ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > ‘คนรุ่นใหม่’ ธนธร กาญจนิศากร เพจ NamFinance บอก ESG ควรเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี

‘คนรุ่นใหม่’ ธนธร กาญจนิศากร เพจ NamFinance บอก ESG ควรเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี

3 ธันวาคม 2022


ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investing” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล) ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซีรีส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG

‘ธนธร กาญจนิศากร’ หรือน้ำ เจ้าของเพจการเงิน NamFinance เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ทำงานหลายด้าน หลังจากการเป็นนักเรียนทุนเอกการเงินการลงทุนจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ทั้งที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคล,พิธีกรรายการการเงิน ,วิทยากร ที่ใช้ความรู้และประสบการณ์ตัวเองในการวางแผนการเงินและการลงทุน ผ่านตัวการ์ตูน “น้องเหรียญ” เป็นผู้บอกเล่าและแนะนำการลงทุนเพื่อรับมือกับเป้าหมายต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจที่อยากให้เรื่องเงินเป็นเรื่องง่าย และ “อยากเห็นคนไทยวางแผนการเงิน” สะท้อนออกมาในสโลแกนของเพจว่า “เพียงหนึ่งชีวิตวางแผนการเงิน…อีกหลายชีวิตจะเปลี่ยนแปลง”

น้ำ มองว่า จุดแข็งของเพจ NamFinance ที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก มาจากการสื่อสาร การพูดเรื่องการเงิน เรื่องธุรกิจ แบบง่าย ๆ ผ่านตัวการ์ตูน “น้องเหรียญ” ที่คิด ออกแบบ และวาดเอง และมีการสรุปให้เห็นเป็น mind map ไม่พูดเชิงเทคนิค ประเด็นส่วนใหญ่คือ การวางแผนการเงินส่วนบุคคล ที่ไม่ได้พูดแต่เรื่องหุ้น คริปโตเคอเรนซี่ แต่เป็นการเงินส่วนบุคคลที่เหมาะสำหรับคนเริ่มต้นจะวางแผนการเงินให้กับตัวเอง

เล่าเรื่องจริงจากประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจวางแผนการเงิน

น้ำบอกว่า ทุกวันนี้การเงินที่พูดถึงจะเชื่อมกับการลงทุนเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นเรื่องระยะยาว และส่วนใหญ่อยากรวยเร็ว เหมือนตัวน้ำเองที่เรียนจบก็เริ่มลงทุนเลย แต่เริ่มแบบลงทุนในหุ้นที่เขาบอกต่อกันมา ตัวนั้นดี ตัวนี้ดี ก็เจ๊ง ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฟังคนอื่น เป็นหุ้นปั่น คือลงทุนโดยไม่รู้ แต่พอรู้ตัวว่าไม่ใช่ทางของเรา ก็จะศึกษามากขึ้น และลงทุนแบบหลากหลายมาไม่ต่ำกว่า 8 ปีแล้ว และไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกการลงทุน เคยติดลบหุ้นเยอะมาก 50% จนตัดใจ แล้วเริ่มลงทุนใหม่แบบมีความรู้ หรือซื้อหุ้นได้ แต่เราไม่ถนัด ไม่มีเวลา ก็จะไปซื้อกองทุนรวม หรือถ้าจะซื้อหุ้น ก็จะอ่านจากข่าว ดูหุ้นเป็นรายตัว แต่ไม่ได้ลงทุนเชิงเทคนิค จะซื้อเก็บตอนตลาดหุ้นแย่ โดยดูว่าหุ้นตัวนี้ทำธุรกิจอะไร มีโอกาสเติบโตหรือไม่ ราคาสูงไปหรือไม่ และเมื่อก่อนใจร้อน ซื้อหุ้นแล้วจะรวยเร็ว ซื้อแล้วไม่กี่วันน่าจะต้องขายแล้วได้กำไร ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนแนวมาซื้อเก็บมากกว่า

“พวกนี้เป็นประสบการณ์จริงที่เอามาเล่า เพราะอยากสื่อสารว่า เรื่องการเงิน การลงทุน ต้องทำความเข้าใจก่อน”

“หลายคนพอลงทุนในหุ้นไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้รู้สึกว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องน่ากลัว ซึ่งไม่ใช่ อาจจะแค่หุ้นไม่เหมาะกับเรา แต่มีสินค้าการเงินอื่น ๆ ที่เหมาะกว่า เลยอยากให้เขาเข้าใจ มีความรู้การเงินมากขึ้น จะได้เก็บเงิน อย่างเรื่องเกษียณ เรื่องนี้สำคัญแต่คนไม่คิด แต่เราคิดได้แล้ว ก็อยากสื่อสารว่า มีวิธีคิดแบบนี้เหมือนกันนะ คุณต้องเก็บระยะยาวให้ตัวเอง ไม่ใช่หุ้นอย่างเดียวที่ลงทุนได้ ไม่ต้องหวังว่าเราจะรวยเร็ว แต่มีรายได้หลาย ๆ ทางแล้วรวยไปเรื่อย ๆ ก็ได้ ถือว่า เป็นการวางแผนการเงินส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่แนว รวยเร็ว บิตคอยน์ เป็นการลงทุนอะไรที่อาจจะไม่ใช่หุ้น แต่เหมาะกับตัวเรามากกว่า สำหรับน้ำที่ไม่มีเวลา ก็น่าจะเป็นกองทุนรวม ซึ่งตอนเรียนจบใหม่ชอบมีคนพูดว่า ลงทุนหุ้น หุ้นรวยเร็ว ซึ่งไม่ได้ถูก 100% เลยกลับมาดูตัวเราเอง แล้วคิดว่าคนอื่นก็น่าจะเป็นแบบเรา ก็อยากสื่อสารให้เข้าใจ”

น้ำ บอกว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการวางแผนการเงิน เพราะไม่ได้โฟกัสหรือวางเป้าหมายเรื่องนี้เป็นอันดับแรก เคยทำแบบสอบถามเรื่องการวางแผนการเงิน พบคำตอบว่า เอาแค่หาเช้ากินค่ำก็ลำบากแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่จุดโฟกัสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับน้ำคิดว่า คนไทยยังขาดเรื่องนี้อยู่ เพราะแม้จะหาเช้ากินค่ำ แต่ในการหาเงินแต่ละวัน ลืมคิดเรื่องเงินออม ถ้าคนไทยมีความรู้มากขึ้น ก็จะรักตัวเองมากขึ้น หรือบางคนเป็นหนี้บัตรเครดิต แล้วเข้าใจว่าการจ่ายขั้นต่ำคือโปรโมชั่นของบัตรเครดิต เป็นความไม่รู้ที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอีกแบบ ฉะนั้น เมื่อแต่ละคนโฟกัสแตกต่างกัน

จุดสำคัญคือความรู้ ถ้ามีความรู้มากขึ้น เขาก็จะโฟกัสเรื่องเงินตัวเองมากขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับข้อมูลการลงทุนที่เอามาบอกเล่า ส่วนหนึ่งมาจากตอนเรียนการเงินการลงทุนที่เอแบค พอเรียนจบแล้วได้ไปเรียนหลักสูตรการวางแผนการเงิน CERTIFIED FINANCIAL PLANNER(CFP) รวมทั้งการได้ทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ได้อ่านข้อมูลต่าง ๆ แต่หลักคือการลงทุน ทำให้มีความรู้บางอย่างเรื่องการวางแผนการเงินที่ส่งต่อได้ และด้วยความที่เป็นคนชอบฟัง Podcasts แต่จะฟังแล้วลืม หรืออ่านหนังสือแล้วลืม ก็เลยมีการจดบันทึกสรุปหัวข้อที่สนใจที่ได้ฟังจาก Podcasts ที่มีทั้งเรื่องเงิน เรื่องธุรกิจ

บางทีที่ทำงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน ก็จะมีเคสลูกค้าที่เก็บเงินแล้วชีวิตเปลี่ยน หรือบางทีเปลี่ยนจากสิ่งที่เข้าใจผิดมาเข้าใจถูก ก็จะเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเล่า แต่ไม่เปิดชื่อลูกค้า เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจ หรือเรื่องที่เจอกับตัวเอง เช่น การสมัครบัตรเครดิตหลังจากทำงานมาแล้ว 2-3 ปี สาเหตุที่ทำบัตรเครดิตช้า ไม่ทำตั้งแต่เรียนจบ เพราะตอนนั้นวินัยยังไม่เข้มแข็ง แต่พอวันนี้ เป็นคนมีบัตรเครดิตหลายใบ และมีการบริหารเงิน มีการจ่ายบัตรเครดิตล่วงหน้า จ่ายเกิน หรือบัตรเครดิตใบนี้ใช้กับที่นี่ ก็เอามาเล่าให้ฟัง บัตรเครดิตใช้ดีก็ได้เงินคืน ใช้แย่ก็น่ากลัว ก็แย่ หรือการบรรยายการวางแผนหลังเกษียณ เพื่อกระตุ้นให้คนคิดถึงตอนเกษียณมากขึ้น

“คนจะชอบเรื่องเล่าแนวประสบการณ์ เรื่องจริง หรืออะไรที่ชวนให้เขาท้าทายกับตัวเอง คนจะสนใจ เช่น ท้าให้เขาเก็บเงินปีใหม่ ท้าลงทุนทุกเดือน เขาจะติดตาม อยากทำทุกเดือน หรือรอดูว่าเราทำแบบนี้ ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ซึ่งแฟร์ ลงทุนแล้วบางครั้งพอร์ตติดลบ เยอะด้วย แล้วไม่เครียดแม้จะติดลบ 30-40% เพราะมองว่าพอร์ตนี้เป็นพอร์ตเกษียณ คือเอาของจริงมาเล่า”

น้ำ ยอมรับว่า คนยุคปัจจุบันต้องการรวยเร็ว มีการเชิญไปบรรยายหัวข้อก็จะเป็น ทำอย่างไรให้รวยเร็ว แต่แรงบันดาลใจกับความจริง มันไม่เหมือนกัน แรงบันดาลใจ คือทุกคนอยากรวยเร็ว น้ำก็อยากรวยเร็ว แต่ความเป็นจริงคือ อยากรวยเร็วต้องทำอย่างไร ถ้ายังมีรายได้ทางเดียว ไม่มีทางรวยเร็วได้ จึงควรมีรายได้หลายทางมั้ย หรือวันนี้อยากรวยเร็ว แต่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนเลย ยังไม่ได้ฝากเงิน หรือทำอะไรเลย ไม่มีทางรวยได้ จึงต้องกลับมาที่ว่า ถ้าอยากรวยเร็ว ต้องมี 3 อย่าง

    1. เงินต้นที่จะเอามาลงทุน ดูว่าตอนนี้มีเท่าไหร่ รายได้เหลือออมหรือเปล่า รายได้มีหลายทางหรือไม่ ลดรายจ่ายอะไรได้
    2. ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนประเภทต่าง ๆ หรืออยากลงทุนสูงสุด ผลตอบแทนดีสุด แต่รับความเสี่ยงไม่ได้ เช่น ลงทุนบิตคอยน์ ได้ผลตอบแทนสูงสุด แต่เครียดมาก ไม่มีความสุขเลย บิตคอยน์อาจไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง รับผลขาดทุนไม่ได้ ก็ต้องหาการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง และ
    3. ระยะเวลา หลายคนเหลือเวลาไม่กี่ปีก็จะเกษียณ จะลงทุนที่สูงจึงไม่ทัน ซึ่งน่าเสียดายที่ในอดีตเขาลงทุนในแบบที่เขาไม่รู้ แต่กับบางคนที่อายุยังน้อย ยังมีเวลา มีโอกาส จะดีกว่าหรือไม่ที่พอได้ฟังประสบการณ์คนอื่น แล้วมาปรับใช้กับตัวเอง อย่างน้อยก็ควรลงทุนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานได้ ควรเก็บออมแล้ว เพราะยังพอหาเงินต้นได้

แต่ระยะเวลามันย้อนกลับไปไม่ได้ คือ เอาความอยากรวยเป็นแรงบันดาลใจ แต่ต้องดูความเป็นจริงด้วยว่า เรามี 3 อย่างนี้อย่างไรบ้าง วิธีการสื่อสาร คือ น้ำจะสอนให้กดเครื่องคิดเลขการเงิน อยากรวยเท่าไหร่ใส่ตัวเลขไปเลย เช่น 1 ล้านบาท แล้วกดว่าจะหาได้ในกี่ปี วิธีนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะเครื่องคิดเลขการเงินจะทำให้เห็นว่า ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ที่จะได้ผลตอบแทนเท่านี้

ลงทุนแนว ESG จากชีวิตที่คิดถึงโลกมากขึ้น

สำหรับการลงทุนของน้ำ เธอเล่าว่า ตอนนี้โฟกัสเรื่องเป้าหมายเกษียณเป็นหลัก และคิดว่าจะไม่มีลูก จะดูแลตัวเอง ไม่รบกวนคนอื่น ก็ต้องคิดว่าตัวเองจะเกษียณอย่างไร จึงอยากได้เงินต้นที่มีผลตอบแทน และอยากได้เงินสดเข้ามาทุกเดือน เพราะไม่ได้เป็นข้าราชการ ฉะนั้น ก็จะเก็บเงินทั้งในรูปการเล่นหุ้น กองทุนรวมในกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีลงทุนบิตคอยน์บ้างแต่ไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะลงในกองทุนรวมเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นหุ้น อันนี้ที่เป็นเงินก้อนใหญ่ ส่วนกระแสเงินสด จะซื้อประกันบำนาญ เช่น ซื้อประกันแล้วจะมีเงินบำนาญไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านบาทในแต่ละปีหลังเกษียณ ฉะนั้น หลังเกษียณก็จะมีโอกาสได้เยอะจากการลงทุน แต่ก็มีโอกาสขาดทุน แต่ก็มีกระแสเงินสดที่ได้แน่ ๆ แม้ว่าผลตอบแทนจะไม่สูง คือได้สองขา ฉะนั้้น การเก็บเงินของน้ำจะโฟกัสเรื่องเกษียณ

นอกจากนี้ การลงทุนของน้ำ เริ่มให้น้ำหนักกับการลงทุนแนว ESG เพราะทุกวันนี้การใช้ชีวิตเริ่มต้องคิดมากขึ้น เช่น หลอดพลาสติก ถุงพลาสติก การเปิดแอร์ทิ้งไว้ การใช้น้ำ กล่องโฟม แม้กระทั่งขยะ ที่บ้านมีการแยกขยะมา 3-5 ปีแล้ว เป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะเริ่มคิดและเห็นจริงว่า โลกมันร้อน คนลำบาก สัตว์ทะเลตาย พลาสติกมีเยอะ ไม่ย่อยสลาย เห็นผลกระทบต่อโลก

ESG จึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาคิดว่า จะอยู่บนโลกนี้อย่างไร ถ้าโลกมันแย่ และเป็นส่วนหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูกด้วย ขนาดตัวเรายังเจอแบบนี้ ลูกจะเจอขนาดไหน ต่อให้ไม่ได้คิดเรื่องลูก แต่พอแก่ขึ้นจะใช้ชีวิตอย่างไรกับโลกที่เป็นแบบนี้

น้ำมองว่า การลงทุน เรื่อง green เป็น theme ที่กำลังมาเรื่อย ๆ ไม่ใช่มาแล้วไป ไม่ใช่เรื่องหวือหวาแล้วตกไป แต่เป็นเรื่องที่คนเห็นว่าสำคัญ และต้องอยู่กับเรายาว ต้องลงทุนระยะยาว โดยไม่ได้เห็นผลเร็ว การลงทุนส่วนตัวจึงให้ความสำคัญกับ green มากขึ้น ในรูปกองทุนรวมที่ลงทุนหุ้นประเภทนี้

โดยวิธีเลือกลงทุนหุ้นหรือกองทุน ESG จะดูจากนักวิเคราะห์ อ่านบทวิเคราะห์ที่ย่อยมาแล้ว จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ใน settrade ที่ทำตารางสรุปว่าหุ้นตัวไหนเป็น ESG บ้าง หรืออ่านรายงาน 56-1 one-report หรือจาก ยูทูบ แล้วเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบ มาเลือกซื้อ

น้ำบอกอีกว่า หุ้น ESG จะเป็นหุ้นที่มีเครดิตดี เพราะไม่ใช่แค่บริษัทบอกว่าทำ ESG แล้วจบ แต่ต้องถูกตรวจสอบด้วย กว่าจะทำรายงานได้ ผ่านการวิเคราะห์ ผ่านการคัดเลือก เท่ากับถูกสกรีนมาระดับหนึ่ง เช่น หุ้นตัวนี้ผู้บริหารโกงเงิน หรือทำอะไรไม่ดี หรือทิ้งของมลพิษ ก็จะรู้สึกไม่ดีกับหุ้นนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าหุ้นตัวนี้พยายามลดคาร์บอนฟุตพรินท์ เช่น ลดการใช้กระดาษที่ไม่ได้เห็นผลลัพธ์ชัดเจนใน 1-2 ปี แต่เรารู้สึกว่าบริษัทใส่ใจเรื่อง ESG ก็เป็นเครดิตที่ดีของหุ้นนั้น ๆ หรือกองทุนนั้น ๆ แสดงให้เห็นว่าบริษัทก็คิดเรื่อง ESG ดีกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ไม่ได้คิด

“ตอนนี้คนรุ่นใหม่ มองเรื่องการรักโลก เป็นเรื่องเท่ เมื่อก่อนอาจมีคนคิดว่าล้าหลัง โบราณ แต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มรักโลกมากขึ้น มีการใช้กระเป๋าผ้า เมื่อก่อนใครใช้กระเป๋าผ้าจะถูกมองแบบ ไม่มีกระเป๋าใช้หรือ แต่ยุคนี้เปลี่ยนไป ใช้กระเป๋าผ้านี่เท่นะ หรือมีหลอดของตัวเอ พกแก้วมาเอง แก้วชื่อชั้น เท่นะ เป็นมุมมองทัศนคติที่เปลี่ยนไป การลงทุนด้าน ESG เหมือนกัน คนรุ่นใหม่มองว่าการลงทุน ESG เป็นเรื่องเท่ น่าสนใจ”

ESG ควรเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี

อย่างไรก็ตาม น้ำ บอกว่า แม้ว่าหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะมีอยู่ไม่น้อย แต๋ก็มีเพิ่มได้ขึ้นอีก รวมถึงกองทุนรวม ที่น่าจะมีมากกว่านี้ หรือควรเป็นตลาดหุ้นที่เป็น ESG ทั้งหมดหรือไม่ ไม่ใช่มีแค่หลักร้อยบริษัท ไม่เกิน 150 แห่งเหมือนในขณะนี้

“ESG ควรเป็น standard เพราะไม่ใช่เรื่องรักโลกอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม การดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละบริษัทควรคำนึงอยู่แล้ว การทำธุรกิจควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ต้องรับผิดชอบต่อสังคม การทำธุรกิจต้องโปร่งใส ESG จึงควรเป็น standard ที่ทุกคนควรจะมีไม่ใช่แค่ต้องมาลุ้นว่า บริษัทมีคุณสมบัติตามนั้นหรือไม่ แต่เป็นมาตรฐานเบื้องต้นที่ทุกบริษัทต้องปฏิบัติ”

น้ำบอกว่า ในอนาคตไม่ควรต้องเลือกว่าบริษัทไหนเป็น ESG แต่ทุกรายควรเป็น ESG ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็พยายามผลักดันอยู่ แต่ทุกคนก็ควรช่วยกัน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ให้ข้อมูลเต็มที่แล้ว แต่ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือโบรกเกอร์ ไม่ได้ให้ความสำคัญ บางทีไม่ได้ส่งต่อไปยังนักลงทุน ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ต้องให้ความสำคัญด้วย เช่น วันนี้ได้ข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่ให้ความสำคัญ ESG ก็ไปต่อไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทุกฝ่าย

“ต้องย้อนกลับมาด้วยว่า ทำอย่างไรให้คนมีความรู้ ซึ่งต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าคนจะมีความรู้และเข้าใจ เหมือนกันเรื่องเงิน กว่าจะรู้ว่า เรื่องเงินสำคัญกับทุกคน ไม่ใช่แค่คนรวย มีเงินเหลือ แต่ต่อให้มีเงินติดลบ ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเงิน เช่นเดียวกัน ESG ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ แต่ช่วงนี้ต้องพยายามหน่อยที่จะทำให้เข้าหูกันเยอะขึ้น”

ESG จับคู่เป้าหมายการเงินได้

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการรวยเร็ว ขณะที่เรื่องการลงทุนเรื่อง ESG เป็นเรื่องระยะยาว นำ้บอกว่า อยู่ที่การจับคู่ หรือ matching เหมือนเกมจับคู่ตอนเด็ก ๆ ถ้าหวังจะรวยเร็ว จะหวังจาก ESG ไม่ได้อยู่แล้ว เหมือนกับจะรวยเร็ว จะหวังจากหุ้นเทคโนโลยีไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำวิจัย หรือทำให้สังคมเข้าใจ

“แต่ถ้าจับคู่เรื่อง ESG เรื่องรักโลก เรื่องเทคโนโลยี กับเป้าหมายการเกษียณได้ และเป็นเป้าหมายระยะยาวเช่นเดียวกัน ไม่เป็นไรถ้าอยากรวยเร็วไม่เป็นไร ก็จับคู่กับอย่างอื่น แต่รวยเร็วไม่ใช่แค่เรื่องเดียว ยังมีเรื่องเกษียณอีก เป็นเรื่องระยะยาวจับคู่กับ ESG ได้ และต้องให้ความรู้มาก ๆ ให้ข่าวสารการลงทุนด้านนี้ว่าดีกว่าอย่างไร แต่ละบริษัทใช้เรื่อง ESG เป็นจุดแข็งหรือเป็นจุดแข่งขันในการนำเสนอให้มากเพื่อกระตุ้นให้คนรู้สึกว่า ลงทุนกับบริษัทนี้แล้วได้รักโลกด้วย”

โดยเฉพาะข่าวจะมีผลมาก และกระตุ้นผ่านที่ปรึกษาทางการเงิน คนเกี่ยวข้อง หรือ กองทุนต่าง ๆ หรือตัวอย่างที่กองทุนจะมีการแบ่งความเสี่ยงออกเป็นหลายระดับ ก็นำมาใช้กับ ESG ทำให้เป็น score ให้เห็นชัดเหมือนระดับความเสี่ยงของกองทุน เช่น กองทุนนี้ได้ใบไม้กี่ใบ เป็นต้น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบ เป็นมาตรฐานในการคัดเลือก พอคนเห็นชัดก็จะเปรียบเทียบกับเอง เหมือนเดี๋ยวนี้จะซื้อตู้เย็นจะดูฉลากไฟเบอร์ 5 กลายเป็นมาตรฐานไปแล้ว

หลักการเดียวกัน เอาเรื่อง ESG มาอยู่ในข้อบังคับให้ทุกคนเห็นจนชินตา เช่น ผลิตภัณฑ์นี้ได้ใบไม้ใบเดียว อีกผลิตภัณฑ์ได้ 5 ใบ พอคนเห็นจนชินตา ก็จะเริ่มรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน ฝั่งบริษัทหลักทรัพย์ ผู้ประกอบการ ผู้จัดการกองทุน ก็จะรู้สึกว่าต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

สำหรับแนวโน้ม ESG น้ำบอกว่า สำหรับคนไทยอาจเป็นไปตามกระแสแล้วหายไป เช่น กระแสคริปโตให้ผลตอบแทนดี แต่ตอนนี้แย่ก็หายไป หรือหุ้นเทคโนโลยีที่มีผลตอบแทนดี แต่พอพอร์ตติดลบก็หายไป คือคนไทยจะไปตามกระแส แต่สำหรับในต่างประเทศ ESG ไม่ได้เป็นเรื่องของกระแสที่มาแล้วหายไป แต่มีการให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ในประเทศไทยเรื่องนี้อาจจะหวือหวาหน่อย แต่กองทุนรวมกลุ่มนี้ในไทยจะออกมาเรื่อย ๆ เพราะกองทุนรวมของไทยจะอิงกับกองทุนต่างประเทศ และในฐานะทำงานเพจ ทำงานสื่อ พบว่ามีคนให้เขียนเรื่อง ESG มากขึ้น เช่น กองทุนที่แนะนำเป็นแนวรักโลก เป็น

ฉะนั้น เรื่อง ESG ในไทยอาจจะไม่มาแรง แต่มาเรื่อย ๆ ไม่ใช่มาแล้วไป ไม่ใช่เรื่องหวือหวาแล้วตกไป แต่เป็นเรื่องที่คนเห็นว่าสำคัญ และต้องอยู่กับคนเราในระยะยาว จึงต้องลงทุนระยะยาว