ThaiPublica > คอลัมน์ > จับตา! ราคาน้ำมันดีเซลจะลดลงต่อเนื่องได้หรือไม่

จับตา! ราคาน้ำมันดีเซลจะลดลงต่อเนื่องได้หรือไม่

27 กุมภาพันธ์ 2023


วีระพล จิรประดิษฐกุล

สัปดาห์ที่ผ่านๆ มา คนใช้น้ำมันดีเซลคงจะดีใจที่ราคาขายปลีกลดลงมา 2 ระลอก รวมลดไปแล้ว 1 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร และการเพิ่มค่าการตลาดน้ำมันดีเซล 0.40 บาทต่อลิตร ให้กับผู้ค้าน้ำมัน ส่งผลให้ต่างก็มีความหวังว่า ราคาจะลดลงไปได้อีก เพราะดูจากสถานการณ์ราคาดีเซล (Gas Oil) ในตลาดโลกผันผวนน้อยลง

น้ำมันดีเซลถูกจัดเป็นสินค้าการเมือง เพราะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ในภาคการขนส่ง กลุ่มเกษตรกร หากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเมื่อไหร่ จะเกิดความเคลื่อนไหวกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกือบจะทันที การบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้ผันผวนเกินไป จึงเป็นบทบาทหนักของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาโดยตลอด เพราะกองทุนน้ำมันมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสมเวลาเกิดวิกฤตการณ์ด้านพลังงานเช่นในปีที่ผ่านมาที่โลกเผชิญกับสงครามรัสเซีย – ยูเครน โดยมีหลักในการรักษาเสถียรภาพราคาโดยคำนึงถึงใน 2 มิติ คือ ความเป็นอยู่ประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ตั้งแต่ต้นปี 2566 ความผันผวนราคาน้ำมันดีเซลเริ่มลดลง สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชี้ให้เห็นว่า ราคาดีเซล (Gas Oil) ในตลาดโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มผันผวนน้อยลง โดยเมื่อปี 2565 ราคา Gas Oil เฉลี่ยอยู่ที่ 135.53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในเดือนมกราคม 2566 ราคาน้ำมันดีเซลลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 116.12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และล่าสุดช่วงวันที่ 1–20 กุมภาพันธ์ 2566 ลดมาอยู่ที่ 105.18 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถบริหารจัดการมีสภาพคล่องดีขึ้น จึงมีการขยับราคาน้ำมันดีเซลลง 2 ครั้ง และปรับเพิ่มค่าการตลาดดีเซล 1 ครั้งดังกล่าว เพื่อหวังผลช่วยลดค่าครองชีพประชาชน และยังช่วยให้เศรษฐกิจภาพรวมขับเคลื่อนได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี มีการตั้งคำถามว่า ราคาน้ำมันดีเซลจะลดลงไปอีกหรือไม่

ทาง สกนช.ให้มุมมองว่า เป็นเรื่องที่ไม่อาจตอบได้ชัดเจน เพราะมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหลากหลายที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจปรับหรือไม่ปรับราคาน้ำมันดีเซล อาทิ ความเคลื่อนไหวด้านนโยบายของประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น ประเทศจีนเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ตลอดจนสถานการณ์สงครามที่ยังคงยืดเยื้อ กำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมัน สภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น จึงต้องมีการประชุมเป็นรายสัปดาห์เพื่อกำหนดราคาจากสถานการณ์

นอกจากปัจจัยต่างๆ ระดับโลกแล้ว นับจากนี้ไป คงต้องจับตาดูปัจจัยในประเทศประกอบด้วย โดยเฉพาะการหาเสียงของพรรคการเมืองทั้งหลายที่กำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งทั่วไปอาจจะทำให้ราคาดีเซลกลับมาเป็นประเด็นร้อนอยู่ในกระแสได้

ความผันผวนของปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้แน่ชัดว่า ราคาพลังงานจะเป็นอย่างไร แต่หลายฝ่ายก็คาดหวังว่า หากราคาดีเซลสามารถปรับลดลงได้อีกเป็นระลอกๆ ก็น่าจะส่งผลเชิงจิตวิทยาช่วยพยุงค่าครองชีพ ต้นทุนค่าขนส่งได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าราคาสินค้าจะยังคงเข้าแถวปรับขึ้นราคาต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ก็ตาม