ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนชีวิตจากตำราเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 3): ทำไมควรเดินทางสายกลาง

บทเรียนชีวิตจากตำราเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 3): ทำไมควรเดินทางสายกลาง

28 กุมภาพันธ์ 2018


ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/coins-banknotes-money-currency-1726618/

จากที่ผู้เขียนร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์มา 9 ปี และใช้ชีวิตมาจะครบ 30 ปีแล้ว พบว่าแม้หลายอย่างในตำราจะไม่ค่อยมีประโยชน์โดยตรงนักในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะมัน “obvious” (ชัดเจน) อยู่แล้ว หรือมันซับซ้อนเกินไป แต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตจริงมักจะโผล่เข้ามาอย่างเป็นประจำ คอยย้ำอยู่นั่น มันทำให้เราคิดว่า “อืม…เป็นอย่างนั้นจริงๆ อีกแล้วแฮะ”

บทความซีรีส์นี้จะหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากตำราเศรษฐศาสตร์ที่ผมมองว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตจริงมาเล่าผ่านประสบการณ์จริง เผื่อจะไปเป็นประโยชน์ต่อชีวิตผู้อ่านไม่มากก็น้อยครับ

ตอนที่ 1: ผู้อ่อนไหวคือผู้ชนะ

ตอนที่ 2: สะสมอำนาจและอยู่ให้ถูกตลาด

ผมคิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ (เสียดายโนเบลเกิดไม่ทัน!)

ตอนเด็กๆ มักเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าชีวิตคนเราควรเอาแต่พอดี อย่ามากไปน้อยไป เดินทางสายกลางแล้วจะมีสุข

นี่คือสิ่งที่อยู่ในหนังสือเรียนวิชาพุทธศาสนา อยู่ในบทสนทนาระหว่างผู้ใหญ่ ผมตอบข้อสอบได้ สะกดคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ได้ ผงกหัวรับคำสอนได้ แต่ไม่เคยเข้าใจด้วยตัวเองอย่างถ่องแท้ว่าทำไมทางสายกลางถึงเป็นวิถีที่น่าเดิน ทำไมมันถึง “จริง” สำหรับชีวิตคนหลายคน

เวลาผ่านไปนับสิบปี ในขณะที่ภาพลักษณ์ของสาขาเศรษฐศาสตร์ในสายตาคนหมู่มากยังคงเป็น “ศาสตร์แห่งการ maximize profit” กลับเป็นเศรษฐศาสตร์เองที่ทำให้ผมเข้าใจหลักทางสายกลางจากมุมมองใหม่โดยไม่รู้ตัว

กฎเหล็กกฎหนึ่งในวิชาเศรษฐศาสตร์คือ เราควรทำให้สมการ “MB = MC” จริง นั่นก็คือประโยชน์ส่วนเพิ่ม (marginal benefit) เท่ากับ ต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost)

แปลเป็นภาษาทั่วไปก็คือ การที่เราจะทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง เช่น การออกไปทำมาหากิน ควรจะทำมันในปริมาณที่ประโยชน์ที่เราได้จากการไปทำงานมากขึ้นอีก 1 ชั่วโมง เท่ากับต้นทุนที่เราใช้ไปในการทำงานเพิ่มขึ้นใน 1 ชั่วโมงนั้น ต้นทุนที่ว่านี้อาจจะเป็นความเหนื่อยล้า ความเครียด ฯลฯ

ทำไม?

ที่ควรทำให้ถึงจุดที่ประโยชน์ส่วนเพิ่มเท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่ม ก็เพราะว่าถ้าการทำงานเพิ่มอีก 1 ชั่วโมงแล้วคิดว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าโทษ ก็ควรทำ 1 ชั่วโมงนั้นเพิ่มเสีย ไม่มีเหตุผลที่คุณควรหยุดทำงานไว้แค่นั้น กลับกัน ถ้าหากการทำงานเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมงดูแล้วน่าจะได้โทษมากกว่าประโยชน์ก็ไม่ควรทำงาน 1 ชั่วโมงนั้นเพิ่ม ควรค่อยๆ ลดการทำงานลง

ชั่งใจและปรับความทุ่มเทจนกระทั่งประโยชน์เท่ากับโทษ เมื่อนั้น เราจะพบจุดสมดุลในการทำกิจกรรมนั้นเอง

ที่น่าคิดคือหลักการนี้มักจะได้ผลในแทบทุกกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเสพสิ่งบันเทิง การรับประทานอาหาร การไดเอท การใช้เวลากับใครบางคน ฯลฯ เนื่องจากประโยชน์ที่เราได้รับจากการกระทำสิ่งเหล่านี้มักจะน้อยลงทุกครั้งที่เราทำมันเพิ่ม ในขณะที่ต้นทุนมักไม่ได้ลดลง คือยังพอได้ประโยชน์ แต่ประโยชน์น้อยลงเรื่อยๆ ทุกครั้งถัดไปที่ทำ

ตัวอย่างที่พวกเราน่าจะเคยสัมผัสกันทุกคนก็คือการซื้อน้ำอัดลมมาดื่มยามกระหาย อึกแรกที่เราได้ลิ้มรสของโคล่าเย็นๆ ในปากมักจะมีรสชาติดีที่สุดเสมอ รู้สึกสดชื่นมากกว่าอึกหลังๆ มาก

เวลาไปทานบุฟเฟต์ก็เช่นกัน จานแรกๆ มักจะทำให้เรารู้สึกดีกว่าตอนหิวๆ ผิดกับจานหลังๆ ที่เราทานไปก็ผะอืดผะอมไปเพราะเราอิ่มเกินไปแล้ว

ในหลายย่อหน้าที่ผ่านมา เราพูดถึงระบบความคิดในการลงทุน ลงน้ำลงแรงกับกิจกรรมแต่ละกิจกรรมแยกเป็นกิจกรรมเดี่ยวๆ ให้สมเหตุสมผลที่สุดในมุมมองเศรษฐศาสตร์ แต่ถ้าจะไปให้สุด จริงๆ ก็ควรหาจุดสมดุลระหว่างทุกกิจกรรมด้วย

เพราะในชีวิตประจำวันนั้นเรามี “เส้นทาง” ให้เราบริโภคกิจกรรมและสิ่งของเป็นล้านๆ เส้นทางในทุกวินาทีของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจกินข้าว ดื่มน้ำ ออกกำลัง กินกาแฟ เล่นเกม เลี้ยงลูก ใช้เวลากับแฟน ใช้เวลากับพ่อแม่ ไปทำงาน นั่งพัก ไปเที่ยว ฯลฯ ด้วยทรัพยากรที่จำกัด (เวลา เงิน แรงกาย แรงใจ)

ในมุมมองของผู้เขียน รูปแบบการใช้ชีวิตที่สมเหตุสมผลที่สุดจึงเป็นรูปแบบที่สัดส่วนของ MB กับ MC ของแต่ละสิ่งของและกิจกรรมที่คุณบริโภคหรือคิดจะลงมือทำมันเท่ากันหมด (จะทำแบบนี้ได้ก็แปลว่าคุณต้องสามารถแปลประโยชน์และโทษให้เป็นหน่วยเดียวกันเพื่อนำมาเทียบกันให้หมดได้)

คงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์เราจะวางแผนการบริโภคแบบนั้นได้ในชีวิตจริง เพราะว่ามันยากเหลือเกินที่เราจะสามารถเปลี่ยนทุกความรู้สึก สุขหรือทุกข์ ให้มาเป็นหน่วยเดียวกันและวิเคราะห์คำนวณออกมาได้อย่างแม่นยำในทุกๆ ห้วงเวลาว่าเรากำลังอยู่บนเส้นทางการบริโภคและการผลิตที่ดีที่สุดแล้ว

แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ผมมองว่ายังดีที่มี “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือที่เรารู้จักกันว่า “ทางสายกลาง” มาช่วยให้มนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆ พอที่จะเข้าใกล้จุด optimal ด้านบนได้อยู่บ้าง

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าวันหนึ่งเราสำนึกขึ้นมาได้ว่าเราทำงานหนักมากเลยในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำงานหนักมากเสียจนอีกหนึ่งชั่วโมงของการทำงานต่อไปจะทำให้สัดส่วน MB/MC ของการทำงานเริ่มไม่คุ้มแล้วเมื่อเทียบกับสัดส่วน MB/MC จากการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว

นั่นก็คือ ที่ผ่านมาชีวิตเราสุดโต่งเกินไป ทำงานมากเสียจนเลยจุดที่ “คุ้ม” ไปแล้วนั่นเอง

แล้วจะทำอย่างไรดีเมื่อสัดส่วน MB/MC ไม่เท่ากันระหว่างสองกิจกรรม? ทั้งหลักเศรษฐศาสตร์และมัชฌิมาปฏิปทาเห็นตรงกันและบอกให้คนเราทำงานให้น้อยลงและหันไปใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ทำเช่นนั้นสักพักแล้วสัดส่วน MB/MC ของทั้งสองกิจกรรมก็จะกลับมาใกล้หรือเท่ากันได้ในที่สุด

ในทางกลับกัน สัดส่วน MB/MC บางทีก็เปลี่ยนไปอีกทางได้ตามกาลเวลา ยกตัวอย่างเช่น เวลาเศรษฐกิจดี หุ้นกำลังขาขึ้น งานกำลังมา การที่สัดส่วน MB/MC จากการทำงานมันจะเพิ่มขึ้นมามากกว่าสัดส่วน MB/MC จากการอยู่กับครอบครัว หรือกิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆ ก็เป็นไปได้ อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ว่าบางทีคนเราจะเร่งการทำงาน เก็บเงิน และผ่อนด้านอื่นลงในเวลาแบบนี้ จึงไม่แปลกที่มีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่าเวลาเศรษฐกิจดีขึ้นสุขภาพคนกลับแย่ลง ออกกำลังน้อยลงเนื่องจากออกไปฉวยโอกาสทำงานมากขึ้นก็มี

บทเรียนที่ผมได้จากตำราเศรษฐศาสตร์ครั้งนี้ก็คือ เราควรหมั่นประมาณตนและไม่ใช้ชีวิตในรูปแบบที่สุดโต่งเกินไป เอาแต่พอควร ทำเช่นนั้นชีวิตเราจะดีขึ้นเอง โดยเป็นบทเรียนที่ดูภายนอกแบบผิวเผินอาจเป็นอะไรที่ “ก็รู้ๆ กันอยู่” แต่ไส้ในของตรรกะที่ทำให้มัน “เวิร์ก” กลับไม่ได้ obvious ขนาดนั้น