ThaiPublica > เกาะกระแส > เทศกาลสีสันแห่งดอยตุง คุณค่าที่มากกว่าคำว่า ‘ท่องเที่ยว’

เทศกาลสีสันแห่งดอยตุง คุณค่าที่มากกว่าคำว่า ‘ท่องเที่ยว’

16 ธันวาคม 2022


ศรีนาคา เชียงแสน รายงาน

…ดอยตุง พื้นที่เติมพลังให้ชีวิต

ปุยเมฆลอยไสว ทักทายทิวเขาสูงตระหง่าน ลมหนาวโบกโบยพริ้ว ล้อเล่นกับทุ่งหญ้าและทิวสน

สายหมอกบางเบา ลอยละเลียดเหนือยอดหญ้า สัมผัสความสดชื่น ชุ่มเย็นได้ด้วยผิวกาย และลมหายใจที่ชุ่มเย็น โปร่งโล่งจากปลายจมูกไปสุดที่ขั้วใจ…

หลายคนบอกว่าปีนี้ความหนาวมาช้าและไม่หนาวมากนัก แต่เช้าวันที่ขึ้นดอยตุง ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงลงตัว ลมหนาวพัดอ่อน ๆ หมอกบาง ๆ อากาศที่ชุ่มชื่น และขุนเขาที่สงบ งดงาม เช่นเดิม

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและธรรมชาติรอบตัว ทำให้ดอยตุงดินแดนแห่งขุนเขาแห่งนี้ ยังคงเป็นดั่งทิพย์วิมานที่แสนบริสุทธิ์ งดงาม เป็นความสุข สงบ ที่แยกตัวออกจากโลกภายนอกที่แสนจะวุ่นวาย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่กำลังต้องการเติมกำลังใจ หรือกำลังค้นหาสถานที่สำหรับเติมแรง เติมพลัง หรือสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ หลังจากเหน็ดเหนื่อยมายาวนานตลอดทั้งปี ที่แห่งนี้คือพื้นที่สดใหม่ของชีวิต…

เทศกาลสีสันแห่งดอยตุง (ครั้งที่ 9) เริ่มขึ้นแล้ว

ที่จริงงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2565 แล้ว โดยงานเทศกาลจะใช้เวลาจัดในห้วงเดือนธันวาคม – มกราคมของทุกปีและจัดเฉพาะในห้วงวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เท่านั้น

ผู้เขียนชื่นชอบและเฝ้ารอวันเวลาจัดงานเทศกาลมาตลอด และในแต่ละปีจะถือโอกาสไปเที่ยวชมบรรยากาศอย่างน้อย 2 รอบ ปีนี้ก็เช่นกัน พึ่งได้มีโอกาสขึ้นดอยมาเติมพลังชีวิต

ต้องขอบอกเลยว่าในความรู้สึกส่วนตัวแล้ว การมาเที่ยวงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง เป็นมากกว่าการมาเที่ยวในความหมายทั่วไป แต่มันคือการแสวงหาคุณค่าและความหมายบางอย่าง ที่เรามักจะหลงลืม และทำมันตกหายไปท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของชีวิต และหน้าที่การงานปกติ…

9 สีสันแห่งเหมันต์…

หากสายลมหนาวเป็นแขกที่แวะเวียนมาเยือนเราเพียงปีละครั้ง หนาวนี้ก็นับได้เป็นหนาวที่เก้าแล้วที่งานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงได้รับการจัดต่อเนื่องมากันมาครบ 9 ปีแล้ว งานเทศกาลนี้เกิดมาจากความดำริริเริ่มของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิสกุล ผู้ปิดทองหลังพระที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สานงานโครงการพัฒนาดอยตุงตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนี (สมเด็จย่าฯ ) มาแต่ต้น เมื่อท่านเสียชีวิตลง แต่ปณิธานอันแน่วแน่ถูกส่งต่อมายัง ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล หรือคุณดุ๊ก ผู้เป็นบุตรชาย และบรรดาทีมงานของโครงการพัฒนาดอยตุงต่อเนื่อง เราจึงยังได้เห็นการจัดงานเทศกาลต่อเนื่องมาจนถึงหนาวปีนี้

ต้องบอกก่อนเทศกาลนี้อาจจะไม่ใช่งานแฟร์ที่เวอร์วังอลังการ ไม่ใช่งานที่ทุ่มเงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างอีเว้นดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเข้าชมงานจำนวนเยอะ ๆ มาก ๆ เหมือนงานเทศกาลดอกไม้บาน หรืองานไม้เมืองหนาว หรืองานแฟร์อื่น ๆ ที่ในระยะหลัง ๆ มีการจัดกันมากมายเติมไปหมด แต่ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า งานเทศกาลสีสันดอยตุงนี้คือ งานแฟร์เล็ก ๆ สงบเสงี่ยม และค่อนข้างถ่อมตน เป็นงานที่พยายามนำธรรมชาติที่งดงามมาผสมผสานเข้ากับชีวิตของผู้คนในชุมชนที่อยู่รอบ ๆ โครงการพัฒนาดอยตุง มันจึงเป็นงานแฟร์ที่ผู้ไปเยี่ยมชมจะได้สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น จริงใจ และเรียบง่ายวิถีชีวิต

เจ้าหน้าที่ในโครงการพัฒนาดอยตุงท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อวัตถุประสงค์ของงานไม่ได้เริ่มที่เรื่องของรายได้ และผลกำไร จึงทำให้ธีมของงานออกมาแบบเรียบง่าย อบอุ่น จริงใจ

“ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด เราจัดงานแบบลองผิด ลองถูก แต่หลักการสำคัญคือ การดึงเอาศักยภาพของพื้นที่ออกมาเป็นจุดเด่น พื้นที่บนโครงการพัฒนาดอยตุงมีเสน่ห์และความสวยงามอยู่แล้ว โดยเฉพาะสวนแม่ฟ้าหลวง ที่ถูกออกแบบและตกแต่งไว้อย่างงดงามตลอดทั้งปี เมื่อนำเอาวิถีชีวิตของชาวบ้านรอบที่ตั้งของโครงการมาผสมผสาน ดึงเอาศิลปะ วัฒนธรรมของคนในพื้นที่เข้ามาร่วม ที่สำคัญคือดึงคนในชุมชนให้เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการ ทำให้งานสีสันดอยตุงออกมากลมกลืน แต่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนงานแฟร์อื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป”

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะหากดูจากโครงหลักของงาน ประกอบไปด้วย การเปิดร้านค้าจำหน่ายสินค้าของโครงการพัฒนาดอยตุง การตั้งร้านค้าจำหน่ายอาหารพื้นเมืองของชาวบ้าน การแสดงของเด็ก ๆ จากชนเผ่าต่าง ๆ ลำพังสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็คงเหมือนกับงานแฟร์ของที่อื่น ๆ ทั่วไป แต่เราจะไปหาที่นั่งกินข้าวเหนียวหมูปิ่งอุ่น ๆ จิบกาแฟดิฟสด ๆ หรือนั่งแทะข้าวโพดปิ้ง ท่ามกลางลมหนาวบนที่นั่งไม้เชิงผาหิน มองไปรอบตัวเห็นสวนไม้ดอกที่แสนจะงดงาม แบบวิวร้อยล้าน ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยความร่มเย็นของธรรมชาติ ความอบอุ่น และความเป็นมิตรของผู้คน

ภายในงานถูกจัดเป็นโซน เป็นจุดให้กับผู้มาเยี่ยมชมได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน ผ่านงานหัตถกรรม งานฝีมือ อาหารพื้นถิ่น ขายไม้ดอก ไม้ประดับตกแต่ง และแม้แต่ศิลปการแสดงของเด็ก ๆ ในชุมชนรอบ ๆ โครงการพัฒนาดอยตุง ที่สำคัญสินค้าที่ผลิตจากชาวบ้านในโครงการพัฒนาดอยตุงได้ถูกนำมาลดราคาในโอกาสพิเศษ อาทิ ผ้าทอมือต่าง ๆ หรือ เซรามิกต่าง ๆ มีการลดราคากว่า 50 % ดังนั้นใครที่กำลังแสวงหาความสุขแบบเรียบง่าย หากได้มางานนี้คงจะไม่ผิดหวัง และที่สำคัญคือเงินทุกบาท ทุกสตางค์ที่เราใช้จ่ายไปภายในงาน มีปลายทางย้อนกลับไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรอบ ๆ โครงการพัฒนาดอยตุงแทบทั้งสิ้น ไม่ได้ตกไปสู่กระเป๋านายทุนที่ไหน

ทราบมาว่าก่อนเกิดภาวะโรคระบาดโควิดช็อกโลก การจัดงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง เคยมีสถิติมีผู้เข้าร่วมงานสูงถึงวันละ 10,000 คน มาแล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด การจัดกิจกรรมต้องลดขนาดลง (แต่ยังคงจัดทุกปี) ทำให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมลดน้อยลงอย่างมาก เหลือเพียงหลัก 100 คนต่อวัน มาถึงห้วงเวลานี้สถานการณ์โรคระบาดดูจะผ่อนคลายลงไปมาก ทำให้จำนวนผู้แวะมาเยี่ยมชมงานเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 500 – 1,000 คน ต่อวัน (หากเป็นห้วงวันหยุดติดต่อกันยาว ๆ จะมีคนมาเที่ยวงานมากกว่าวันหยุดเสาร์ –อาทิตย์ ปกติ)

นาฎกรรมแห่งชีวิต

งานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง เป็นมากว่างานแฟร์ออกร้านทั่ว ๆ ไป แต่กลายมาเป็นงานแสดงนาฏกรรมแห่งชีวิตที่งดงาม เรียบง่าย เป็นสีสันธรรมดา ๆ แต่หาได้ยากยิ่งนักในโลกยุคปัจจุบัน สำหรับตัวผู้เขียนแล้ว การได้มาร่วมงานสีสันดอยตุงในแต่ละปี มันคือการเข้าร่วมพิธีกรรมทบทวนมิติของชีวิตด้านในแล้วได้ย้อนรำลึกถึงความทรงจำในวัยเด็กที่เกือบจะหลงลืมไปหมดแล้วให้กลับมาสดใหม่ในใจอีกครั้งหนึ่ง

คุณตี๋ หนึ่งในเจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่าในแต่ละปี ธีมของการจัดงานเทศกาลก็จะแตกต่างกันไปตามปริบทในห้วงเวลานั้น ๆ แม้ในห้วงที่ไวรัสโคโรนาระบาดหนักจนผู้คนทั้งโลกแทบจะเสียสูญ แต่งานสีสันดอยตุงก็ยังคงมีจัดอยู่ แน่นอนว่าห้วงเวลาอันแสนยากลำบากเช่นนั้น อาจทำให้ทีมงานผู้จัดกิจกรรมจำเป็นต้องลดขนาด ละรูปแบบลงบ้างตามความเหมาะสม แต่ก็ยังคงรักษาหัวใจของงานเอาไว้ นั่นคือ การหลอมรวมชีวิตของผู้คน(ชาวบ้านในโครงการพัฒนาดอยตุง และทีมงานเจ้าหน้าที่ของโครงการ)

ป้าแปง แม่ค้าขายบะหมี่ไทยใหญ่ บอกว่าตัวเองมาร่วมงานติดต่อกันหลายปีแล้ว ไม่ได้คาดหวังเรื่องผลกำไรจากการค้าขาย แต่รู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมนี้ เหมือนได้ทดแทนบุญคุณของสมเด็จย่าฯ ที่ท่านมีเมตตากับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก ทำให้ตัวเองและครอบครัวเหมือนได้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง

พิไชย หนุ่มวัยกลางคน เจ้าของซุ้มขายกาแฟ ติดป้ายสโลแกนไว้ว่า “กาแฟริเช ปลูกเอง คั่วเอง ” บอกเล่าให้ฟังถึงความภาคภูมิใจของตนเองและครอบครัวที่สามารถมีชีวิตและโอกาสที่ดีจากโครงการพัฒนาดอยตุง และจากพระราชดำริของสมเด็จย่า ฯ ที่พลิกฟื้นดอยตุงจากพื้นที่ภูเขาหัวโล้น พื้นที่ปลูกฝิ่น จนกลับมาเป็นพื้นที่ป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ พ่อแม่ของเขาเลือกที่จะปลูกและทำไร่กาแฟอาราบิก้า ที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการพัฒนาดอยตุง จนมาถึงวันนี้ครอบครัวสามารถลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่ดีได้ เป็นความภูมิใจที่สุดของชีวิต

  • เรื่องเล่า “ผู้อาวุโส-คนรุ่นใหม่” 30 ปีวิถีคนดอยตุง เส้นทางความยั่งยืน กว่าจะถึงวันนี้
  • โครงการพัฒนาดอยตุง มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต : ลงจากดอย(ตอน1)
  • โครงการพัฒนาดอยตุง มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต : กลไกสร้างวิถีคนดอย แค่กฏชุมชนก็เอาอยู่ (ตอนจบ)
  • คำแนะนำสำหรับทุกคนที่อยากไปร่วมงานนี้…

    1) หากเราอยากสัมผัสดอยตุงในห้วงที่สวยและเหมาะสมที่สุด เราต้องทำตัวเป็นนกน้อยโผบินจากรวงรังแต่เช้า ค่อย ๆ ขับรถช้า ๆ เปิดกระจกชมวิว สัมผัสไอหมอก และความสดชื่นของลมหนาว ใช้ชีวิตแบบช้า ๆ ไม่ต้องไปแย่งที่จอดรถกับใคร (แม้ว่าทีมงานจะมีมาตรการ และวางระบบการจอดรถไว้เป็นสถานีต่าง ๆ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างดี และเป็นระบบมาก ๆ ก็ตาม) หลังเข้าจอดรถเจ้าหน้าที่ประจำจุดจอดรถจะให้คูปองระบุสถานีจอดรถ(กันลืมที่จอด) แล้วจะมีรถสองแถวของโครงการมารับเราไปส่งยังบริเวณสถานที่จัดงาน ซึ่งถือว่าสะดวกและเป็นระบบมาก ๆ

    2) ไม่ควรทานอาหารมื้อหนักมาก่อน เพื่อจะได้มาชิมอาหารพื้นเมือง พื้นที่ถิ่น หรือจิบชา กาแฟ ที่เป็นสายพันธุ์เฉพาะของพื้นที่ รับลองว่าอาหารที่วางจำหน่ายทายง่าย อร่อย สดและสะอาด อีกทั้งยังหอม กรุ่น อุ่นละไม ภาชนะที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุธรรมชาติ และหากเรามาเที่ยวช่วงเช้า ๆ จะได้นั่งกินอาหารชมวิวร้อยล้านแบบฉิว ๆ ไม่ต้องแย่งที่นั่งกับใคร (แนะนำให้ตรงมาที่ซุ่มอาหารก่อน แล้วค่อยเดินเที่ยวในจุดนิทรรศการหรือร้านค้าอื่น ๆ)

    3) ช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดและควรคัดแยกขยะ เพื่อแสดงความเคารพต่อแผ่นดิน และช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่

    4) อย่าลืมทักทาย พูดคุย ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านในชุมชนที่มาช่วยงาน เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างพลังบวกให้พวกเขาสร้างสรรค์งานดี ๆ เช่นนี้ต่อๆ ไป

    ใครมีโอกาสมาเชียงรายในห้วงหนาวนี้ อย่าลืมแวะมางานสีสันแห่งดอยตุงด้วย นะครับ…..