ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียหยุดนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลปี 2588

ASEAN Roundup อินโดนีเซียหยุดนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลปี 2588

22 มกราคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2566

  • อินโดนีเซียหยุดนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลตั้งแต่ปี 2588
  • อินโดนีเซียเชื่อขึ้นท้อป 3 ผู้นำผลิตแบตเตอรี่ EV ปี 2570
  • มาเลเซียปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย 3 ยุทธศาสตร์
  • สิงคโปร์-มาเลเซียเตรียมลงนาม MOC ด้านดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว
  • ฮานอยสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 34 แห่ง

  • อินโดนีเซียหยุดนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลตั้งแต่ปี 2588

    นายลูฮุต บินซาร์ ปันด์จาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเลและการลงทุน อินโดนีเซีย ที่มาภาพ:https://en.infosawit.com/news/11104/having-palm-oil–luhut–stop-fossil-fuel-import-in-2045
    อินโดนีเซียจะไม่นำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลตั้งแต่ปี 2588 เนื่องจากจะมีการพัฒนาศักยภาพน้ำมันปาล์มเพื่อเป็นเชื้อเพลิงทดแทน จากการเปิดเผยของนายลูฮุต บินซาร์ ปันด์จาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเลและการลงทุน

    “ขณะนี้เรากำลังวิจัย (ศักยภาพของ) น้ำมันปาล์ม เพราะเราเชื่อว่าเราจะสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้ประมาณ 100 ล้านตันภายในปี 2588” นายลูฮุตกล่าวที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น

    นายลูฮุต แถลงในระหว่างการนำเสนอหัวข้อ “Indonesia Zero Pathway: Opportunity & Challenges” ที่พาวิลเลียนของอินโดนีเซียในการประชุมประจำปี 2023 ของสภาเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum-WEF)

    นายลูฮุตกล่าวว่า อย่างน้อย 30% ของน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้จะใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนที่เหลืออีก 70% จะใช้ในการผลิตเอทานอล

    “ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในเวลานั้น (ภายในปี 2588)” นายลูฮุตกล่าว

    นายลูฮุตกล่าวว่า การพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกเป็น 1 ใน 5 เสาหลักเศรษฐกิจสีเขียวที่อินโดนีเซียกำลังดำเนินการอย่างแข็งขัน ส่วนอีก 4 เสา หลักได้แก่ การลดคาร์บอนของภาคการผลิตไฟฟ้า การขนส่งแบบคาร์บอนต่ำ การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และการส่งเสริมแหล่งกักเก็บคาร์บอน

    นายลูฮุตกล่าวว่า การเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนจะช่วยให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2060

    รัฐบาลอินโดนีเซียได้ระงับการอนุญาตปลูกปาล์มน้ำมันชั่วคราว ดังนั้นผลผลิตของสวนสามารถเพิ่มจาก 2.3 ตันต่อเฮกตาร์เป็น 8–10 ตันต่อเฮกตาร์ในอีก 10–15 ปีข้างหน้า

    นอกจากนี้ นโยบายการพักการอนุญาตมีเป้าหมายเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าอันเนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน

    ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) รายใหญ่ที่สุดในโลก อินโดนีเซียยังได้ดำเนินโครงการภาคบังคับเพื่อผลักดันการใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบตั้งแต่ปี 2551 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการปล่อยมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

    อินโดนีเซียเชื่อขึ้นท้อป 3 ผู้นำผลิตแบตเตอรี่ EV ปี 2570

    ที่มาภาพ: https://autobuzz.my/2021/05/25/lg-and-indonesia-battery-corp-building-new-10-gwh-ev-battery-plant-worth-usd1-2-billion/
    นายายลูฮุต บินซาร์ ปันด์จาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเลและการลงทุน เชื่อมั่นว่าอินโดนีเซียจะเป็น 1 ใน 3 ของผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ชั้นนำของโลกภายในปี 2570

