ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > “อาร์เอส” เล่าประสบการณ์ “ESG”… ถ้าไม่เอาตัวเองเข้ามาในมาตรฐาน จะไม่เห็นแนวทางการพัฒนา

“อาร์เอส” เล่าประสบการณ์ “ESG”… ถ้าไม่เอาตัวเองเข้ามาในมาตรฐาน จะไม่เห็นแนวทางการพัฒนา

30 กันยายน 2022


ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

How To Drive ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย ESG” บอกเล่ากระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนบนหลักการ ESG ของบริษัทจดทะเบียน โดยรวบรวมเพื่อสร้างชุดข้อมูลการตระหนักรู้ของการประกอบธุรกิจในวิถี ESG ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญขององค์กร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เร็วยากจะคาดเดา และการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

สื่อบันเทิงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เผชิญกับความท้าทายแห่งยุคสมัย เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของโลกออฟไลน์สู่ออนไลน์ รวมถึงพฤติกรรมของผู้เสพสื่อที่ซับซ้อนขึ้น อีกทั้งภูมิทัศน์สื่อยังถูกดิสรัปต์อย่างหนัก ทั้งหมดเป็นจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจสื่อต้องหา “โอกาส”ใหม่

“อาร์เอส” หนึ่งในผู้เล่นอุตสาหกรรมสื่อ จึงประกาศดิสรัปต์ตัวเองในปี 2562 จากเดิมที่อยู่ในหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (media & publishing) มาสู่ธุรกิจพาณิชย์ (commerce)

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือที่คนรู้จักในนาม “เฮียฮ้อ” ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งอาร์เอส เคยอธิบายเหตุผลของการยกเครื่ององค์กรว่า RS จะดำเนินธุรกิจแบบ MPC (multi-platform commerce) จากการใช้ธุรกิจสื่อและสื่อบันเทิงมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นระบบค้าปลีกสายพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างโฮมชอปปิง (home shopping)

ปี 2565 อาร์เอสพูดได้เต็มปากว่าโมเดลธุรกิจของตัวเองคือ entertainmerce เพราะสัดส่วนรายได้ของธุรกิจพาณิชย์อยู่ที่ 65% ขณะที่ธุรกิจสื่อบันเทิง เรียกได้ว่ารายได้จาก “พาณิชย์” แซงหน้าธุรกิจสื่อไปแล้ว

นางสาวรัฐปวีร์ ลาภนาน ผู้จัดการอาวุโส นักลงทุนสัมพันธ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางการเปลี่ยนของธุรกิจที่ถูกดิสรัปต์ และแรงกดดันจากโลกที่หมุนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันนี้ภาคธุรกิจต้องแสดงเจตจำนงที่จะต้องขับเคลื่อนตัวเองไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทำให้อาร์เอสต้องพุ่งเป้าทำเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นการนับหนึ่งเรื่องการเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบ “ESG” หรือ environment, social, governance โดยบริษัทมีการวางเป้าหมายความยั่งยืนด้านต่างๆ และจัดทำแบบสำรวจด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมการประเมินความยั่งยืน (THSI) ในปีถัดมาหลังประกาศเปลี่ยนหมวดธุรกิจ ต่อมาปี 2564 บริษัทได้พัฒนานโยบายการกำกับกิจการที่ดี และปี 2565 บริษัทปลูกฝังความรู้ความเข้าใจด้านความยั่งยืนสู่พนักงานเห็นภาพร่วมกันว่าอาร์เอสกำลังทำอะไร

แต่ก่อนคนนึกถึงอาร์เอสเป็นรูปปิ๊กกีตาร์ หรือสื่อบันเทิง แต่เรารีแบรนด์ให้รับรู้ว่าเราพร้อมจะเติบโตแบบไร้กรอบ เน้นย้ำว่าโมเดลธุรกิจใหม่ว่าเราไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง ดังนั้น เราแค่มองหาโอกาสที่จะพาตัวเองไปยังที่ใหม่โดยใช้ทรัพยากรเดิมอย่างเป็นประโยชน์ เพราะถ้าเรายังทำสื่ออย่างเดียว อาจจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้” นางสาวรัฐปวีร์ ลาภนาน ผู้จัดการอาวุโส นักลงทุนสัมพันธ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าว

