ThaiPublica > คอลัมน์ > ทางออกแก้หนี้แก้จนของคนไทย

ทางออกแก้หนี้แก้จนของคนไทย

25 มกราคม 2023


ลัทธพร รัตนวรารักษ์ [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/

ในปี 2565 ประเทศไทยมีคนจนประมาณ 1 ล้านคน1 และมีคนมีหนี้ในระบบ 24.7 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรไทย โดย 1 ใน 5 ของคนที่มีหนี้ในระบบกำลังประสบกับปัญหาหนี้เสีย2 และในภาพรวม หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP สูงถึง 88% โดยสูงเป็นอันดับที่ 10 จาก 43 ประเทศทั่วโลก3

แม้ว่าที่ผ่านมา ความยากจนของคนไทยจะลดลงจากการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่มองไปในอนาคตอาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้คนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น แรงงานจำนวนมากอาจมีทักษะไม่เพียงพอ พื้นที่ศักยภาพที่พัฒนาได้อาจไม่มีเหลือ ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น และการปรับตัวที่ช้าและยากกว่าสำหรับครัวเรือนยากจนต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

ในอีกด้าน คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นหนี้จนถึงวัยเกษียณ และมีปริมาณหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และยิ่งถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นจากวิกฤติโควิด 19 และที่สำคัญมีครัวเรือนฐานรากจำนวนมากที่กำลังติดกับดักหนี้

คนจนไม่จำเป็นต้องมีหนี้ และคนมีหนี้ไม่จำเป็นต้องจน แต่ทั้งหนี้สินและความยากจนเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่เพียงในระดับปัจเจก แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน มีพลวัต และหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างครบวงจร จะกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของประเทศในระยะยาวได้ คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราจะบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร?

บทความนี้สังเคราะห์สาระสำคัญและความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงาน “Policy Forum สู่ทางออกแก้หนี้แก้จนไทย” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 โดยมีทั้งองค์ความรู้จากนักวิชาการ นักวิจัย ภาครัฐ และภาคประชาสังคม รวมถึง Roundtable discussion ถอดบทเรียนกรณีศึกษาคนมีปัญหาหนี้จริง 4 กรณี เพื่อร่วมกันหาทางออกการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายที่ตอบโจทย์ได้จริง

ความยากจน

ที่มาของความยากจน

  • ขาดโอกาส เกิดมาในครอบครัวยากจน เข้าไม่ถึงการศึกษาที่เพียงพอและมีคุณภาพ เข้าไม่ถึงตลาดแรงงาน ความรู้ ข่าวสาร และเงินทุน
  • ขาดอำนาจต่อรอง ไม่มีทุนทางสังคม ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
  • พฤติกรรมเสี่ยง หรือพฤติกรรมเพื่อความสุขในวันนี้ เช่น ติดหวย ติดพนัน ติดเหล้า การใช้จ่ายขาดเหตุผล และการเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม (NCDs)
  • เศรษฐกิจไม่ดีและโครงสร้างทางสังคมกดทับ มีสัดส่วนเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ฐานะไม่ดีจำนวนมาก หากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะทางอาชีพได้ จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
  • นโยบายที่ไม่ได้สร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง เช่น นโยบายจำนำข้าวและประกันราคาอาจทำให้เกษตรกรหวังพึ่งพิงแต่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยไม่พัฒนาศักยภาพในการทำการเกษตรด้วยตนเอง
  • การแก้จนเชิงนโยบาย: ควรตั้งต้นจากระบบข้อมูลคนจนที่ถูกต้อง

    ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีหลากหลายฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยากจน ตั้งแต่ข้อมูลการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) สำหรับใช้ระบุปัญหาความยากจนและกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งพิจารณาจากคนยากจนในข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) โดยกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้ไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ไปจนถึง ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (Practical Poverty Platform-PPPConnext)ที่นำ TPMAP มาสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการค้นหาและตรวจสอบคนจนจริง ๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบ และคัดกรองคนจนไม่จริงหรือคนที่พ้นสถานะยากจนแล้วออกไป

    แต่ละชุดข้อมูลอาจมีนิยามกลุ่มคนเป้าหมายที่ต่างกัน และการเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงานก็อาจขึ้นอยู่กับขอบเขตของอำนาจหน้าที่และบริบทของการนำระบบข้อมูลคนจนไปใช้ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ ฐานข้อมูลเชิงลึกรายบุคคลที่แม่นยำจะเป็นพื้นฐานตั้งต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการออกแบบนโยบายแก้ปัญหาความยากจนได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน (data-driven policy) เช่น นโยบายระบบสวัสดิการที่ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน นโยบายด้านการศึกษาและพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด นโยบายด้านเทคโนโลยีอย่างมีส่วนร่วม (inclusive technology) นโยบายด้านการทำเกษตร และรวมถึงนโยบายด้านการแก้หนี้

    การแก้จนเชิงพื้นที่: ความยากจนใช้ยาสามัญประจำบ้านรักษาไม่ได้

    เมื่อรู้แล้วว่าคนจนอยู่ที่ไหน แต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไร วิธีการแก้ปัญหาจึงสามารถออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันได้ (ตัวอย่างในรูปที่ 1) เนื่องจากปัญหาความยากจนไม่สามารถแก้แบบเหมารวมจากส่วนกลาง ความสำคัญของการมีส่วนร่วมและกลไกเชิงพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่ถูกเน้นย้ำตลอดงานเสวนา

    หลักคิดสำคัญ คือ การมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ ทั้งชุมชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยท้องถิ่น หาช่องว่างที่ต้องพัฒนา ชุมชนคิดแก้ปัญหาและช่วยเหลือกันเองก่อน หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มก็มีระบบส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำจุดแข็งของพื้นที่มาพัฒนาคนและชุมชนให้เติบโตและเข้มแข็งเพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างโมเดลแก้จนระดับพื้นที่ เช่น Kalasin Happiness Model รถพุ่มพวงแก้จนของชุมชนใหม่พัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ และโมเดลกระจูดแก้จนในจังหวัดพัทลุง


    รูปที่ 1 ตัวอย่างปัญหาความยากจนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด
    ที่มา: เอกสารประกอบการบรรยายการแก้จนด้วยนวัตกรรมข้อมูล (พงศ์นคร โภชากรณ์, 2565)

    กับดักหนี้

    ที่มาของคนมีหนี้

  • ขาดรายได้ รายได้น้อย ไม่แน่นอน ผันผวนสูง ขาดสภาพคล่อง
  • ขาดความรู้ในการบริหารจัดการเงิน ทั้งด้านการออม การกู้ยืม การประกัน ขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐ ไม่เท่าทันสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ ไม่รู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมและสิทธิของลูกหนี้
  • ขาดวินัย มีความรู้แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ ถูกชักจูงโดยโฆษณาได้ง่าย เช่น การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (buy now pay later) และค่านิยม “ของมันต้องมี”
  • ขาดภูมิคุ้มกันต่อ shocks ระบบสวัสดิการและ social safety net ยังไม่ทั่วถึงและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อมี shock เกิดขึ้น เช่น ภัยพิบัติ หรือการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงซ้ำเติมปัญหาเดิมที่มีอยู่
  • ขาดระบบการเงินที่ตอบโจทย์ ทั่วถึง และมีธรรมาภิบาลที่ดี ระบบการเงินยังไม่ตอบโจทย์ครัวเรือนฐานรากที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรืออาชีพที่มีความผันผวนทางรายได้สูง ปัญหาสัญญาสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรมและออกแบบโดยอิงความต้องการของผู้ให้กู้เป็นหลัก การให้สินเชื่อที่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะจ่ายได้ และการแข่งขันของสถาบันการเงินในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มปริมาณสินเชื่อ
  • ขาดข้อมูล ผู้กู้มีหนี้จากหลายแหล่ง แต่ผู้ให้กู้มองไม่เห็นหนี้ทั้งหมด จึงทำให้ไม่สามารถประเมินสถานะที่แท้จริงของลูกหนี้ได้และปล่อยสินเชื่อเกินศักยภาพของลูกหนี้ที่จะจ่ายไหว
  • นโยบายที่ไม่ได้สร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เช่น นโยบายรถคันแรก นโยบายการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยไม่ได้มีการติดตามผู้กู้ต่อ และนโยบายพักชำระหนี้ที่อาจทำให้วินัยทางการเงินแย่ลง ผู้กู้คาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือเรื่อย ๆ และผู้กู้ที่จริง ๆ แล้วสามารถจ่ายหนี้ได้อาจเลือกที่จะไม่จ่ายหนี้ดีกว่า (moral hazard)
  • เข้าใจหลากหลายต้นตอกับดักหนี้จากกรณีศึกษา

    กรณีศึกษาที่ 1: หนี้เกษตรกร รายได้ผันผวน ไม่แน่นอนสูง ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ขาดสภาพคล่องระหว่างเดือน พึ่งพาสินเชื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการเงิน มีหนี้หลายก้อนกับเจ้าหนี้หลายแหล่ง ทั้งสถาบันการเงินในระบบ สถาบันการเงินชุมชน และผู้ให้กู้นอกระบบ ทำให้ง่ายที่จะกู้ได้เกินศักยภาพที่จะจ่ายได้ จึงทำให้มีภาระหนี้สูง ต้องหมุนหนี้โดยการกู้จากที่หนึ่งเพื่อไปจ่ายคืนอีกที่นึง และการหวังพึ่งมาตรการช่วยเหลือจากรัฐที่อาจจะยังแก้ไม่ตรงจุด

    กรณีศึกษาที่ 2: หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของพนักงานบริษัท จากการวางแผนทางการเงินที่ไม่ดีพอ การกู้เพื่อซื้อสังคมดี ๆ เพื่อการศึกษาของลูก และเพื่อช่วยเหลือหนี้นอกระบบของคนในครอบครัว การมีรายได้ประจำช่วยให้มีเครดิตดีและกู้ได้ง่าย การจ่ายหนี้คืนแค่ขั้นต่ำทำให้หนี้สามารถสะสมเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัตรกดเงินสดซึ่งการจ่ายแค่ขั้นต่ำทุกเดือนจะไปหักดอกเบี้ยมากกว่าหักเงินต้น การไม่เข้าใจมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐอย่างแท้จริงและได้รับความรู้ที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความจงใจทำหนี้ให้เป็นหนี้เสียเพื่อที่จะสามารถเข้าโครงการช่วยเหลือได้โดยไม่รู้ถึงผลที่ตามมาอย่างแท้จริงว่าจะมีประวัติค้างชำระในเครดิตบูโรและโดนกันออกจากสถาบันการเงินในระบบ

    กรณีศึกษาที่ 3: หนี้นอกระบบของแม่ค้าหาบเร่แผงลอย มีรายได้จากการขายของไม่แน่นอน ค่าใช้จ่ายสูง และเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ จึงจำเป็นต้องไปกู้นอกระบบซึ่งมีสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายที่กำหนด และใช้โฉนดที่ดินจำนองโดยให้เซ็นหนังสือมอบอำนาจลอย สุดท้ายที่ดินตกเป็นของเจ้าหนี้นอกระบบ

    กรณีศึกษาที่ 4: หนี้คนจนเมือง ผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้ไม่มีงาน ไม่มีเงิน แต่ยังมีค่าใช้จ่าย และการอยากมีที่ดินและบ้านเป็นของตนเอง แต่เพราะไม่มีรายได้ที่แน่ชัดจึงเข้าถึงสถาบันการเงินในระบบได้ยาก ทำให้มีทั้งหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย หนี้ธนาคารจากช่วงโควิด และหนี้นอกระบบ

    นอกจากกรณีศึกษา 4 กรณีแล้ว ทุกอาชีพ ทุกวัยยังสามารถมีปัญหาหนี้สินได้ เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดในการใช้สินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้อย่างบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงถึง 1 ใน 4 หนี้ครูเกษียณ ซึ่งอายุ 70 ปี จ่ายหนี้แค่ขั้นต่ำมา 20 ปีแล้ว และยังมองไม่ออกว่าจะปิดหนี้ได้เมื่อไหร่ และหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งส่งผลต่อคนรุ่นใหม่จำนวนมาก

    การแก้หนี้ระดับบุคคล: ทุกหนี้มีทางออก

    1.ตั้งใจจริง สำรวจตัวเอง ว่าสามารถหารายได้เพิ่มได้อย่างไรบ้าง มีการใช้จ่ายเกินตัวหรือไม่ ลดรายจ่ายตรงไหนได้บ้าง และพิจารณาหนี้ทุกก้อนที่มีทั้งในระบบและนอกระบบ การรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกู้เผื่อต้องใช้เป็นหลักฐานหากมีการดำเนินคดี รวมไปถึงการสำรวจหาศักยภาพของตนเองว่าทำอะไรแล้วดี เพื่อปรับเปลี่ยนการทำอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

    2.จัดลำดับความสำคัญของหนี้ วางแผนการชำระหนี้อันไหนก่อนหลังและให้สอดคล้องกับรายได้ หนี้ก้อนไหนควรจ่ายคืนเร็วที่สุด เช่น เริ่มจากหนี้นอกระบบเพราะดอกเบี้ยสูงที่สุด

    3.เข้าหาเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในกระบวนการใด เช่น การขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร การขอรวมหนี้หลายสัญญาเข้าเป็นสัญญาเดียวเพื่อให้บริหารจัดการง่ายขึ้น การขอเปลี่ยนจากหนี้บัตรเครดิต ผ่อนสั้น ดอกเบี้ยสูง เป็นหนี้ผ่อนยาว ดอกเบี้ยต่ำ และการ refinance กับสถาบันการเงินใหม่เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง

    4.หาความช่วยเหลือเพิ่มเติม จากหน่วยงานรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง (ดังตัวอย่างในรูปที่ 2)

    การแก้หนี้ระดับนโยบาย: หากจะแก้อย่างยั่งยืนต้องครบวงจร-ทำไปพร้อมกับการแก้จน

    เนื่องจากปัญหาหนี้สินไม่ได้เกิดจากปัญหาส่วนตัวที่แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่ต้องได้รับความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขในเชิงนโยบายและเชิงโครงสร้างอย่างครบวงจร ตั้งแต่ก่อนมีหนี้ เมื่อมีหนี้แล้ว และเมื่อหนี้มีปัญหา รวมทั้งต้องพิจารณาทั้งในระยะสั้นเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ และระยะยาวคือการทำให้คนไทยมีหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

      1.ต้องมีฐานข้อมูลที่ชัด เห็นเจ้าหนี้ให้ครบ เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายผู้ให้กู้และข้อมูลด้านรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ เพื่อให้สามารถปล่อยกู้ได้ตรงกับความสามารถในการชำระของลูกหนี้
      2.ปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลำดับการตัดชำระหนี้ให้สามารถไปตัดเงินต้นได้ อายุความบัตรเครดิต และกระบวนการบังคับคดี
      3.พัฒนาระบบการเงินสำหรับคนฐานราก และกำกับดูแลเจ้าหนี้ ให้มีการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ เป็นธรรม สอดคล้องกับรูปแบบรายได้ และอยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะจ่ายได้
      4.เพิ่มทักษะความรู้ทางการเงิน ให้กับทั้งประชาชน ชุมชน องค์กรในพื้นที่ ผู้ไกล่เกลี่ย ไปจนถึงเจ้าหนี้สถาบันการเงินชุมชน อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ และกองทุนหมู่บ้าน ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการเงิน การเป็นหนี้เสียคืออะไร มีผลที่ตามมาอย่างไร รวมไปถึงการทำสัญญาเงินกู้และสิทธิของลูกหนี้ โดยควรเลือกวิธีการให้ความรู้ที่เหมาะสมและดึงดูด เช่น การให้ความรู้ผ่าน board game
      5.มาตรการแก้จน เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ พัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ และเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ของลูกหนี้
      6.ระบบสวัสดิการและ safety net ที่ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้ เพื่อลดการพึ่งพาสินเชื่อ เช่น ระบบประกันภัยพืชผลสำหรับเกษตรกร
      7.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของความร่วมมือที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง

    ภูมิทัศน์หน่วยงานแก้หนี้แก้จน: ต้องการเจ้าภาพ!

    เราจะเห็นได้ว่า ปัญหาความยากจนและปัญหาหนี้สินนั้นซับซ้อนและมีหลายมิติเกินกว่าที่จะสามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว แต่การทำงานที่ผ่านมายังขาดเจ้าภาพหลักที่รับผิดชอบปัญหาความยากจนและปัญหาหนี้ที่จะสามารถมองภาพรวมและบูรณาการการทำงานของหลากหลายภาคส่วนได้ ทั้งการบูรณาการแนวขวาง (cross-cutting) ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และแนวดิ่ง (vertical) คือการเชื่อมโยงระหว่างนโยบายและชุมชน การแก้ปัญหาในปัจจุบันทำโดยหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ทบวง กรม (ดังตัวอย่างในรูปที่ 2) การทำงานจึงอาจมีความซ้ำซ้อนกันสูง ต่างคนต่างดูแล ดังนั้นคำถามสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิดคือ ใครควรจะเป็นเจ้าภาพในการแก้หนี้แก้จนของไทย?

    รูปที่ 2 ตัวอย่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้ครัวเรือน ที่มา: รวบรวมโดยผู้เขียน
    หมายเหตุ: ไม่ได้แสดงหน่วยงานทั้งหมดที่ทำงานด้านการแก้หนี้แก้จน แต่แสดงเฉพาะหน่วยงานที่เข้าร่วมหรือได้รับการกล่าวถึงในงาน Policy forum เท่านั้น

    End credit:
    การจัดงานเสวนาเชิงนโยบาย “สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” เป็นความร่วมมือของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ThaiPBS) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เข้าชมสไลด์ประกอบการบรรยาย วิดีทัศน์ย้อนหลัง และรายชื่อนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ร่วมให้ความคิดเห็นได้ที่ https://www.pier.or.th/forums/2022/06/poverty-and-household-debt/

    หมายเหตุ :
    1.ข้อมูลจากระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่ (PPPConnext) และ TPMAP รายละเอียดเพิ่มเติมในเอกสารประกอบการบรรยาย สถานการณ์ความยากจนในระดับพื้นที่และกลไกการพัฒนาระดับพื้นที่ (กิตติ สัจจาวัฒนา, 2565)
    2.ข้อมูลสินเชื่อในระบบ ณ ไตรมาส 2 ปี 2565 จากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งครอบคลุมประมาณ 87% ของหนี้ครัวเรือนไทยในระบบจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงาน โดยยังไม่รวมหนี้จากสถาบันการเงินกึ่งในระบบอื่น ๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ สถาบันการเงินชุมชน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลหนี้นอกระบบ ยังไม่มีแหล่งข้อมูลที่น่าจะสามารถสะท้อนภาพมูลค่าหนี้และจำนวนคนที่มีหนี้นอกระบบจริงได้
    3.ข้อมูล ณ ไตรมาส 2 ปี 2565 จากธนาคารแห่งประเทศไทย และ BIS

    ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์