ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครองสูงสุด ยกคดี BTSC ฟ้อง รฟม. ยกเลิกประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

ศาลปกครองสูงสุด ยกคดี BTSC ฟ้อง รฟม. ยกเลิกประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

30 มีนาคม 2023


ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับ ยกฟ้องคดี BTSC ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ – รฟม. ยกเลิกงานประมูล โครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ชี้ พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐกับเอกชน 2562 – ประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ ให้อำนาจคณะกรรมการคัดเลือก – รฟม.ออกข้อสงวนสิทธิในการยกเลิกประกาศเชิญชวน – การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ได้

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BTSC” (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องศาลปกครอง กล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ) ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36) มีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รฟม.) ได้ออกประกาศยกเลิกการคัดเลือกและประกาศเชิญชวนดังกล่าวในเวลาต่อมา โดยคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา “ให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯดังกล่าว และเพิกถอนประกาศของ รฟม.กรณียกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนตามที่กล่าวข้างต้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติ และ รฟม.ออกประกาศยกเลิกการประมูล” ผู้ถูกฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จึงมายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

วันนี้ศาลปกครองสูงสุด “พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้ยกฟ้อง” หลังจากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริง และระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีประเด็นที่สำคัญ ๆดังนี้

ประเด็นแรก ผู้ฟ้องคดี (BTSC) เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหาย อันเนื่องมาจากกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้

ส่วนคำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่า ผู้ฟ้องคดีดำเนินการตามขั้นตอน หรือ วิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อน หรือ เสียหาย ก่อนนำคดีนี้มาฟ้องศาลหรือไม่ ประเด็นนี้ ศาลวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอน หรือ วิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อน หรือ เสียหายก่อนแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 และรฟม.ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจในการยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกหรือไม่

ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณารายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน เอกสารการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมทุนพ.ศ. 2563 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ข้อ 4 กำหนดว่า “ร่างประกาศเชิญชวน อย่างน้อยยต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้ …ใน (9) ระบุว่า “การสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ยกเลิก ประกาศเชิญชวน หรือ เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน หรือ ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนโดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลย หรือ จะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดก็ได้ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือ ค่าเสียหายใดๆจาก รฟม.ได้”

รวมทั้งในประกาศเชิญชวนฯ ข้อ 12.1 กำหนดว่า “ รฟม.สงวนสิทธิ์ตามดุลยพินิจที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนข้อเสนอ หรือ ยกเลิกการคัดเลือก โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลย หรือ จะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์สุทธิที่สูงสุดก็ได้ โดยที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือ ค่าเสียหายใดๆจากรฟม.ได้”

และในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน หรือ ข้อนำนำผู้ยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) 35.1 กำหนดว่า “รฟม.สงวนสิทธิ์ตามดุลยพินิจที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนข้อเสนอ หรือ ยกเลิกการคัดเลือก โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลย หรือ จะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์สุทธิสูงสุดก็ได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือ ค่าเสียหายใดๆจาก รฟม.ได้”

ทั้งนี้ ในบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ได้ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ โดยให้ รฟม.จัดทำร่างประกาศเชิญชวน เอกสารสำหรับการคัดเลือก และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือก ฯ เห็นชอบ โดยให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน เอกสารการคัดเลือก และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมีผลบังคับในขณะที่มีการจัดทำประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ โครงการนี้ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และเอกสารสำหรับการคัดเลือก (เอกสาร RFP)

ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า “บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ได้ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (คณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม.)ในการกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ตามประกาศดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้อคดีทั้งสองได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้นมากำหนดข้อสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกประกาศเชิญชวน และการคัดเลือกเอกชน ตามประกาศเชิญชวนฯข้อ 12.1 รวมถึงเอกสาร REP ข้อ 35.1 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงสามารถอาศัยข้อสงวนสิทธิ์ยกเลิกประกาศเชิญชวน และการคัดเลือกเอกชนดังกล่าวได้”

ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวโดยอำเภอใจ หรือไม่ มีรายละเอียดที่ศาลปกครองสูงสุดต้องพิจารณาวินิจฉัยต่อ ดังนี้

