ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์ให้สัตยาบัน RCEP พร้อมเปิดรับธุรกิจ

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์ให้สัตยาบัน RCEP พร้อมเปิดรับธุรกิจ

26 กุมภาพันธ์ 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ 2566

  • ฟิลิปปินส์ให้สัตยาบัน RCEP พร้อมเปิดรับธุรกิจ
  • เงินลงทุนกว่า 8 พันล้านดอลล์ไหลเข้าภูมิภาคชายฝั่งตอนกลางของเวียดนาม
  • รัฐบาลอังกฤษหนุนพัฒนาศูนย์การเงินและธุรกิจระดับภูมิภาคในเวียดนาม
  • ฮานอยเตรียมพัฒนาเพิ่ม 4 เขตอุตสาหกรรม
  • สิงคโปร์-อินเดียเชื่อม PayNow กับ UPI ชำระเงินข้ามพรมแดนเรียลไทม์
  • Netflix เตรียมเปิดสำนักงานในเวียดนาม
  • นายกฯหารือรมต.ตปท.กัมพูชาจัดการคอลล์เซ็นเตอร์
  • ฟิลิปปินส์ให้สัตยาบัน RCEP พร้อมเปิดรับธุรกิจ

    นายรามอน โลเปซ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าฟิลิปปินส์ลงนามในข้อตกลง RCEP ปี 2020 ที่มาภาพ:https://www.rappler.com/business/explainer-what-regional-comprehensive-economic-partnership-means-for-philippines/
    นายอัลเฟรโด ปาสกาล รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของฟิลิปปินส์กล่าววานนี้(24 ก.พ.2566) ว่า ขณะนี้ฟิลิปปินส์เปิดรับธุรกิจแล้วและกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดของเศรษฐกิจ หลังจากที่ วุฒิสภาให้สัตยาบันในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    นายปาสกาลออกแถลงการณ์ในพิธีลงนามในมติจากการให้สัตยาบัน RCEP โดยประธานวุฒิสภา ฮวน มิเกล ซูบิรี ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภาเมื่อปลายวันอังคาร(21 กุมภาพันธ์) ก่อนที่จะส่งต่อไปยังทำเนียบประธานาธิบดี

    นายปาสกาลกล่าวว่า การเข้าร่วม RCEP ของฟิลิปปินส์ จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากกฎหมายหลักด้านเศรษฐกิจ อย่างเช่น กฎหมายการบริการสาธารณะ กฎหมายการเปิดเสรีการค้าปลีก กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ และกฎหมายการฟื้นฟูธุรกิจและสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของกิจการ

    “หากเราไม่เข้าร่วม RCEP ก็จะตรงข้ามกับสิ่งที่เราต้องการให้โลกเห็นว่าเราเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ และเป็นสัญญาณการปิดกั้นหากเราไม่สามารถให้สัตยาบัน RCEP ได้” นายปาสกาลกล่าว

    นายปาสกาลกล่าวว่า RCEP ซึ่งเปิดให้ผู้ส่งออก ธุรกิจ และธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี(MSMEs) เข้าถึงตลาดที่ใหญ่มากขึ้น จะเร่งการฟื้นตัวของประเทศจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

    “หนทางที่จะฟื้นตัวคือการกระตุ้นการลงทุน เสริมความแข็งแกร่งให้กับ MSMEs ของเรา และให้ซัพพลายเออร์จัดหาสินค้าให้กับธุรกิจขนาดใหญ่” นายปาสกาล กล่าว

    RCEP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพันธมิตร FTA ทั้ง ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลี ซึ่งมีประชากรรวมกัน 2.3 พันล้านคนหรือ 30% ของประชากรโลกโดยรวม และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)รวมกันมูลค่าประมาณ 38,813 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 30% ของ GDP โลก

    ฟิลิปปินส์เป็นประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบัน RCEP

    ด้านนายซูบิรีชี้ถึงการเข้ามาของผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะรายใหญ่ว่า เป็นหนึ่งในผลทันทีของการให้สัตยาบัน RCEP ของวุฒิสภา และกล่าวว่านักลงทุนเข้ามาในประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ส่งออก

    หากไม่มี RCEP แบตเตอรี่ที่มาจากฟิลิปปินส์จะถูกเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นจากประเทศผู้นำเข้า และนักลงทุนกำลังคิดที่จะตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย

    แต่เนื่องจากการให้สัตยาบัน กลุ่มธุรกิจจะกลับมาในสัปดาห์หน้าเพื่อเริ่มดำเนินการสร้างศูนย์กลางการผลิตในประเทศ นายซูบิรีกล่าว นอกจากนี้ย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะเข้าร่วม RCEP เพราะประเทศสมาชิกอื่นจะกินส่วนแบ่งตลาดไปมากกว่านี้หากยังชะลอการให้สัตยาบัน RCEP ออกไป รวมทั้งเชื่อมั่นว่าฟิลิปปินส์จะมีโอกาสในการสร้างงานถึง 1.4 ล้านตำแหน่งภายในปี 2574 หลังจากการให้สัตยาบัน

    วุฒิสมาชิกลอเรน เลการ์ดา ผู้สนับสนุนหลักในการลงมติกล่าวว่า หากรัฐบาลปฏิบัติตามแนวทางของวุฒิสภา ในการทำให้การเกษตรและอุตสาหกรรมอื่น ๆ สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ประเทศอาจพลิกจากการขาดดุลการค้าจากการค้ากับทั่วโลกได้

    “เราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ในขณะที่เราเผชิญกับคลื่นลูกใหญ่ของการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาค เราต้องสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุความสามารถในการแข่งขัน” เลการ์ดากล่าวในแถลงการณ์

    นางเลการ์ดา ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการดูแล RCEP ของวุฒิสภากล่าวว่า รัฐบาลจะมีกลไกเพื่อไม่ให้ข้อตกลง RCEP มีผลกระทบต่อภาคเกษตรของประเทศ

    นางเลการ์กากล่าวว่า กระทรวงเกษตรและกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้ให้ความมั่นใจกับเกษตรกรหลายครั้งว่า มีอัตราภาษีสินค้าเกษตรเพียง 33 รายการซึ่งครอบคลุมสินค้า 15 ประเภทท่านั้นที่อยู่ใน RCEP สำหรับการนำเข้า และในขณะที่บางประเภทจะมีอัตราภาษีเป็นศูนย์ทันที ส่วนประเภทอื่นๆ อัตราภาษีจะเป็นศูนย์หลังจากนี้ 15 ถึง 20 ปี

    “ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนไหวที่สุดของเราจะไม่ได้รับผลกระทบ ในความเป็นจริงแล้ว ผลผลิตจำนวนมากของเราอยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งคิดเป็นเพียง 1.9% ของอัตราภาษีสินค้าเกษตรทั้งหมด หรือ 0.8% ของการนำเข้าทั้งหมด” นางเลการ์ดากล่าว

    นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการกับประเด็นปัญหาที่ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี(MSMEs) ภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคเกษตร ภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรมหยิบยกขึ้น

    นางเลการ์ดากล่าวว่า ภาคอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ โลหะ น้ำมัน ก๊าซ น้ำมันพืช ผลไม้ ถั่ว ผลิตภัณฑ์แร่ เครื่องจักร อุปกรณ์ ข้าว การขนส่ง น้ำตาล การก่อสร้าง และการประมงจะได้รับผลจาก RCEP โดยดุลการค้าจะดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการซึ่งรวมถึงการเข้าไปจัดการจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนนวัตกรรม

    นางเลการ์ดา ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกำกับดูแล RCEP ของวุฒิสภา กล่าวว่า จะจัดการประชุมอีกครั้งในเดือนหน้าเพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการของรัฐบาลและเตือนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่าแผนงบประมาณสำหรับปี 2566 ได้พิจารณา RCEP ไว้ด้วย

    เงินลงทุนกว่า 8 พันล้านดอลล์ไหลเข้าภูมิภาคชายฝั่งตอนกลางของเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/nearly-8-billion-to-be-pumped-into-vietnams-north-central-and-central-coast-322909.html