นางสาวรัฐปวีร์กล่าวต่อว่า อาร์เอสได้เปรียบในการทำธุรกิจพาณิชย์ เพราะมีช่องทางอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นทีวีช่อง 8 หรือคลื่นวิทยุ COOL Fahrenheit 93 FM และเว็บไซต์ นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางคอลเซ็นเตอร์ขึ้นมา ที่สำคัญคือการเปลี่ยนจากกลุ่มคนดู-คนฟัง มาเป็นลูกค้า โดยใช้ฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งจากการสะสมกลุ่มคนดูมาต่อเนื่องหลายปี

นางสาวรัฐปวีร์เล่าการสร้างความยั่งยืนภายในองค์กรว่า การมาของฝ่ายความยั่งยืนที่อาร์เอสมาจากมุมมองฝ่ายบริหารที่ถูกขับเคลื่อนโดยนักลงทุน (investor) แต่ในช่วงแรกมีแค่ตัวเองทำงานคนเดียวเท่านั้น ดังนั้น ความยากคือการทำให้พนักงานรู้สึกว่าความยั่งยืนไม่ใช่การเพิ่มภาระงาน แต่ฝ่ายความยั่งยืนจะเป็นหน่วยเชื่อมองค์กรทั้งข้างบนและข้างล่าง สร้างคุณค่าร่วมกัน และให้ความรู้ความเข้าใจให้พนักงานอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการทำให้พนักงานคุ้นชินว่าสิ่งที่ทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวันเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน

“ส่วนความท้าทายภายนอกคือ ทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าเราจะไปทางนี้จริงๆ หลายคนติดภาพว่ารับมาขายไป ผ่านมาผ่านไป เดี๋ยวก็ทำอย่างอื่น ถ้ามองย้อนกลับไปคนจะเห็นว่าธุรกิจบางเจ้ามีสื่อในมือ แต่ถ้าไม่จริงจังในการพัฒนาสินค้าหรือไม่มีนวัตกรรม มันจะทำให้ผู้เล่นเข้ามามาก แต่ก็หลุดออกไป ดังนั้น สิ่งที่เราทำต้องมาจากความยั่งยืนเป็นแกนหลักในทุกมิติของการดำเนินงาน”

ทำ ESG ต้องกล้าเห็นข้อผิดพลาด และพัฒนาตัวเอง

นางสาวรัฐปวีร์กล่าวว่า เสียงจากนักลงทุนเป็นเหมือนแรงกดดันให้อาร์เอสนำ ESG มาใช้ในองค์กร เพราะนักลงทุนไม่ได้มองแค่งบการเงินอีกต่อไป แต่ส่วนที่นักลงทุนยังไม่รู้และต้องการคือการรายงาน ESG อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น โจทย์ขององค์กรคือ ทำอย่างไรให้หุ้นอาร์เอสสร้างความมั่งคั่งบนพื้นฐานความมั่นคง และปลดล็อกตัวเองให้นักลงทุนมั่นใจว่า ลงทุนกับอาร์เอสวันนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจสื่อ แต่เขาซื้ออนาคตของธุรกิจพาณิชย์ด้วย

“ต่อให้เราไม่ไป (ทำ ESG) โลกจะพาเราไป ข้อมูลการเงินนักลงทุนหาได้อยู่แล้ว แต่บางเรื่องอยู่ในกระบวนการทำงาน กว่าจะได้สินค้าชิ้นหนึ่ง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง นักลงทุนสมัยนี้ไม่ได้มองแค่ปลายทาง เขามองตั้งแต่ต้นทางว่าคุณมาถูกต้อง ดี โปร่งใส น่าส่งเสริมด้วยหรือเปล่า หรือคืนอะไรให้โลกใบนี้ไหม แล้ววันนี้เรามีอะไร (ข้อมูล ESG) ไปตอบเขาแล้วหรือยัง ทำให้ผู้บริหารตัดสินใจว่าเราต้องทำรายงานความยั่งยืนอย่างชัดเจน”

เมื่อถามว่าผลการทำความยั่งยืนปีแรกเป็นอย่างไร นางสาวรัฐปวีร์ตอบพร้อมหัวเราะว่า “เละ” และเล่าต่อว่า…

“สิ่งสำคัญต้องกล้า ถ้าไม่เอาตัวเองเข้ามาในมาตรฐาน หรือไม่วัดผล ก็จะมองไม่ออกว่าเราเป็นใคร เพราะเรามองตัวเองว่าดีตลอด แต่จะไม่เห็นแนวทางการพัฒนา”

พร้อมย้ำว่า “การจะไปหาความยั่งยืนต้องมีพื้นที่ให้พัฒนา อาร์เอสวิเคราะห์ตัวเองเสมอว่า ในปีที่ผ่านมาการดำเนินการเป็นไปตามกรอบหรือทิศทางนั้นไหม โดยอยู่ที่ทิศทางความยั่งยืนแต่สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจด้วย แม้ปีแรกอาจยังไม่ครบถ้วน บางเรื่องทำกิจกรรมดีแต่ลืมเก็บข้อมูลเพื่อวัดผล แต่พอทำบ่อยๆ เราจะรู้ว่า อ๋อ ก่อนทีมจะลงพื้นที่แบบนี้ เราจะมองเห็นปลายทางเลย ทำอะไรต้องตั้งเป้า ถ้าไม่ได้ ต้องแก้ไขด้วยอะไร ครั้งหน้าไม่ควรจะผิดอย่างเดิม เราเริ่มจากการทำซ้ำๆ และเรียนรู้ไปด้วยกันโดยใช้มาตรฐานเช็กลิสต์ เริ่มจาก THSI ของตลดหลักทรัพย์ฯ เราต้องพัฒนาตัวเองตลอด และมีหลายอย่างที่บริษัททำอยู่แล้วแค่ไม่ถูกหยิบยกมาเล่า”

“บางคนบอกไม่อยากประเมิน เพราะเกรงว่าประเมินไปแล้วก็เป็นฐาน เราถามว่าเป็นฐานใคร แข่งกับใคร เราแข่งกับตัวเราเอง ไม่ต้องเอาธุรกิจไปแข่งกับระดับที่สูงกว่า เทียบกับตัวเองก่อน มันไม่มีคำว่าสำเร็จรูป มันต้องเรียนรู้พร้อมกันหมด ความยั่งยืนไม่ได้มีด้านเดียว แต่ละองค์กรมีบริบทการแสดงความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน… การเอาของคนอื่นมาดูเป็นแรงบันดาลใจได้ แต่เขาไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่เขา”

“ถามว่ามีพัฒนาการขึ้นไหม ดีขึ้นเรื่อยๆ ผ่านความเข้าใจพร้อมกันทั้งองค์กร ปีแรกงงๆ กันหมด แต่อาศัยความกล้าอย่างเดียว กล้าที่จะเห็นคะแนนรุ่ย แต่เราจะรู้ว่า ขาดส่วนไหน และเติมยังไง ถ้ายังไม่รู้ ก็ไปเติมของหาความรู้ อาศัยสอบถาม คุยกับลูกค้า ครั้งต่อไปก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ปีต่อไปจะดีกว่าปีเก่า”

ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานว่า ความยั่งยืนไม่ใช่งานเพิ่ม แต่เป็นงานที่ทุกคนทำอยู่แล้ว เพียงแค่ฝ่ายความยั่งยืนนำมาเน้นให้ชัดขึ้น

“วันแรกที่มาทำงาน เราถูกถามว่าอะไรคือความท้าทายในการทำความยั่งยืน เราตอบว่า ‘ความจริงใจ’ ต้องจริงจัง มันอาจจะไปได้ช้า ก็ได้ แต่ไปให้ถูกทาง เราจะไม่รู้เรื่องนี้ก็ได้ แค่ไปเรียน ตั้งต้นให้ได้ก่อน พอตั้งต้นได้ ก็ใช้มาตรฐาน แล้วหาระหว่างทาง จริงๆ การใช้เช็กลิสต์เป็นตัวนำทาง เป็นเข็มทิศในระดับหนึ่ง บอกว่าเราไม่รู้ว่าจะทำยังไง ก็เช็กลิสต์ไง เหลืออีกหลายข้อที่ยังไปไม่ถึ งและหลายข้อที่ยังเก็บข้อมูลไม่ครบ อาศัยการแก้ไขและทำซ้ำ”

อาร์เอสมองว่า ESG ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่ ESG เป็นทางรอด ทั้งมิติธุรกิจและความสมดุลให้โลกใบนี้

“ESG เป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่ใช่พูดในฐานะคนทำงานด้านนี้ แต่พูดในฐานะ stakeholder คนหนึ่ง ต่อให้เราเป็นนักลงทุนหรือเจ้าของโรงงาน ESG จะเป็นตัวตัดสินว่าบริษัทคู่ค้าจะเติบโตอย่างมั่นคงด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่แค่มั่งคั่ง มองกลับมา เราเป็นเจ้าของโรงงาน แล้วจะมาจ้างเรา เขาดู credit term มากน้อยแค่ไหน แฟร์ไหม มีช่องทางจัดจำหน่ายที่เราจะทำมาหากินกับเขาในระยะยาวหรือเปล่า”

สุดท้ายกลับมาที่อาร์เอส แต่ละฝ่ายก็ต้องตีโจทย์ความยั่งยืนให้แตก ว่าจะนำไปปรับใช้อย่างไร เช่น เวลาคลื่นวิทยุ Cool จัดอีเวนต์แล้วใช้ขวดพลาสติกจำนวนมาก โจทย์ก็คือไปคิดว่าจะรับผิดชอบกันขวดพลาสติกที่เกิดขึ้นอย่างไร หรือเวลาจัดคอนเสิร์ตก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นางสาวรัฐปวีร์มองว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่มีคำตอบตายตัว และ ESG ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของทุกคน เพียงแค่มีบริบท ESG ที่แตกต่างกัน

“บางองค์กรคิดว่าแค่มีระบบและคนเข้ามา ก็สามารถสร้างความยั่งยืนได้ ซึ่งความจริงไม่เป็นแบบนั้น ความยั่งยืนต้องเริ่มจากการพัฒนาจากตัวเอง อย่าใจร้อน เดินช้าๆ ได้ แต่ต้องไปให้ถูกทิศทาง”

ใช้ ESG Checklist กับคู่ค้าธุรกิจพาณิชย์

นางสาวรัฐปวีร์มองว่า นโยบายความยั่งยืนของอาร์เอสคือ “ความสมดุล” ทั้งการดำเนินธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการทำ ESG ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการกำกับกิจการที่ดี ความยากคือทำให้ทุกอย่างเดินไปด้วยกันอย่างสมดุลทุกมิติ

อาร์เอสเริ่มนำ ESG ไปจับกับธุรกิจพาณิชย์ การผลิตสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ของอาร์เอสจะใช้ความยั่งยืนในเรื่องการรักษาคุณภาพ การทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าหรือบริการที่มีความปลอดภัย

ดังนั้นอาร์เอสจึงมี ESG Checklist เป็นเกณฑ์ตรวจสอบคู่ค้าประเภทโรงงานที่บริษัทรับจ้างผลิต (OEM) ควบคู่ไปกับจรรยาบรรณของคู่ค้า (supplier code of conduct) และสัญญาทางธุรกิจในด้านการส่งมอบและคุณภาพ เท่ากับว่ากว่าที่โรงงานจะผลิตสินค้าได้ ต้องผ่านสัญญาร่วมกันอย่างน้อย 3 ฉบับ คือธุรกิจ ESG และจรรยาบรรณ

นางสาวรัฐปวีร์เล่าว่า การคัดเลือกโรงงานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มคู่ค้ารายสำคัญ เช่น ลูกค้ากลุ่ม top spender หรือโรงงานที่ผลิต product champion ให้องค์กร และ (2) กลุ่มสินค้าใหม่ โดยมักจะเป็นโรงงานที่เข้ามาทำงานกับอาร์เอสในครั้งแรกๆ จากนั้นทั้งสองกลุ่มจะต้องประเมิน ESG Checklist 3 มิติ ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ

“แบบฟอร์ม ESG Checklist จะถามว่า ในมิติสังคม คุณดูแลพนักงานหรือมีวิธีการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีการจ้างงานเด็กมากน้อยแค่ไหน ให้ความสำคัญกับแรงงานต่างด้าวแค่ไหน ทำผิดด้านสิ่งแวดล้อมไหม เพราะนอกจากเรื่องสัญญาธุรกิจแล้วก็ดู ESG ด้วย เราใช้สองแบบฟอร์มเพื่อดูคะแนนโดยรวม ถ้าผ่านอย่างหนึ่งแล้วตกอย่างหนึ่งก็ต้องทบทวน”

นางสาวรัฐปวีร์เล่าต่อว่า ถ้ามีสองมิติที่ผ่านการประเมิน อีกอีกมิติสอบตก อาร์เอสจะขอแนวทางแก้ไขทันที และในอนาคตจะพัฒนาการตรวจสอบโรงงานคู่ค้าในรูปแบบสุ่มลงไปหน้างาน (on site visit)

นางสาวรัฐปวีร์กล่าวต่อว่า หลังจากบริษัทให้ความสำคัญกับ ESG แล้วค่อยๆ ส่งต่อความรู้ไปให้คู่ค้าว่า เมื่ออาร์เอสเลือกคุณเป็นตัวแทนผลิต คุณจะอยู่กับอาร์เอสตลอดอายุสัญญา เพราะหากบริษัททำผิด มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถูกปิดโรงงาน เท่ากับว่าอาร์เอสจะไม่มีสินค้า

“เรามองว่าไม่ใช่การจ่ายจ้าง เพราะการคัดเลือกใครสักคนมีเวลาและต้นทุน ดังนั้น เลือกใครสักคนเป็นคู่ก็สำคัญ เพราะต้องอยู่กันไปยาวๆ ถ้าเราเข้าใจกัน มันไปด้วยกัน เขาพัฒนาเรา เราก็พัฒนาเขา มันคือคำว่าพันธมิตรหรือพาร์ตเนอร์”

สร้างความตระหนักรู้ แบบอย่างที่ดี ผ่าน “ศิลปิน”

อีกธุรกิจของอาร์เอสคือ “สื่อบันเทิง” โจทย์ของการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจนี้คือ การใช้สิ่งที่มีเพื่อถ่ายทอดออกสู่ภายนอก ผ่านตัวเชื่อมคือผู้มีอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ศิลปิน หรืออินฟลูเอนเซอร์ ที่สำคัญคือดารา-ศิลปินจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคม

“ฝั่งบันเทิงมองไม่ออกว่าจะซีเอสอาร์ยังไง ที่ผ่านมาเราเห็นแค่ดาราแจกของ ปลูกป่า แต่จริงๆ แล้วเรามองกลับมาว่าพอเรามีศิลปิน อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ทรงอิทธิพลในการถ่ายทอด ดังนั้น ศิลปิน ดาราของเราตั้งอยู่บนจรรยาบรรณพื้นฐานที่ดี เขาอยู่ในส่วนของสังคม เพราะเป็นคนของสังคม ไฟส่องที่เขา ไม่ว่าทำอะไรก็เป็นอิมแพกต์ เราก็นำความรู้ต่างๆ เช่น การรีไซเคิลพลาสติก การดูแลสิ่งแวดล้อมไปให้เขาเป็นผู้ถ่ายทอดอาร์เอสสู่สังคมภายนอก”

นางสาวรัฐปวีร์อธิบายว่า วันที่พัฒนา framework ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ อาร์เอสบอกว่าจุดแข็งคือการเชื่อมโยงระหว่างข้างในกับข้างนอก โดยมีตัวเชื่อมโยงที่มีชีวิตชีวา (lively) และทันกระแส

“เราไม่ได้มองว่าศิลปินหรือดาราเป็นแค่คนสร้างงาน เรามองว่าเป็นผู้มีอิทธิพล การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมทำผ่านสินค้า บริการ และความบันเทิง ใช้เป็นจุดเชื่อมโยงกับข้างนอก โดยเริ่มจากข้างใน เพียงแต่เราใช้เสียงของเขาถ่ายทอดสิ่งที่ถูกต้อง”

ยกตัวอย่าง เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณอดีตศิลปินวง K-OTIC ที่ปัจจุบันมีภาพลักษณ์เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและมีทัศนคติที่เปิดกว้าง อาร์เอสก็ให้เขื่อนแสดงความเป็นตัวเอง และใช้สิ่งที่เขื่อนเป็นสื่อสารให้คนภายนอกผ่านโครงการ “Zero Bully” ร่วมกับนักเรียน-นักศึกษาในชุมชนรอบองค์กร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่าการบูลลีทำร้ายคนอื่นอย่างไร ผลที่ได้คือนักเรียน-นักศึกษามีความเข้าใจมากขึ้น เพราะคำพูดของศิลปินมีอิมแพกต์ต่อผู้ฟัง

จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ศิลปินได้แสดงความเป็นตัวตนที่ดี และได้ส่งต่อแนวคิดดีๆ สู่สังคมไปพร้อมกับความตั้งใจขององค์กร

“ตอนนี้หมดยุคสัญญาทาส หมดยุคที่จะให้ใครไปทำอะไรในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น ตอนนี้เป็นเทรนด์ที่ทุกคนมองหาความอิสระ ศิลปินคือพาร์ตเนอร์ ทุกคนมีสิทธิเลือก แต่ทำยังไงให้เราและศิลปินส่งมอบเรื่องเดียวกัน มันต้องดูประโยชน์ร่วมและการสร้างคุณค่าร่วมกัน”

“เราใช้สิ่งที่มีถ่ายทอดสิ่งที่เราเป็นออกไปสู่ภายนอก ทุกอย่างที่เราทำคือความยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ศิลปิน-นักแสดง ต้องมองว่าการทำงานกับอาร์เอสเป็นการใช้กระบวนการ ESG ทุกคนต้องทำงานบนมาตรฐานที่ดีและมีจรรยาบรรณ เพราะสุดท้ายถ้าศิลปิน-นักแสดงปฏิบัติตัวไม่ดี หรือผิดกฎหมาย ค่ายจะได้รับผลกระทบโดยตรงและต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น

ความยั่งยืน 4 มิติ

นางสาวรัฐปวีร์กล่าวต่อว่า นโยบายภายในที่โดดเด่นของอาร์เอสคือเรื่อง “ความหลากหลาย” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ศาสนา ร่างกาย หรือประเด็นอะไรก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้สิทธิแปลงเพศได้ 45 วัน และให้เงินสนับสนุน-วันลาในกรณีที่เป็นพนักงานเพศเดียวกันสมรสกัน

“เราทำนโยบายหลากหลายมาก การมาเดินในตึกจะสนุกมาก วันนี้เจอเด็กผู้ชายแต่งตัวบอยๆ หันไปเจอพี่สาวลากชุดราตรีก็มี วันนี้เป็นน้องชาย วันนี้เป็นน้องสาว วันนี้พี่เล็ก วันนี้พี่ใหญ่ ที่นี่หลากหลายมาก ผู้บริหารมองว่าเปิดรับทุกความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง เรารับคนเข้าทำงานจากความสามารถ แต่ความหลากหลายของเราไม่จำกัดแค่เรื่องเพศ”

“เรื่องความสะดวกสบายในออฟฟิศ เราดูทั้งหมดตั้งแต่ทางขึ้นลงของผู้พิการ ตั้งแต่การออกแบบ ลิฟต์ การใช้ห้องน้ำสำหรับคนมีความหลากหลาย ไม่ว่าเป็นใครก็สามารถใช้ห้องน้ำนั้นได้อย่างสบายใจ เรามีโรงอาหารของตัวเอง ถ้าคุณนับถือศาสนาไหน ก็มีเมนูอาหารให้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่ใช่มีหมูอย่างเดียว และให้พนักงานที่มีความหลากหลายมาบอกเล่าประสบการณ์ที่มีการทำงานกับอาร์เอสว่าได้รับความเท่าเทียมมากน้อยแค่ไหน ความหลากหลายในอาร์เอสมีครบทุกมิติ”

