ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > ตามรอยเส้นทาง ESG : ไทยวา-เอสแอนด์พี ที่มุ่งดูแล ‘คน’ รอบตัว

ตามรอยเส้นทาง ESG : ไทยวา-เอสแอนด์พี ที่มุ่งดูแล ‘คน’ รอบตัว

6 มกราคม 2023


นับตั้งแต่การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2558 เป็นปีแรกซึ่งมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าร่วมตอบแบบประเมินจำนวน 100 บริษัท และได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI จำนวน 51 บริษัท ได้มี บจ. เข้าร่วมและผ่านการประเมินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดปี 2565 มี บจ. ผ่านการคัดเลือก 170 บริษัท สะท้อนว่า บจ. ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และบรรษัทภิบาล (governance) มากขึ้น

บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร กับบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ เป็น บจ. ที่เพิ่งผ่านการประเมินและเข้าสู่ THSI ไม่นานนัก แต่ทั้งสองบริษัทมีเส้นทางการดำเนินธุรกิจบน ESG ที่ยาว นาน โดยในปี 2565 บมจ.ไทยวา ฉลองครบ 75 ปี ขณะที่ บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท ฉลองครบรอบ 49 ปี

บมจ.ไทยวา ได้รับคัดเลือกจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เป็น “หุ้นยั่งยืน” ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ THSI ประจำปี 2565 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท ได้รับคัดเลือกเป็น “หุ้นยั่งยืน” (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ประจำปี 2565 ประเภทเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

บมจ.ไทยวา และ บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท มีแนวคิดทำธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ใกล้เคียงกัน คือ ให้ความสำคัญกับการดูแลคนรอบตัว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้

ฮาร์ดแวร์ซื้อได้แต่ ‘คน’ คือการดูแลสังคมของไทยวา

โฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยวา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน E หรือ environment มีความสำคัญ เพราะเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมที่กำลังมีปัญหา ซึ่งเป้าหมายของไทยวาในด้าน E สิ่งแวดล้อมคือ มุ่งไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์มากขึ้น แต่ไม่ลืม S-social และ G-governance ซึ่ง S ยังเป็นส่วนสำคัญของไทยวา

“เราใส่ใจในคน การที่ไทยวาอยู่ได้มานาน 75 ปีเพราะเราดูแลคนอย่างจริงจัง ดูแลมาตลอด ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ผ่านช่วงวิกฤติโรค SARs และล่าสุดผ่านวิกฤติโควิด ดังนั้น การดูแลคน คนงาน ชุมชน เกษตรกรเป็นองค์ประกอบหลักของการดูแลสังคม S ของเรา”

โฮ เรน ฮวา กล่าวว่า การดูแลผู้คนเป็นสิ่งสำคัญมาก บริษัทสามารถซื้อแผงโซลาร์เซลล์ สามารถเปลี่ยนรถยนต์เป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ได้ สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ทำได้ทั้งหมด เพราะเป็นเรื่อง ‘ฮาร์ดแวร์’ แต่ประเด็นคือ ‘วิธีการดูแลคน’ วิธีการทำให้คนเชื่อมั่นในพันธกิจของไทยวา วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ทำให้รู้สึกมีพลังเมื่อมาทำงานทุกวัน ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจบนหลักการ ESG ของไทยวาบนวิสัยทัศน์ From Farm to Shelf ยึด กรอบ 4Fs คือ farm, factory, family, food ซึ่งในแต่ละด้านมุ่งไปที่คนเป็นหลัก โดยในด้าน farm มุ่งเน้นการดูแลเกษตรกรในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา ส่วนด้าน factory โรงงานเน้นการดูแลคนงาน ขณะที่ family ให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน และ food เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

ในด้าน farmer คือ การพัฒนาเกษตรกร บริษัทฯ ได้มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่สมาชิกไทยวา เช่น การเพิ่มผลผลิตโดยการปรับปรุงดิน การใช้ต้นพันธุ์ที่ได้รับการรับรอง และการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อติดตามสภาพอากาศ และการเพาะปลูกปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากบริษัท 1,569 ราย

ไทยวาวางเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี หรือ ปี 2030 จะดูแลเกษตรกรรายย่อย 1 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มาภาพ : https://www.thaiwah.com/th/investor-relations/updates/press-releases?keyword=&year=2020

factory บริษัทฯ ได้จัดการระบบการจัดการโรงงานเพื่อไม่ให้ก่อเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อชุมชน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงการควบคุมระบบน้ำและการบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ

family การพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวพนักงาน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่บุคลากร สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง

โฮ เรน ฮวา ยกตัวอย่างการดูแลพนักงานของบริษัทในช่วงการระบาดของโควิดว่า ทีมผู้บริหารและผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ มีการประชุมและอัปเดตสถานะรวมถึงพัฒนาแผนรับมือวิกฤติอย่างใกล้ชิดทุกวันเวลา 8.00 น.โดยไม่มีหยุด รวมไปถึงการหารือเกี่ยวกับ หน้ากาก เจลล้างมือ วัคซีน การเว้นระยะห่างทางสังคม หลังจากนั้นได้มีการทำประกันโควิดให้พนักงาน มีการจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังต้องดูแลสภาพจิตของพนักงานที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทำงานที่บ้าน

SNP เริ่มจากคนในองค์กรแล้วขยายผลสู่คนภายนอก

มณีสุดา ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร (CSO) เปิดเผยว่า เอสแอนด์พีฝังเรื่องความยั่งยืนอยู่ในกระบวนการทำงานมาโดยตลอด แต่มีความชัดเจนหลังจากสหประชาชาติประกาศเป้าหมายความยั่งยืน เมื่อปี 2558 ทำให้ SNP จัดตั้งสำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กรขึ้นในปี 2561 เพื่อสะท้อนว่า แม้ SNP จะเป็นธุรกิจอาหารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีมาร์เกตแคปไม่ใหญ่ แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำเรื่องความยั่งยืน

เดิมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ SNP มี 5 ข้อ ต่อมาได้เพิ่มอีก 2 ข้อ รวมเป็น 7 ข้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายทั้งอยู่ในกระบวนการผลิตเดิม และได้จากการตอบคำถามในแบบประเมินของ THSI ที่ทำให้รู้ว่า แม้ SNP ทำเรื่องความยั่งยืนมาตลอด แต่มีอีกมากมายที่ยังทำได้ โดยจากแบบประเมินปรากฏว่า ด้านสิ่งแวดล้อม SNP ทำได้สูงมาก และดีกว่ากลุ่มอุตสาหกรรม ดีกว่าค่าเฉลี่ย เพราะทำเรื่องนี้เยอะมาก จึงเป็นเหตุผลให้เพิ่มเป้าหมาย SDGs Goal ข้อ 13 คือ climate change

ส่วนเป้าหมายอื่นๆ จะเกี่ยวพันการทำธุรกิจหมด เช่น zero hunger เพราะอยู่ในธุรกิจอาหาร มีขยะอาหาร (food waste) ที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพราะอาหารที่บริโภคในโลก เป็นขยะ 30-40% ขณะที่มีคนขาดแคลนอาหารทั่วทุกมุมโลก ซึ่ง SNP ได้มูลนิธิเอสโอเอสเป็นพันธมิตรมารับอาหารที่หมดอายุแต่ยังบริโภคได้อีก 2-3 วันส่งต่ออาหารให้ชุมชน และมีการอบรมพนักงานหน้าร้านเพื่อให้แยกอาหารที่จจะจัดส่งได้อย่างถูกต้อง

SNP ได้ส่งอาหารต่อให้กับชุมชนมาเกือบ 2 ปี คิดเป็น 197,000 กว่ามื้อ สามารถลดขยะอาหารจากเดิมที่ต้องโยนทิ้งขยะประมาณ 46 ตัน ใน 40 สาขา 4 จังหวัด

หรือข้อ 3: Good Health and Well-Being การรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ทุกช่วงอายุ ที่ผ่านมา เอสแอนด์พีมีเป้าหมายจะเป็นครัวคนไทย และเป็นครัวสุขภาพดีให้กับคนไทยด้วย และไม่ได้ทำให้กับลูกค้าอย่างเดียว แต่เริ่มจากคนในองค์กรก่อน มีการตรวจสุขภาพ ดูแลให้มีการออกกำลังกายและนำไปสู่คนในชุมชนรอบตัว

ข้อ 4: Quality of Education ได้เพิ่มเข้ามาในปีที่ผ่านมาเนื่องจาก SNP มีการทำศูนย์การเรียนมามากกว่า 12 ปี เพื่อฝึกการทำอาหารและค้าปลีก เด็กนักเรียนนักศึกษาที่มาฝึกงานจะจบระดับ ปวส. รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ และได้ทำงานไปด้วย

ข้อ 8: Decent Work and Economic Growth ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า

ในด้านสังคม ทั้งสิทธิมนุษยชน การดูแลพนักงาน การจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรม จำนวนชั่วโมงทำงาน SNP ไม่มีกรณีพิพาทเหล่านี้เลย

“เรื่องความยั่งยืนจึงเกี่ยวกับคนทุกคนรอบตัวเรา ต้องเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เริ่มจากคนในองค์กรก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่คนภายนอกได้ชัดเจนขึ้น ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่กระทบ PPP (people, profit, planet) ในส่วนที่เป็น profit ก็จะไม่ยั่งยืนเหมือนกัน จึงต้องมีสมดุล และเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ คือการพยายามดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอื่น เป็นการสร้างสมดุลระหว่าง PPP ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน”

นอกจากนี้ SNP มีนโยบายการจัดหาจัดซื้ออย่างมีความรับผิดชอบ responsible sourcing การเปลี่ยนการจัดซื้อวัตถุดิบจากคนกลาง ไปจัดซื้อจากเกษตรกรโดยตรง มีการรับฟังปัญหา การให้ความรู้ โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการลงพื้นที่เองในการเยี่ยมพื้นที่เกษตรกรปีละ 3-4 จังหวัด ทำให้สิ่งที่ได้อย่างมาก คือเรื่องของจิตใจ

“อย่างเช่น การลงพื้นที่เพื่อซื้อส้มเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรผู้ปลูกจะเล่าว่า มีคนมาซื้อส้มก็จริง แต่จะคัดเฉพาะผลสวยๆ แต่มีส้มลูกใหญ่กว่ามะนาวนิดเดียว ผิวดำ แต่ชิมแล้วหวานมาก ถ้าช่วยซื้อได้ เขาจะไม่ขาดทุน เราจึงรับซื้อส้มไม่สวยนี้ทั้งหมดเพื่อทำน้ำส้มคั้น ปรากฏว่าเกษตรกรเข้ามากอดเราแล้วร้องไห้ นี่คือสิ่งที่เกินความคาดหมาย คือไม่ได้แค่ซื้อ แต่ทำให้เขาไม่ขาดทุน”

“หรือการซื้อผ้าขาวม้าจากชาวบ้านที่จังหวัดอำนาจเจริญมาทำถุงผ้า เขาดีใจมาก เพราะโควิดทำให้เขาขายไม่ได้มา 2 ปี ไม่มีรายได้ หรือการซื้อทุเรียน ที่ปกติซื้อจากภาคตะวันออก แต่เจอคู่แข่งอย่างจีนที่รับซื้อเยอะมาก ตามหลักความยั่งยืน ต้องหาแหล่งวัตถุดิบที่อื่นเพื่อแชร์ความเสี่ยง ปีที่ผ่านมา จึงลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส รอบแรกเนื้อทุเรียนไม่ได้ ก็เอาทีมวิจัยและพัฒนาไปทำเป็นปีจนเนื้อทุเรียนได้ และลงทุนสร้างโรงงาน มีคนถามว่าไม่กลัวหรือ กลัวนะ แต่คิดว่าทำดีพระคุ้มครอง ตอนลงพื้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าฯ ไปพบและชวนกินข้าว ขอให้ SNP เป็นบริษัทตัวอย่าง เพื่อจุดประกายให้คนอื่นๆ ทำแบบเรา เพราะนราธิวาสเป็นจังหวัดที่จีดีพีต่ำที่สุดในประเทศ หรือวันที่ไปสวนทุเรียน มีเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนมารอ 30-40 คน มาขอบคุณเรา ถึงได้บอกว่า การลงพื้นที่ในการจัดซื้อจากเกษตรกรโดยตรงมันได้อะไรมาก ได้มากกว่าวัตถุดิบที่ปลอดภัย มันได้ความรู้สึกทางใจด้วย ได้กำลังใจจากสิ่งที่เห็น และคิดว่าจะต้องทำต่อไปให้ดีที่สุด

มณีสุดากล่าวว่า…..

เรื่องความยั่งยืน ทำแล้วเห็นผลจริงๆ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่รอบตัว ทุกคนในห่วงโซ่อุปทานได้รับการดูแลใส่ใจจริงๆ

มณีสุดากล่าวว่า เอสแอนด์พีทำเรื่องความยั่งยืน เพราะอยากทำให้เกิดขึ้นจริงๆ และปี 2566 SNP จะครบรอบ 50 ปี จึงอยากสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่า SNP อยู่มาถึงวันนี้ เป็นร้านอาหารของคนไทย อยากดูแลสุขภาพให้คนไทย และอยู่กันไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน ไม่ใช่อยู่คนเดียว แต่อยู่อย่างยั่งยืนไปกับทุกคนที่อยู่รอบตัวเราด้วย