ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อโลกไว้อาลัยอดีตสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก

เมื่อโลกไว้อาลัยอดีตสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก

3 มกราคม 2023


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Pope_Benedict_XVI#/media/

ในที่สุดปี พ.ศ. 2565 หรือปีเสือดุก็ผ่านพ้นไปในที่สุด ตลอดปีที่ผ่านมานี้เต็มไปด้วยข่าวร้ายสำหรับคนไทยและชาวโลก นับตั้งแต่ “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของรัสเซียต่อยูเครน รัฐประหารในเมียนมา การเสียชีวิตของดารานักแสดงของไทยและต่างประเทศหลายต่อหลายคน การสังหารหมู่ที่หนองบัวลำภู การอับปางของเรือรบหลวงสุโขทัย ไฟไหม้ครั้งใหญ่ของคาสิโนที่เมืองปอยเปตในกัมพูชา จนทำให้นักพนันไทยสูญหายหลายสิบคน การจากไปของ “เปเล่” ราชานักฟุตบอลชาวบราซิลผู้มีชื่อเสียง และในที่สุดในเช้าวันเสาร์สุดท้ายของปี โฆษกของนครวาติกันได้ประกาศว่าสมเด็จพระสันตะปาปาเบนิดิกต์ที่ 16 ได้สวรรคตแล้วอย่างสงบในวัย 95 ชันษา

อันที่จริงสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นี้ทรงประชวรมาระยะหนึ่งแล้ว ตลอดสัปดาห์สุดท้ายของปีพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงประกาศให้สวดภาวนาแด่อดีตองค์สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ผู้กำลังประชวรหนัก พระองค์เป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์แรกในรอบเกือบ 600 ปีที่ลาออกจากตำแหน่ง แทนที่จะดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ได้สิ้นชีวิตเมื่อวันเสาร์ ตามถ้อยแถลงของสำนักวาติกัน

“ด้วยความเสียใจ ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่าพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ที่ 16 สิ้นพระชนม์ในวันนี้เวลา 09.34 น. ที่ อารามมาแตร์ เอคคลีซิแอ (Mater Ecclesiae)ในนครวาติกัน”

มัตเตโอ บรูนี ผู้อำนวยการสำนักข่าวของนครวาติกัน กล่าวเสริมว่า “พิธีศพของสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในนครวาติกัน เวลา 09.30 น.”

ร่างของอดีตพระสันตะปาปาจะถูกอัญเชิญเข้าไปในในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในวาติกันตั้งแต่วันจันทร์เพื่อให้ผู้ศรัทธาอำลา สำนักข่าววาติกันนิวส์รายงานเมื่อวันเสาร์ว่า วาติกันจะสนองตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ พิธีศพของพระองค์จะ “เรียบง่าย”

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกหลังจากการสิ้นพระชนม์ของอดีตสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เรียกพระองค์ว่า “บุคคลผู้สูงศักดิ์” และยกย่องเป็น “ผู้เสียสละเพื่อประโยชน์ของคริสตจักร”

“เรารู้สึกสะเทือนใจเมื่อเรานึกถึงท่านในฐานะบุคคลผู้สูงศักดิ์ ใจดี และเรารู้สึกขอบคุณในใจ ขอบคุณพระเจ้าที่มอบเขาให้กับคริสตจักรและต่อโลก” พระองค์ตรัสเมื่อวันเสาร์

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแสดงความเคารพต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ในมหาวิหารนักบุญเปโตรขณะนำพิธีสายัณห์แบบดั้งเดิมก่อนวันปีใหม่

“ขอบคุณเขาสำหรับความดีทั้งหมดที่พระองค์ได้ทำสำเร็จ และเหนือสิ่งอื่นใด สำหรับการเป็นพยานด้วยศรัทธาและการสวดอ้อนวอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีสุดท้ายของชีวิตนี้ พระเจ้าเท่านั้นที่รู้คุณค่าของการเสียสละเพื่อประโยชน์ของคริสตจักร” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าว

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Pope_Benedict_XVI#/media/

ผู้นำทั่วโลกแสดงความอาลัยต่ออดีตสันตะปาปาหลังการสิ้นพระชนม์ จัสติน เวลบี อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีและหัวหน้านิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ของอังกฤษ ได้กล่าวว่า ท่านกำลัง “ไว้ทุกข์”

“พระสันตะปาปาเบเนดิกต์เป็นหนึ่งในนักศาสนศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเขา อุทิศตนเพื่อศรัทธาของศาสนจักรและยืนหยัดในการปกป้องศาสนจักร” เวลบีกล่าวในถ้อยแถลงเมื่อวันเสาร์ “ในทุกสิ่ง ไม่น้อยไปกว่างานเขียนและการเทศนาของเขา ท่านมองไปที่พระเยซูคริสต์ พระฉายาของพระเจ้าที่คนธรรมดามองไม่เห็น เป็นที่ชัดเจนอย่างมากว่าพระคริสต์ทรงเป็นรากเหง้าแห่งความคิดของเขาและเป็นพื้นฐานของคำอธิษฐานของเขา”

“ในปี พ.ศ. 2556 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้ดำเนินการอย่างกล้าหาญและอ่อนน้อมถ่อมตนในการลาออกจากตำแหน่งสันตะปาปา ซึ่งเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่ทำเช่นนั้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ในการเลือกอย่างเสรีนี้ เขายอมรับความเปราะบางของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคน” เขากล่าวเสริม พระคาร์ดินัลทิโมที โดแลน อาร์คบิชอปแห่งมหานครนิวยอร์ก กล่าวว่า เขาจะระลึกถึงอดีตพระสันตะปาปาด้วย “ความรักและความกตัญญู”

พระสังฆราชคิริลล์ ผู้นำคริสตจักรออร์โทดอกซ์แห่งรัสเซีย กล่าวกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า เขาได้รับข่าวการสิ้นพระชนม์ของเบเนดิกต์ด้วย “ความโศกเศร้า” ตามข้อความที่แชร์บนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสังฆราชแห่งมอสโก “พระชนมายุหลายปีของพระองค์เป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ซึ่งพระองค์เป็นผู้นำในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ยากลำบาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับความท้าทายภายนอกและภายในมากมาย” คิริลล์กล่าวถึงเบเนดิกต์

คิริลล์เสริมความสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรออร์โทดอกซ์รัสเซียและคริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ “พัฒนาขึ้นอย่างมาก” ในช่วงที่เบเนดิกต์ดำรงตำแหน่ง ในความพยายามที่จะ “เอาชนะมรดกในอดีตที่บางครั้งเจ็บปวด” “ในนามของคริสตจักรออร์โทดอกซ์รัสเซีย ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจต่อคุณและคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก”

ส่วนนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า “พระองค์จะได้รับการจดจำในฐานะนักศาสนศาสตร์ที่มีชื่อเสียง พร้อมอุทิศตนเพื่อศาสนจักรตลอดชีวิต โดยมีหลักการและศรัทธานำทาง” ไบเดน ซึ่งเป็นชาวคาทอลิกคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการพบกับอดีตพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่กรุงวาติกันในปี พ.ศ. 2554 โดยกล่าวว่าเขาจำได้ว่า “ทรงมีความเอื้ออาทรและให้การต้อนรับอย่างดี ตลอดจนได้ประทานการสนทนาที่มีความหมายแก่เรา” และยังได้กล่าวถึงอดีตสมเด็จสันตะปาปาพระองค์นี้ระหว่างการเยือนทำเนียบขาวในปี พ.ศ. 2551 ว่า

“ความต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลกนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นเคย หากทุกคนต้องดำเนินชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี ขอให้ท่านมุ่งความสนใจไปที่พันธกิจการกุศลต่อไป เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราทุกคน” นายไบเดนกล่าวเสริม

นายกรัฐมนตรีอังกฤษนายริชชี ซูนัก (Rishi Sunak) ยังได้แสดงความเคารพ “ผมเสียใจที่ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16” ซูนักทวีตเมื่อวันเสาร์ว่า “ท่านเป็นนักการศาสนาผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งการเยือนสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2553 เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์สำหรับทั้งชาวคาทอลิกและผู้ที่ไม่ใช่ชาวคาทอลิกทั่วประเทศของเรา”

นายจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลีแสดงความชื่นชมต่ออดีตพระสันตะปาปา “เบเนดิกต์ที่ 16 เป็นยักษ์ใหญ่แห่งศรัทธาและเหตุผล เขาอุทิศชีวิตของเขาเพื่อรับใช้คริสตจักรสากลและพูดและจะพูดต่อไปยังหัวใจและความคิดของมนุษย์ด้วยความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณ วัฒนธรรม และสติปัญญาอันยิงใหญ่ของท่าน” แม้กระทั่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้นำการรุกรานยูเครนของมอสโก เรียกอดีตพระสันตะปาปาว่า “เป็นผู้ปกป้องค่านิยมดั้งเดิมของคริสเตียนอย่างแข็งแกร่ง”

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทำให้ผู้ศรัทธาคาทอลิกและผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาทั่วโลกตกตะลึงในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เมื่อทรงประกาศแผนการที่จะก้าวลงจากตำแหน่งพระสันตะปาปาโดยอ้างในคำปราศรัยอำลาว่า พระสันตะปาปาที่รับตำแหน่งสัญญาว่าจะอยู่ “ปลีกวิเวก” จากทางโลก

เบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเป็นพลังที่ทรงพลังในคริสตจักรคาทอลิกมานานหลายทศวรรษในนามของคาร์ดินัลโจเซฟ แรตซิงเกอร์ (Joseph Ratzinger) เกิดในเยอรมนียุคที่ประเทศถูกปกครองโดยพรรคนาซี ในปี พ.ศ. 2470 เขาเป็นลูกชายของนายตำรวจ แต่กลับมาสนใจในเรื่องจิตวิญญาณตั้งแต่อายุยังน้อย เขาได้เข้าโรงเรียนฝึกนักบวชจนได้รับการบวชเป็นบาทหลวงในปี พ.ศ. 2494 ท่านเป็นหนึ่งในนักเทววิทยาที่เข้าร่วมในการทำสังคายนาวาติกันที่สอง (Second Vatican Council) ท่านเติบโตขึ้นมาในคริสตจักรมาตลอด จนกระทั่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลในปีพ.ศ. 2520 และต่อมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาด้านเทววิทยาของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งทางวิชาการที่สูงที่สุดของคริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิก

โดยส่วนตัวคาร์ดินัลโจเซฟ แรตซิงเกอร์ เป็นคนรักสงบ ชอบเลี้ยงแมว และโปรดปรานเพลงของคีตกวีโมซาร์ทเป็นอย่างมาก ท่านเป็นนักเทววิทยาซึ่งมีผลงานทางวิชาการหลายร้อยบทความ และตำราเทววิทยาของท่านเป็นคัมภีร์หลักในการเรียนการสอนวิทยาลัยที่ฝึกผู้ที่จะมาอุทิศตนเป็นนักบวชในคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก

หนึ่งในก้าวที่สำคัญที่สุดของเขาคือในปี พ.ศ. 2524 เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งหัวหน้า Congregation for the Doctrine of Faith ซึ่งเป็นสำนักวาติกันที่ดูแล “หลักคำสอนเกี่ยวกับความเชื่อและศีลธรรมทั่วโลกคาทอลิก” ตามรายงานของสำนักวาติกัน

คาร์ดินัลโจเซฟ แรตซิงเกอร์ กลายเป็นที่รู้จักในนาม “Cardinal No” อันเกิดจากความพยายามของเขาในการปราบปรามขบวนการเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย ลัทธิพหุนิยมทางศาสนา การท้าทายคำสอนดั้งเดิมในประเด็นต่างๆ เช่น การรักร่วมเพศ และการเรียกร้องให้สตรีบวชเป็นบาทหลวงได้ เขาได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2548 ภายหลังหลังจากการสวรรค์คตของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2

ในหมู่ชาวคาทอลิก เป็นที่ทราบกันดีว่าสันตะปาปาเบเนิดิกต์ที่ 16 เป็นนักอนุรักษนิยมมากกว่าพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้สืบทอดตำแหน่ง ผู้ซึ่งได้เคลื่อนไหวเพื่อทำให้จุดยืนของสำนักวาติกันอ่อนลงในเรื่องการต่อต้านการทำแท้ง การต่อต้านการคุมกำเนิดและการรักร่วมเพศ ในสมัยของท่านเกิดวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากคดี “ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์” ของบาทหลวงโรมันคาทอลิก เป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เบเนดิกต์ที่ 16 กล่าวถึงวิกฤติการล่วงละเมิดทางเพศของบาทหลวงต่อผู้เยาว์ในจดหมายเปิดผนึกถึงสาธารณชน ซึ่งนักบวชคาทอลิกจำนวนมากเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางเพศหลังยุคสงครามเย็น และการเปิดเสรีคำสอนทางศีลธรรมของคริสตจักรโรมันคาทอลิกมากขึ้น และเป็นบาปที่สามารถหลุดพ้นได้จากการสารภาพบาป

แม้ว่าจะออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 อดีตพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ยังถูกบีบจากคนรอบข้างให้ออกห่างจากนักข่าว ที่มักถูกมองว่าท่านชอบสร้างแรงกดดันต่อสันตะปาปาฟรานซิสอยู่เสมอ โดยเฉพาะในขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสกำลังพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ผู้ชายที่แต่งงานแล้วเป็นนักบวชในบางกรณีหรือไม่ หนังสือ “จากก้นบึ้งของหัวใจของเรา” แย้งในการสนับสนุนประเพณีเก่าแก่หลายศตวรรษของการถือพรหมจรรย์ในคริสตจักรคาทอลิก เดิมเบเนดิกต์ถูกระบุว่าเป็นผู้ร่วมเขียน แต่ภายหลังมีการชี้แจงว่าท่านมีส่วนในข้อความเพียงเล็กน้อย

อีกหนึ่งปีต่อมา อดีตพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ตกเป็นเป้าโจมตีในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งอาร์คบิชอปแห่งมิวนิกและไฟรซิง ระหว่างปี พ.ศ. 2520 และ พ.ศ. 2525 หลังจากการตีพิมพ์รายงานของคณะกรรมการศาสนจักรเกี่ยวกับการล่วงละเมิดโดยนักบวชคาทอลิกที่นั่น

รายงานพบว่า ขณะที่ท่านยังอยู่ในตำแหน่งบริหารอยู่นั้น ท่านได้รับแจ้งถึง 4 คดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่เกี่ยวข้องกับบาทหลวงกับผู้เยาว์ รวมถึงอีก 2 คดีที่เกิดขึ้นในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา แต่คดีทั้งหมดเหล่านี้ล้มเหลวลงทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า สมเด็จสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้เข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับผู้ล่วงละเมิดที่ระบุว่าเป็นนักบวช X หลังจากการเผยแพร่รายงาน อดีตพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อกลาวหา ว่าพระองค์ทรงทราบดีว่าที่เขารู้ในปี พ.ศ. 2523 ว่านักบวชผู้นี้เป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์นั้นเป็นใคร

ในจดหมายที่ออกโดยสำนักวาติกันท่ามกลางความเดือดดาลของสังคม เบเนดิกต์เขียนว่า “พระองค์ยังมีกำลังใจที่ดี” ขณะที่ท่านกำลังจะเผชิญหน้ากับ “ผู้พิพากษาคนสุดท้ายในชีวิตของฉัน” แม้ว่าพระองค์จะยอมรับว่ามีความบกพร่องก็ตาม นอกจากนี้ ท่านยังได้ออกคำขอโทษทั่วไปต่อเหยื่อการละเมิดทางเพศโดยบาทหลวงคาทอลิกทั้งหลาย

ในขณะที่สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ยังเป็นประมุขสูงสุดของโรมันคาทอลิก ท่านท่านสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทางกายภาพในกรุงวาติกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์ต่อต้านโลกร้อน โดยให้อาคารทั้งหมดในวาติกันติดแผงโซลาร์เซลล์ และให้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นความคิดที่ล้ำสมัยสำหรับผู้นำทางศาสนา

แม้ว่าสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 จะสวรรคตไปแล้ว วีรกรรมของท่านในการที่กล้าสละตำแหน่งประมุขสูงสุดของโรมันคาทอลิกนั้นเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์โลกยังคงจารึกไว้ แต่แนวคิดทางเทววิทยาและอิทธิพลทางวิชาการของท่านยังคงอยู่คู่กับคริสต์ศาสนาไปอีกนานแสนนาน