ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ส่งชุดเฉพาะกิจสอบปม “ซีเซียม-137” หาย – มติ ครม. กำหนดขอบเขตอำนาจ-หน้าที่รัฐบาลรักษาการ

นายกฯ ส่งชุดเฉพาะกิจสอบปม “ซีเซียม-137” หาย – มติ ครม. กำหนดขอบเขตอำนาจ-หน้าที่รัฐบาลรักษาการ

21 มีนาคม 2023


เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หลังการประชุม ครม. ณ ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ ส่งชุดเฉพาะกิจสอบปม “ซีเซียม-137” หาย
  • ยันไม่พบกัมมันตรังสีปนเปื้อน
  • สั่ง รมว.ท่องเที่ยว แก้ “เฟกนิวส์” ในจีน
  • มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ตั๋วเครื่องบินแพง
  • มติ ครม. กำหนดขอบเขตอำนาจ – หน้าที่รัฐบาลรักษาการ
  • แจง “บัตรคนจน” ยืนยันตัวตนแล้ว 11 ล้านราย เริ่ม 1 เม.ย. นี้
  • รับทราบภัยคุกคามทางไซเบอร์ปี ’65 มี 551 เหตุการณ์
  • แจง 8 ปี แก้ปัญหาที่ดินทำกินไป 5.79 ล้านไร่
  • เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    โดยพลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ ก็มีรัฐมนตรีอวยพร เนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิดของตน ส่วนเรื่องที่เสนอ ครม. วันนี้มีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจในประเด็นข้อกฎหมาย ขอบเขต อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลช่วงรักษาการ อะไรทำได้ ทำไม่ได้ และก็มีหลายเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนดำเนินการ

    “บิ๊กป้อม” อวยพรวันเกิดนายกฯ

    ด้านนายอนุชารายงานว่า ในช่วงแรกของการประชุม ครม. วันนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอวยพรให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในนามของตัวแทนของคณะรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด โดยน้อมจิตอธิษฐานอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ตลอดจนพระสยามเทวาธิราช และพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าพระบรมราชินินาถ โปรดดลบันดาลพระทานพรให้ท่านนายกรัฐมนตรีมีสุขภาพกาย สุขใจที่แข็งแรง มีพละกำลังและสติปัญญาอันเข้มแข็งในการบริหารราชการแผ่นดิน นำพาชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นอุปสรรคและภัยคุกคามต่างๆ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สมดังเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ทุกประการ

    นอกจากนี้ พลเอก ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่นำคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประเทศชาติ-ประชาชนให้ประสบความสำเร็จตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณคำอวยพร และขอให้พรใดที่คณะรัฐมนตรีมอบให้ ขอให้คณะรัฐมนตรีประสบความสำเร็จ และปลอดภัยแข็งแรงเช่นกัน

    พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน ครม. กล่าวอวยพร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด นายกรัฐมนตรี
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    สั่ง รมว.ท่องเที่ยว แก้ “เฟกนิวส์” ในจีน

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้ชี้แจงต่อสื่อมวลชน เนื่องจากวันนี้มีเฟกนิวส์หรือข่าวเท็จเกิดขึ้นในประเทศจีน ว่าการเดินทางมาในประเทศไทยอาจจะเกิดอันตรายต่างๆ ตัวอย่างเช่น การลักพาตัวหรือความไม่ปลอดภัยต่างๆ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย

    มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ตั๋วเครื่องบินแพง

    นายอนุชากล่าวถึงข้อสั่งการปัญหาค่าโดยสารเครื่องบินว่า นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม ครม. ถึงกรณีที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานแจ้งปัญหาเข้ามาว่า ค่าโดยสารหรือค่าตั๋วเครื่องบินมีอัตราสูงขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาปัจจัยที่ทำให้ค่าโดยสารสูงขึ้น ถ้าหากเป็นจริงก็ขอให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน

    อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะท่าอากาศยานต่างๆ เนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้น และถ้าหากต้องมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ก็ขอให้เร่งดำเนินการโดยด่วนโดยเร็ว

    แจง “สารซีเซียม” หาย ยันไม่พบกัมมันตรังสีปนเปื้อน

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการแก้ไขปัญหาสารซีเซียม-137

    นอกจากนี้ นายอนุชาระบุด้วยว่า ช่วงเช้าของวันนี้มีการประชุมคณะกรรมการนิวเคลียร์เพื่อสันติ โดยมีการสรุปรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

    • วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่จังหวัดปราจีนบุรี
    • เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบด้วยเครื่องมือทางรังสีในพื้นที่เกิดเหตุ ร่วมกับสถานประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    • ระดมการค้นหาต่อเนื่องกว่า 1 สัปดาห์
    • วันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี โดยพบเขม่าหรือฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่ไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียมที่เป็นแท่งที่สูญหาย รวมทั้งไม่พบว่าเหล็กที่หลอมไปแล้วมีการปนเปื้อน
    • เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่าง ทั้งน้ำและดินในบริเวณโรงงานโดยรอบมาวิเคราะห์ แต่ยังไม่พบการปนเปื้อน และจากการตรวจวัดรังสีก็ไม่พบการฟุ้งกระจายในอากาศ และไม่มีการฟุ้งกระจายในอาคาร รวมถึงไม่มีการปนเปื้อนออกมาภายนอ
    • ปัจจุบันสารกัมมันตรังสีซีเซียมถูกบรรจุในถุงบิ๊กแบคซึ่งถูกควบคุมและจำกัดพื้นที่แล้ว ไม่พบอันตราย จากพนักงานกลุ่มเสี่ยงซีเซียม-137

    นายอนุชา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบสุขภาพพนักงานในโรงงานกว่า 70 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเก็บตัวอย่างทั้งปัสสาวะและเลือด เพื่อตรวจหาสารกัมมันตรังสีตามวิธีมาตรฐาน ทั้งนี้จากการตรวจสอบแล้ว ยังไม่พบว่ามีประชาชนรายใดมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะเจ็บป่วยจากการได้รับสารกัมมันตรังสี

    นายอนุชาอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติว่า ประเทศไทยมีจุดตรวจวัดกัมมันตรังสีในอากาศ 18 จุด และในน้ำอีก 5 จุด โดยได้ทำการวัดทุกวันอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล

    “จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ายังอยู่ในระดับปกติ ไม่ได้มีเหตุปัจจัยต่างๆ ให้กังวล รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลจากจุดตรวจต่างประเทศในเครือข่าย ก็ไม่พบว่ามีสารปนเปื้อนซีเซียมในสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด” นายอนุชากล่าว

    ส่งชุดเฉพาะกิจสอบปม “ซีเซียม-137” หาย

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสืบหาสาเหตุที่สารดังกล่าวหลุดออกจากพื้นที่ที่จำกัดไว้ โดยสั่งให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการการแก้ไข และปัจจุบันผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รับนโยบายไปแล้ว โดยส่งชุดเฉพาะกิจร่วมกับตำรวจพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายตามอำนาจหน้าที่

    มอบผู้ว่าฯทุกจังหวัด เฝ้าระวัง-ป้องกันฝุ่น PM2.5

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกรัฐมนตรี พูดถึงปัญหา PM2.5 ซึ่งปัจจุบันยังให้หน่วยงานได้เฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบโดยตรงในพื้นที่

    “จากรายงานยังมีจุดความร้อนในประเทศไทยลดลงอย่างมาก ทั้งในส่วนพื้นที่บริเวณภาคเหนือต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้มีประเด็นจุดความร้อนมากกว่าจุดอื่นๆ ส่วนในกรุงเทพมหานคร ขอให้เฝ้าระวัง และรณรงค์ป้องกันฝุ่น PM2.5 จากมาตรการต่างๆ” นายอนุชากล่าว

    เร่งผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพ “Phuket Expo”

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีพูดถึงการลงพื้นที่ที่ภูเก็ตว่าในช่วงนี้ รัฐบาลกำลังเร่งประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพ Phuket Expo ในปี 2028 โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปข้อมูลทั้งหมดในวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 เมืองที่อยู่ในการนำเสนอ และจะมีการลงคะแนนเสียงในเดือนมิถุนายน 2566 นี้

    มติ ครม. มีดังนี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

    รับทราบ พ.ร.ฎ. “ยุบสภา” มีผลแล้ว

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติแทนคณะรัฐมนตรี ในการตราร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อบ่ายวานนี้ (20 มีนาคม 2566)

    พระราชกฤษฎีกา ประกอบด้วย 5 มาตรา มีสาระสำคัญ ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับ

    กำหนดขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ รมต.รักษาการ

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

    • คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่เรียกว่า “รักษาการ” การลงชื่อตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง และยังคงได้รับเงินเดือนแต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
    • คณะรัฐมนตรียังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ มีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศ มาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น

    การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

    (1) การประชุมคณะรัฐมนตรี

    • ประชุมต่อไปได้ตามปกติจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เรื่องที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะกลั่นกรองแล้วเสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อมีมติหรือคำสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป

    (2) การอนุมัติงานหรือโครงการ

    • ไม่อนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่กระทำการใดๆ ที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เช่น การกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติ ที่มีผลต้องดำเนินการต่อเนื่อง

    (3) การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง

    • ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
    • การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

    (4) การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

    • ไม่อนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน หรือทำเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือเป็นการบรรเทาภัยพิบัติแก่ประชาชน และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ซึ่งจะกระทำได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณนอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรร หรือที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วแต่ไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

    (5) การใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐ ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งด้วยวิธีการ ดังนี้

    • ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ ในลักษณะสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
    • จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
    • กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐหรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
    • กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่แจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง
    • กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

    สำหรับการใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรืองบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

    (6) การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้แก่

    • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เช่น ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งการเมือง เรี่ยไร หรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้รับสมัครการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่รวมที่ข้าราชการการเมืองผู้นั้นเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
    • พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ห้ามไม่ให้กระทำการใดๆ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรืองดเว้นการลงคะแนนให้ผู้สมัคร หรือชักชวนไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใด เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร ด้วยการจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันเป็นคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด หรือให้โดยตรงและโดยอ้อมแก่ ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด โฆษณาหาเสียงด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

    (7) การออกกฎหมาย

    • การเสนอร่างกฎหมายใหม่โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นนโยบายไม่สมควรดำเนินการเสนอในระหว่างยุบสภา ร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี ตรวจพิจารณา

    (8) การแต่งตั้งคณะกรรมการ

    • สามารถดำเนินการจัดหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข กระบวนการที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อแต่งตั้งแล้วคณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าว สามารถปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่ละฉบับ อันเป็นงานประจำตามปกติได้

    (9) การปฏิบัติเรื่องอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี

    • กรณีการประชุมสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมทางวิชาการ หากนัดหมายล่วงหน้าก่อนพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับใช้ และเป็นการปฏิบัติตามปกติตามที่เคยปฏิบัติรัฐมนตรีสามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการหาเสียงเลือกตั้ง
    • รัฐมนตรีที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ห้ามใช้เวลาราชการในการหาเสียงเลือกตั้ง หากประสงค์จะใช้เวลาหาเสียงเลือกตั้งให้ลากิจต่อนายกรัฐมนตรี และกรณีนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะลากิจ ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 หมวดการลาของข้าราชการการเมือง
    • การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของรัฐมนตรี ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีการได้รับเชิญไปสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ ในฐานะของตำแหน่งรัฐมนตรีจะให้สัมภาษณ์ได้เฉพาะหน้าที่รัฐมนตรีเท่านั้น

    นอกจากนี้ รัฐมนตรีระมัดระวังในการดำเนินการระหว่างที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลบังคับใช้ ได้แก่ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ที่มีรูปภาพของรัฐมนตรีปรากฏอยู่ ป้ายโฆษณาหรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางวิทยุโทรทัศน์ ควรปลดป้ายหรือยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งหมดเว้นแต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด การใช้รถประจำตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของราชการ ที่ไม่ได้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ของในฐานะรัฐมนตรี การให้สัมภาษณ์รายการวิทยุและโทรทัศน์และการรับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ในรายการที่ทางหน่วยงานราชการซื้อเวลาไว้หรือจัดขึ้นยกเว้นรายการที่สถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช่กิจการของรัฐบาลจัดขึ้นเอง

    (10) การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

    • คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ดังนี้ กรณีรัฐมนตรีมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร) และต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)
    • กรณีรัฐมนตรีไม่มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวปฏิบัติและขั้นตอนนี้ ว่า เป็นการดำเนินงานเป็นการดำเนินการตามมาตรา 169 (2) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคคลของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งพ.ศ. 2563 รวมทั้งยังได้อ้างอิงระเบียบและมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง สำหรับเป็นแนวปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีในระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

    แจง “บัตรคนจน” ยืนยันตัวตนแล้ว 11 ล้านราย เริ่ม 1 เม.ย. นี้

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ประชาชนลงทะเบียนยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วกว่า 11 ล้านราย โครงการลงทะเบียน เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 สำเร็จแล้ว จากจำนวนผู้ผ่านคุณสมบัติทั้งหมดกว่า 14 ล้านคน โดยโครงการลงทะเบียน เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นไปตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการสังคมของภาครัฐให้แก่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการยืนยันตัวตนของผู้ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ (ผู้ผ่านเกณฑ์) ตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) ปี 2565 ณ วันที่ 20 มีนาคม 2566 ว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวนทั้งสิ้น 11,121736 ราย จากจำนวนผู้ผ่านคุณสมบัติทั้งหมด 14,596,820 ราย โดยยังมีผู้ที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตน 3,396,782 ราย และยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ 78,302 ราย

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ สามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 โดยผู้ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 จะได้เริ่มใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันที่ 1 เมษายน 2566 นี้ พร้อมย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังมิจฉาชีพหลอกลวงให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้ได้รับสิทธิตามโครงการฯ และให้ทำธุรกรรมตามคำแนะนำของมิจฉาชีพ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th

    “รัฐบาลได้ดำเนินโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือ และการบูรณาการข้อมูลจากหลายหน่วยงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลสำหรับการจัดสรรสวัสดิการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐให้กับผู้มีรายได้น้อยที่สมควรจะได้รับประโยชน์จากรัฐอย่างแท้จริง” นายอนุชาฯ กล่าว

    เดินหน้าหุ้นส่วนเศรษฐกิจ “ไทย-UAE” เพิ่มยอดการค้า 3 หมื่นล้าน

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates — UAE) ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 6 – 8 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การเดินทางครั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับรัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้านการค้าต่างประเทศในประเด็นต่างๆ เช่น

      1. ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เห็นพ้องที่จะจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement — CEPA) ระหว่างกัน โดยไทยจะผลักดันให้การเจรจาแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ ปัจจุบัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความตกลงลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ได้ข้อสรุปแล้ว 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อิสราเอล อินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างเจรจากับหลายประเทศ เช่น ตุรกี กัมพูชา และเกาหลีใต้
      2. ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน เช่น การจัดตั้งกลไกสภาธุรกิจไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สนใจที่จะลงทุนในไทยด้านอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล และความมั่นคงทางอาหาร
      3. ไทยขอให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สนับสนุนจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 หรืองานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ ซึ่งเป็นงานมหกรรมระดับโลกภายใต้ลิขสิทธิ์ขององค์การนิทรรศการนานาชาติ เพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านต่างๆ ของประเทศเจ้าภาพ ทั้งนี้ องค์การนิทรรศการนานาชาติจะมีการเลือกประเทศเจ้าภาพจัดงานในเดือนมิถุนายน 2566

    นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาซื้อขายสินค้า และบันทึกความเข้าใจระหว่างภาคเอกชนไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังนี้ 1. การลงนามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จ้านวน 5 คู่ ใน 4 กลุ่มสินค้าได้แก่ อาหาร สุขภัณฑ์และกระเบื้องเซรามิค ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์เมลามีน มูลค่ารวม 1,330 ล้านบาท 2. การลงนามจัดตั้งกลไกสภาธุรกิจไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งคาดว่าจะขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 30,000 ล้านบาท และ 3. การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง DP World บริษัทด้านโลจิสติกส์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ภายใต้โครงการ World Logistics Passport ซึ่งเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ประหยัดเวลาขนส่งสินค้าจากการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากร และใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศของ DP World ได้

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า การเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 31,330 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) ระหว่างไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยให้ไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement — CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) คาดว่า จะศึกษาแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 นี้

    รับทราบภัยคุกคามทางไซเบอร์ปี’65 มี 551 เหตุการณ์

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 ตามที่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) เสนอ รายงานฉบับนี้ นำเสนอเกี่ยวกับสถิติเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติตรวจพบมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 551 เหตุการณ์ เช่น

      1. การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์ (Hacked Website) การโจมตีเว็บไซต์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเผยแพร่หน้าเว็บไซต์ (Website Defacement) การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์เพื่อหลอกเอาข้อมูล (Website Phishing) การฝังมัลแวร์อันตรายบนหน้าเว็บไซต์หน่วยงานเพื่อหลอกให้ผู้เข้าถึงเว็บดาวน์โหลดไปติดตั้ง (Website Malware) รวม 367 เหตุการณ์
      2. Ransomware เป็นมัลแวร์เรียกค่าไถ่ที่มีความสามารถเข้ารหัสลับข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเหยื่อได้ รวม 21 เหตุการณ์
      3. Emotet Malware เป็นมัลแวร์ที่มีความสามารถในการขโมยข้อมูลทางการเงิน เช่น รหัสผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ และมีความสามารถในการแพร่กระจายตัวเองผ่านเครือข่ายและการส่งอีเมลหลอกลวง (Phishing mail) รวม 9 เหตุการณ์

    สำหรับหน่วยงานที่ถูกโจมตีด้วยภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น หน่วยงานด้านการศึกษา 211 เหตุการณ์ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ 135 เหตุการณ์ และหน่วยงานด้านสาธารณสุข 67 เหตุการณ์ ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่จะเกิด เช่น 1)การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์หน่วยงานราชการและหน่วยงานสำคัญเป็นรูปแบบที่ถูกตรวจพบมากที่สุด 2)หน่วยงานด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขพบการโจมตีทางไซเบอร์สูงสุด และ 3)อาชญากรทางไซเบอร์ในไทยมีการใช้เทคนิคผสมผสานระหว่าง Phishing และ Social Engineering (เทคนิคการหลอกลวงโดยใช้หลักการพื้นฐานทางจิตวิทยาเพื่อให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูล) ทำให้มีหลากหลายรูปแบบในการหลอกลวงเหยื่อเพื่อให้ได้ทรัพย์สิน

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า รายงานฉบับนี้ ได้เสนอข้อแนะนำการแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ คือ 1.การถูกโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์ หน่วยงานภาครัฐและผู้ดูแลระบบดำเนินการปรับปรุง “แพทช์” ของระบบปฏิบัติการ หรือระบบบริหารจัดการเว็บไซต์ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ (แพทช์ คือ โปรแกรมที่ใช้ซ่อมแซมจุดบกพร่องของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือปรับปรุงข้อมูลโปรแกรมให้ทันสมัย เพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น) 2.การดูแลเว็บไซต์และระบบที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐได้กำหนดนโยบายการดูแลและพัฒนาเว็บไซต์ มุ่งรักษาระบบและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงแนวทางการกำหนดคุณสมบัติเพื่อการจัดจ้างทำเว็บไซต์ 3.หน่วยงานภาครัฐสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนให้ตระหนักรู้ถึงสถานการณ์อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวง 4.การป้องกันความเสี่ยงมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ดำเนินการปรับปรุงแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสำรองข้อมูลและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562

    รับเรื่องร้องทุกข์ ปชช. Q1/2566 รวม 14,439 เรื่อง

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ซึ่ง สปน. ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ต่อไป

    ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.-31 ธ.ค. 65) ประชาชนได้ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวม 14,439 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 12,133 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 84.03 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานเกี่ยวข้อง 2,306 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 15.97 โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า พบว่าเรื่องร้องทุกข์ลดลง 1,039 เรื่อง

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า หน่วยได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมาก 5 อันดับแรก สำหรับส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,430 เรื่อง, กระทรวงคมนาคม 383 เรื่อง, กระทรวงการคลัง 302 เรื่อง, กระทรวงสาธารณสุข 285 เรื่อง และ กระทรวงมหาดไทย 279 เรื่อง

    รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 615 เรื่อง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 127 เรื่อง, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 124 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 109 เรื่อง และการประปาส่วนภูมิภาค 70 เรื่อง ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 ลำดับแรกได้แก่ กรุงเทพมหานคร 767 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 237 เรื่อง สมุทรปราการ 212 เรื่อง ปทุมธานี 203 เรื่อง และชลบุรี 177 เรื่อง ตามลำดับ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อแยกตามเรื่องที่ประชาชนมีการยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การเปิดเพลงเสียงดัง เล่นดนตรีสดของร้านอาหาร สถานบันเทิง การจับกลุ่มสังสรร เสียงดังจากการแข่งรถจักรยานยนต์ รวม 1,576 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 1,487 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 94.35 2)ไฟฟ้า เช่น แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น รวม 696 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 595 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 85.49

    3) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เช่น ขอให้พิจารณาจัดสรรโควตา แจ้งเบาะแสการจำหน่ายเกินราคา ขอให้ตรวจสอบการกว้านซื้อสลากของเอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มจำหน่ายสลากออนไลน์ รวม 644 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 623 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 96.74 4) อุทุกภัย เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉบับพลัน การระบายน้ำจากที่น้ำท่วม เงินเยียวยา เป้ฯต้น รวม 556 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 512 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 93.71 5)โทรศัพท์ เช่น การให้บริการผ่านโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐ เช่น รอสายนาน คู่สายเต็ม รวม 543 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 474 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.29

    6) ยาเสพติด เช่นแจ้งเบาะแสการจำหน่าย 490 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 452 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.24 7) การเมือง เช่น แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในกรแสสังคม รวม 487 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 479 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.36 8) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน ตรวจสอบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน รวม 473 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 314 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 66.38

    9) ถนน เช่น ขอให้ซ่อมแซมถนนที่เป็นหลุมบ่อจากสาเหตุต่างๆ รวม 473 เรื่อง แก้ไขจนได้ข้อยุติ 319 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 82.66 10)ประเด็นเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่นขอความช่วยเหลือจากการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย รวม 320 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 281 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.81

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สปน. ได้ประมวลปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์พบว่าประชาชนมีความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการกำหนดระยะเวลาแก้ไขปัญหาตลอดจนการตอบความคืบหน้าต่อผู้ร้องทุกข์ ขณะเดียวกันประเด็นการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องซ้ำๆ เช่น เสียงดังรบกวน การแข่งจักรยานยนต์ ร้านอาหารเสียงดัง แต่หน่วยงานยังไม่มีมาตรการรับมือ ไม่มีแผนเผชิญเหตุ หรือแมีแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้ จึงได้ขอให้หน่วยงานมีการเน้นการทำงานเชิงรุก วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ เฝ้าระวังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม มีการจัดทำแนวทาง มาตรการและแผนเผชิญเหตุรองรับการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ ตลอดจนมีการบูรณาการฐานข้อมูลและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

    ทางด้านสถานการณ์โควิด19 ที่คลี่คลายแม้จะทำให้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโรคระบาดลดลงแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายประเทศได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หน่วยงานต่างๆ ยังต้องร่วมกันมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด ขณะเดียวกันประชาชนได้ขอให้หน่วยงานรัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เข้มงวด ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ที่มีการแพร่ระบาดหลายพื้นที่ เข้าถึงเยาวชนมากขึ้น รวมถึงปัญหามิจฉาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบกลวิธีต่างๆ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องดำเนินการเพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขต่อไป

    แจง 8 ปี แก้ปัญหาที่ดินทำกินไป 5.79 ล้านไร่

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งได้พิจารณาเรื่องสำคัญต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ดินของประเทศ เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

    ทั้งนี้ ครม. ได้รับทราบถึงผลการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2558-65 ในพื้นที่เป้าหมาย 1,491 พื้นที่ ใน 70 จังหวัด พื้นที่รวม 5.79 ล้านไร่ ใน 9 ประเภทที่ดิน เช่นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร และป่าชายเลน ซึ่งโดยรวมได้จัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว 78,109 ราย ในพื้นที่ 96,536 แปลง เนื้อที่ 5.29 แสนไร่ ใน 354 พื้นที่

    พร้อมกันนี้ มีความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิรูปประเทศในด้านการสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน ซึ่งสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้มีแนวทางดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบในการจัดที่ดินเพื่อลดข้อจำกัด ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดแนวทางการประเมินมูลค่าที่ดินและทรัพย์สินที่รัฐจัดให้ประชาชน การให้มีระบบสถาบันการเงินให้สินเชื่อระยะกลางและระยะยาวให้แก่ประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินของรัฐ มีระบบประกันความเสี่ยงในการอำนวยสินเชื่อ เป็นต้น

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ยังได้รับทราบถึงกรณีที่ คทช. ได้เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4000 (one map) ในพื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด รวมถึงการแก้ไขปัญหากรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐฯ ดังกล่าว การแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจังหวัดนครราชสีมา และปราจีนบุรี ตลอดจนกรณีข้อพิพาทกรณีป่าสงวนแห่งชาติป่าพระแท่นดงรัง ในพื้นที่ต.พระแทน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

    รวมทั้ง ติตดามการแก้ไขปัญหากลุ่มประชาชชนร้องขอที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี โดย คทช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบที่ดินของรัฐพิจารณานำเสนอที่ดินของรัฐแปลงว่างที่หมดอายุสัมปทานและไม่มีแผนการดำเนินงานในพื้นที่ เสอนเป็นพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนต่อไป

    จับมือ 4 ประเทศ ปราบโกงออนไลน์ – พัฒนาเมืองอัจฉริยะ

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Digital Ministers’ Meeting: ADGMIN ครั้งที่ 3) และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เกาะโบราไคย์ ฟิลิปปินส์ โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีและผู้ที่ได้รับมอบหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศร่วมกับประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ : ITU) และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมฯ

    สรุปผลการประชุมฯ มีรายละเอียดดังนี้

      1. การร่วมแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงและแลกเปลี่ยนมุมมองภายใต้หัวข้อ การผนึกกำลังสู่อนาคตดิจิทัลที่ยั่งยืนโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 และแบ่งปันข้อมูล การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของไทย และเน้นย้ำถึงความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลกเกี่ยวกับผลกระทบจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มาพร้อมกับการเร่งการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล
      2. การผลักดันประเด็นสำคัญเร่งด่วนของไทย ไทยได้เสนอกิจกรรมความร่วมมือภายใต้คณะทำงานด้านการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ของอาเซียน เช่น 1. การประสานงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และ 2. การสร้างเครือข่ายอาเซียนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำมาตรการเพื่อปกป้องประชาชนจากการหลอกลวงทางออนไลน์
      3. การรายงานผลการดำเนินงานสำคัญปี 2565 รับทราบผลงานความสำเร็จของโครงการสำคัญประจ้าปี 2565 เช่น 1. รายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน และ 2. แนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ
      4. การรับทราบผลการประชุมคณะกรรรมการประสานงานอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ครั้งที่ 3 ในส่วนของกรอบการประชุมสภาปฏิบัติการอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยบนเครือข่าย ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนดิจิทัล มีกิจกรรมและการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น โครงการศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และบริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ
      5. การอนุมัติงบฯ ประจำปี 2566 ไทยได้รับอนุมัติงบฯ จากกองทุน ASEAN ICT Fund จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการ Towards ASEAN regional analysis: ASEAN Guidelines and Preparation on conducting digital statistics for economy-wide CGE database and bridging-digital-divide integrated simulation จำนวน 57,900 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการระยะที่สอง สืบเนื่องจากโครงการระยะแรกในปี 2564 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางสำหรับการบริหารจัดการสถิติดิจิทัลสำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับแบบจำลองคำนวณดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium: CGE) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการลดช่องว่างด้านดิจิทัลของอาเซียนได้อย่างครอบคลุมและบูรณาการ
      6. เอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 ได้มีการรับรอง ให้ความเห็นชอบ และรับทราบเอกสาร จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ 1.รับรองปฏิญญาดิจิทัลโบราไคย์ 2.เห็นชอบกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน 3.เห็นชอบร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย:กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน 4.เห็นชอบแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง 5.รับทราบแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ และ 6.รับทราบรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฯ ยังไม่มีการพิจารณาการลงนามเอกสารฉบับดังกล่าว เนื่องจาก ITU อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างเอกสารดังกล่าว
      7. การประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 กับคู่เจรจา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบต่อแผนงานความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแสวงหาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ และการพัฒนาศักยภาพในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์
      8. การจัดการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4 สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และมีกำหนดการจะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567
      9. บทบาทของคณะผู้แทนไทย เช่น เร่งรัดการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน และได้ผลักดันข้อเสนอการจัดตั้งคณะทำงานด้านการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    “และด้วยความโดดเด่นด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศไทยภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้ในการประชุมครั้งนี้ได้รับความความร่วมมือจากต่างประเทศ 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และจีน ในการหารือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในประเด็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยี 5G โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงปลอดภัยไซบอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล การจัดการปัญหาหลอกลวงออนไลน์ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และยังประสบความสำเร็จในการหารือทวิภาคีของปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในระหว่างการประชุม ADGSOM ครั้งที่ 3 กับ 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และได้รับการสนับสนุนจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council หรือ USABC) ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และความร่วมมือด้านดิจิทัลต่างๆ” นางสาวทิพานัน กล่าว

    ตั้งอนุกรรมการหนุน “Soft Power” ผ่านสื่อบันเทิง

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี : การนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศในลักษณะ “Soft Power” ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินการในด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะ Soft Power โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯ (ในคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ เสนอนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์ รวมถึงกำหนดมาตรการและแนวทางสนับสนุนการดำเนินงาน และจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงฯ เพื่อใช้สื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สินค้าและบริการของประเทศ รวมทั้งจัดให้มีมาตรการด้านภาษี โดยเตรียมมาตรการการลดหย่อนภาษีหรือมาตรการทางการเงินในการจูงใจให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า บริการ และกำหนดกลยุทธ์การส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศ โดย (ร่าง) แผนดังกล่าวเข้าข่ายเป็นแผนระดับที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศด้วย Soft Power มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วในคราวประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 65 และ 29 พ.ย. 65 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเสนอ ครม. ต่อไป

    สำหรับความคืบหน้าด้านการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม นั้น ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power (ในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ) เพื่อกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน Soft Power เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ยกระดับสถานะทางอาชีพทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากรในภาคศิลปวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น และจัดทำ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนโดยมีกรอบแนวทางที่สำคัญ เช่น การศึกษาและจัดทำจุดยืนของประเทศในการขับเคลื่อน Soft Power เพื่อให้เกิดการจดจำในสายตาประชาคม โดยจะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับไทยในความคิดของชาวต่างชาติทั่วโลก และศึกษาแนวโน้มและสภาพการตลาดของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมไทยที่มีศักยภาพ

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2566 เพิ่มเติม