    1.การพิจารณาและวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องการดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากหากการดำเนินการของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้าออกไป นอกจากมีผลกระทบต่อผลตอบแทนด้านการเงินของโครงการส่วนตะวันตกแล้ว ยังจะมีผลทำให้การเปิดบริการส่วนตะวันออกต้องล่าช้าออกไปอีกด้วย ทำให้มีค่าใช้จ่าย Care of Work ของงานโยธาส่วนตะวันออกตลอดเวลาจนกว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในส่วนตะวันตกจะดำเนินการแล้วเสร็จ และมีการคาดการณ์ว่า เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เปิดให้บริการทั้งเส้นทางจะมีผู้โดยสารประมาณ 439,736 คน/เที่ยว/วัน ดังนั้น การเปิดให้บริการล่าช้าจะเป็นเหตุให้สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการจากโครงการตามจำนวนดังกล่าวสูญเสียไป ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการ กรณีจึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ข้อเท็จจริงที่เป็นฐานในการยกเลิกประกาศเชิญชวนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชน จึงถือว่าการพิจารณาและวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว
    2. การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เป็นไปตามหลักการวินิจฉัยทั่วไปที่ยอมรับกันหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อธิบายระยะเวลาความล่าช้าของการคัดเลือก ประกอบกับคดีนี้มีการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหลายสำนวนคดี และคดีดังกล่าวนั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าไม่อาจจะทราบระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลได้อย่างชัดเจน จึงต้องการลดความเสี่ยงโดยการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนที่มีปัญหานั้น ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเรื่องผลกระทบเกี่ยวกับระยะเวลาการคัดเลือกที่ล่าช้าออกไป อีกทั้งเมื่อไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองหยุดการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเอาไว้จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงย่อมมีดุลพินิจที่จะดำเนินการคัดเลือกต่อไปได้ โดยไม่จำต้องรอให้ศาลปกครองวินิจฉัยเป็นประการใดก่อน

    ดังนั้น กรณีการพิจารณาวินิจฉัยยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงต้องถือว่าเป็นการพิจารณาวินิจฉัยตามหลักการวินิจฉัยทั่วไปที่ยอมรับกันได้

    3. การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวโดยยังไม่ได้ดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนรายใดก่อน กรณีนี้จึงไม่อาจจะถือได้ว่า การยกเลิกประกาศเชิญชวนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนดังกล่าว เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคแต่อย่างใด
    และ4. การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัย หรือไม่ ประเด็นนี้ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฎว่า ความล่าช้าของการคัดเลือกเอกชน อันเนื่องมาจากมีการฟ้องร้องคดีต่อศาล ซึ่งก็ปรากฎมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเช่นว่านั้นจริง ไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ไม่อาจจะแยกแยะระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายออกจากเหตุผล และความรู้สึกส่วนตัวได้ และแสดงออกให้เห็นได้ถึงการกระทำที่ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ จนมีผลทำให้เหตุผลและความรู้สึกส่วนตัวมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงมิได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยแต่อย่างใด

    นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว จึงมิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ หากแต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้พิจารณาวินิจฉัยยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว เป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562

“การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในข้อนี้ จึงฟังขึ้น และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจในการยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และได้ใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว …เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย”

สุดท้ายศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า “การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือก มาตรา 36) ตามการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว รวมทั้ง พิพากษาเพิกถอนประกาศผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคักเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ และตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีประกาศดังกล่าวนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นฟ้องด้วย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นให้ยอกฟ้อง

อ่าน คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดียกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ที่นี่

  • รฟม.แจงปมส่วนต่าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ทุกประเด็น ยันคัดเลือกผู้ชนะ – ไม่ได้พิจารณาแค่ผลตอบแทนเท่านั้น
  • “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ปมส่วนต่างเงินอุดหนุน 6.8 หมื่นล้าน
  • ACT จี้รัฐสอบปมส่วนต่างประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 6.8 หมื่นล้าน
  • แก้ TOR ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผิดกฎหมาย-ขัดมติ ครม.หรือไม่?
  • ไทม์ไลน์ข้อเท็จจริง กรณีพิพาทประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”
  • เปิดคำพิพากษา ศาลปกครองยกฟ้องคดีแก้ TOR ประมูล ‘รถไฟฟ้า สายสีส้ม’