    “ภายในปีค.ศ. 2027 เราอาจเป็น 1 ใน 3 ประเทศชั้นนำของโลกที่ผลิตแบตเตอรี่ EV และรถยนต์ไฟฟ้า” นายลูฮุตกล่าวในการประชุม National Coordination Meeting of Regional Heads and Forkopimda ประจำปี 2566 เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566

    นายลูฮุตกล่าวว่า การที่มีความเชื่อมั่น เพราะได้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศระหว่าง MIND ID บริษัทที่ได้รับอนุญาตขุดเหมืองแร่จากรัฐ และผู้ผลิตแบตเตอรี่ในจีน Contemporary Amperex Technology Co Limited (CATL) เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา

    “เราพร้อมที่จะเข้าสู่ยุคใหม่ของการสร้างระบบนิเวศของแบตเตอรี่ลิเธียมและรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เราจะสามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมก้อนแรกได้ในปี 2568” นายลูฮุตกล่าวอย่างมั่นใจ

    การส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นทันทีจากโครงการปลายน้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยชี้ว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ของนิกเกิลเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 33.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565

    “ดูเหมือนว่าการส่งออกของเราเพิ่มขึ้นสูงในปีนี้ เกือบ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ บวกกับการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมปลายน้ำหรือปลายน้ำของแร่นิกเกิล ดังนั้นเมื่อเราเริ่ม[การผลิต] แบตเตอรี่ลิเธียม ผมคิดว่าตัวเลขจะสูงกว่านี้มาก”

    นายลูฮุตคาดการณ์เพิ่มเติมว่า การส่งออกผลิตผลของนิกเกิลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหากแผนพัฒนาปลายน้ำและระบบนิเวศของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ EV ดำเนินการต่อได้ในอีก 4 ถึง 5 ปีข้างหน้า

    มาเลเซียปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย 3 ยุทธศาสตร์

    ที่มาภาพ: https://www.bernama.com/en/general/news.php?id=2157802
    รัฐบาลจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ การขจัดความยากจน ปรับโครงสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจด้วยแนวคิดมาเลเซียทันสมัย หรือ Malaysia Madani

    นายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า การขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ น่าจะมีบริบทที่กว้างขึ้นให้ครอบคลุมของเศรษฐกิจฐานมนุษย์(human economy) ที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนเป็นลำดับต้นๆ

    “[นี่เป็น]…การยกระดับคนยากจนและคนชายขอบจากความยากจนในระบบทุนนิยมที่ไร้การควบคุม ซึ่งบ่มเพาะความไม่เท่าเทียมในด้านความมั่งคั่งและมาตรฐานการครองชีพ” นายอันมาร์กล่าวในระหว่างการปราศรัยที่งาน Developing a Malaysia Madani ในวันพฤหัสบดี ( 19 ม.ค.).

    นายอันวาร์กล่าวว่า ตัวขับเคลื่อนหลักที่จะก่อตัวขึ้นเป็นแกนหลักของ Malaysia Madani จะขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์หลัก 4 ประการ ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ การดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การปฏิรูปสถาบันประชาธิปไตยและกฎหมาย ตลอดจนการจัดตั้งฝ่ายบริหารที่มีความน่าเชื่อถือ

    รัฐบาลที่เป็นเอกภาพภายใต้การนำของอันวาร์ได้นำเสนอแนวคิด Madani ไว้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็ปรับกลไกต่างๆ ของรัฐบาลที่ใช้ในการดำเนินนโยบายให้เหมาะสมที่สุด

    นายอันวาร์กล่าวว่า จำนวนคนจนยังคงสูง โดยกว่า 136,000 ครัวเรือนจัดอยู่ในกลุ่มยากจนดักดาน และกว่า 308,000 ครัวเรือนยังคงอยู่ในกลุ่มคนจน ณ เดือนกรกฎาคม 2565

    “แม้ว่ารายได้จะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการกำหนดอัตราความยากจน แต่มิติอื่นๆ ที่เป็นพื้นฐานของคุณภาพชีวิตก็ควรจะให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน” นายอันวาร์กล่าว

    ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอให้ใช้ ดัชนีความยากจนหลายมิติ Multidimensional Poverty Index เป็นทางเลือกในการวัดอัตราความยากจนตามมิติความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่น ระดับการศึกษาและโภชนาการอาหาร

    แนวคิด Madani ยังเสนอว่า การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจต้องอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมถึงการหลีกเลี่ยงความสิ้นเปลืองและความฟุ่มเฟือย กำจัดการรั่วไหลและการติดสินบน เร่งรัดความช่วยเหลือและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับประชาชน และการกระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมกัน

    นายอันวาร์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในความพยายามที่จะฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจ รัฐบาลจะส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเต็มที่ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเติบโตและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนตามแนวคิดหลักของ Madani

    นายอันวาร์กล่าวว่า การพัฒนาและความก้าวหน้าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก เนื่องจากภาคส่วนนี้คิดเป็น 97.2% ของภาคธุรกิจในมาเลเซีย และจ้างงานเกือบ 70% ของแรงงานในประเทศ

    สิงคโปร์-มาเลเซียเตรียมลงนาม MOC ด้านดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว

    เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม มาเลเซีย ที่มาภาพ: https://www.thesundaily.my/local/singapore-malaysia-to-sign-moc-in-digital-green-economy-tengku-zafrul-AH10533928

    เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมกล่าวว่า มาเลเซียและสิงคโปร์เตรียมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation-MOC) ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นครั้งแรกสำหรับมาเลเซียที่มีศักยภาพการเติบโตในทั้งสองภาคส่วน

    การค้าดิจิทัลเป็นหนึ่งในการค้าที่เติบโตเร็วที่สุด และจะแซงหน้าการค้าจริงภายในปี 2568 เต็งกู ซาฟรูล กล่าว

    “อันที่จริง เราคาดว่าจะสรุปข้อตกลงความร่วมมือฉบับแรกของเราในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และจะมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศร่วมเป็นสักขีพยานในเร็วๆ นี้” เต็งกู ซาฟรูล กล่าวกล่าวกับสำนักข่าว Bernama หลังการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum (WEF) 2023 ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

    นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม มีกำหนดการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปลายเดือนมกราคม

    นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ได้เชิญนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมเยือนสิงคโปร์ หลังจากที่เข้าพิธีสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย

    เต็งกู ซาฟรูล กล่าวว่า การหารือกับสิงคโปร์เกี่ยวกับ MOC ในด้านการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งได้ให้ความเห็นชอบแล้ว จึงสรุปได้ในเร็วๆ นี้

    “โดยสรุปแล้ว นี่เป็นจุดเริ่มต้น เนื่องจากเรากำลังเจรจากับประเทศอื่นๆ ด้วย” เต็งกู ซาฟรูล กล่าว

    บันทึกความร่วมมือจัดทำขึ้นตามกรอบความร่วมมือที่สรุปโดยทั้งสองประเทศในเดือนสิงหาคม 2565

    กรอบความร่วมมือในเศรษฐกิจดิจิทัลจะส่งเสริมความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในสาขาต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า การยืนยันตัวตนทางดิจิทัล(digital identities) มาตรฐาน การส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกด้านดิจิทัล รวมถึงการปรับใช้ดิจิทัลของธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSMEs) ซึ่งจะเปิดโอกาสที่กว้างขึ้น สร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจ คนงาน และประชาคมในทั้งสองประเทศ

    ด้านเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งสองประเทศจะกระชับความร่วมมือเพื่อลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม และช่วยให้ธุรกิจและแรงงานสามารถคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นได้

    ภายใต้กรอบความร่วมมือในเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งสองประเทศตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านยานยนต์แห่งอนาคต (รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ) การแลกเปลี่ยนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) และการพัฒนาศักยภาพสำหรับผู้ส่งออก ตลอดจนแนวทางลดคาร์บอน

    จากบทความของ WEF ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy Partnership Agreement)ระหว่างชิลี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ เป็นข้อตกลงการค้าดิจิทัลอย่างเดียวฉบับแรกที่เปิดกว้างสำหรับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ทุกราย และเป็นครั้งแรกที่ลงนามทางอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมิถุนายน 2563

    Digital Economy Partnership Agreement มีเป้าหมายเพื่อเสริมการเจรจาขององค์การการค้าโลก ด้านอีคอมเมิร์ซและงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC)และองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(Organisation for Economic Cooperation and Development)

    ข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลล่าสุดคือข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลสหราชอาณาจักร-สิงคโปร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2565 หลังจากการเจรจาเพียง 6 เดือน

    จากข้อมูลของกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม ที่เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ สิงคโปร์มีสัดส่วนใหญ่สุดในการส่งออกของมาเลเซียในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยมูลค่า 232.57 พันล้านริงกิตในปี 2565 ตามมาด้วยไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

    สิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซียเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออก 3 อันดับแรกในปี 2565 คิดเป็น 78.3% ของการส่งออกทั้งหมดของมาเลเซียไปยังอาเซียน ซึ่งการส่งออกไปเกือบทุกประเทศในอาเซียนทำสถิติสูงสุดใหม่

    ฮานอยสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 34 แห่ง

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/hanoi-takes-bold-move-to-become-manufacturing-hub-322790.html
    ในปี 2566 ฮานอยจะเริ่มการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 34 แห่ง ตามแผนที่ได้รับการอนุมัติในปี 2561-2563 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรผลักดันให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ก็จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 70 แห่ง

    การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และศูนย์กลางการขนส่งจะรวมไว้ในแผนแม่บทของเมืองเพื่อให้มีนโยบายที่เหมาะสมสำหรับทุกภาคส่วน จากการเปิดเผยของสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าของกรุงฮานอย โดยหน่วยงานท้องถิ่นจะอำนวยความสะดวกเพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมเสริม ช่วยเหลือการดำเนินงานของบริษัทในท้องถิ่น และดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ให้เข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมหลัก

    ในขณะเดียวกัน กรุงฮานอยจะเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและดูแลให้มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอในนิคมอุตสาหกรรม

    นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งเสริมการค้าและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ให้มากขึ้น รวมทั้งสำรวจตลาดเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะสินค้าที่มีสัดส่วนสูงในการส่งออกทั้งหมดของฮานอย

    ในปี 2566 สำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าฮานอยจะช่วยผู้ประกอบการท้องถิ่นขยายการส่งออกและเสริมความแข็งแกร่งในตลาดภายในประเทศ

    นอกจากนี้ยังดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาและอุปทานในตลาด ควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ และส่งเสริมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนหรือวันตรุษ

    ในปี 2565 สำนักงานฯได้ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยให้ธุรกิจในท้องถิ่นฟื้นตัวในช่วงหลังการแพร่ระบาด กรุงฮานอยได้เปิดตัวโครงการส่งเสริมการค้า 45 รายการ เปิดร้านค้าปลีก OCOP (One Commune – One Product) ใหม่ 20 แห่ส่งผลให้มีจำนวนทั้งหมด 60 แห่ง และจัดโครงการส่งเสริมการขายทั่วประเทศและทั่วเมือง

    กิจกรรมเหล่านี้มีส่วนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศระดับภูมิภาค (Gross Regional Domestic Product-GRDP) เพิ่มขึ้น 8.89% ในปี 2565 จากตัวเลขดังกล่าว มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมสูงขึ้น 8.03% ดีกว่า 7.3%-7.8% ที่คาดไว้ในปี 2565 และทำให้ GRDP ขยายตัว 1.14 จุด

    การค้าปลีกสินค้าและบริการทั้งหมดในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 697.7 ล้านล้านด่อง (29.7 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วถึง 1 ใน 4 และเกินกว่าแผนถึง 9-10%