ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงการพัฒนาดอยตุง มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต : ลงจากดอย(ตอน1)

โครงการพัฒนาดอยตุง มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต : ลงจากดอย(ตอน1)

17 มีนาคม 2012


โครงการพัฒนาดอยตุง
โครงการพัฒนาดอยตุง

การลองถูกลองผิดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในโครงการพัฒนาดอยตุง เพราะนี่คือมหาวิทยาลัยที่มีชีวิต ที่ผู้ให้และผู้รับต่างเป็นผู้เรียนและผู้ถ่ายทอดให้กันและกันไปพร้อมๆ กัน

จากเป้าหมายเพื่อปลูกป่าในใจคน ปลูกป่าปลูกคน ปลูกป่าไร้เพื่อน มาเป็นปลูกป่าแบบปลูกเสริม และปลูกป่าแบบไม่ปลูก นี่คือพัฒนาการของห้องทดลองที่มีชีวิต ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคนควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและดูแลสิ่งแวดล้อม ที่นี่จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมายทั้งที่ล้มเหลวและยั่งยืน

24 ปีของการพัฒนาดอยตุง เพื่อปลูกป่า ปลูกคน ได้ทุ่มเททั้งทรัพยากรคน เม็ดเงินจำนวนมากมาย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยที่มีชีวิตแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยของคนเดินดินอย่างแท้จริงในปี 2560

ข่าวการถ่ายโอนโครงการพัฒนาดอยตุงไปสู่มือประชาชนที่อยู่ในโครงการพัฒนาดอยตุง ยังไม่เป็นข่าวที่แพร่หลายนัก ส่วนจะถ่ายโอนให้ชุมชนในรูปแบบไหน อย่างไร ณ วันนี้ยังไม่มีคำตอบที่กระจ่างชัด แต่ทั้งหมดได้มีการเตรียมการไว้แล้ว

โครงการพัฒนาดอยตุง มีระยะดำเนินโครงการ 30 ปี ตั้งแต่ปี 2531-2560 ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเตรียมพร้อมที่จะถอนตัวออกจากพื้นที่ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่มาเป็นตัวเชื่อมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน หลังจากที่โครงการดอยตุงลดบทบาทลง

“ผมวางโครงการไว้ 30 ปี คิดว่าถ้าเราจะเป็นตัวอย่างของโลกได้ เราต้องออกจากที่นี่อย่างสง่าผ่าเผย และคนที่นี่ต้องสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้โดยไม่มีเรา นั่นคือความยั่งยืน เป็นความคิดตั้งแต่วันแรกที่ทำ ไม่มีงานไหนไม่มีเลิกรา ตั้งเป้าไว้อย่างนี้” ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิสกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวไว้ตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารการเงินธนาคาร

ขณะที่ ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ไปดูงานโครงการพัฒนาดอยตุงเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ว่า “โครงการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้รับมอบหมายให้มาดำเนินการพัฒนาในพื้นที่นี้ 30 ปี และในปี 2560 กรอบนี้จะหมดไป ทางทีมงานเตรียมงานและพยายามทำให้เกิดการถ่ายโอนกิจกรรม บางอย่างเราต้องถ่ายโอน บางอย่างอาจจะเก็บไว้ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไปบริหารต่อ หรือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดูแลต่อไป”

“อะไรที่เป็นแบรนด์ดอยตุง มูลนิธิฯ จะให้ชุมชนในโครงการพัฒนาดอยตุงมาถือหุ้นในธุรกิจ เราถือว่า การพัฒนาที่ดี ผู้พัฒนาต้องตกงาน และการถ่ายโอนมีหลายรูปแบบ มันเป็นความท้าทาย ส่วนจะถ่ายโอนระดับไหน แค่ไหน แบบไหน เพื่อให้เขาดูแลตัวเขาต่อไป ทางมูลนิธิฯ ได้ศึกษาไว้หลายแบบ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป”

การถ่ายโอนต้องดูว่าจะถ่ายโอนให้แค่ไหน พนักงานที่อยู่กันมานาน 20-30 ปี จะทำอย่างไร ดังนั้น กลุ่มคนทั้งพนักงาน ชุมชนซึ่งเป็นเกษตรกร ต่างมีสิทธิเป็นเจ้าของแบรนด์ดอยตุง เมื่อถึงเวลานั้นผู้ถือหุ้นคือชุมชน แม้มีบางเรื่องที่ยังเป็นห่วง อาทิ เรื่องการตลาด อาจจะให้มูลนิธิฯ ดูแลไปก่อน

ม.ล.ดิศปนัดดาเล่าถึงความพร้อมไม่พร้อมของประชาชนในพื้นที่ว่า “บางส่วนพร้อม บางส่วนไม่พร้อม ต้องทำความเข้าใจ เพราะการถ่ายโอนมีปัจจัยเชื่อมโยงหลายตัวมาก ชาวบ้านต้องเข้าใจว่ากำลังทำอะไร และผมเชื่อว่าชาวบ้านเข้าใจดี เราเคยพูดกันว่าถ้าโครงการนี้ไม่อยู่แล้วชาวบ้านจะทำอะไรต่อ ป่าจะหมดไหม ชาวบ้านจะทำอาชีพอะไร เขามั่นใจการปกครองขององค์กรปกครองท้องถิ่นแค่ไหน ซึ่งเขาตอบได้เลยว่าเขาพร้อม เขาดูแลตัวเขาเองได้”

ตัวอย่างของการปกครองตนเองของชุมชนที่นี่ อย่าง อบต. เขาบริหารจัดการในสิ่งที่ชุมชนต้องการอย่างแท้จริง เพราะ อบต. ส่วนใหญ่เป็นนักพัฒนาของโครงการดอยตุงทั้งสิ้น เขาบริหารโดยเอา “คน” เป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของความเข้มแข็งของชุมชน

หรือการบริหารจัดการเรื่องไฟป่า ที่ปางมะหัน ที่ปูนะ เขามีกฎชัดเจนในการดูแลและจัดการ เขาใช้กฎชุมชนในการปกครองกันเอง ซึ่งมันสำคัญกว่ากฎหมายอีก เช่น พื้นที่ใดที่ปล่อยให้เกิดไฟไหม้ป่า จะถูกปรับ (ลงโทษ) อย่างไร พื้นที่ไหนที่มีการเสพยา ค้ายา จะถูกลงโทษอย่างไร อาทิ พื้นที่จะถูกยึดมาเป็นส่วนกลาง สามารถนำมาเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ผมเห็น

โครงการพัฒนาดอยตุง เป็นพื้นที่ทรงงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ทั้งหมด 93,515 ไร่ ติดชายแดนพม่า มีหมู่บ้านในพื้นที่โครงการ 29 หมู่บ้าน เป็นชาวไทยภูเขาและชนกลุ่มน้อย 6 เผ่า มีจำนวน 11,000 คน

สภาพดอยตุงเมื่อปี 2531 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่ทุรกันดาร เป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่มีถนน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ชาวบ้านเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพด ซึ่งพอกินแค่ 6 เดือน และยังมีฝิ่น มีการค้าอาวุธสงคราม กองกำลังชนกลุ่มน้อย และการค้ามนุษย์

การพัฒนาเกิดขึ้นจากความเชื่อของสมเด็จย่า “ไม่มีใครเกิดมาเป็นคนไม่ดี แต่ที่เขาไม่ดีเพราะขาดโอกาสและทางเลือก”

โครงการพัฒนาดอยตุงจึงได้กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิตเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ  โครงการพัฒนาดอยตุง
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ โครงการพัฒนาดอยตุง
กลุ่มแม่บ้านและชาวเขา ในโรงงานทอผ้า  โครงการพัฒนาดอยตุง
กลุ่มแม่บ้านและชาวเขา ในโรงงานทอผ้า โครงการพัฒนาดอยตุง

จากแนวคิดที่จะให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ “ป่าเศรษฐกิจ” จึงเป็นนวัตกรรมสร้างเสริมที่สำคัญ เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่รอยต่อป่าสงวนแห่งชาติ หรือแม้จะเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ชาวบ้านเข้าไปทำกินแล้วก็ตาม หากไม่ต้องการให้คนรุกป่า ทำลายป่า โดยที่เขาไม่มีที่ทำกิน แล้วเขาจะทำอะไรต่อไป ความคิดเรื่องป่าเศรษฐกิจจึงได้เกิดขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ให้ชาวบ้านและป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้

โครงการปลูกกาแฟใต้ต้นแมคคาเดเมีย การปลูกชาน้ำมัน การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์ไม้ โครงการทอผ้า ทอพรม โรงงานกระดาษสา โรงงานเซรามิก จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้

การทำกระดาษสาของชุมชนในโครงการพัฒนาดอยตุง
การทำกระดาษสาของชุมชนในโครงการพัฒนาดอยตุง
ผลิตภัณฑ์กระดาษสา
ผลิตภัณฑ์กระดาษสา

แต่ละโครงการมีการพัฒนาจนได้รูปแบบที่มีความยั่งยืน อาทิ กรณีการปลูกกาแฟ จากเดิมเป็นการจ้างชาวบ้านปลูกจ้างดูแลโดยบริษัท นวุติ ซึ่งเป็นบริษัทในโครงการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แต่ผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย ได้ปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ให้เกษตรกรเช่าต้นกาแฟที่เขาเคยปลูกเคยดูแลครอบครัวละ 10 ไร่ เช่าต้นละ 1 บาท โดยชาวบ้านจ่าย 50 สตางค์ บริษัทนวุติจ่ายให้ 50 สตางค์ ผลผลิตที่ออกมาเป็นของของเกษตรกรผู้เช่า ปรากฏว่าผลผลิตได้เกินเป้าหมาย เมื่อให้เกษตรกรเขามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของไร่กาแฟ แม้จะในรูปแบบการเช่าก็ตาม

การสร้างงานและรายได้เป็นการส่งเสริมสิ่งที่ชาวบ้านถนัด ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่มในผลผลิตที่เขาทำ

นี่คือการลงทุนลงแรงโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นโครงการพัฒนาทางเลือกในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ในรายได้จากธุรกิจเพื่อสังคมจากโครงการพัฒนาดอยตุง สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในปี 2544

ผลผลิตแมคคาเดเมีย
ผลผลิตแมคคาเดเมีย
ผลิตภัณฑ์แมคคาเดเมีย
ผลิตภัณฑ์แมคคาเดเมีย

อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้จากโครงการพระราชดำริที่ได้ทรงงาน โครงการของพระองค์ท่านมีหลายมิติ พลังงานทางเลือก น้ำ ป่าไม้ เกษตร สิ่งแวดล้อม ดิน 6 มิตินี้ เป็นปัญหาของโลกในปัจจุบันที่ประสบอยู่ น้ำใกล้หมด น้ำปนเปื้อน ดินเสื่อมสภาพ ป่าเสื่อมโทรมลง และปัญหาโลกร้อน

ม.ล.ดิศปนัดดากล่าวว่า “เราก็สกัดๆ องค์ความรู้ อาทิ อะไรเป็นปัจจัยรวมที่ทำให้เกิดขบวนการขับเคลื่อน นวัตกรรมในการพัฒนา มีกระบวนการขั้นตอนอะไรบ้างกว่าจะออกมาเป็นโครงการพัฒนาดอยตุง ทั้งที่ปางมะหัน ปูนะ หรือที่จังหวัดน่าน จังหวัดอุดรธานี หรือประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศพม่า มาประยุกต์ไว้เป็นตำรา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และจะได้นำแก้ปัญหาที่เราประสบในโลกปัจจุบันนี้ต่อไป”

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยที่มีชีวิตแห่งนี้เปิดให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยให้ผู้เข้ามาอบรมเรียนรู้จากผู้ให้ความรู้ คือ ชาวบ้าน ชุมชน ปราชญ์ ผู้นำชุมชน ขณะเดียวกัน ปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้ก็ได้เรียนรู้มุมมองความคิดจากผู้เข้ามาอบรม นั่นคือขบวนการเรียนรู้ที่ทั้งผู้รับและผู้ให้เรียนรู้ไปด้วยกัน ผู้รับก็จะกลายเป็นผู้ให้ ผู้ให้ก็จะกลายเป็นผู้รับ

การพัฒนาดอยตุงในทุกโครงการต่างมีการลองผิดลองถูกมาแล้วทั้งสิ้น อย่างการปลูกป่าสนในช่วงแรก ซึ่งเรียกว่าป่าไร้เพื่อน ต่อมาจึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นปลูกป่าปลูกเสริม คือการดูแลพื้นที่ป่าที่มีอยู่แล้ว และไปปลูกเสริมพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับระบบนิเวศของพื้นที่และที่เป็นประโยชน์กับท้องถิ่น เสริมลงไปในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพื่อคืนความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศของธรรมชาติ

จากนั้นก็มาเป็นการปลูกป่าแบบไม่ปลูก คือการดูแลป่าที่มีอยู่แล้วไม่ให้ถูกทำลาย และไม่ทำลายระบบนิเวศของป่า ช่วยกันดูแลในเรื่องไฟป่า ไม่บุกรุกทำลาย เป็นต้น

ในประเด็นนี้ “ดร.กาญจนา นิตยะ” นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เคยเล่าให้สำนักข่าวไทยพับลิก้าว่า การปลูกป่า ปลูกอย่างไรก็ไม่สามารถปลูกทดแทนป่าที่มันเสียไป ดังนั้นควรทุ่มเทกำลังและงบประมาณบางส่วนไปดูแล ไม่ต้องรอให้ป่าเสื่อมโทรมแล้วค่อยปลูก เพราะเวลาป่าหายไป มันทดแทนกันไม่ได้ และทดแทนอย่างไรไม่เหมือนเดิม หรือจะเหมือนเดิมก็ใช้เวลานานมาก

เมื่อป่าถูกทำลาย เกิดการสูญเสียพื้นที่ สิ่งที่ตามมาคือชนิดพันธุ์ต้องเปลี่ยนแปลง บางอย่างหายไป บางอย่างเข้ามาใหม่ แต่สิ่งที่มาใหม่เทียบไม่ได้กับของที่มันหายไป จะต้องอาศัยลม และต้องอาศัยสัตว์อื่นในการช่วยพัดพาเมล็ดไม้ แต่อย่างน้อย ตรงพื้นที่นั้นจะต้องมีชนิดพันธุ์อยู่ก่อนแล้ว และต้องหามาเสริมด้วย

ดังนั้น เมื่อป่าถูกบุกรุกและถูกดึงตัวใดตัวหนึ่งของระบบนิเวศออกมา การสืบพันธุ์ การทดแทน จะถูกขัดจังหวะ ดังนั้น ถ้าสิ่งหนึ่งถูกทำลาย ระบบนิเวศบางอย่างก็จะขาดไป (อ่านเพิ่มเติม “ดร.กาญจนา นิตยะ” นักอนุรักษ์ในเครื่องแบบข้าราชการ ปกป้องผืนป่าด้วยสองมือ )

ม.ล.ดิศปนัดดากล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยที่มีชีวิตแห่งนี้ ให้ผู้ที่เข้ามาอบรมต้องมีภาคปฏิบัติ ให้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ เช่น เดินสำรวจป่า เดินขึ้นเขาไปเจอชาวเขา ระหว่างทางเดินก็ปูพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับป่า ตรงนี้เป็นอย่างไร ต้นไม้เดิมในพื้นที่คืออะไร สัตว์เป็นอย่างไร กิจกรรมที่โครงการดอยตุงเข้ามาเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ดีขึ้นมีอะไรบ้าง กิจกรรมที่ให้คนและป่าอยู่ด้วยกันได้มีอะไรบ้าง

“เราไม่ต้องการให้ผู้เข้ามาอบรมดูงานได้เรียนรู้แค่สไลด์แห้งหรือพาวเวอร์พอยท์ที่เราให้ดู แต่เรียนรู้จากการเดินจริงสัมผัสจริงด้วย ขบวนการนี้สำคัญ เพราะขบวนการเข้าใจ ถ้านั่งอยู่ในห้องเฉยๆ ไม่เข้าใจ ต้องออกไปดูจริง เพื่อได้เข้าใจรับรู้สภาพที่เป็นจริง รับรู้ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ของเขา ไม่ใช่เอาเขามาหาเรา”

ในตอนต่อไป จะเล่าถึงขบวนการเก็บสถิติข้อมูล ที่ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในโครงการพัฒนาดอยตุง พัฒนาจนมาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน