ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์เปิดต่างชาติลงทุนพลังงานหมุนเวียน 100%

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์เปิดต่างชาติลงทุนพลังงานหมุนเวียน 100%

11 ธันวาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 4-10 ธันวาคม 2565

  • ฟิลิปปินส์เปิดต่างชาติลงทุนพลังงานหมุนเวียน 100%
  • ลาวเตรียมร่างมาตรการแก้ไขปัญหาการเงิน-เศรษฐกิจ
  • ลาวปี’65 โต 4.4% ตามเป้าแม้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ
  • ลาวจะเป็นประเทศที่ 4 ของโลกส่งออกโพแทสเซียม
  • อินโดนีเซียเล็งใช้ไบโอดีเซล B35 ม.ค. 2566
  • ฟิลิปปินส์เปิดต่างชาติลงทุนพลังงานหมุนเวียน 100%

    ที่มาภาพ: https://www.adb.org/news/adb-japan-strengthen-cooperation-clean-energy-asean-region
    ฟิลิปปินส์เปิดให้ต่างชาติเป็นเจ้าของพลังงานหมุนเวียนเต็มรูปแบบแล้ว กระทรวงพลังงานแถลงในกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

    นายราฟาเอล โลติลลา รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานได้ลงนามในหนังสือเวียนเพื่อแก้ไขกฎและระเบียบปฏิบัติ (Implementing Rules and Regulations-IRR) ของพระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียนปี 2008(Renewable Energy Act of 2008) เพื่ออนุญาตทุนจากต่างประเทศลงทุนได้ 100% ในโครงการพลังงานหมุนเวียน

    ก่อนหน้านี้มาตรา 19 ของ IRR ได้จำกัดความเป็นเจ้าของโครงการพลังงานหมุนเวียนของชาวต่างชาติไว้ที่ 40%

    กระทรวงพลังงานระบุว่า หนังสือเวียนฉบับนี้ปูทางให้ชาวต่างชาติและกิจการที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ สำรวจ พัฒนา และใช้ทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานจากมหาสมุทร หรือพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง

    “กระทรวงฯได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในศักยภาพของพลังงานลมนอกชายฝั่ง ขณะนี้รัฐสามารถดำเนินการสำรวจ พัฒนา ผลิต และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนได้โดยตรง หรือทำสัญญาให้บริการพลังงานหมุนเวียน หรือดำเนินงานกับชาวฟิลิปปินส์และ/หรือพลเมืองต่างชาติ หรือบริษัทหรือสมาคมของชาวฟิลิปปินส์และ/หรือที่ต่างชาติที่เป็นเจ้าของ” นายโลติลลากล่าวในแถลงการณ์

    สำหรับไฟฟ้าพลังน้ำ นายโลติลลาชี้ว่า “การจัดสรรน้ำโดยตรงจากแหล่งที่มาจะยังคงอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของต่างชาติในประมวลกฎหมายน้ำ(Water Code)”

    นายโลติลลากล่าวว่า การผ่อนปรนข้อจำกัดด้านทุนต่างประเทศจะช่วยให้ฟิลิปปินส์บรรลุเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็น 35% ภายในปี 2573 และ 50% ภายในปี 2583 จาก 22% ในปัจจุบัน

    “ประเทศมีศักยภาพอย่างมากในการพัฒนาพลังงานทดแทน” นายโลติลลากล่าว และว่า รัฐบาลคาดว่าจะมีการลงทุนที่มากขึ้นในภาคส่วนที่จะสร้างงานที่จำเป็นมาก

    ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานกล่าวว่า การเปิดภาคพลังงานหมุนเวียนให้ต่างชาติเป็นเจ้าของอย่างเต็มรูปแบบจะไม่สร้างผลกระทบให้กับบริษัทที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าของ

    “เราเน้นไปที่ความเป็นเจ้าของเท่านั้น ไม่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการใด ๆ สิทธิอื่นใดที่บริษัทฟิลิปปินส์ในฐานะผู้เล่นหลักในภาคธุรกิจนี้ และเป็นเพียงการเปิดตัวเท่านั้น เป็นการขจัดข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของ กระบวนการอื่นๆ จะยังคงดำเนินต่อไปตามเดิม” กระทรวงฯระบุ

    ก่อนหน้านี้ ข้อจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติถูกจัดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีการลงทุนในภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

    ในเดือนตุลาคม กระทรวงฯได้รับความเห็นทางกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมที่ระบุว่า “การสำรวจ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดนั้น ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของหุ้นต่างประเทศ 60:40 ตามที่กำหนดโดยมาตรา 2 มาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญ 2530”

    อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมระบุว่า กระทรวงพลังงานจะต้องแก้ไข IRR ของพระราชบัญญัติพลังงานทดแทนเพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นทางกฎหมาย

    ประธานาธิบดี เฟอร์ดินันด์มาร์กอส กล่าวว่า คณะบริหารจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาพลังงานหมันเวียนเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

    ลาวเปิดแนวมาตรการแก้ไขปัญหาการเงิน-เศรษฐกิจ

    นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_236/freeContent/FreeConten236_National_y22.php
    นายกรัฐมนตรีลาวได้เสนอร่างมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ ในการประชุมสมัชชาแห่งชาติสมัยสามัญครั้งที่ 4 ของลาวที่มีขึ้นเมื่อวันจันทร์(5 ธ.ค.)ที่ผ่านมา

    การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคและโลกส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของลาวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วิทยุแห่งชาติลาว(Lao National Radio ) รายงานโดยอ้างคำกล่าวเปิดการประชุมของประธานสมัชชาแห่งชาติลาว นายไซสมพอน พมวิหาน

    นอกจากนี้ นายไซสมพอนกล่าวว่า ลาวกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและราคาสินค้าและน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งสร้างความยากลำบากให้กับคนจำนวนมาก

    นายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน ของลาว กล่าวว่า ตามแผนเพื่อบรรเทาสถานการณ์นั้น รัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ราคาสินค้า การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน และอัตราเงินเฟ้อ

    ลาวกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราเงินเฟ้อในลาวเพิ่มสูง 38.46% เมื่อเทียบรายปีในเดือนพฤศจิกายน จาก 36.75% ในเดือนตุลาคม และ 34.05% ในเดือนกันยายน ตามรายงานของสำนักงานสถิติลาว

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งส่งผลให้ชาติตะวันตกบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาจากที่รับมือกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19

    “ค่าน้ำมันและค่าอาหารพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์” นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุม ซึ่งจะมีไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม

    ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุจากราคาน้ำมัน นายกรัฐมนตรีพันคำให้คำมั่นว่าจะจัดหาน้ำมันในระยะยาวในประเทศ หลังจากที่ประสบภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงอย่างรุนแรงในช่วงกลางปีนี้

    นายพันคำกล่าวว่า รัฐบาลจะปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัยเพื่อให้แน่ใจว่าภาษีและรายได้ทั้งหมดที่ค้างชำระให้กับรัฐบาลได้รับการชำระเต็มจำนวน ในขณะเดียวกันก็สำรวจแหล่งรายได้ใหม่ที่เป็นไปได้

    ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเข้มงวดเพื่อต่อสู้กับปัญหาทางการเงินที่กำลังประสบอยู่

    หัวหน้าคณะรัฐบาลให้ความมั่นใจกับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติว่า รัฐบาลจะพยายามชำระหนี้ต่างประเทศและป้องกันไม่ให้ประเทศเข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ พร้อมกันนี้ยังให้คำมั่นว่าจะหาเงินมาชำระหนี้โครงการพัฒนาที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะไม่จัดสรรเงินทุนสำหรับโครงการของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อบรรเทาความยากจน

    รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจควบคู่ไปกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และคณะรัฐมนตรีจะจัดสรรเงินสนับสนุนธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการส่งออก

    ในบรรดาผู้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม ได้แก่ เลขาธิการพรรคประชาชนปฏิวัติลาวและประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด สมาชิกคณะรัฐมนตรี และผู้นำรัฐและพรรคที่เกษียณแล้ว

    วาระการประชุม ได้แก่ รายงานการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนงบประมาณปี 2565 และแผนปี 2566 และรายงานผลสำเร็จในการดำเนินการตามวาระแห่งชาติปี 2565 เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาเศรษฐกิจการเงิน รวมถึงแผนในปี 2566 รายงานการดำเนินการตามแผนงานสำหรับปี 2565 และแผนการทำงานของปี 2565 ของหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ องค์กรตรวจสอบของรัฐ สำนักงานอัยการสูงสุด และศาลสูงด้วย

    สมาชิกสมัชชาแห่งชาติมีกำหนดการอภิปรายและอนุมัติกฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่และร่างแก้ไขกฎหมายเดิม ซึ่งรวมถึงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเดินทาง การขนส่งทางน้ำ และพิพิธภัณฑ์ ส่วนการแก้ไขกฎหมาย 9 ฉบับ ได้แก่ร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทนายความ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับฟังรายงานการดำเนินการตามแผนงานของรัฐสภาในปี 2565 และแผนงานสำหรับปี 2566 ตลอดจนรายงานของคณะกรรมาธิการประจำสมัชชาเกี่ยวกับแผนการตรากฎหมายและการแก้ไขกฎหมายตั้งแต่ปี 2566-2568