    เงินจำนวนเกือบ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐจะถูกอัดฉีดไปยังภูมิภาคชายฝั่งตอนกลางของเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคไปสู่ความยั่งยืนและการปรับตัวต่อสภาพอากาศ จากการประกาศในพิธีลงนามเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ระหว่างกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนามและพันธมิตรระหว่างประเทศ

    ดังนั้นหน่วยงานท้องถิ่นจึงได้ออกใบรับรองการลงทุนและอนุมัตินโยบายการลงทุน และความร่วมมือด้านการลงทุนสำหรับนักลงทุนในและต่างประเทศ

    ในบรรดาข้อตกลงการลงทุน พันธมิตรด้านการพัฒนา 7 รายมุ่งมั่นที่จะจัดหาเงินทุนรวมมากกว่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐใน 45 โครงการ พันธมิตรประกอบด้วยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สำนักงานพัฒนาฝรั่งเศส (AFD) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร (IFAD) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งเกาหลี (KEXIM) สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศเกาหลี (KOICA) และธนาคารโลก

    หน่วยงานท้องถิ่นยังได้มอบใบรับรองการลงทุน 16 ฉบับ มูลค่ารวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) 5 ฉบับเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการลงทุน ด้วยเงินทุนเกือบ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ในพิธีลงนาม เจ้าหน้าที่จังหวัดกว๋างหงาย ได้มอบใบอนุญาตโครงการโลจิสติกส์มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐแก่ SIS Quang Ngai และอนุมัตินโยบายการลงทุนในโครงการโรงถลุงเหล็กคุณภาพ ฮว่า ฟ้าด ซุงเกวิ๊ต ด้วยเงินทุน 3.2 ล้านล้านด่อง

    นอกจากนี้ ยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัดและโครงการ VSIP II Quang Ngai Industrial – Urban and Service Park ด้วยเงินลงทุนประมาณ 270 ล้านดอลลาร์

    โดยจังหวัดทัญฮว้า ได้ให้ใบอนุญาตโครงการมูลค่า 2.4 ล้านล้านด่อง (100 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในเขตเศรษฐกิจหนี่เซิน ในขณะเดียวกัน ทางการเมืองนิญถ่วนได้อนุมัตินโยบายการลงทุนสำหรับโครงการเขตเมืองใหม่ริมแม่น้ำ มูลค่า 1.7 ล้านล้านด่องเวียดนาม (70 ล้านเหรียญสหรัฐ)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า นายเหงียน ฮอง เดียน ยังได้มอบการอนุมัตินโยบายการลงทุนสำหรับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วยเงินลงทุนรวม 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในเมืองนิญถ่วน

    นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ได้ขอให้กระทรวงต่างๆ และ 14 หน่วยงานท้องถิ่นในภูมิภาคนี้ เร่งพัฒนาโครงการและแผนปฏิบัติการ โดยเน้นที่สถาบันที่ทำหน้าที่กลั่นกรอง การวางแผนระดับภูมิภาค และนโยบายเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และส่งเสริมเศรษฐกิจทางทะเล การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจป่าไม้ และการเกษตร

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ เน้นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่มีด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ การบริโภค การลงทุนและการส่งออก การขยายตัวของเมือง และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค โดยเฉพาะระบบถนนที่เชื่อมโยงกับท่าเรือ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และการเชื่อมต่อไปยังที่ราบสูงตอนกลาง

    ด้านการส่งเสริมการลงทุน นายกรัฐมนตรีขอให้คงแนวคิด ความร่วมมือและการพัฒนา ในการดึงดูดการลงทุน โดยดูแลให้มี ความเสมอภาค การพัฒนาร่วมกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และความรับผิดชอบต่อสังคม

    ภูมิภาคชายฝั่งทะเลตอนกลางประกอบด้วย 14 เมืองและจังหวัด ได้แก่ ทัญฮว้า เหงะอาน ห่าติ๋ญ กว๋างบิ่ง กว๋างจิ เถื่อเทียนเว้ ดานัง กว๋างนาม กว่างไหง บิ่ญดิ่ญ ฟูเอี้ยน คั้ญหว่า นิงถ่วน และบินห์ถ่วน

