ThaiPublica > เกาะกระแส > SET Note เผย บจ.ใน SET- mai จ้างงานเพิ่มปี’64 หลังผ่อนมาตรการโควิด

SET Note เผย บจ.ใน SET- mai จ้างงานเพิ่มปี’64 หลังผ่อนมาตรการโควิด

26 มกราคม 2023


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ SET Note ฉบับที่ 2/2566 เรื่อง “ปี 64 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai จ้างงานเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการ COVID-19” โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานในประเทศไทย ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานปรับลดลงเมื่อภาครัฐผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุม COVID-19

  • การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการภาครัฐส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศไทย โดยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.02% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงปี 2563 – 2565 พบว่า อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับสูงสุดที่ 2.25% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด หรือเป็น 2 เท่าของอัตราว่างงานเฉลี่ยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 ก่อนปรับตัวดีขึ้นหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยอัตราการว่างงานปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และอยู่ที่ระดับ 1.24% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2565
  • ณ สิ้นปี 2564 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย รวม 755 บริษัท มีจำนวนพนักงานรวมกว่า 1.74 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.8% จากสิ้นปีก่อน และกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID-19
  • บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการมีจำนวนพนักงานสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2564 สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุม COVID-19 ของภาครัฐ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของพนักงานในธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจการแพทย์ ตามมาด้วยกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง ตามลำดับ โดยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีจำนวนพนักงานน้อยที่สุด
  • จำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai สิ้นปี 2564 คิดเป็น 4.6% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 4.2% ของสิ้นปี 2563 และบริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายค่าตอบแทนรวมให้พนักงานรวมสูงกว่า 765,000 ล้านบาท หรือหากประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าตอบแทนพนักงานนี้ พบว่า คิดเป็น 24% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่สรรพากรจัดเก็บในปี 2564
  • การแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทบต่อการจ้างงาน อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ก่อนปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2564 ตามการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุม COVID-19 ของภาครัฐ

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการจ้างงานในประเทศ ซึ่งจากอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยประเมินจำนวนผู้ว่างงานในประเทศเปรียบเทียบกับจำนวนแรงงานทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ (ภาพที่ 1) พบว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2558 – 2562 อยู่ที่ 1.02% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด และมีอัตราการว่างงานสูงสุดเพียง 1.24% ณ สิ้นไตรมาส 1/2561 ต่อมาเมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 รุนแรงขึ้นในปี 2563 และมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ภาครัฐออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นระยะ ซึ่งบางมาตรการกระทบต่อการดำเนินงานปกติของธุรกิจ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 อยู่ในระดับสูงสุด ที่ 2.25% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด หรือเป็น 2 เท่าของอัตราว่างงานเฉลี่ยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19

    อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการฯ อาทิ การลดพื้นที่ควบคุม การลดการจำกัดการเดินทาง การอนุญาตให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาดำเนินงาน เป็นต้น ส่งผลให้ธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติ การจ้างงานกลับมา ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงและอยู่ที่ระดับ 1.23% ในไตรมาส 3/2565

    การเปลี่ยนแปลงอัตราการว่างงานข้างต้นสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยในรายงาน “SET Note Volume 10/2565 SET CEO Survey (Special Issue) เรื่องนโยบายด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทจดทะเบียนในช่วงสถานการณ์ COVID-19” ที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและการจ้างงานของบริษัท แต่บริษัทส่วนใหญ่พยายามรักษาอัตราการจ้างงานโดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน อัตรากำลังและปรับเพิ่มศักยภาพพนักงาน และรับพนักงานเพิ่มเติมเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    ณ สิ้นปี 2564 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีจำนวนพนักงานรวมกว่า 1.74 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.8% จากสิ้นปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากการจ้างงานเพิ่มขึ้น และจากการรายงานเพิ่มเติมของบริษัทจดทะเบียน ทั้งกรณีเข้าใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในปี 2564 และบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมใน One Report

    แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว คือในช่วงปี 2563 – 2565 ตลาดทุนยังเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) ระดมทุนรวมกว่า 975,000 ล้านบาท ทั้งจากการเข้าระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนใหม่และบริษัทจดทะเบียนผ่านตลาดรอง โดยมีบริษัทจดทะเบียนระดมทุนในตลาดแรกผ่านกระบวนเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทมหาชนจำกัดต่อประชาชนในครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) จำนวน 111 บริษัท มีมูลค่าระดมทุนสูงกว่า 320,000 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์จากการ IPO รวมสูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท1 ซึ่งการระดมทุนเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการขยายกิจการและการจ้างงานของบริษัทจดทะเบียน

    เมื่อพิจารณาการจ้างงานจากฐานข้อมูลจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทย (ตารางที่ 1) ที่ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวบรวมข้อมูลจากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปี (แบบฟอร์ม 56-1 One Report) พบว่า ณ สิ้นปี 2564 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 755 บริษัท มีจำนวนพนักงานรวม 1,747,299 คน เพิ่มขึ้น 141,409 คน หรือเพิ่มขึ้น 8.8% จากสิ้นปี 2563 ที่มีพนักงานรวม 1,605,490 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงานในบริษัท จดทะเบียนใน SET จำนวน 125,676 คน และใน mai จำนวน 16,133 คน

    เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในปี 2564 พบว่า เป็นผลจาก 1) การจ้างงานเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายในตลาดก่อนปี 2564 และ 2) การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของบริษัทจดทะเบียนที่จดทะเบียนเข้าซื้อขายใหม่ในปี 2564 และ 3) การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของบริษัทจดทะเบียนที่ซื้อขายในตลาดก่อนปี 2564 ที่มีเปิดเผยข้อมูลจำนวนพนักงานในปี 2564 แต่ไม่มีการเปิดเผยในปี 2563 ตามรายละเอียดดังนี้

    และเมื่อพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานของแต่ละบริษัท พบว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงานในปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการจ้างงานเพิ่มเติมของบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายก่อนปี 2564 ที่มีการปรับโครงสร้างองค์กร มีการควบรวมกิจการ และมีการขยายสายผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ และจากจำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในปี 2564 อย่างไรก็ตาม พบว่า มีจำนวนพนักงานที่ลดลงบางส่วนจากการยกเลิกการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทย (delisting) และบริษัทจดทะเบียนไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในปี 2564

    บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มบริการมีจำนวนพนักงานสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 ทั้งการเพิ่มขึ้นของพนักงานในธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจการแพทย์ สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

    เมื่อพิจารณาจำนวนพนักงานจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2564 (ภาพที่ 2) พบว่า กลุ่มบริการ (Services) เป็น
    กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนพนักงานสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีจำนวนพนักงานรวม 543,867 คน หรือประมาณ 31.1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
    ส่วนหนึ่งจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ลักษณะการประกอบธุรกิจที่ต้องมีการจ้างพนักงานจำนวนมาก ทั้งในส่วนของธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจการแพทย์ ตามมาด้วยกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง ตามลำดับ โดยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีจำนวนพนักงานน้อยที่สุด

    เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจำนวนพนักงานในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในปี 2564 (ภาพที่ 3) พบว่า กลุ่มบริการมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 70,789 คน คิดเป็น 49.9% ของจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดในปี 2564 ตามมาด้วยกลุ่มเทคโนโลยี ที่มีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น 33,514 คน ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมีจำนวนพนักงานลดลงมากที่สุด โดยลดลง 11,044 คน หรือประมาณ 60.8% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่ลดลงในปี 2564 ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งจากการปิดแคมป์คนงาน / หยุดปฏิบัติงานเนื่องจากพบว่ามีพนักงานติดเชื้อและเกิดการแพร่เชื้อ COVID-19 ในกลุ่มพนักงาน

    ณ สิ้นปี 2564 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีการจ้างงานคิดเป็น 4.6% ของจำนวนผู้มีงานทำในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจาก 4.2% ณ สิ้นปีก่อน แต่หากประเมินภาษีบุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากพนักงานของบริษัทจดทะเบียนนี้ คิดเป็น 24% ของของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สรรพากรจัดเก็บ ในปี 2564

    เมื่อพิจารณาการจ้างงานจากจำนวนพนักงานบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai เทียบกับจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดในประเทศไทย (ภาพที่ 4) พบว่า ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 4.6% เพิ่มขึ้น ณ สิ้นปี 2563 ที่อยู่ที่ 4.2%

    นอกจากนี้จากข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ในปี 2564 ที่มีการเปิดเผยในรายงาน มีค่าตอบแทนรวมสูงกว่า 765,000 ล้านบาท ซึ่งหากประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากค่าตอบแทนพนักงานนี้2 โดยใช้อัตราภาษี 15% ของรายได้พึงประเมิน จะอยู่ประมาณ 80,325 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 24% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สรรพากรจัดเก็บ ในปี 2564

    รายงานโดย สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์, ปฏิธรรม เหมือนเนื้อทอง ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    ข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารฉบับนี้ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และแนวคิดแก่ผู้อ่าน มิใช่การให้คำแนะนำด้านการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมิได้ให้การรับรองในความถูกต้องของข้อมูล และไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการนำข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปใช้อ้างอิง หรือเผยแพร่ไม่ว่าในลักษณะใด นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดตามหลักเกณฑ์ที่เห็นสมควร ความเห็นที่ปรากฎในรายงานฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย