ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
หากจะว่าไปแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นเจริญเติบโตแบบพรวดพราดรวดเร็ว หรือค่อยเป็นค่อยไปอย่างยั่งยืน
เกือบสามสิบปีแล้วที่กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาเริ่มหันมาจัดระเบียบตัวเองและพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งการแข่งขันทางการค้า การแผ่อิทธิพลของประเทศจีนที่สร้างจักรวรรดินิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ รวมถึงโลกาภิวัตน์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยียุคดิจิทัล
กานา (Ghana) นับเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจในกลุ่มประเทศ emerging countries ของแอฟริกา
ชัยภูมิที่ตั้งของกานานั้นตั้งอยู่บริเวณแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีทั้งหมด 16 ประเทศ เช่น ไอวอรีโคสต์ (โกตดิวัวร์) เซเนกัล ไนจีเรีย และไลบีเรีย
กานา เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ เดิมมีชื่อว่า Gold Coast… อังกฤษสนใจกานาเพราะมีทรัพยากรสำคัญ คือ ทองคำและโกโก้
การที่กานาตกเป็นอาณานิคมอังกฤษมายาวนาน ทำให้อังกฤษวางระบบและระเบียบแบบแผนที่ดีหลายเรื่อง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1957 กานาเป็นชาติแรกในแอฟริกาที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ
กานามีประชากรราวๆ 25.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมืองเชื้อสายอากาน (Akan) มีเมืองหลวงชื่ออักกรา (Accra) และใช้สกุลเงินเซดิ (Cedi)
BBC country profile ได้สรุปเรื่องราวของกานาไว้น่าสนใจ กล่าวคือ กานาเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เป็นต้นมา และเสถียรภาพทางการเมืองนี้เองที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญให้กานาสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1957 แล้ว… การเริ่มต้นประเทศใหม่ด้วยตัวเองทำให้เกิดการแทรกแซงจากกองทัพอยู่เสมอๆ คล้ายกับหลายประเทศในทวีปแอฟริกา
นับตั้งแต่ได้รับเอกราช กานาเกิดการรัฐประหารไปแล้ว 5 ครั้ง เกิดกบฏ 1 ครั้ง โดยรัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1981 โดยนาวาอากาศโท เจเรไมอาห์ (เจอร์รี) รอว์ลิงส์ (Flight Lieutenant Jerry Rawlings)
เจอร์รี รอว์ลิงส์ เป็นลูกครึ่งที่มีพ่อเป็นชาวสกอตแลนด์และมีแม่เป็นชาวกานา เขาเป็นเด็กฉลาด มีภาวะผู้นำสูง จนกระทั่งสอบเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกานา และถูกส่งไปเรียนเป็นนักบิน
ช่วงที่รอว์ลิงยังอยู่ในกองทัพ สภาพเศรษฐกิจกานานั้นย่ำแย่อย่างหนัก ความยากจนข้นแค้นทำให้ประชาชนอดอยาก รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ เงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 140% เกิดการคอร์รัปชันกันมโหฬาร
พูดง่ายๆ คือ ช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ประชาชนชาวกานาแทบไม่มีความหวังอะไรกับประเทศนี้เลย… จนกระทั่งในปี 1979 รอว์ลิงส์ปลุกระดมผู้คนขึ้นมาสู้แต่ล้มเหลวทำให้กลายเป็นกบฏ โดนจับและถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต
แต่ชีวิตของรอว์ลิงส์เหมือนถูกลิขิตมาแล้ว… ระหว่างที่ติดคุกอยู่นั้น เขาได้รับการช่วยเหลือให้แหกคุกและกลับมาก่อการรัฐประหารใหม่อีกครั้ง ในฐานะผู้นำกองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติซึ่งเรียกตัวเองว่า Armed Forces Revolutionary Council หรือ AFRC
เดือนธันวาคม ปี 1981 AFRC นำโดยรอว์ลิงส์ประสบความสำเร็จในการโค่นรัฐบาลนายฮิลลา ลิมานน์ (Hilla Limann) และรอว์ลิงส์เริ่มปฏิบัติการเก็บกวาดครั้งใหญ่ จัดระเบียบทุกอย่างภายในประเทศใหม่หมดภายใต้สโลแกน A Housekeeping Exercise
การรัฐประหารของกานาเมื่อปี 1981 เกิดจากปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ผู้คนในประเทศอดอยาก แร้นแค้น หนำซ้ำยังเจออภิมหาเงินเฟ้อเล่นงานอีก เกิดการคอร์รัปชันกันแพร่หลายในรัฐบาลลิมานน์… ท้ายที่สุดรัฐบาลหมดน้ำยาในการบริหารประเทศ
รอว์ลิงส์ครองอำนาจในกานายาวนานจนถึงปี 1992 เขาตัดสินใจลาออกจากกองทัพและหันมาตั้งพรรคการเมือง National Democratic Congress หรือ NDC ก่อนจะกลับเข้ามาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 1993 และครองอำนาจต่อมาจนถึงปี 2001
การสืบทอดอำนาจยาวนานของรอว์ลิ่งนี้ทำให้ภาพของเขากลายเป็น strongman อีกคนหนึ่งของทวีปแอฟริกา
ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ รอว์ลิงส์ดำเนินแนวทางการพัฒนาประเทศตามแบบสังคมนิยมโดยได้รับอิทธิพลจากฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบา และกัดดาฟี จากลิเบีย
อย่างไรก็ดี รอว์ลิงส์มองเห็นแล้วว่า ความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศจากโลกตะวันตกสามารถสร้างผลลัพธ์ระยะยาวได้ดีกว่า เขาจึงเลือกขอความช่วยเหลือไปยังธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ
ทั้งสององค์กรเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในช่วงกลางทศวรรษที่ 80 กานาต้องกินยาขมเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือเพื่อปรับโครงสร้างประเทศกันใหม่
รัฐบาลรอว์ลิงส์ได้วางมาตรการที่เรียกว่า Economic Recovery Program หรือ ERP โดยต้องลดค่าเงินเซดิ ปลดข้าราชการที่ไร้ประสิทธิภาพออก แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกการควบคุมราคาพืชผลการเกษตร เป็นต้น ผลพวงของ ERP ทำให้ประเทศเริ่มลืมตาอ้าปากขึ้นได้
อิทธิพลทางการเมืองของรอว์ลิงส์ยาวนานมาจนถึงปี 2001… หลังจากลงจากตำแหน่งไปแล้ว รอว์ลิงส์ยังได้รับการยอมรับอย่างสูงทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในแอฟริกา
…และล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว อดีตประธานาธิบดีรอว์ลิงส์เพิ่งถึงแก่อสัญกรรม ด้วยวัย 73 ปี
บทความของ Adam Nossiter คอลัมนิสต์ใน New York Times เขียนถึงเจอร์รี รอว์ลิงส์ ไว้น่าสนใจว่า ถึงแม้เขาจะเริ่มต้นด้วยความเป็นเผด็จการที่โหดร้าย แต่ท้ายที่สุดเขาวางมือด้วยการเป็นนักประชาธิปไตยโดยการวางรากฐานประชาธิปไตยให้กานา
กานานับเป็นอีกกรณีศึกษาความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลงานของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลรอว์ลิงส์
จุดเปลี่ยนสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การค้นพบน้ำมันเมื่อปี 2010 และน้ำมันได้กลายเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกานาให้เจริญเติบโต
World Economic Forum ยกให้กานาเป็นอีกประเทศที่น่าจับตามากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก
ปัจจัยที่ทำให้กานาฟื้นฟูและพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว คือ การยึดมั่นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเต็มที่ รัฐแทรกแซงน้อยที่สุด ขณะเดียวกันปัจจัยอื่นๆ เช่น การสร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างถนนในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 การลงทุนด้านการศึกษา การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้กานาได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก
โลกยุคใหม่เต็มไปด้วยเรื่องท้าทายมากมาย… แน่นอนว่า กานาปรับตัวทันกับแต่ละยุคสมัยได้อย่างน่าชื่นชม แม้ทุกวันนี้ยังมีวิวาทะทางวิชาการที่เห็นต่างกันว่าแนวทางของเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) นั้นทำให้กานาโชว์ให้เห็นแค่อัตราการจำเริญทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ในแง่ของการพัฒนาแล้วยังไปไม่ถึงไหน (Growth without development)1
อย่างไรก็ดี กานาได้พิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่งแล้วว่า การพัฒนาแนวทางนี้พอจะทำให้ประเทศลืมตาอ้าปากได้บ้าง และในอนาคตการให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs)
ล่าสุดแนวคิดเรื่อง Sustainable Development Investment Partnership หรือ SDIP เป็นแนวคิดที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับกานา
สาระสำคัญของ SDIP คือ การจัดสรรเงินทุนขององค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลโดยจะเน้นให้กับโครงการที่เกี่ยวข้อง SDGs ซึ่งแหล่งเงินทุนจะประเมินว่าโครงการที่ขอมานี้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากน้อยเพียงใดและควรจะจัดสรรให้เท่าใด
กานานับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจในแง่มุมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้พูดเพียงแค่อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากแต่ต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในวันหน้าด้วย
หมายเหตุ : 1.Neoliberalism and Growth without Development in Ghana: A Case for State-led Industrialization ผู้สนใจโปรดดู Jasper Abembia Ayelazuno (2014)