    รัฐบาลอังกฤษหนุนพัฒนาศูนย์การเงินและธุรกิจระดับภูมิภาคในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://vietnam.travel/places-to-go/southern-vietnam/ho-chi-minh-city
    รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้มอบหมายให้ TheCityUKดูแลการสนับสนุนเป้าหมายของเวียดนามในการพัฒนาศูนย์การเงินและธุรกิจระดับภูมิภาคในโฮจิมินห์ซิตี้ จากการประกาศของสถานทูตอังกฤษในกรุงฮานอยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์

    TheCityUK เป็นองค์กรตัวแทนภาคเอกชนด้านการเงินที่ดำเนินการอยู่ใน City of London

    ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร TheCityUK จะให้การสนับสนุนด้านวิชาการ เพื่อช่วยสร้างธุรกิจและสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบในเวียดนาม ที่ดึงดูดใจนักลงทุนทั่วโลก และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหราชอาณาจักรและเวียดนาม

    ภายใต้โครงการนี้ TheCityUK ทำงานร่วมกับรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อดึงหน่วยงานกำกับดูแลและบริษัทในหลายอุตสาหกรรมทั้งในสหราชอาณาจักรและเวียดนาม มาแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และจัดทำข้อเสนอแนะที่จะสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวของเวียดนามและดึงดูดนักลงทุนจากสหราชอาณาจักรและนานาชาติ

    ความร่วมมือครั้งนี้ตอกย้ำถึงความเป็นพันธมิตรที่ฝังลึกระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี

    นายไมลส์ เซลิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TheCityUK กล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศที่ตื่นตาตื่นใจอย่างมาก พร้อมเรื่องราวที่น่าสนใจในด้านการเติบโตและความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเวียดนามและความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนที่เพิ่มขึ้น จึงมีศักยภาพที่ดีสำหรับบริษัทอังกฤษและนักลงทุนต่างชาติอื่น ๆ ในการเข้าสู่ตลาด

    การมีกรอบการกำกับดูแลที่ดี นโยบายและกฎหมายที่เข้มงวด และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจแบบเปิด มีความสำคัญต่อความสำเร็จ

    “ในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศชั้นนำของโลก สหราชอาณาจักรพร้อมที่จะสนับสนุนเป้าหมายของเวียดนามและมอบความเชี่ยวชาญด้านวิชาการ อีกทั้งยังจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการแบ่งปันความเชี่ยวชาญในประเด็นสำคัญๆ เช่น การเงินสีเขียว นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” นายเซลิกกล่าว

    นายเอียน ฟรูว์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเวียดนาม กล่าวว่า การสนับสนุนการพัฒนานครโฮจิมินห์ให้เป็นศูนย์กลางการเงินและธุรกิจระดับภูมิภาค เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นระหว่างอังกฤษและเวียดนาม

    เวียดนามเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงและมีพลวัต และการทำงานร่วมกันในโครงการที่สำคัญนี้และการแบ่งปันความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักรในภาคส่วนที่มีความแข็งแกร่งในตลาดโลกที่ชัดเจน ก็เป็นการให้ความสำคัญของนโยบายร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวทั่วประเทศ .

    นายเหงียน ฮวง ลอง เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำสหราชอาณาจักรกล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์การเงินและธุรกิจระดับภูมิภาคในนครโฮจิมินห์เป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลเวียดนาม

    “เวียดนามมีเศรษฐกิจที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเชื่อมโยงทั่วโลกที่ดี และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2588 เมื่อรวมกับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรและอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้เรามั่นใจ ว่าเวียดนามจะมีคุณค่าข้อเสนอที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ”

    ฮานอยเตรียมพัฒนาเพิ่ม 4 เขตอุตสาหกรรม

    ที่มาภาพ: https://mtahanoi.com/2022/02/22/five-new-industrial-parks-to-be-built/?lang=en

    คณะกรรมการประชาชนประจำฮานอยวางแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมอีก 4 แห่งในเมือง

    โครงการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองของเมืองในช่วงปี 2564-2568 และจะรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมซ็อก เซิน(Soc Son Clean Industrial Park) พื้นที่ขนาด 302.8 เฮกตาร์ในเขตซ็อก เซิน นิคมอุตสาหกรรมด่อง อานห์(Dong Anh Industrial Park) พื้นที่ 300 เฮกตาร์ในเขตด่อง อานห์ นิคมอุตสาหกรรม บั๊ก เทือง ตินในเขต เทือง ตินพื้นที่ 112 เฮกตาร์ และนิคมอุตสาหกรรมฟุงเฮียบในเขตเทือง ติน ซึ่งมีพื้นที่ 174.8 เฮกตาร์

    สำนักงานการแปรรูปเพื่อการส่งออกและเขตอุตสาหกรรมฮานอย (HIZA) ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนสำหรับเขตอุตสาหกรรมทั้งสี่แห่งนี้ เพื่อแล้วเสร็จภายในปี 2568 ขอบเขตและขนาดพื้นที่ของแต่ละโครงการจะมีการปรับในระหว่างกระบวนการวางแผน

    ปัจจุบัน ฮานอยมีนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 1,300 เฮกตาร์ โดย 9 แห่งเปิดดำเนินการและมีการใช้งานเต็มพื้นที่แล้ว ส่วนแห่งที่ 10 คือ ฮานอย เซ้าท์ ซัพพอร์ต อินดีสเทรียล พาร์ค(Hanoi South Support Industrial Park) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

    ในปี 2565 ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้สร้างรายได้ 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.1% จากปีที่แล้ว นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นที่ตั้งของโครงการที่ดำเนินการอยู่ 711 โครงการ ซึ่งรวมถึง 307 โครงการจากนักลงทุนต่างชาติที่มีทุนจดทะเบียนรวม 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 404 โครงการจากการลงทุนในประเทศมูลค่า 19 ล้านล้านด่อง (803.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งสร้างให้กับคนในพื้นที่เกือบ 166,000 คน

    เป้าหมายของฮานอยในช่วงปี 2564-2573 คือมีนิคมอุตสาหกรรม 24 แห่ง พื้นที่รวม 5,831 เฮกตาร์ มูลค่าการส่งออกรวมกันของบริษัทในสวนอุตสาหกรรมเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.3% ขณะที่การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.7%

    สิงคโปร์-อินเดียเชื่อม PayNow กับ UPI ชำระเงินข้ามพรมแดนเรียลไทม์

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/business/paynow-upi-link-singapore-india-cross-border-fund-transfer-launched-3292961

    อินเดียและสิงคโปร์ได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงินดิจิทัล UPI และ PayNow เพื่อให้สามารถโอนเงินได้ทันทีและต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นการผลักดันครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมการไหลเวียนของเงินข้ามพรมแดนระหว่างสองประเทศซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี

    เมื่อวันอังคาร (21 กุมภาพันธ์)ธนาคารกลางของทั้งสองประเทศเปิดแถลงข่าว โดยมีธนาคาร 8 แห่งจากสิงคโปร์และอินเดียที่ร่วมโครงการ ได้แก่ DBS, Liquid Group, Axis Bank และ State Bank of India เข้าร่วมแถลงข่าวด้วย ประชาชนในแต่ละประเทศสามารถใช้ระบบการชำระเงินในประเทศของตนเพื่อส่งเงินไปยังผู้ที่อยู่ในต่างแดนได้แบบ “เรียลไทม์”

    สำหรับการใช้งานขณะนี้ ผู้ใช้ชาวอินเดียสามารถส่งเงินได้สูงสุด 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน ธนาคารกลางอินเดียระบุ

    ทั้งสองประเทศประกาศแผนการที่จะเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในปี 2564 และเดิมกำหนดเริ่มใช้งานในเดือนกรกฎาคม 2565

    “การเชื่อมโยง PayNow-UPI เป็นการเชื่อมโยงระบบข้ามพรมแดนแบบเรียลไทม์ครั้งแรกของอินเดีย และครั้งที่สองของสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมโยงครั้งแรกของโลกที่มีโครงสร้างพื้นฐานบนคลาวด์และการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร” นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์กล่าวในการแถลงข่าว

    “ในขณะที่เรามีผู้ใช้งานและจำนวนการใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ การเชื่อมโยง PayNow และ UPI จะมีประโยชน์มากขึ้นและมีส่วนช่วยมากขึ้นในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    UPI ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่พัฒนามาได้ 7 ปี โดยกลุ่มธนาคารรายย่อย และกลายเป็นวิธีที่ชาวอินเดียนิยมทำธุรกรรมทางออนไลน์มากที่สุด

