ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียวางแผนสร้างท่าเรือมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ไล่ตามคู่แข่งในภูมิภาค

ASEAN Roundup มาเลเซียวางแผนสร้างท่าเรือมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ไล่ตามคู่แข่งในภูมิภาค

16 เมษายน 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 8-15 เมษายน 2566

  • มาเลเซียวางแผนสร้างท่าเรือมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ไล่ตามคู่แข่งในภูมิภาค
  • สิงคโปร์ครองผู้นำประเทศที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจติดต่อกันปีที่ 15
  • สิงคโปร์เน้นรับแรงงานต่างชาติด้าน AI-อาหารทางเลือก
  • เวียดนามยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปีผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ในโฮจิมินห์
  • อินโดนีเซียเริ่มเดินรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกเดือนสิงหาคม
  • อินโดนีเซียเตรียมเก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ
  • เมียนมาเตรียมใช้รูปี-จั๊ตชำระเงินโดยตรงในการค้าทวิภาคี
  • มาเลเซียวางแผนสร้างท่าเรือมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ไล่ตามคู่แข่งในภูมิภาค

    ที่มาภาพ: https://www.pka.gov.my/en/
    รัฐบาลมาเลเซียยืนยันว่ากำลังเดินหน้าตามแผนการสร้างท่าเรือมูลค่า 2.8 หมื่นล้านริงกิต (8.5 พันล้านดอลลาร์) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการสำหรับทั้งตู้คอนเทนเนอร์และสินค้าทั่วไปที่ศูนย์กลางการขนส่งหลักของพอร์ตกลัง(Port Klang)

    ท่าเรือใหม่ที่วางแผนไว้สำหรับเกาะแครีมีเป้าหมายรองรับการเติบโตการค้าระหว่างประเทศในอนาคต โดยมองไปที่ ท่าเรือคู่แข่งในภูมิภาคที่อยู่ระหว่างการขยายตัว ซึ่งรวมถึงท่าเรือในสิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแอนโทนี ลก ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในเดือนมีนาคม หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมเข้าเยี่ยมชมโครงการนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ โครงการนี้ถูกระงับในปี 2560 เนื่องจากความต้องการขนส่งสินค้าที่อ่อนตัวลงในพอร์ตกลัง

    “เพื่อสนับสนุนการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลสนับสนุนข้อเสนอในการพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่แห่งใหม่ในเกาะแครีโดยภาคเอกชน โครงการนี้คาดว่าจะหนุนพอร์ตกลังให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” นายอันวาร์ กล่าวในเดือนกุมภาพันธ์

    กัปตัน เค ซูบราเมเนียน ผู้จัดการทั่วไปของการท่าเรือกลัง(Port Klang Authority) กล่าวกับ The Straits Times ว่า การเพิ่มขีดความสามารถมีความจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในมาเลเซีย รวมถึงการขยายตัวของศูนย์กลางอุตสาหกรรมในเซลังงอร์ และรัฐใกล้เคียง

    พอร์ตกลังตั้งอยู่ริมช่องแคบมะละกา เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญในเซลังงอร์ รัฐที่รวยที่สุดของมาเลเซีย

    กัปตันซูบราเมเนียนกล่าวว่า ท่าเรือของเกาะแครีจะรองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนส่ง 36 ล้านตู้ ซึ่งเป็นตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต (TEU) ต่อปี ในปี 2565 พอร์ตกลังรองรับตู้สินค้าได้ประมาณ 13.2 ล้าน TEU

    ขีดความสามารถต่อปีของท่าเรือแห่งใหม่สำหรับการขนส่งสินค้าทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านตัน เมื่อเทียบกับ 27 ล้านตันในพอร์ตกลังในปัจจุบัน

    ในขณะที่ ท่าเรือสิงคโปร์ที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของช่องแคบมะละกาสามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 37.3 ล้าน TEUs ต่อปี และท่าเรือตันหยง เปเลปัส(Tanjung Pelepas) ของรัฐยะโฮร์รองรับได้ 10.5 ล้าน TEUs ต่อปี จากข้อมูลของ RHB Research

    นักวิเคราะห์ที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ ชี้ว่า ต้องมีการขยายพอร์ตกลังอย่างรวดเร็ว เพราะสิงคโปร์เพิ่มขีดความสามารถ TEU เป็นสองเท่าที่ท่าเรือขนาดใหญ่ทูอาส(Tuas) เป็น 65 ล้านต่อปี

    ท่าเรือส่วนใหญ่ของประเทศต่างจากสนามบินหลักในมาเลเซียตรงที่ดำเนินการโดยเอกชน ปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางทะเลสองแห่งในพอร์ตกลัง คือ เวสต์พอร์ตและนอร์ทพอร์ต ซึ่งนอร์ทพอร์ตยังคุมพอร์ต Southpoint ในพื้นที่ด้วย

    นอร์ทพอร์ตบริหารโดย Syed Mokhtar Albukhary ซึ่งเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับที่ 10 ของมาเลเซียในรายชื่อมหาเศรษฐีปี 2023 ของนิตยสาร Forbes ในขณะที่เวสต์พอร์ตดำเนินการโดย จี. G. Gnanalingam มหาเศรษฐีอันดับที่ 12 ของประเทศ

    เวสต์พอร์ตเองกำลังขยายขีดความสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์อีก 50% เป็น 28 ล้าน TEUs ต่อปีภายในปี 2583 โครงการขยายคาดว่าจะเริ่มภายในสิ้นปีนี้

    Loh Yan Jin นักวิเคราะห์จาก Maybank IB Research ประมาณการว่า ด้วยขีดความสามารถในปัจจุบันเวสต์พอร์ตจะเจอปัญหาคอขวดภายใน 3 ปี หากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี

    “ประเด็นก็คือเมื่อการขยายตัวของเวสต์พอร์ตเต็มขีดความสามารถแล้ว เราก็ต้องการขีดความสามารถของท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มเติมจากเกาะแครีซึ่งคาดว่าจะค่อยๆ เข้ามารองรับในตอนนั้น”

    แม้จะมีแผนที่ตั้งเป้าที่ประกาศโดยนายอันวาร์ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าใครจะมีส่วนร่วมในท่าเรือเกาะแครี รัฐบาลยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

    “การตัดสินใจเกี่ยวกับหุ้นส่วนการพัฒนาและการดำเนินงานจะมาจาก รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม แต่พันธมิตรที่มีศักยภาพนั้น น่าจะเป็นบริษัทที่ดำเนินการท่าเรือระหว่างประเทศและในมาเลเซีย นอกจากสายการเดินเรือที่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์แล้ว” กัปตันซูบราเมเนียนกล่าว

    แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมกล่าวว่า การก่อสร้างไม่น่าจะเริ่มได้ในอีกสองปีข้างหน้า เนื่องจากขั้นตอนในการสร้างท่าเรืออาจซับซ้อน

    “ต้องมีการศึกษาหลายด้าน ต้องมีการซื้อที่ดิน ต้องมีการวางแผน การเริ่มก่อสร้างในสองปีนั้นเป็นไปไม่ได้เลยจริงๆ วิศวกรที่ปรึกษาจะบอกอย่างนั้น” แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

    Alexander Chia นักวิเคราะห์จาก RHB Research กล่าวว่าปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่ “เรารู้สึกตื่นเต้นกับการพัฒนานี้ เนื่องจากมาเลเซียสามารถดึงดูดกระแสการค้าได้มากขึ้นและก้าวขึ้นสู่อันดับท่าเรือชั้นนำของโลก เราคิดว่าการสร้างท่าเรือเพิ่มจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน”

    สิงคโปร์ครองผู้นำประเทศที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจติดต่อกันปีที่ 15

    ที่มาภาพ:https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/marina-bay-area/
    สิงคโปร์ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจชั้นนำของโลกเป็นปีที่ 15 ติดต่อกัน และน่าจะยังคงเป็นประเทศที่ดีที่สุดในการดำเนินงานต่อไปอีก 5 ปี จากการจัดอันดับประจำปีโดย Economist Intelligence Unit (EIU)

    แคนาดาและเดนมาร์กอยู่ในอันดับที่สองเท่ากัน ขณะที่มี 4 ประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ที่ติดอยู่ในอันดับท็อป 10 ส่วนประเทศระดับภูมิภาคคือออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก

    EIU ให้คะแนนในด้านต่างๆ เพื่อประเมินว่า แต่ละประเทศมีการจัดการอย่างไรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจะเป็นอย่างไรใน 5 ปีต่อมาซึ่งพบว่าสิงคโปร์มีคะแนนเต็มในด้านนโยบายต่อการลงทุนจากต่างประเทศและการควบคุมการค้าและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

    นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่ได้รับคะแนนสูงสุดในด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสัญญาณของนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและระบบนิเวศของสตาร์ตอัพ อีกทั้งรัฐบาลยังเป็นผู้บุกเบิกในการนำโซลูชันเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในบริการสาธารณะต่างๆ อีกด้วย EIU ระบุ

    ส่วนคะแนนภาษีของสิงคโปร์ยังทรงตัวแต่ EIU ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงภาษีทางอ้อมที่สูงขึ้น และการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากผู้ที่มีรายได้สูงและผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในขณะที่การเก็บภาษีคาร์บอนที่เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมากในทศวรรษนี้จะส่งผลกระทบเช่นกัน

    ตลาดแรงงานยังคงเป็นหนึ่งในจุดอ่อนที่แท้จริงของสิงคโปร์ EIU ระบุ และกล่าววว่า คาดว่าคะแนนของประเทศจะลดลงเล็กน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า

    แม้ว่าการยกระดับฝีมือแรงงานจะเป็นประเด็นที่เน้นในด้านคนงาน แต่การจำกัดแรงงานต่างชาติที่เข้มงวดขึ้น จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนพนักงานแย่ลงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อหลายภาคส่วนสำคัญๆ

    การจัดอันดับของ EIU วัดคุณภาพหรือความน่าดึงดูดใจของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใน 82 ประเทศและเขตปกครอง และไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังคาดการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย

    แบบประเมินครอบคลุม 11 หมวด เช่น สภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจมหภาค และโอกาสทางการตลาด แต่ละหมวดประกอบด้วยตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งที่ประเมินโดย EIU ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและ 5 ปีข้างหน้า

    ประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ได้แก่ เวียดนาม ไทย เบลเยียม สวีเดน อินเดีย และคอสตาริกา เวียดนามเป็นผู้ที่ไต่อันดับดีที่สุดในโลกโดยรวม โดยไต่อันดับขึ้น 12 อันดับ ในขณะที่ประเทศไทยดีขึ้น 10 อันดับ และอินเดียดีขึ้น 6 อันดับ

    จากการประเมินพบว่าเวียดนามและไทยมีนโยบายที่เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ ทั้งสองประเทศดูเหมือนจะได้รับประโยชน์จากบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากการดำเนินนโยบาย China Plus One ที่มุ่งกระจายห่วงโซ่อุปทานทั้งในประเทศจีนและตลาดอื่นในเอเชีย

    ส่วนประเทศที่อันดับลดลงมากที่สุด คือ จีน บาห์เรน ชิลี และสโลวาเกีย จีนเป็นประเทศที่อันดับตกลงมากที่สุดของโลก โดยร่วงลง 11 อันดับจากปีก่อนหน้า

    แม้ว่าการสิ้นสุดของนโยบายปลอดโควิดจะเป็นข่าวดีสำหรับบริษัทที่ดำเนินกิจการในจีน แต่การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและจำกัดโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ EIU กล่าว

    ในระดับภูมิภาค เอเชียมีคะแนนด้านนโยบายต่อการค้าต่างประเทศดีขึ้น สะท้อนถึงผลของข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค (FTA) ที่นำมาใช้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นในช่วงเวลาคาดการณ์ 5 ปีของ EIU (2023-27)

    “การจัดอันดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั่วโลกยังคงเจออุปสรรคจากสงครามในยูเครน ตามมาด้วยอัตราเงินเฟ้อและวิกฤติค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการผสมผสานกันระหว่างการผ่อนปรนทางการคลังและการคุมเข้มทางการเงินท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

    การจัดอันดับของ EIU ในไตรมาสที่สองของปี 2023 แสดงให้เห็นว่าอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกยังคงเป็นภูมิภาคที่ดีที่สุดในโลกในการทำธุรกิจ เอเชียอยู่ในอันดับที่สาม นำหน้ายุโรปตะวันออก ในขณะที่ละตินอเมริกาดีกว่าตะวันออกกลางและแอฟริกาเล็กน้อย

    สิงคโปร์เน้นรับแรงงานต่างชาติด้าน AI-อาหารทางเลือก

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/budget-2022-increased-salary-thresholds-for-new-ep-s-pass-applicants-not-a-shock-to-companies-but-hiring-challenges-remain
    รัฐบาลสิงคโปร์ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ ในขณะที่บริษัทต่างๆ เตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนโครงการวีซ่าครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน ตามรายงานของ Nikkei Asia

    โดยรัฐบาลได้เปิดรายชื่องาน 27 ตำแหน่งที่จะได้รับการสนับสนุนในกระบวนการประเมินการอนุญาตทำงานด้วยระบบให้คะแนน งานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าถึงสิ่งที่สิงคโปร์คาดหวังจากบริษัทระดับโลก เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตหลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก

    โครงการใหม่นี้มุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของนายจ้างต่อเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ ปรับกลยุทธ์การจ้างงานให้สอดคล้องกับการจัดลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

    แรงงานต่างชาติในสิงคโปร์มีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด โครงการวีซ่าใหม่จะใช้กับ Employment Pass (EP) ซึ่งเป็นวีซ่าทำงานสำหรับผู้บริหารมืออาชีพชาวต่างชาติ ผู้บริหาร หรือผู้ที่ทำงานเฉพาะทาง

  • สิงคโปร์เตรียมออกวีซ่าทำงานใหม่ ดึงคนเก่งระดับโลกทุกภาคเศรษฐกิจปี 2023

  • ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน สิงคโปร์จะะใช้ระบบคะแนนออกใบอนุญาตทำงานหรือที่เรียกว่า COMPASS ซึ่ง ย่อมาจาก Complementarity Assessment Framework ซึ่งจะประเมินขอบเขตที่ผู้ที่ยื่นขอ Employment Pass (EP) สามารถเติมเต็มด้านกำลังแรงงานในประเทศได้

    ผู้ที่ยื่นขอ EP ทุกคนจะต้องผ่านระบบการให้คะแนนสามระดับ -0, 10 หรือ 20 คะแนนตามเกณฑ์สี่ข้อ คือ เงินเดือน คุณสมบัติ ความหลากหลายของบริษัทที่ว่าจ้าง และอัตราส่วนพนักงานในท้องถิ่น สำหรับผู้ยื่นขอรายใหม่จะต้องมีคะแนนอย่างน้อย 40 คะแนน เพื่อให้มีคุณสมบัติตาม EP ส่วนผู้ยื่นขอ EP ใน 27 ตำแหน่งใน 6 อุตสาหกรรมจะได้รับคะแนนโบนัสสูงสุด 20 คะแนน

    รัฐบาลยังต้องการแรงงานด้าน AI และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล(data scientists) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคลาวด์และความปลอดภัยทางไซเบอร์ และนักพัฒนาซอฟต์ เพราะสิงคโปร์เผชิญกับวิกฤติความสามารถด้านเทคโนโลยี ผู้ที่มีประสบการณ์ในภาคส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จะมีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตทำงาน(PASS)นาน 5 ปี หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์

    สำหรับภาคบริการทางการเงิน สิงคโปร์กำลังหาที่ปรึกษาการลงทุนสำหรับบุคคลที่มีความมั่งคั่ง(high-net-worth individuals)และสำนักงานครอบครัว(family offices) ในทางกลับกัน บุคลากรด้าน Agritech ก็มีความต้องการเช่นกัน เพื่อรองรับแผนการของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของเอเชีย

    รายการตำแหน่งงานจะได้รับการทบทวนทุกสามปี แต่ก็สามารถทำได้ทุกปีหากจำเป็น ความถี่ในการตรวจสอบเหล่านี้จะช่วยรักษาสมดุลของความยืดหยุ่นและความแน่นอนสำหรับธุรกิจ

    ระบบใหม่นี้จะช่วยให้มั่นใจได้ถึงตลาดแรงงานหลักที่แข็งแกร่งและความหลากหลายของแรงงาน สิงคโปร์ได้เปิดตัวโครงการวีซ่าใหม่ที่ให้ความสำคัญกับผู้มีความสามารถต่างชาติที่เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอาหารทางเลือก ซึ่งเป็นโครงการใหม่ การดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจในสิงคโปร์

    รัฐบาลเชื่อว่าการดึงดูดผู้มีความสามารถระดับสูงในสาขาเหล่านี้สามารถเสริมความแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมระดับโลก และจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ขับเคลื่อนไปสู่สิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้ยังจะสร้างตลาดแรงงานที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างกำลังแรงงาน

    เวียดนามยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปีผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ในโฮจิมินห์

    ที่มาภาพ: https://vir.com.vn/danang-tourism-seeks-new-way-of-development-82643.html
    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนได้เสนอยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 ปี<ให้กับผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ และผู้มีความสามารถพิเศษที่ทำงานในนครโฮจิมินห์

    นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมที่ทำงานในบริษัทสตาร์ตอัพเชิงนวัตกรรม องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์นวัตกรรม องค์กรสนับสนุนตัวกลาง นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และโซนเทคโนโลยีสารสนเทศในนครโฮจิมินห์จะมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีด้วย โดยกระทรวงฯเสนอให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 4 ปี และลดภาษี 50% เป็นเวลา 9 ปีถัดไปแก่องค์กรเหล่านี้

    ข้อเสนอด้านภาษีได้ประกาศบนเว็บท่า(portal)ของกระทรวงและเป็นส่วนหนึ่งของร่างมติสมัชชาแห่งชาติ ในเรื่องการพัฒนานำร่องกลไกพิเศษใหม่สำหรับการพัฒนาเมือง

    หากผ่านความเห็นชอบ สภาประชาชนแห่งนครโฮจิมินห์จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการเลือกผู้ได้รับผลประโยชน์จากการยกเว้นภาษี

    กระทรวงฯระบุว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการดึงดูดทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเมือง สิทธิประโยชน์จูงใจนี้จะดึงดูดผู้มีความสามารถและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานเพิ่มขึ้น มีผลต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเศรษฐกิจของประเทศ

    อินโดนีเซียเริ่มเดินรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกเดือนสิงหาคม

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดเยี่ยมชมโครงการ KCJB ระหว่างการลงพื้นที่ในจังหวัดชวาตะวันตกปี 2565 ที่มาภาพ:https://setkab.go.id/en/president-jokowi-expected-high-speed-railway-to-create-new-economic-centers/

    รถไฟความเร็วสูงขบวนแรกของอินโดนีเซียจะเริ่มให้บริการในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ รัฐมนตรีอาวุโสคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวในเรื่องโครงการรถไฟจาการ์ตา-บันดุงที่ล่าช้าและเกินงบประมาณ

    อย่างไรก็ตาม จีนยืนกรานที่จะคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการ ซึ่งรวมถึงเงินลงทุนที่เกินงบประมาณไว้ที่ 3.4% แม้อินโดนีเซียจะร้องขอให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 2% ก็ตาม จากการเปิดเผยของนายลูฮูต ปันจาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุนซึ่งเดินทางเยือนปักกิ่งในสัปดาห์ที่แล้ว

    บริการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนในอินโดนีเซีย มีมูลค่าลงทุน 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    “เราคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 18 สิงหาคม 2023 เพื่อเป็นของขวัญวันครบรอบ 78 ปีของการได้รับเอกราชของอินโดนีเซีย” นายลูฮุตกล่าวในงานแถลงข่าวความคืยหน้าของโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562

    “การทดลองเดินรถจะเริ่มอย่างช้าสุดในปลายเดือนพฤษภาคม และจะเป็นไปได้ด้วยดี” นายลูฮุตกล่าวและว่า เขาคาดว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนจะเข้าร่วมการเปิดตัวบริการรถไฟ

    นายลูฮุตกล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้โครงการต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6% ที่กำหนดในประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่กู้ยืมจากจีนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และว่าอินโดนีเซียจะสามารถจ่ายคืนได้เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังดีขึ้นและรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น

    นายลูฮุตกล่าวว่า รัฐบาลกำลังเจรจากับจีนเกี่ยวกับระยะเวลาการกู้ยืมและระยะเวลาผ่อนผันสำหรับการชำระคืน ซึ่งระยะเวลาอาจอยู่ในช่วงตั้งแต่ 30 ถึง 40 ปี ในขณะที่ระยะเวลาผ่อนผันอาจอยู่ที่ 10 ถึง 15 ปี

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดให้สัญญาว่า จะไม่ใช้เงินทุนของรัฐสำหรับโครงการนี้ แต่รัฐบาลตกลงในปี 2564 ที่จะให้เงิน 200 ล้านดอลลาร์ในส่วนงบที่เกินมาผ่านการอัดฉีดเงินทุน

    เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียเสนอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (China Development Bank) ซึ่งเป็นผู้จัดหาเงินทุนให้กับโครงการนี้ โดยแบกรับ 75% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยกลุ่มบริษัทอินโดนีเซียและจีนถือหุ้น 25%

    เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้คาดว่าจะลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างจาการ์ตาและบันดุงลงเหลือ 34 ถึง 45 นาที จาก 2.5 ชั่วโมงโดยรถไฟธรรมดา โครงการนี้ล่าช้าและมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายครั้ง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2559

    รถไฟจะวิ่งด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตลอดเส้นทาง 142 กิโลเมตร นายลูฮุตกล่าวว่า เส้นทางทั้งหมดเชื่อมต่อกันแล้ว โดยมีความยาวรวม 304 กิโลเมตร จากทั้งสองฝั่ง

    นายลูฮุตกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลเปิดกว้างสำหรับการขยายอายุสัมปทานสำหรับบริการรถไฟ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ที่ 50 ปี ตราบเท่าที่อินโดนีเซียยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และกล่าวว่า โครงการขนส่งสาธารณะมักจะไม่ทำกำไร แต่ให้ประโยชน์ทางสังคมแก่ประชาชน

    จีนสนับสนุนทุนให้กับโครงการต่างๆ ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก

    นอกจากรถไฟความเร็วสูงแล้ว จีนยังมุ่งมั่นที่จะลงทุนในเขตอุตสาหกรรมสีเขียวในกาลิมันตันเหนืออีกด้วย นายลูฮุตกล่าว

    อินโดนีเซียยินดีเป็นหุ้นส่วนกับทุกประเทศ ตราบใดที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกันและผลประโยชน์ร่วมกัน รัฐมนตรีกล่าวเสริม

    “เราไม่ต้องการพึ่งพาใคร ถ้าจีนมีเทคโนโลยีที่ดีและเข้ามาหาเรา เราก็ยอมรับ” นายลูฮุตกล่าว “ไม่มีประเทศใดสามารถบงการอินโดนีเซียได้”

    อินโดนีเซียเตรียมเก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/paper/2023/04/14/govt-mulls-foreign-tourist-tax-after-viral-incidents.html
    รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังจากเกิดข้อขัดแย้ง และกลายเป็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์ แต่สมาคมอุตสาหกรรมเตือนว่าธุรกิจต่างๆ อาจได้รับผลกระทบตามมา

    นายลูฮูต ปันจาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุนเรียกร้องให้มีการจัดเก็บภาษีใหม่โดยเร็ว “อย่าขายอินโดนีเซียแค่ระยะสั้นเด็ดขาด เราต้องแสดงให้พวกเขา (นักท่องเที่ยวต่างชาติ) เห็นว่าเราเป็นประเทศที่รักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม ประเพณี และกฎเกณฑ์อย่างมาก” นายลูฮูตโพสต์ในอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 3 เมษายน

    นายซานดิเอก้า อูโน รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (10 เมษายน) ว่า แผนภาษีที่วางแผนไว้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อกำหนดจำนวนเงินและพิจารณาว่าควรดำเนินการหรือไม่

    “เราคาดว่าการศึกษาจะเสร็จสิ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อที่เราจะได้หารือและตัดสินใจ (เรื่องนี้)”

    ทั้งสองรัฐมนตรีกล่าวว่า ภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติใหม่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาและทำตลาดสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศได้ นายซานดิเอก้าเสริมว่า รายได้พิเศษสามารถใช้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

    อย่างไรก็ตาม ตัวแทนอุตสาหกรรมกล่าวว่า ภาษีอาจส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME)

    เอดี้ มิเซโร เลขาธิการสมาคม MSMEs ของอินโดนีเซียกล่าวกับหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ว่า สมาชิกมีความกังวลว่าการเก็บภาษีจะส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

    นโยบาย “จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ จะต้องไม่ส่งผลให้ (นักท่องเที่ยวต่างชาติ) ยกเลิกแผนการเยือนอินโดนีเซีย เรา MSMEs ขอคัดค้าน (ภาษีที่เสนอ) หากจะเก็บจริง”

    เอดี้ ยอมรับว่าภาษีเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ และการเก็บภาษีโดยทั่วไปก็ยุติธรรมสำหรับจุดประสงค์นั้น แต่เมื่อเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ก็เตือนว่ารัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงสถานะของอินโดนีเซียในแง่ของความต้องการของตลาดโลก

    โดยชี้ว่าบางประเทศเป็นประเทศที่ต้องไปให้ได้ ดังนั้นจึงสามารถเก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ “แต่ในกรณีของอินโดนีเซีย เราเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวไหม หรือเป็นเราเองที่ไล่ต้อนพวกเขามา”

    “ในความคิดของฉัน อย่าสร้างภาระให้กับนักท่องเที่ยวด้วยสิ่งอื่นๆ (เช่น ภาษีนักท่องเที่ยว) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังอินโดนีเซียถือเป็นรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศสำหรับประเทศอยู่แล้ว” อลันกล่าวและว่า นักท่องเที่ยวแต่ละคนมีส่วนในรายได้ภาษีทางอ้อมเช่นกัน เนื่องจากจ่ายภาษีผ่านโรงแรมที่เข้าพักและร้านอาหารที่ไปทาน

    นอกจากนี้ อลันให้ความเห็นในประเด็นของนายลูฮุต โดยกล่าวว่า แนวคิดที่จะเปลี่ยนจากการท่องเที่ยวจำนวนมากไปสู่สิ่งที่รัฐมนตรีเรียกว่า “การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ” นั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงและอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจผิด

    “ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการท่องเที่ยวจำนวนมาก (เราไม่สามารถ) เปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้โดยตรง” อลันกล่าวและว่า อินโดนีเซียยังไม่พร้อมที่จะเป็นกระแสหลักของการท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ ซึ่งต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกระดับไฮเอนด์ ในขณะที่ MSMEs เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจระดับภูมิภาคทั่วประเทศ

    “สถานที่ท่องเที่ยวของเรามีความหลากหลาย ทุกที่ (ที่นักท่องเที่ยวไป) ก็มีตั้งแต่โรงแรมระดับไม่ติดดาวไปจนถึงโรงแรมระดับ 5 ดาว” อลันกล่าว และว่าเป็นเรื่องผิดที่จะสันนิษฐานว่านักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เข้าพักในโรงแรมราคาแพงมีส่วนต่อการท่องเที่ยวน้อยลง

    ในโพสต์ Instagram นายลูฮุต อ้างถึงวิดีโอไวรัลของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สวมเสื้อขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกนิรภัยและโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบาหลี

    อลันบอกว่า “เราไม่ควรตัดสินคนกลุ่มใหญ่” จากพฤติกรรมของคนเพียงไม่กี่คน

    เมียนมาเตรียมใช้รูปี-จั๊ตชำระเงินโดยตรงในการค้าทวิภาคี

    ที่มาภาพ: https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-plans-to-use-direct-payment-system-of-rupeeskyat-in-myanmar-india-bilateral-trade

    แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การชำระเงินโดยตรงระหว่างเงินรูปีกับเงินจั๊ตจะนำมาใช้ในการค้าทวิภาคีเมียนมา-อินเดีย และPunjab National Bank ของอินเดียได้รับการแต่งตั้งให้เป็นธนาคารตัวแทนสำหรับธนาคารเมียนมา

    เมื่อวันที่ 4 เมษายน ได้มีการจัดการประชุมระหว่างธนาคารกลางแห่งเมียนมากับหน่วยงานรัฐบาล ธนาคารของรัฐ และธนาคารเอกชนที่ธนาคารกลางเมียนมา เพื่อชี้แจงขั้นตอนสำหรับการดำเนินการชำระเงินโดยตรงของเงินรูปีเงินจั๊ตในการค้าทวิภาคีอินเดีย-เมียนมา

    ผู้ว่าการและรองผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเมียนมา เลขาธิการร่วมของคณะกรรมการกลางว่าด้วยการอำนวยความสะดวกของการไหลเวียนของการค้าและสินค้า อธิบดีกรมการค้าภายใต้กระทรวงพาณิชย์ รองอธิบดีกรมศุลกากร อธิบดี และรองผู้อำนวยการธนาคารกลางเมียนมา เจ้าหน้าที่จากธนาคารของรัฐและธนาคารเอกชนเข้าร่วม

    ในการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา จีนและไทย การชำระเงินโดยตรงด้วยสกุลเงินหยวนกับจั๊ต และเงินบาทกับเงินจั๊ตประสบความสำเร็จ ขณะนี้ เพื่อเพิ่มการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าทวิภาคีระหว่างเมียนมา-อินเดีย เมียนมาจะใช้ระบบการชำระเงินโดยตรงเงินรูปีกับเงินจั๊ต

    ธนาคารกลางเมียนมา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการเงิน กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ ธนาคารแห่งอินเดีย และผู้แทนจากสำนักงานตัวแทน Punjab National Bank ประจำย่างกุ้ง คณะกรรมการดำเนินการ และสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำเมียนมาได้จัดทำเอกสารเชิงหลักการ(concept paper)เรื่องระบบการชำระเงินรูปีกับเงินจั๊ตที่จะดำเนินการระหว่างเมียนมาและอินเดีย ซึ่งธนาคารกลางอินเดียเห็นชอบ

    Punjab National Bank จากอินเดีย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นธนาคารที่เปิดบัญชี Special Rupee Vostro ให้กับสำหรับธนาคารเมียนมา

    ดอว์ ถั่น ถั่น ชเว ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเมียนมากล่าวว่า การชำระเงินโดยตรงระหว่างเงินรูปีกับเงินจั๊ตจะใช้กับเฉพาะการค้าชายแดนเท่านั้น แต่รวมถึงการค้าปกติด้วย หากได้รับแนวทางปฏิบัติและการอนุมัติของระบบธุรกิจธนาคาร ก็จะแจ้งให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทราบถึงการชำระเงินโดยตรงระหว่างเงินรูปีกับเงินจั๊ต