรกิจจะต้องทำมี 2 ข้อ 1. ถามว่าธุรกิจของเราสร้างผลกระทบอะไรบ้าง และ 2. ฟังเสียงจากผู้เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ซึ่งหากทำเช่นนั้นได้ก็จะเริ่มมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เช่น การลดต้นทุน การจัดการความเสี่ยง การสร้างตลาดใหม่

“ส่วนการที่ภาคธุรกิจเข้ามามุ่งเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจะทำให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ส่วนตัวมองว่ามี 3 ประเด็นที่จะตอบคำถามนี้ได้ 1. ความจริงใจของภาคธุรกิจ 2. วิธีการที่ใช้จะต้องไม่ไปสร้างปัญหาใหม่ และ 3. ต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน” น.ส.สฤณีกล่าว

“ยูนิลีเวอร์” ชูโมเดลใช้ได้ผล ทั้งช่วยลดต้นทุน-เพิ่มโอกาสธุรกิจ

(จากซ้ายไปขวา)นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
(จากซ้ายไปขวา)นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ด้านนางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงผลสำเร็จการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทยูนิลิเวอร์ฯ ทั่วโลกว่า เครือยูนิลีเวอร์มีนโยบายในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมา 6 ปีแล้ว ผ่านทางบริษัทในเครือที่ประจำการของในประเทศต่างๆ รวม 190 ประเทศ และสินค้ากว่า 400 ชนิด ซึ่งเครือยูนิลีเวอร์ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของ SDGs และผลสรุปจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties) สมัยที่ 21 หรือ COP21 โดยเครือยูนิลีเวอร์ได้รับรางวัลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในหลายเวที

“สิ่งที่อยากฝากก็คือ ภาคธุรกิจต้องมองว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนไม่ได้เป็นการเพิ่มต้นทุน กลับกัน เป็นการลดต้นทุนและลดความเสี่ยง แถมยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมาก สำคัญที่สุดคือทำให้พนักงานรู้สึกรักองค์กรมากขึ้น” นางสุพัตรากล่าว

นางสุพัตรายกตัวอย่างการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของเครือยูนิลิเวอร์ เช่น การตั้งเป้าลดขยะแบบฝังกลบ ซึ่งทำได้สำเร็จในปี 2558 ผลคือสามารถลดขยะฝังกลบได้ 2.3 หมื่นตันต่อปี นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ หรือการออกผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ในเครือก็สามารถแก้ปัญหาเชิงสาธารณสุขได้ เช่น มีงานวิจัยระบุว่าเด็กไทยกว่า 60% ไม่กินอาหารเช้า แต่คนอร์คัพโจ๊กของบริษัทช่วยให้เด็กกินอาหารเช้า แถมการเปลี่ยนจากการใช้เกลือปกติไปเป็นเกลือไอโอดีน ก็ทำให้แก้ปัญหาการที่เด็กไทยได้รับไอโอดีนต่ำกว่ามาตรฐานโลกได้ นอกจากนี้ เครือยูนิลีเวอร์ยังแก้ปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่เห็นว่ามีพื้นที่ว่างมากเกินไป ทุกฝ่ายก็มีความสุข ไม่ว่าจะผู้บริโภคหรือร้านค้า ในขณะที่บริษัทก็ลดต้นทุนได้สูงสุดถึง 30%

นางสุพัตรากล่าวว่า แนวคิดในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของเราที่ผ่านมาจะมีอยู่ 3 ด้าน คือ 1. ให้ชีวิตที่ดี ทั้งเรื่องสุขภาพ โภชนาการต่างๆ 2. ให้สิ่งแวดล้อมที่ดี ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออนไซด์ และ 3. ให้ความเป็นอยู่ที่ดี คือส่งเสริมอาชีพของคนระดับล่าง สำหรับความท้าทายในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เราทำการศึกษาทั่วโลกแล้วพบว่า ผลกระทบของการทำธุรกิจในเครือยูนิลีเวอร์ต่อโลก 68% มาจากผู้บริโภค ที่มาจากการผลิตมีเพียง 2% เราจึงต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคตระหนักรู้และร่วมกันช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้คู่ค้าเดินไปบนเส้นทางเดียวกัน เพราะทุกอย่างเป็นระบบนิเวศของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

“วันนี้ผู้บริหารและพนักงานของเครือยูนิลีเวอร์มีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าเริ่มต้นจากผู้นำ จากผู้บริหาร ไปจนถึงพนักงานของบริษัท ผ่านสิ่งที่ทำอยู่ทุกๆ วัน สุดท้ายก็จะเกิดผลไปถึงผู้บริโภค”

CP ระบุต้องใช้ “นวัตกรรม” นำ – นักธุรกิจกระตุ้น  “ผู้บริหาร” ต้องเล่นด้วย

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ซีพีมีหลักการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยใช้วิธีคิดแบบสามเหลี่ยม คือ 1. ประเทศที่เราไปลงทุนจะต้องได้รับประโยชน์ 2. ประชาชนในประเทศที่เราไปลงทุนจะต้องได้รับประโยชน์ และ 3. บริษัทของเราจะต้องหาจุดคุ้นทุนได้ นี่คือแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เราทำมาหลายสิบปี และได้ขยายขอบเขตไปยังการลงทุนของบริษัทใน 20 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และการประมง ภายใต้แนวคิด คือ living right, living well และ living together

“องค์กรส่วนใหญ่ที่จะขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมักจะมองเรื่องของต้นทุนทั้งสิ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราสามารถขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้ เช่น ฟาร์มเลี้ยงหมู เราก็มองเรื่องการเก็บไบโอแก๊สไว้สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงต่อได้” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวว่า ความท้าทายในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของซีพีมี 2 อย่าง 1. เราเป็นผู้นำตลาดทำให้ความคาดหวังของสังคมมีสูง และ 2. ซีพีจะมีการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อช่วยพัฒนาประเทศอย่างไร เพราะเรามองว่าไม่ใช่แค่ธุรกิจของเราที่จะยั่งยืน แต่ส่วนรวมจะต้องยั่งยืนด้วย โดยนวัตกรรมจะต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และการที่จะสร้างนวัตกรมให้เกิดขึ้นกับซีพี ซึ่งเป็นองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 3.5 แสนคน จะต้องสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม

“อีกปัจจัยที่สำคัญคือ แต่ละองค์กรจะต้องสร้างความตระหนักรู้ตั้งแต่ระดับผู้นำองค์กรลงมายังพนักงาน นอกจากนี้ หลายๆ องค์กรยังต้องตระหนักรู้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เป็นพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่” นายศุภชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเสวนาเสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นในหัวข้อ “สู่เป้าหมายความยั่งยืน Zero Carbon, Zero Poverty” ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการระดมความคิดจากตัวแทนภาคธุรกิจ และกลุ่มที่ 2 เป็นการระดมความคิดจากตัวแทนภาคประชาชน

นายไชยยศ บุญญากิจ นักวิชาการอิสระ กล่าวสรุปสิ่งที่ได้จากการระดมความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจากตัวแทนภาคธุรกิจว่า เรื่องภาคธุรกิจทำอะไรเพื่อความยั่งยืน เท่าที่ฟังความคิดเห็น ยังเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง CSR กับ Social Enterprise อาทิ การรีไซเคิล ลดการใช้คาร์บอน ฯลฯ ถามว่าถ้าจะผลักดันต่อไป ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดภายในองค์กร เพราะแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือการสื่อสารจากผู้บริหาร ถ้าลงมาเล่นด้วย และมีข้อความที่ชัดเจน ก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จ

“สำหรับข้อเสนอในการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีด้วยกันหลายข้อ เช่น ใช้นโยบายด้านการเงินมาช่วยผลักดัน green economy, กำหนดประเด็นที่ชัดเจนในการเดินหน้า เช่น การค้ามนุษย์, ต้องทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน ฯลฯ เป็นต้น” นายไชยยศกล่าว

ด้าน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) กล่าวสรุปสิ่งที่ได้จากการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้บริโภค ว่า หลายคนเริ่มเห็นการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน และเริ่มเห็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยมองว่าในอนาคตบทบาทของผู้บริโภคจะยังมีความสำคัญ โดยจะใช้เครือข่ายผู้บริโภคในการตรวจสอบและสร้างการเรียนรู้ ทั้งนี้ ยังมีข้อเรียกร้องต่อผู้ประกอบการว่า ควรจะช่วยสร้างการเรียนรู้ผ่านการโฆษณาสินค้าต่างๆ

“สำหรับระดับแนวคิด จะต้องมองกว้างกว่า supply chain เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด โดยภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วย ผ่านทางวิธีการที่เรียกว่า green procurement นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่อง action collaboration เพื่อให้การปฏิบัติเกิดผลได้อย่างแท้จริง” ดร.บัณฑูรกล่าว