    ระบบดังกล่าว มีบริษัทท้องถิ่นและระดับโลกหลายแห่งนำมาใช้ รวมถึง Walmart, Google และ Facebook ประมวลผลธุรกรรมมากกว่า 8 พันล้านรายการต่อเดือน ด้าน PayNow ของสิงคโปร์ยังมีการทำงานร่วมกันระหว่างธนาคารและแอปการชำระเงินในประเทศ ทำให้ผู้ใช้จากแอปชำระเงินหนึ่งสามารถทำธุรกรรมกับแอปอื่น ๆ ได้

    ผู้คนเกือบ 250 ล้านคนทั่วโลกส่งเงินข้ามพรมแดนมากกว่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากข้อมูลของ Citi ต้นทุนเฉลี่ยทั่วโลกในการส่งเงินอยู่ที่ประมาณ 6.5%

    Netflix เตรียมเปิดสำนักงานในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/companies/netflix-making-preparations-to-open-vietnam-office-4574656.html
    Netflix Inc บริษัทสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ กำลังเตรียมเปิดสำนักงานในเวียดนาม หลังจากการเจรจากับทางการเป็นเวลาหลายปีและเสร็จสิ้นการประเมินความเสี่ยง แหล่งข่าว 2 รายเปิดเผย

    การเปิดสำนักงานท้องถิ่นในเวียดนามจะทำให้ Netflix เป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่แห่งแรกของสหรัฐฯ ที่มีการดำเนินงานโดยตรงในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งมีประชากร 100 ล้านคน และถูกมองว่าสามารถทำรายได้ได้มากเกินกว่าจะละเลยไปได้ แม้จะต้องระมัดระวังเรื่องกฎอินเทอร์เน็ตที่เข้มงวดก็ตาม

    Netflix ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเพื่อตอบคำถามของรอยเตอร์เกี่ยวกับแผนการและการดำเนินงานปัจจุบันในเวียดนาม

    บริษัทอยู่ในระยะเริ่มต้นของการวางแผนสำหรับสำนักงานท้องถิ่นในเวียดนาม หลังจากเสร็จสิ้นการประเมินในปลายปี 2565 ซึ่งประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและการเมืองของการดำเนินงานสำนักงานในเวียดนามและการจัดการข้อมูลผู้ใช้และเนื้อหาที่ละเอียดอ่อน แหล่งข่าวกล่าว

    สำนักงานอาจจะเปิดได้เร็วสุดในปลายปี 2566 แต่จะต้องใช้กระบวนการกำกับดูแลที่ยาวนาน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่านั้น แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว

    ทางการได้ประกาศกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม กำหนดให้ผู้ให้บริการวิดีโอออนดีมานด์ต้องขอใบอนุญาตจากรัฐบาลเวียดนามในการดำเนินการ ซึ่งจะต้องจัดตั้งสำนักงานในท้องถิ่น แม้ว่ารายละเอียดการดำเนินการยังไม่ชัดเจนก็ตาม

    แม้ว่ากฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเวียดนามปี 2018 กำหนดให้ธุรกิจต่างชาติทุกรายที่มีรายได้จากกิจกรรมออนไลน์ในเวียดนาม ต้องเปิดสำนักงานในประเทศ แต่จนถึงขณะนี้มีเพียง ByteDance เจ้าของ TikTok เท่านั้นที่ปฏิบัติตาม แม้ว่าผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์หลายรายจะถือว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดโลก 10 อันดับแรก

    Netflix แจ้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเวียดนามว่า กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานตัวแทนท้องถิ่นในระหว่างการประชุมเดือนธันวาคม 2565 กับรองประธานกลยุทธ์ธุรกิจในเอเชียของบริษัท จากแถลงการณ์ที่โพสต์บนเว็บไซต์ของกระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    แถลงการณ์ระบุว่า นายเหงียน วัน ดวน เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวง “แสดงความต้องการที่จะให้ Netflix จัดตั้งนิติบุคคลในเวียดนามเร็วๆ นี้ และมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนาม”

    กระทรวงสารสนเทศของเวียดนามไม่ตอบสนองต่อการขอความคิดเห็น

    ด้วยจำนวนชนชั้นกลางที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามจึงกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี

    เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามรวมถึงฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และความบันเทิงออนไลน์กำลังเติบโต โดยมีมูลค่าธุรกรรมทั้งหมดราว 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าของปีที่แล้ว ตามรายงานของ Google, Temasek Holdings และ Bain & Company

    ทางการได้ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า เก็บภาษีจาก Google, Meta, Netflix และ TikTok ได้ 1.8 ล้านล้านด่อง (78 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2565

    รัฐบาลเวียดนามเรียกร้องบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ใหชำระภาษีมานานหลายปี รวมทั้ง Netflix ซึ่งดำเนินการโดยไม่มีสำนักงานในเวียดนาม

    บริษัทต่างๆ กล่าวว่า ขาดกลไกที่เหมาะสมในการชำระภาษีในเวียดนาม แม้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขเมื่อปีที่แล้วด้วยการสร้างพอร์ทัลออนไลน์รองรับ

    นายกหารือรมต.ตปท.กัมพูชาจัดการคอลล์เซ็นเตอร์

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/65379
    นายกรัฐมนตรีหารือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา ย้ำความร่วมมือที่ใกล้ชิดในทุกระดับเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟู และเพื่อประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน

    วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 16.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายปรัก สุคน (H.E. Mr. Prak Sokhonn) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

    นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้พบ พร้อมฝากความระลึกถึงไปยังนายกรัฐมนตรีฮุน เซน โดยนายกรัฐมนตรียินดีกับความสำเร็จในการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไทยได้มีโอกาสหารือทวิภาคี ผลักดันความร่วมมือระหว่างกันในหลายวาระ ทั้งระดับทวิภาคและพหุภาคีกับนายกรัฐมนตรีฮุน เซน นายกรัฐมนตรีเห็นควรสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อนำสิ่งที่ได้หารือไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้กัมพูชาประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ในปีนี้ ด้วย

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee – JBC) ว่างเว้นมากว่า 10 ปีแล้ว จึงขอฝ่ายกัมพูชาพิจารณาเป็นเจ้าภาพการประชุม JBC ครั้งต่อไป เพื่อผลักดันความร่วมมือให้มีความคืบหน้า ซึ่งไทยต้องการเห็นความคืบหน้าในเรื่องการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน เพราะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบริเวณชายแดน

    รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พบ พร้อมนำความระลึกถึงจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซนมายังนายกรัฐมนตรีด้วย โดยการเดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้เพื่อติดตามการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองที่ผ่านมา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้านให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และยินดีที่ได้ร่วมพิธีเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา ที่บ้านหนองเอี่ยน–สตึงบท ซึ่งการเปิดสะพานนี้มีความหมายต่อประชาชนกัมพูชาเป็นอย่างมาก และยังจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าชายแดน และอำนวยความสะดวกการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศอีกด้วย

    ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้

    นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าไทยและกัมพูชาจะร่วมมือกันเชื่อมโยงเศรษฐกิจสองประเทศ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และยั่งยืน ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการค้า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 ด้านรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวยินดีที่การค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนสถานการณ์โควิด และเชื่อมั่นเช่นกันว่าทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุตามเป้าหมายการค้าที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน

    นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกัมพูชาสำหรับความร่วมมือ ในการจัดการปัญหาขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ข้ามชาติ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) และขอบคุณที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามขบวนการดังกล่าว โดยรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาย้ำถึงความพร้อมของกัมพูชาที่จะร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อเป็นกลไกหลักในการประสานงานการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัญหาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลเสียต่อทั้งสองประเทศ แต่ส่งผลเสียรวมถึงในภูมิภาค

    นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณไปยังนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชาร่วมมือกับฝ่ายไทยในเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่ชายแดนในทันที เนื่องจากรัฐบาลไทยห่วงใยประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า อาจพิจารณาเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 10 แห่ง ซึ่งไทยได้เสนอให้กัมพูชาพิจารณาแล้ว ด้านรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวพร้อมเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน