ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > ‘ไทยวา’ From farm to shelf จากรุ่นสู่รุ่นด้วย ‘ESG’…เราต้องอยู่บนเส้นทางนี้ต่อไป

‘ไทยวา’ From farm to shelf จากรุ่นสู่รุ่นด้วย ‘ESG’…เราต้องอยู่บนเส้นทางนี้ต่อไป

29 ธันวาคม 2022


ซีรีส์ข่าวสร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

ก่อนที่คำว่า ESG จะเป็นกระแสความยั่งยืนในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจของหลายบริษัทที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องนานนับหลายทศวรรษมาก่อนหน้านี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากว่า บริษัทเหล่านี้มีแนวคิดในการสร้างและพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืนยาวนานมาได้อย่างไร

บริษัทไทยวา จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินงานมา 75 ปีแล้วเป็นอีกหนึ่งที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราว นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ย้อนประวัติบริษัทไปว่า เมื่อ 75 ปีที่่านมา ยังไม่มีคำว่า ESG หรือความยั่งยืน แต่ขณะนั้นภาคเกษตร การเพาะปลูกมันสำปะหลัง การผลิตอาหารเกิดขึ้นแล้ว บริษัทจึงเริ่มบุกเบิกการผลิตมันสำปะหลัง มีการผลิตมันเส้น ที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรกในหลายๆ พื้นที่ โดยมีโรงงานที่อุดรธานี กาฬสินธุ์ โคราช และแม้แต่หากย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน บริษัทก็ได้บุกเบิกธุรกิจเกษตรและอาหารเช่นกัน

“ความยั่งยืนสำหรับเราที่ไทยวาคือคุณค่าจากฟาร์มสู่ชั้นวางสินค้า From farm to shelf เป็นการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าในแง่ของการเกษตรและอาหาร ประวัติศาสตร์ของไทยวามาก่อนคำว่า ความยั่งยืน เพราะประวัติศาสตร์และสิ่งที่ตกทอดของเราเกี่ยวเป็นเรื่องการ เกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่ยั่งยืน”

บริษัทไทยวาดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารมาตลอดระยะเวลา กว่า 75 ปี โดยประกอบธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก คือ ผลิตภัณฑ์แป้งและที่เกี่ยวข้อง ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพื่อจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

บริษัทไทยวาก่อตั้งในปีค.ศ. 1947 ต่อมาในปี ค.ศ. 1963 ได้กลายเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศ ขณะที่การผลิตแป้งมันสำปะหลังก็มีปริมาณการผลิตสูงขึ้นต่อเนื่อง ในยุค 1970-80s ได้เริ่มตั้งโรงงานผลิตวุ้นเส้นที่บางเลน นครปฐม มีการผลิตอาหาร จากนั้นได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปีค.ศ. 1989 ต่อมาได้ขยายไปตั้งโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่เวียดนาม

ในปีพ.ศ. 2558 ได้มีการควบรวมกิจการของสองบริษัท ระหว่างบริษัท ไทยวาฟูดโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยวาสตาร์ช จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้มีบริษัทใหม่ชื่อ บมจ.ไทยวา

นายโฮ เรน ฮวา กล่าวว่า เมื่อพูดถึง ESG ก็ต้องไม่ลืม S-social และ G-governance ในช่วงนี้ E-environment มีความสำคัญ เพราะเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมที่กำลังมีปัญหา แต่ S ยังเป็นส่วนสำคัญของไทยวา

“เราใส่ใจในคน การที่ไทยวาอยู่ได้มานาน 75 ปี เพราะเราดูแลคนอย่างจริงจัง ดูแลมาตลอด ตั้งแต่วิฤติต้มยำกุ้ง ผ่านช่วงวิกฤติโรค SARs และล่าสุดผ่านวิกฤติโควิด ดังนั้นการดูแลคน คนงาน ชุมชน เกษตรกรเป็นองค์ประกอบหลักของการดูแลสังคม S ของเรา”

นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยวา จำกัด (มหาชน)

สำหรับในด้าน G นายโฮ เรน ฮวา กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าและทันสมัยมาก โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่มีการพัฒนาดัชนี Thailand Sustainability Index หรือ THSI มีการสนับสนุนให้จัดทำรายงาน มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน

“ดังนั้น G ในประเทศไทยจะยังคงเป็นส่วนสำคัญของบริษัทในด้านการมีบทบาท เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล ไทยวาติดใน THSI มา 4 ปีแล้ว และเราเผยแพร่รายงานความยั่งยืนมาแล้ว 4 ปี อีกทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ GCNT(สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย) เรายังคงเดินหน้ายกระดับ G ของเราต่อไปในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลและการรายงาน” นายโฮ เรน ฮวา กล่าว

บมจ.ไทยวา ได้รับคัดเลือกจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็น “หุ้นยั่งยืน” ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2565 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

กรอบเป้าหมาย 4F ขับเคลื่อนความยั่งยืน

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานและจากการที่บริษัทมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย นายโฮ เรน ฮวา เปิดเผยว่า บริษัทมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเส้นทางที่ยั่งยืนในตลอด 75 ปีที่ผ่านมา โดยสิ่งสำคัญคือ มีการแชร์ มีการสื่อสารให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การสื่อสารเกี่ยวกับ Core value ของบริษัทกับทีมงานอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งพยายามสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการสื่อสารกับผู้คนภายนอก มีการสื่อสารถึงวิสัยทัศน์ของไทยวา ความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของไทยวาที่ยึด From farm to shlef ตลอดจนทำงานหลายด้าน ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เช่น มีการฝึกอบรมและเวิร์กช็อปในโคราช มีการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในโรงงานที่ มีการมอบทุนการศึกษามากมายให้กับโรงเรียนมากว่า 20-30 ปี และยังทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นในจังหวัดอุดรธานีที่พัฒนาโรงงานแห่งแรก

ไทยวา ให้ความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และการพัฒนาที่ยั่งยืนของการดำเนินงานร่วมกับชุมชนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“หลายปีที่ผ่านมาเราลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดยั้ง และมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น ผสมผสานกับการสื่อสารในพื้นที่ต่างๆ เพราะการทำการค้ากับเกษตรกรเราต้องมีความรับผิดชอบ สิ่งที่บริษัทพยายามสื่อสารมาต่อเนื่อง คือ เรามีความรับผิดชอบและทำงานเชิงรุก คำว่า ความยั่งยืนเป็นคำใหม่ แต่มันเป็นเรื่องของการลงมือทำของเรา และเป็นเรื่องของการลงมือทำมากกว่าเรื่องอื่นๆ”

นายโฮ เรน ฮวา กล่าวว่า การลงมือทำเรื่อง ESG ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดยึดหลักเดียวกันคือ กรอบ 4Fs คือ Farm, Factory, Family, Food

“การลงมือทำ หรือ action ของเราแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เพราะเรายึดกรอบ 4F คือ Farm factory Family และ Food โดยในด้าน farm เราดูแลเกษตรกรในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา ส่วนด้าน factory โรงงานเป็นเรื่องคนงานที่เป็นประเด็นสังคม ส่วน family นั้นเราดูแลพนักงาน และ food เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งการดำเนินการและเป้าหมายแต่ละอย่างค่อนข้างแตกต่างกัน แต่คุณค่าร่วมของ ไทยวา คือ ความยั่งยืน เป็นเรื่องของ 4F”

เว็บไซต์ของบริษัทให้ข้อมูลว่า Farmer คือ การพัฒนาเกษตรกร โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างชีวิตที่ดีขึ้นตลอดห่วงซ่คุณค่าของบริษัท และสร้าง คุณค่าร่วมด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืนในตลอดทุกห่วงโซ่คุณค่า ผ่านช่องทางต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากบริษัท 1,569 ราย และในปี 2564 บริษัทฯ ได้มีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่สมาชิก ไทยวา เช่นเรื่องการเพิ่มผลผลิตโดยการปรับปรุงดิน การใช้ต้นพันธุ์ที่ได้รับการรับรอง และการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ รวมถึงการใช้แอพพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อติดตามสภาพอากาศ และการเพาะปลูก

Factory การพัฒนาโรงงานและชุมชนสีเขียว ให้ความสำคัญที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนร่วมกับชุมชน โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ด้วยความรุนแรงของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทฯได้จัดการระบบการจัดการโรงงานเพื่อไม่ให้ก่อเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อชุมชน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงการควบคุมระบบน้ำและการบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ

Family การพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวพนักงาน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่บุคลากร สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง และเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง

Food การวิจัยอาหารออร์แกนิคและอาหารเพื่อสุขภาพ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอด กระบวนการ ด้วยเจตนารมณ์แลความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นายโฮ เรน ฮวา กล่าวว่า การลงมือทำต้องลงในรายละเอียด เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลายกลุ่ม และมีโรงงานถึง 15 แห่งใน 5 ประเทศ ที่กฎระเบียบหลักเกณฑ์มีความแตกต่างกัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความท้าทายและยาก แต่ก็เป็นความท้าทายที่ไม่แตกต่างจากความท้าทายอื่นๆ และคุ้มค่าที่จะทำ

“มันเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะทำและมีความท้าทายไม่ต่างจากด้านอื่น ความท้าทายมีอยู่เสมอ เมื่อชนะความท้าทายด้านหนึ่งได้ ความท้าทายต่อไปจะตามมา เช่น ความท้าทายจากวิกฤติโควิด เมื่อผ่านมาได้ เราเจอความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อ แต่ประเด็นสำคัญคือ ทุกขั้นตอนของเส้นทางของเรา เรามีการลงมือทำที่ชัดเจนในห่วงโซ่คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นระดับเกษตรกรระดับโรงงาน ระดับลูกค้า”

นายโฮ เรน ฮวาขยายความว่า ความท้าทายจากวิกฤติโควิดทำให้บริษัทเตรียมพร้อมมากขึ้น และทำให้มีการปรับตัวดีขึ้นมาก มีการดำเนินงานที่เร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยี มีการตัดสินใจ Microsoft Team ทำให้มีวัฒนธรรมดิจิทัล มีการทำงานร่วมกันมากขึ้นในฐานะบริษัท และที่สำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วิสัยทัศน์มีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา

นายโฮ เรน ฮวา กล่าวต่อว่า วิกฤติโควิดได้เร่งการเปลี่ยนผ่านของบริษัท แต่โควิดก็เป็นความท้าทาย เพราะเป้าหมายอันดับหนึ่งในช่วงการระบาดของโควิดคือทำให้คนปลอดภัย การดูแลสุขภาพของพนักงาน รักษาแรงจูงใจ ตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาโควิดเร่งการเปลี่ยนผ่านของบริษัท และยังคงเติบโตได้ดีในปีนี้ โดยบริษัทมียอดขายมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท มี EBITDA มากกว่า 1 พันล้านบาท

“ผลประกอบการของธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความมุ่งมั่นเรื่องความยั่งยืนก็แข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน”

ที่มาภาพ: https://sdjourney.thaiwah.com/storage/content/sustainability-strategies/farmer-development/farmer-development-2021-th.pdf

ESG มีความท้าทายเสมอ

อย่างไรก็ตามนายโฮ เรน ฮวายอมรับว่า ความท้าทายมีอยู่เสมอ ดังเช่นการชนะความท้าทายจากโควิด แต่การขับเคลื่อน ESG ของไทยวาในปัจจุบัน เผชิญกับความท้าทายในปัจจุบัน คือ เงินเฟ้อ เงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ท้าทายเพราะต้องบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และในทางกลับกัน มีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะต้องสร้างสมดุลโดยวิธีเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และต้องทำให้แน่ใจได้ว่าสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้

“วิธีที่เอาชนะความท้าทายเหล่านั้น คือ การกำหนดเป้าหมายระยะกลางที่ชัดเจน เช่น ตอนนี้บริษัทกำลังจะติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนอีกเกือบ 10 เมกะวัตต์ในโรงงาน และมีเป้าหมายวัดและทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ครบทุกโรงงานให้ได้ ฉะนั้นในอีก 2-3 ปี บริษัทจะใช้พลังงานหมุนเวียนที่ชนะความท้าทายของเงินเฟ้อและราคาพลังงานได้ ดังนั้นต้องดำเนินการหลายอย่าง”

นายโฮ เรน ฮวากล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งความท้าทาย คือ การจัดการความหลากหลาย ไทยวาจึงคำนึงถึงการสร้างวัฒนธรรม ความหลากหลายด้านสังคม ความหลากหลายของทีมงาน ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างดีในการเอาชนะความท้าทาย โดยไทยวาวันนี้ อัตราส่วนชายต่อหญิงของไทยวาอยู่ในระดับสูง ทีมผู้นำใน 20 อันดับแรกมากกว่า 50% เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ต้องยกระดับต่อเนื่อง

“ผมคิดว่าความท้าทายของ ESG มีอยู่เสมอ และต้องใช้เวลาเพื่อเอาชนะมัน แต่เราต้องทำต่อไป เราต้องอยู่บนเส้นทางนี้ต่อไป”

นายโฮ เรน ฮวากล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทในด้าน E สิ่งแวดล้อมคือ มุ่งไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์มากขึ้น พร้อมกับดูแลเรื่องการลดการใช้น้ำ ส่วนในด้านสังคม S เป็นเรื่องของการดูแลคน การมีส่วนร่วมกับคน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบชุมชน ส่วนด้าน G ธรรมาภิบาล ก็ยังคงมีส่วนร่วมด้วยการรายงานความยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งของ THSI เพราะ G มีความสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องการรายงานข้อมูลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีทีมบริหารที่ดีด้วย ไทยวายังคงต้องตามให้ทันการณ์และมีพัฒนาการ

นายโฮ เรน ฮวากล่าวว่า ความยั่งยืนคือ การเดินทางอย่างต่อเนื่องที่ไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้นจึงยังคงมีงานที่ทำอีกมาก แต่สำหรับไทยวาที่เพิ่งพัฒนา ยังคงมุ่งมั่นต่อเนื่อง และที่ประทับใจคือ หลายบริษัทก้าวไปเร็วมาก

“สำหรับไทยวา คำว่าความยั่งยืนอยู่ในวิสัยทัศน์ของเรา วิสัยทัศน์ของไทยวาคือ นวัตกรรมที่ยั่งยืน from farm to shelf ทุกสิ่งที่เราทำตั้งแต่วัตถุดิบจากฟาร์ม วิธีการที่เราทำ เน้นความยั่งยืน สร้างสรรค์”

ที่มาภาพ: https://www.thaiwah.com/th/investor-relations/updates/press-releases?keyword=&year=2019

ESG ต้องมีความสมดุล

นายโฮ เรน ฮวากล่าวว่า ความยั่งยืนในปัจจุบันไม่ได้หมายถึงเพียงการใช้มาตรวัด หรือ KPI เพราะไทยวาจะเติบโตอย่างยั่งยืน การโตเร็วเกินไปก็ไม่ได้ จะเห็นว่าบริษัทที่มีปัญหาก็เป็นผลจากการที่โตเร็ว แต่การโตช้าก็ตามบริษัทอื่นไม่ได้ ดังนั้น ความสมดุลเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับซีอีโอ ในการที่จะหาความสมดุลระหว่างความเร็วและความเสถียร ถ้าเดินหน้าเร็วเกินไป ก็จะมีผลกระทบ แต่ถ้าเดินหน้าช้าเกินไป ก็ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง จึงต้องหาความสมดุลเสมอ

นอกจากนี้ต้องมีความสมดุลระหว่างการดำเนินงานทางการเงินและการดำเนินงานด้าน ESG แต่ปัจจุบันนี้มีการผนวก ESG ลงในกระบวนการทางธุรกิจ แม้จะมีผลต่อต้นทุน แต่สำหรับไทยวาแล้ว ทำได้ง่ายกว่า เพราะเป็นบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวกับพืชเป็นหลักและเป็นบริษัทเกษตรอาหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับถ่านหิน หรืออาหารทะเล ยกตัวอย่าง เช่น การใช้พลังงานทดแทนที่มองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนไปสู่พลังงานทดแทน และการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามขอบเขตที่ 1 และ 2 ทำได้ง่าย ส่วนขอบเขต 3 ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“ความท้าทาย คือ กรอบเวลา แต่เป็นการสร้างสมดุลของเป้าหมายความยั่งยืนและสมดุลของเป้าหมายทางธุรกิจ”

นายโฮ เรน ฮวา กล่าวว่า ไทยวาตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 5 ปี เรื่อง E ของไทยวาจะมีสถานะที่ดีในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน มีการดูแลการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ จะลดการใช้น้ำที่ใช้ในโรงงาน รวมทั้งยังคงดูแลชุมชน ตัวอย่างเช่น การดูแลเกษตรกร คุณ ภาพดิน

ทั้งนี้ ไทยวามีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 100 ภายในปี 2050-2070 ซึ่งครอบคลุมขอบเขต 1 และ 2

ในด้านสังคมไทยวามีเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี หรือ ปี 2030 จะดูแลเกษตรกรรายย่อย 1 ล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีจำนวน 150,000 คน อีกทั้งจะยังดูแลพนักงานของบริษัท และรายงานข้อมูลธรรมาภิบาลต่อเนื่อง

“ในอีก 5 ปี สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความยั่งยืน ฝังอยู่ในวัฒนธรรมทั้งหมด เป้าหมายที่วางไว้ชัดเจนจะบรรลุผล และเรายังสามารถเปิดตัวธุรกิจใหม่ที่ยั่งยืนซึ่งขยายได้ ดังนั้นเราจึงตั้งใจที่จะทำไบโอพลาสติกเป็นครั้งแรกในปีนี้ เราเปิดตัวบริษัทใหม่ด้านเทคโนโลยีเกษตรชีวภาพที่ดูแลแลดิน ดูแลปุ๋ย ดูแลพืช”

ที่มาภาพ:https://www.thaiwah.com/th/investor-relations/updates/press-releases?keyword=&year=2020

ผู้นำต้องสื่อสารและลงมือทำ

นายโฮ เรน ฮวา กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไทยวาให้ความสำคัญกับการจัดการเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทจะรับมือกับโควิดได้ แต่ปัจจุบันให้ความสำคัญอันดับต้นๆกับการดูแลบริษัทหลังโควิด ซึ่งตอนนี้ไทยวามีทีมงานที่แข็งแกร่ง มีความเป็นผู้นำ และในปีหน้าจะให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานร่วมกันระหว่างทีม รวมทั้งจะขยายธุรกิจไปยังแหล่งใหม่ โดยกำลังขยายสู่อินเดีย และมองหาแนวทางที่จะขยายไปยังสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการพิจารณาที่จะขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีเกษตร พลาสติกชีวภาพ

สำหรับการขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ต่อเนื่อง นายโฮ เรน ฮวากล่าวว่า สิ่งสำคัญ สำหรับซีอีโอ คือ การสื่อสารถึงความสำคัญของความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไทยวาจึงมีการสื่อสารกับคณะกรรมการพร้อมกับผู้บริหารระดับสูง มีการพูดคุยเกี่ยวกับความยั่งยืน เป้าหมาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และทีมงาน

“ในฐานะซีอีโอ ความรับผิดชอบของเราคือการนำไปสู่ความยั่งยืนต่อเนื่อง และการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนหมายความว่าเราต้องอย่าเร็วเกินไป และอย่าช้าเกินไป รวมทั้งต้องหาความสมดุล ซีอีโอต้องเป็นผู้นำที่ดี ต้องดูแลคน ต้องให้คนอยู่ดีกินดี ซึ่งผมมองว่าความเป็นผู้นำเป็นส่วนสำคัญของความยั่งยืน ผู้นำต้องเป็นผู้นำคนด้วย”

การดูแลผู้คนเป็นสิ่งสำคัญมาก บริษัทสามารถซื้อแผงโซลาร์เซลล์ สามารถเปลี่ยนรถยนต์เป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ได้ สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ทำได้ทั้งหมด เพราะเป็นเรื่อง ‘ฮาร์ดแวร์’ แต่ประเด็นคือ ‘วิธีการดูแลคน’ วิธีการทำให้คนเชื่อมั่นในพันธกิจของไทยวา วิสัยทัศน์ เป้าหมาย ทำให้รู้สึกมีพลังเมื่อมาทำงานทุกวัน ซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนเช่นกัน

นายโฮ เรน ฮวา ยกตัวอย่างการดูแลพนักงานของบริษัทในช่วงการระบาดของโควิดว่า ในช่วง 70-80 วันแรกของการระบาด ทุกวันไม่มีหยุด เวลา 8.00 น. ทีมผู้บริหารและผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ มีการประชุมและอัปเดตสถานะรวมถึงพัฒนาแผนรับมือวิกฤติอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการหารือเกี่ยวกับ หน้ากาก เจลล้างมือ วัคซีน การเว้นระยะห่างทางสังคม หลังจากนั้นได้มีการทำประกันโควิดให้พนักงาน มีการจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังต้องดูแลสภาพจิตของพนักงานที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการทำงานที่บ้าน

“ผมคิดว่าความเป็นผู้นำคือการกระทำ และความเป็นผู้นำสะท้อนจากความมุ่งมั่น เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่สำหรับซีอีโอที่จะต้องแน่ใจว่าต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ การดูแลคนเป็นการกระทำและเป็นความมุ่งมั่น ที่ผมคิดว่าเมื่อคนเห็นว่าผู้นำลงมือทำ คนก็จะยืนเคียงข้างเรา”

“ความเป็นผู้นำมีความสำคัญอย่างมาก ต่อการเอาชนะความท้าทายและนำไปสู่การเดินทางที่ยั่งยืน”

นายโฮ เรน ฮวากล่าวถึงคำแนะนำที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่กำลังขับเคลื่อนและก้าวมาสู่บนเส้นทางความยั่งยืนว่า ต้องมีแผนระยะกลางและเป้าหมายระยะสั้น

“ความยั่งยืนคือการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด การมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญด้านเพื่อความยั่งยืน แต่ก็มีสิ่งอื่นด้วยในวงกว้าง เช่น การใช้น้ำ การดูแลคน ความหลากหลายของคน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ความยั่งยืนในวงกว้างคือการลดคาร์บอนเป็นส่วนใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่งยังมี S และ G ดังนั้นคำแนะนำของผมคือ การวางเป้าหมายระยะปานกลางเพื่อเป็นเกณฑ์วัดความคืบหน้าที่ต้องการจะเห็นใน 5 ปีและมีเป้าหมายระยะสั้นบางส่วนในเวลา 1 ปี เมื่อมีเป้าหมายแล้ว ก็จะเริ่มได้จริงๆ และมีแรงขับเคลื่อน”

นายโฮ เรน ฮวาเชื่อว่า ความยั่งยืนสำหรับแต่ละบริษัทนั้นแตกต่างกัน วัฒนธรรมก็ต่างกัน แต่ในฐานะซีอีโอและในฐานะผู้นำ มันเป็นโอกาสที่ดีมากๆ เพราะในอีก 10-20 ปีข้างหน้า สามารถกำหนดได้ว่าธุรกิจเป็นอย่างไร เหมือนเมื่อ 50 ปีก่อนที่ไม่มีคำว่า ESG และอีก 50 ปีต่อจากนี้ไปก็ไม่สามารถบอกได้ อาจจะมีคำอื่นเช่น ESG PLUS, ESG PLUS PLUS แต่ความเป็นผู้นำยังคงอยู่

“มันเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนรุ่นเรา ที่ส่วนใหญ่อยู่ในทีมผู้บริหาร ในการที่จะนำบริษัทไปด้วยกันและนำไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้นได้”