ThaiPublica > คอลัมน์ > 10 ยุทธศาสตร์การค้าเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

10 ยุทธศาสตร์การค้าเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

27 ธันวาคม 2022


ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

จากบทความก่อนหน้านี้ที่ผมได้เขียนถึงบทบาทของ “การค้าระหว่างประเทศกับการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ” การใช้นโยบายการค้าเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อมนั้น จำเป็นที่นโยบายการค้าจำเป็นต้องบรรลุวัตถุประสงค์หลักใน 3 ด้านดังต่อไปนี้

1)การค้าต้องสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างสูงให้กับประเทศ (Creating Economic Opportunities) ให้กับประเทศ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้เป็นเพียงเฉพาะการขยายปริมาณการค้าผ่านการเปิดเขตการค้าเสรีเท่านั้น แต่ควรเป็นการเพิ่มคุณค่าของการค้าผ่านสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงผ่านการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค และลดอุปสรรคทางการค้าในรูปแบบต่างๆ

2)นโยบายการค้าต้องสร้างโอกาสในการให้กับบุคคลต่างๆ ในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน (Ensuring Inclusiveness and Creating Opportunity) เพื่อให้แน่ใจว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการค้าจะตกอยู่กับผู้ด้อยโอกาสเพื่อที่จะส่งเสริมการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ด้อยโอกาส และสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตสินค้าทั้งกับเกษตรกร วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงผู้ประกอบการท้องถิ่นซึ่งจำเป็นต้องอาศัยนโยบายภายในประเทศแต่ละประเทศควบคู่กันไปเช่นนโยบายการสร้างงาน นโยบายคุ้มครองสวัสดิการทางสังคม นโยบายด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข เป็นต้น

3)นโยบายการค้าควรมีส่วนช่วยในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชน (Protecting Environment and Community) และรักษาสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคซึ่งรวมไปถึงนโยบายทางด้านภาษีและไม่ใช่ด้านภาษี ในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้โดยตรง

โดยในการที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละด้าน ผู้กำหนดนโยบายของกลุ่มประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสามารถกำหนดนโยบายการค้าทั้ง 10 ด้านเพื่อที่จะสามารถส่งผลต่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดังนี้

1.สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีในภูมิภาค – การปรับลดภาษีและไม่ใช่ภาษีจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในด้านการลดความยากจน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการจ้างงาน โดยจากที่ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงล้วนได้ทำการยกเลิกกำแพงภาษีระหว่างกันแล้ว ผ่านการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ปัญหาก็คือ แต่ละประเทศยังใช้ประโยชน์ทางด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีจากข้อตกลงดังกล่าวน้อยมาก ซึ่งจะเป็นการเสียโอกาสในการขยายมูลค่าการค้าสินค้าและบริการระหว่างภูมิภาค รวมไปถึงยังเสียโอกาสต่อการใช้การค้าเป็นเครื่องจักรที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศสมาชิก

2.ลดอุปสรรคทางการค้าและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า – โดยถึงแม้ว่า การค้าระหว่างประเทศจะช่วยสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในการลงทุน สร้างงานใหม่ๆ อันส่งผลต่อการลดปัญหาความยากจนและขจัดความหิวโหยได้ดีในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ด้วยความไม่สะดวกทางการค้าที่ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญระหว่างประเทศอนุภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จึงทำให้เกิดต้นทุนทางการค้า (Trade Cost) อันนำมาสู่การจำกัดมูลค่าการค้าร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งอุปสรรคทางการค้าดังกล่าวรวมไปถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกระหว่างอนุภูมิภาค โดยเฉพาะกับประเทศเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชาซึ่งยังมีศักยภาพทางโลจิสติกไม่ดีพอ การสร้างระบบการเชื่อมต่อของการขนส่งทางเรือ (Marine Connectivity) การลดระยะเวลาและขั้นตอนที่ซับซ้อนในการดำเนินการส่งออกและนำเข้าสินค้า

3.สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย – โดยควรที่จะลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจผ่านนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การลดขั้นตอนการขอใบอนุญาต การขอสาธารณูปโภค รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ของนักลงทุนจากประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงด้วยกัน โดยนอกจากการลงทุนจากต่างประเทศจะสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน และการพัฒนานวัตกรรมแล้ว การลงทุนจากต่างประเทศยังสามารถช่วยสร้างโอกาสแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้ได้รับประโยชน์จากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับระบบห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain)

นอกจากนี้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศระหว่างประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคด้วยกันยังช่วยส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมในอนุภูมิภาค เช่นการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา การส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ และยังช่วยสร้างโอกาสในการเข้าร่วมห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาคแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก เป็นต้น

4.ใช้นโยบายที่ไม่ใช่ด้านภาษีที่จะเชื่อมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้โดยตรง – โดยนโยบายที่ไม่ใช่ภาษีที่สำคัญและจะส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็คือ การบังคับใช้นโยบายความตกลงว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Standard: SPS) ซึ่งสามารถกำหนดมาตรการที่จะเฉพาะเจาะจงและนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้โดยตรง เช่นการกำหนดมาตรฐานด้านสุขอนามัยของสินค้าเกษตรกรรมที่จำเป็นต้องปลอดจากการใช้ยาปราบศัตรูพืชและสารพิษ รวมไปถึงมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ นโยบายนี้ยังรวมไปถึงการแสดงฉลากของอาหารประเภท GMO มาตรการกำกับการผลิตและการนำเข้าสินค้าที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และมาตรการการส่งเสริมการค้าที่อยู่ภายใต้ระบบ Carbon Footprint เป็นต้น

5.ส่งเสริมการค้าชายแดนและพัฒนาช่องทางทางการตลาดผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กโทรนิกส์ – นอกจากช่องทางการค้าตามปกติแล้ว การค้าชายแดน (Border Trade) ควรมีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสให้แก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับสินค้าที่มาจากชุมชน เช่นสินค้าหนึ่งอำเภอหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของประเทศไทย หรือผลิตผลทางการเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะมีกิจกรรมในการค้าขายในจังหวัดชายแดนอยู่แล้วก็ตาม แต่สินค้าที่ค้าขายส่วนใหญ่นั้นกลับเป็นสินค้าในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในขณะที่สินค้าที่มาจากชุมชนหรือจากผู้ประกอบการท้องถิ่นเองยังไม่ได้มีการซื้อขายผ่านช่องทางนี้มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ควรพัฒนาช่องทางการขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กโทรนิกส์ (Electronic Commerce) เพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการขยายโอกาสทางการตลาดให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงการโดยภายใต้เศรษฐกิจพิเศษนี้ควรดำเนินการประกอบกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาค อันส่งผลต่อการสร้างชุมชนเมือง

6.พัฒนาระบบการจ่ายเงินหรือโอนเงินระหว่างประเทศสมาชิก – ควรพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กโทรนิกส์ (E-Payment) ระหว่างอนุภูมิภาค โดยให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารเพื่อให้เกิดระบบการชำระที่สินค้าและบริการมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการชำระเงิน นอกจากนี้ควรพัฒนาระบบการโอนเงินข้ามประเทศระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคนี้เพื่อสนับสนุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต เช่นการเพิ่มปริมาณเงินส่งกลับของแรงงานข้ามชาติเพื่อที่ประเทศผู้ส่งแรงงานจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากเงินส่งกลับนั้น รวมไปถึงยังสนับสนุนให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคด้วยกัน

7.สร้างผู้ประกอบการและยกระดับทักษะของผู้ประกอบการในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้ประกอบการหญิง – การค้าระหว่างประเทศควรมีส่วนช่วยในการลดการผูกขาดและสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น โดยภาครัฐควรเน้นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่นและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการท้องถิ่นนั้นให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยส่วนใหญ่ยังจัดตั้งอยู่แค่ในเขตเมืองจึงไม่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่นมากเท่าที่ควร การพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในชุมชน (Creative Rural Economy) เองก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชนบท สร้างงานในชุมชม โดยเฉพาะจะเป็นการช่วยเหลือแรงงานที่ด้อยโอกาส เช่น คนชรา เด็ก และผู้หญิง เป็นต้นนอกจากนั้น ในมิติของการปกป้องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นจะส่งเสริมให้เกิดการหวงแหนและช่วยในการรักษาและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่คนในท้องถิ่นนอกจากในเชิงปริมาณแล้ว การสร้างผู้ประกอบการและยกระดับทักษะของผู้ประกอบการนี้ควรรวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกต่อการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้ประกอบการที่มีจิตใจต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กันไปนอกจากนี้ งานศึกษาจำนวนหนึ่งยังสนับสนุนนโยบายการสร้างผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง เนื่องจากนอกจากจะช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำแล้ว การดำเนินธุรกิจโดยผู้ประกอบการหญิงยังมีความรอบคอบ นิยมการพัฒนาองค์กร ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวได้ง่ายขึ้น

8.ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย – การเคลื่อนย้ายแรงงานนอกจากที่จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งกับประเทศผู้ส่งแรงงาน (เช่นค่าจ้างและโอกาสในการทำงาน การใช้ประโยชน์จากเงินส่งกลับของแรงงาน) และประเทศผู้รับแรงงาน (เช่นการขยายกำลังการผลิต และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) แล้ว ยังสามารถสร้างประโยชน์ทางสังคมจากการรักษาความมั่นคงภายในประเทศและปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติเองให้ปลอดภัยจากขบวนการการค้ามนุษย์ ทั้งนี้สามารถพิจารณาดำเนินนโยบายการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมกับนายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ (Migrant Levy) เพื่อลดโอกาสในการสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานข้ามชาติกับแรงงานในประเทศนอกจากนี้ควรลดอุปสรรคในการโอนเงินระหว่างภูมิภาคเพื่อที่จะให้แน่ใจว่าครัวเรือนจากประเทศต้นทางจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานดังกล่าวโดยเป็นสิ่งจำเป็นที่ทั้งประเทศผู้ส่งแรงงานและประเทศผู้รับแรงงานจะต้องทำงานประสานกันทั้งในด้านการเตรียมความพร้อมด้านทักษะ การพัฒนาฝีมือแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น

9.ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตและยกระดับผลิตภาพการผลิต – โดยนโยบายการค้า ควรให้ความสำคัญกับการยกระดับผลิตภาพทั้งผลิตภาพด้านการผลิตสินค้าจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมนี้จะให้ความสำคัญกับการยกระระดับสินค้าในระบบห่วงโซ่มูลค่า โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางของการยกระดับสินค้า ที่จากเดิมประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมักทำหน้าที่เพียงการเป็นผู้ว่าจ้างการผลิตจากการใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มครบวงจรการผลิตอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้า และการเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่าย โดยช่องทางหนึ่งที่สำคัญก็คือ การสร้างความเชื่อมโยงของสินค้าสร้างสรรค์ที่ผลิตจากชุมชนไปสู่การค้าระหว่างประเทศ เช่นการส่งออก การท่องเที่ยว อันจะส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้โดยตรง และในท้ายสุดต้องพยายามพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคจากเดิมที่เป็นประเทศผู้รับจ้างการผลิตไปสู่การเป็นประเทศที่เป็น “ชาติการค้า” (Trading Nations)

10.ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศอนุภูมิภาคในอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง – ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมนโยบายการช่วยเหลือด้านการค้า (Aid for Trade) และการพัฒนาเครือข่าย(Network Development) เพื่อสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละสาขา นอกเหนือจากความร่วมมือเพียงในระดับรัฐบาล โดยการกำหนดกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานร่วมกัน การมีมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 17 ที่ว่าเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มีการสร้างพันธมิตรพันธมิตรในการออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว และการจัดแพ็คเกจการท่องเที่ยว สำหรับการพัฒนาพันธมิตรที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาจากห่วงโซ่คุณค่าของการท่องเที่ยว (Tourism Value Chain) พันธมิตรจะช่วยส่งเสริมการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และสังคมของแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันได้ อาทิ การร่วมมือกันระหว่างธุรกิจสายการบินของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะทำให้เกิดการเข้าถึงฐานข้อมูลลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังขยายไปถึงอุตสาหกรรมที่จะส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรงเช่น ด้านพลังงานทางเลือก ด้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในการที่จะปรับรูปแบบการค้าระหว่างประเทศให้มีบทบาทต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ควรต้องระบุมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางลบจากการค้าระหว่างประเทศโดยคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบในมิติของรายครัวเรือน (Household Level) หรือในมิติของบุคคล (Individual Level) มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรระบุผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เนื่องจาก การพิจารณาในมิติของผู้ได้ผลกระทบจากการเรียกร้องของภาคธุรกิจหรือรายบริษัท (Firm-Level) อาจจะทำให้เกิดความบิดเบือนในการพิจารณาผลกระทบทางลบจากการค้าได้ ยกตัวอย่างเช่น ภาคธุรกิจมักจะเป็นภาคที่มีอำนาจของการต่อรองและออกมาส่งเสียงว่าการค้าระหว่างประเทศจะส่งผลกระทบทางลบต่อบริษัทของตนอย่างไรบ้าง ในขณะที่แรงงาน ครัวเรือน หรือชุมชน มักจะไม่มีโอกาส (หรือมีแรงจูงใจที่น้อยกว่า) ในการออกมาเรียกร้องผลกระทบทางลบจากการค้าระหว่างประเทศดังกล่าว ความเข้าใจที่คาดเคลื่อนนี้อาจส่งผลทำให้ประเทศดำเนินมาตรการเยียวยาที่บิดเบือนได้