ThaiPublica > เกาะกระแส > Friend-shoring แนวคิดสหรัฐฯ ย้ายห่วงโซ่การผลิตจากประเทศเผด็จการมาสู่ชาติพันธมิตรแทน

Friend-shoring แนวคิดสหรัฐฯ ย้ายห่วงโซ่การผลิตจากประเทศเผด็จการมาสู่ชาติพันธมิตรแทน

15 มกราคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โลกประสบกับเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้การค้าโลกเกิดชะงักชัน เช่น สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก และสงครามยูเครน ทำให้เกิดการคว่ำบาตรการค้าต่อรัสเซีย ผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้มีการตั้งคำถามต่อ “กระแสโลกาภิวัตน์” ว่าจะก้าวต่อไปได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเริ่มเสนอแนวคิดเรียกว่า friend-shoring ที่หมายถึงการส่งเสริมธุรกิจให้ย้ายการผลิตออกจากประเทศเผด็จการ มาสู่ประเทศพันธมิตรที่มีค่านิยมเดียวกันแทน

ในระยะที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดคำว่า “offshoring” ที่หมายถึงการย้ายการผลิตไปยังประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำ ต่อมาเกิดคำว่า “reshoring” หมายถึงการนำเอากระบวนการผลิตส่วนที่สำคัญกลับคืนมาประเทศตัวเอง ส่วนคำว่า “friend-shoring” หมายถึงการส่งเสริมธุรกิจให้ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศเผด็จการมายังประเทศพันธมิตร เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หยุดชะงักเพราะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

นางเจเนต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง สหรัฐอเมริกา

แนวคิด Friend-shoring ของเจเนต เยลเลน

เมื่อเดือนเมษายน 2022 นางเจเนต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง สหรัฐอเมริกา ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์เรื่อง The future of the global economy and US economic leadership ที่จัดโดย The Atlantic Council ว่า จากสงครามยูเครน ทำให้สหรัฐฯ เห็นถึงเป้าหมายการมีระบบการค้าทั้งเสรีและมีความมั่นคงด้วย โดยไม่ปล่อยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้ฐานะนำการด้านตลาด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์ใดหนึ่ง มาทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หยุดชะงักงันลง หรือทำให้ตัวเองมีความได้เปรียบด้านภูมิรัฐศาสตร์

ในแง่ดังกล่าว การย้ายฐานการผลิตห่วงโซ่อุปทาน (friend-shoring of supply chains) มายังประเทศที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ จะทำให้สามารถรักษาการเข้าถึงตลาด ลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับประเทศหุ้นส่วนการค้าลงได้

เจเนต เยลเลน อธิบายเพิ่มเติมความหมายของ friend-shoring ว่า แทนที่สหรัฐฯ จะไปพึ่งพิงห่วงโซ่การผลิตจากประเทศที่สหรัฐฯ มีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ จำเป็นต้องกระจายการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานออกไป คำว่า friend-shoring จึงหมายถึงกลุ่มประเทศที่ยึดถืออย่างมั่นคงต่อบรรทัดฐาน และค่านิยมของระบบเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯจำเป็นต้องทำให้การปฏิสัมพันธ์กับประเทศหุ้นส่วนการค้าเหล่านี้ ให้ลึกและมั่นคงมากขึ้น ทำงานร่วมกับประเทศหุ้นส่วน เพื่อให้มั่นใจว่าสหรัฐฯ สามารถได้รับการสนองจากการผลิตสินค้าวัสดุที่จำเป็น

ที่มาภาพ : รายงานAllianz

สหรัฐฯ จะลดการพึ่งพาจีนได้หรือไม่

ในรายงานเรื่อง Can the US and EU really “friend-shore” away from China? ของ Allianz ได้กล่าวว่า กระแสโลกาภิวัตน์ไม่ได้กำลังจะมาถึงจุดสิ้นสุด แต่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกทำให้มีการตั้งคำถามต่อ “โครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลก” ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวกดดันสหรัฐฯ และกลุ่ม EU ให้ลดการพึ่งพาจีน สงครามการค้าในปี 2018 ทำให้สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนลดลง สิ่งนี้กลายเป็นประโยชน์ต่อประเทศผู้ผลิตในเอเชีย

แต่รายงานของ Allianz บอกว่า สินค้าที่มีกระบวนการผลิตแบบโลกาภิวัตน์มากสุด ได้แก่ (1) คอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์โทรคมนาคม (2) อิเล็กทรอนิกส์ (3) เครื่องใช้ไฟฟ้า (4) โลหะ (5) รถยนต์และชิ้นส่วน (6) เคมีภัณฑ์ และ (7) เครื่องจักร ทั้งหมดนี้มีสัดส่วนการค้าถึง 50% ของการค้าโลก จีนมีส่วนแบ่งการผลิตของทั้งหมดในโลกดังนี้ รถยนต์และชิ้นส่วน 6% ส่วนคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ละรายการมีส่วนแบ่ง 27%

ดังนั้น การลดการพึ่งพาการผลิตจากจีนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โลกเราพึ่งพาจีนอยู่ 2 ด้านคือ อุปสงค์ (demand) กับอุปทาน (supply) การค้ากับจีนมีทั้งการส่งออกและนำเข้าสินค้าประเภทสำเร็จรูป และประเภทการค้าห่วงโซ่คุณค่าโลก ในแง่อุปสงค์ เกาหลีใต้ส่งออกไปจีนเท่ากับ 2.7% ของผลผลิตโลก เยอรมนี 1.3% ไทย 1.5% และมาเลเซีย 0.3%

ในแง่อุปทาน จีนเป็นผู้ผลิตสนองอุปทานรายใหญ่สุดของโลก การผลิตสินค้าประเภทห่วงโซ่อุปทานโลกของจีน มีมูลค่าถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ และเยอรมนี 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ จีนนำเข้าสินค้าประเภทห่วงโซ่อุปทานมีสัดส่วน 0.5% ของผลผลิตทั้งโลก เวียดนาม 3.9%, สิงคโปร์ 3%, ไต้หวัน 2.3%, เยอรมนี 0.6% และสหรัฐฯ 0.3%

รายงาน Allianz ให้หลักเกณฑ์การประเมินว่า สหรัฐฯ พึ่งพาการผลิตจากจีนในสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่มีนัยสำคัญหรือไม่ โดยพิจารณาจาก 3 หลักเกณฑ์ (1) สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าสุทธิ (net importer) ในสินค้า X (2) สหรัฐฯนำเข้าสินค้า X จากจีนมากกว่า 50% และ (3) จีนมีส่วนแบ่งการส่งออกสินค่า X ในโลกมากกว่า 50%

ในแง่นี้ จีนเป็นผู้ผลิตสินค้ารายที่สำคัญแก่สหรัฐฯ 276 รายการ และเป็นผู้ผลิตสินค้ารายสำคัญแก่ EU 141 รายการ จากภาวะการพึ่งพาจีนที่มีสภาพแบบไม่สมดุลดังกล่าว จึงอธิบายว่าทำไม ทำให้ผู้นำและธุรกิจสหรัฐฯ และกลุ่ม EU เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการย้ายการผลิตมายังประเทศพันธมิตรหรือ friend-shoring เพราะการพึ่งพาจีนเพิ่มขึ้นมาตลอด ในปี 2010 จีนเป็นผู้ผลิตสินค้าหลักป้อนแก่สหรัฐฯ ในสัดส่วน 0.4% GDP ของสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 0.7% ของ GDP ในปี 2018

ที่มาภาพ : theguardian.com

ใครได้ประโยชน์จาก Friend-Shoring

รายงาน Allianz กล่าวถึงประเทศที่จะได้ประโยชน์จาก friend-shoring ว่า แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะขจัดการพึ่งพาจากจีนให้หมดไป แต่จากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนที่ผ่านมา ทำให้ภาพแนวโน้มบางอย่างที่เกิดขึ้น ปี 2018 ทั้งสองประเทศใช้การเพิ่มภาษีนำเข้าในอัตราสูง ตอบโต้กันและกัน ภาษีอัตราสูงนี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ทำให้จีนเสียส่วนแบ่งตลาดการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯลง ในปี 2000 จีนมีส่วนแบ่งตลาด 4% เพิ่มเป็น 15% ในปี 2018 ลดลงมาที่ 10% ในปี 2021

ในช่วงปีเดียวกันนี้ อันดับการส่งออกรายใหญ่ไปสหรัฐฯ ของจีนก็ตกลงมาจากอันดับ 2 มาอยู่อันดับที่ 4 รองจากกลุ่ม EU เม็กซิโก และแคนาดา การสูญเสียตลาดสหรัฐฯ ของจีนกลายเป็นประโยชน์ต่อประเทศคู่แข็งในเอเชีย เช่น เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย ไทย และมาเลเซีย คือชาติในกลุ่ม 10 ประเทศ (รวมทั้งกลุ่ม EU สวิส แคนาดา และตุรกี) ที่ส่งออกมาสหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงปี 2018-2021 โดยจีนมีสัดส่วนตลาดลดลง 4.2% ส่วนกลุ่ม 10 ประเทศ มีส่วนแบ่งเพิ่ม 2.8% ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น 0.3% และเวียดนาม 1.0%

นอกเหนือจากประเทศที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน รายงาน Allianz ยังพิจารณาปัจจัยอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกมาขึ้น เช่น การค้าที่ประเทศนั้นมีส่วนเสริมกับเศรษฐกิจสหรัฐฯกับกลุ่ม EU ประเทศที่มีความได้เปรียบเหนือจีนในเรื่องการค้าห่วงโซ่อุปทานโลก และประเทศที่ได้เปรียบจีนในเรื่องการผลิตสินค้าสำเร็จรูป

จากการพิจารณาจากปัจจัยต่างๆดังกล่าว รายงาน Allianz ได้ข้อสรุปว่า ประเทศที่อยู่ในฐานะดีที่สุดที่จะเป็นแหล่ง friend-shoring หรือการย้ายการผลิตมายังประเทศพันธมิตร คือ เม็กซิโก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย บราซิล และมาเลเซีย

เอกสารประกอบ
The Next Step for Russian Sanctions and “Friend-Shoring” Supply Chains, Janet Yellen, The Atlantic Council, April 23, 2022.
Can the US and EU really “friend-shore” away from China?, Allianz Research