    ลาวปี’65 โต 4.4% ตามเป้าแม้ประสบปัญหาเศรษฐกิจ

    นายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีลาว ที่มาภาพ:https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Macro239.php
    การเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสูงถึง 4.4% ในปี 2565 ซึ่งเป็นไป ตามเป้าหมายที่กำหนดในวาระแห่งชาติว่าอย่างน้อยจะขยายตัว 4% รัฐบาลได้รายงานต่อสมัชชาแห่งชาติ

    รัฐบาลได้กำหนดให้การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องการให้ทุกภาคส่วนของรัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้

    ดร.สอนไซ สีพันดอนรองนายกรัฐมนตรีได้สรุปความคืบหน้าในช่วง 15 เดือนนับตั้งแต่มีการนำเสนอวาระแห่งชาติว่า รายรับก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
    การจัดเก็บรายได้คาดว่าจะสูงถึง 32,447 พันล้านกีบ คิดเป็น 15.28% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และเกินเป้าหมาย 15% ที่ตั้งไว้ ซึ่งหมายความว่าการขาดดุลงบประมาณจะมีสัดส่วนเพียง 0.99% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเป้าหมายว่าจะไม่ให้เกิน 2%

    รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การชำระหนี้สาธารณะยังคงสามารถจัดการได้ และจะทำให้ลาวไม่เข้าสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ ทุน สำรองระหว่างประเทศยังเพียงพอสำหรับการนำเข้าเกิน 3 เดือนตามเป้าหมาย สัญญาณสนับสนุนอีกประการหนึ่งคือ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 2.15% ในเดือนกันยายน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3%

    มีแนวโน้มว่าจะบรรลุเป้าหมายหลายด้าน แม้เศรษฐกิจจะยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ จากการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินกีบ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน

    ดร.สอนไซกล่าวว่า วาระแห่งชาติเน้นไปที่การเสริมสร้างฐานการผลิตเพื่อเพิ่มการส่งออกในขณะเดียวกันก็ลดการนำเข้าด้วย

    การส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเมื่อเทียบเป็นรายปีขยายตัวประมาณ 15% คิดเป็นมูลค่ากว่า 489 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่ารวมของการส่งออกทะลุ 1,183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมากกว่า 1,129 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาจากพืชผล และอีก 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาจากการขายปศุสัตว์

    “สภาพแวดล้อมทางธุรกิจดีขึ้น โดยได้ขจัดอุปสรรคในการส่งเสริมการผลิตและการส่งออก” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในการประชุมสภาสามัญสมัยที่ 9 ของสมัชชาแห่งชาติขณะที่การนำเข้าสินค้าเกษตรลดลง 9.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ทางการลาวกำลังเจรจากับฝ่ายจีน ไทย และเวียดนาม เพื่อหาทางส่งออกสินค้าเกษตรประเภทต่างๆ ของลาวไปยังตลาดของแต่ละประเทศเพื่อกระตุ้นการส่งออกต่อเนื่อง

    การส่งออกไฟฟ้าขยายตัว 7.5% ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 1,769 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าพลังงานลดลง 72.7% เป็น 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ในขณะเดียวกัน โครงการขุดเหมืองนำร่องได้สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมก่อนดำเนินการ 529 พันล้านกีบ และมากกว่า 56.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับรัฐ

    การผ่อนคลายข้อจำกัดของโควิดทำให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ากลับมาดำเนินการผลิตได้ ส่งผลให้ภาคส่วนนี้เติบโต โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 25% เป็น 191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดรวมกว่า 287 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าคาด จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินกีบและข้อจำกัดของโควิด-19

    “ปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรงงานบางแห่งยังคงปิดชั่วคราวในขณะที่บางแห่งปิดถาวร” ดร.สอนไซกล่าว

    การท่องเที่ยวมีสัญญาณฟื้นตัว หนุนธุรกิจการบริการหลังจากเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคม โดย ณ เดือนกันยายน นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 644,756 คนเดินทางเข้าประเทศลาว และคาดว่าอาจสูงถึงหนึ่งล้านสำหรับทั้งปี 2565 โดยสร้างรายได้มากถึง 285 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดทางรถไฟลาว-จีนและท่าเรือบก 3 แห่ง ในเวียงจันทน์ แขวงสะหวันนะเขต และจำปาสัก และสร้างรายให้ภาครัฐประมาณ 74 พันล้านกีบในช่วง 9 าเดือนแรกของปี 2565

    นอกจากนี้ ทางการกำลังยกระดับการดำเนินการเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัยและอุดช่องโหว่เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินที่เป็นหนี้รัฐ ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐ

    ลาวจะเป็นประเทศที่ 4 ของโลกส่งออกโพแทสเซียม

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/aseanplus/2022/12/06/laos-to-become-fourth-country-in-the-world-in-potassium-exports
    Sino-Agri Potash Co Ltd รายงานว่า ลาวจะอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกในอนาคตอันใกล้ หลังจากที่บริษัทเพิ่งลงนามในข้อตกลงสำรวจโพแทสเซียมกับรัฐบาล

    ข้อตกลงดังกล่าว อนุญาตให้บริษัทดำเนินการสำรวจโพแทสเซียมในพื้นที่ 48.52 ตารางกิโลเมตรต่อไป และมีการลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการวางแผนและการลงทุน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ แขวงคำม่วน และตัวแทนของจีน

    โครงการแร่โพแทสเซียมขนาด 48.52 ตารางกิโลเมตรตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองหล่ม เขตหนองบก แขวงคำม่วน และอยู่ในแผนที่ทรัพยากรของบริษัท ทรัพยากรโพแทสเซียมคลอไรด์ที่ควบคุมโดยบริษัทแม่ Asia-Potash International คาดว่าจะมีปริมาณเกินหนึ่งพันล้านตัน

    พิธีเปิดโครงการสำรวจจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่หมู่บ้านโดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน รวมทั้งเจ้าแขวง แขวงคำม่วน ผู้อำนวยการกรมพลังงานและเหมืองแร่ประจำแขวง นายอำเภอหนองบก ตลอดจนตัวแทนของ Sino-Agri Potash Co Ltd.

    อินโดนีเซียเล็งใช้ไบโอดีเซล B35 ม.ค. 2566


    อินโดนีเซียอาจเริ่มดำเนินโครงการใช้ไบโอดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม 35% หรือที่เรียกว่า B35 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงพลังงานกล่าวเมื่อวันศุกร์(9 ธ.ค.)

    ปัจจุบันอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับต้น ๆ ของโลก ได้ใช้ B30 ซึ่งมีน้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิง 30%

    เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงพลังงานกล่าวว่า การจัดสรรเชื้อเพลิงจากน้ำมันปาล์มโดยรวมสำหรับปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านกิโลลิตรในปี 2566 ขณะที่ปี 2565 มีจำนวน 11.03 กิโลลิตร

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด บอกกับคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นสัปดาห์นี้ให้เตรียมกลไกที่จะเริ่มใช้ B35 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะยังคงสูงในปีหน้า

    “นโยบาย B35 มีขึ้นจากคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะสูงขึ้นและเพื่อลดการนำเข้า ในขณะที่นโยบายนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน” เจ้าหน้าที่กระทรวง Dadan Kusdiana กล่าว

    ประเทศที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้าเชื้อเพลิงชั้นนำของภูมิภาค แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ภาษีนำเข้าลดลงอย่างมาก เนื่องจากอินโดนีเซียเริ่มขยายสัดส่วนของน้ำมันปาล์มในไบโอดีเซล

    ความคาดหวังที่ว่าจะมีการใช้ B35 ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในมาเลเซียสูงขึ้น แม้ผู้เล่นในตลาดบางรายจะผิดหวังที่ส่วนผสมของน้ำมันปาล์มจะต่ำกว่า 40% ที่คาดการณ์ไว้

    กระทรวงพลังงานได้ทำการทดลองไบโอดีเซลที่มีเชื้อเพลิง 40% ที่ทำจากน้ำมันปาล์ม

    “รถ 10 ใน 12 คันที่ทำการทดสอบได้ผ่านการทดสอบบนถนนเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีปัญหาสำคัญ และจากนี้ไป เราจะกำหนดคุณสมบัติสำหรับไบโอดีเซล B35” Dadan กล่าวโดยอ้างถึงการทดลองใช้ B40 “หวังว่า B35 จะสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566”

    อินโดนีเซียกำลังทดสอบ B40 สองสูตร สูตรแรกเป็นน้ำมันดีเซลผสมกับเมทิลเอสเทอร์ของกรดไขมัน 40% ( Fatty Acid
    Methyl Ester-FAME) และสูตรที่สองผสมน้ำมันดีเซลกับ FAME 30% ผสมกับน้ำมันดีเซลสีเขียว 10% ที่ทำจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ไม่แยกไข(Refined Bleached Deodorized Palm Oil -RBDPO)