นางสาวรัฐปวีร์ย้ำว่า นโยบายของอาร์เอสคือพยายามสร้างสมดุลทุกมิติ อีกทางที่ทำคู่ขนานคือสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างตัวเราเองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยที่อาร์เอสมีการดำเนินธุรกิจที่เรียกว่าเราคือผู้สร้างสรรค์แรงบันดาลใจตามแนวคิด “Passion to Win” โดยส่งมอบแรงบันดาลใจและองค์ความรู้ผ่านสินค้าและบริการที่เราถือ เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมอย่างยั่งยืน

โดยมิติการพัฒนาภายในองค์กรเป็น 1 ใน 4 องค์ประกอบหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่านั้น

ทั้งนี้ ความยั่งยืนของอาร์เอส แบ่งออกเป็น 4 แกนหลัก คือ

  • People คน ครอบคลุมทั้งการพัฒนาศักยภาพและเปิดรับความหลากหลาย รวมถึงส่งต่อแนวคิดดีๆ ให้สังคม
  • Planet สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงาน รวมถึงการรีไซเคิลขยะและกระดาษ โดยบริษัทร่วมมือกับ SCGP เพื่อนำกระดาษที่ใช้แล้วมารีไซเคิลจนได้กระดาษกลับมาใช้ 10 ตัน ตลอดจนการตัดแยกพลาสติกในองค์กร โดยปัจจุบันบริษัทกำลังวางแผนกระบวนการ upcycling ว่าพลาสติกเหล่านี้จะพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง
  • “เราตั้งต้นจากการทำสิ่งแวดล้อมในอาคาร ถ้ามันดี สุดท้ายก็กลับมาหาพนักงาน สิ่งสำคัญคือมันเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เขา ไม่ใช่เขาต้องทำแค่ที่นี่ แต่พอกลับบ้านไปก็ติดนิสัยคัดแยก กลับไปก็ขอแยกถุง-ขวด”

  • Prosperity เศรษฐกิจ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านสินค้าที่มีคุณภาพ ปัจจุบันอาร์เอสมีสินค้าถึง 600 Sku มีการลงทุนร่วมกับพันธมิตรถึง 1,000 ล้านบาท อีกทั้งมีการพัฒนาโครงการ “Well U พลิกวิกฤต สร้างโอกาส” โดยสร้างอาชีพให้ผู้คนในสังคมถึง 700 ราย
  • Principle การกำกับกิจการ นางสาวรัฐปวีร์อธิบายว่า ทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้นถ้าการกำกับกิจการไม่ถูกนำมาใช้ โดยอาร์เอสโชคดีที่บอร์ดบริหารให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น การตั้งคณะทำงานแต่ละมิติ และดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เช่น ความโปร่งใสในการทำงาน การจัด AGM ตามเกณฑ์ทุกอย่างคือการดูแลสิทธิผู้ถือหุ้นในทุกกระบวนการ หรือการให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ต่างๆ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นหุ้นยั่งยืน (THSI)

“ความยั่งยืนไม่ได้ดีดนิ้วสั่งได้ทันที การที่เราจะเริ่มความยั่งยืนได้ ต้องสร้างความเข้าใจก่อน พยายามทำให้คนในองค์กรรู้สึกว่าไม่ใช่งานเพิ่ม ไม่ใช่ภาระ มันคือทุกอย่างที่ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่งานทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนผ่านมิติ ESG แต่ละคนแค่ทำหน้าที่ของตัวเอง ปรับปรุงกระบวนการ”

“ช่วงแรกสิ่งที่พยายามไม่พูดคือการใช้งบประมาณ เพราะถ้าพูดแล้วเราน่าจะไปต่อยาก เลยนำเสนอช่วงแรกว่าเป็นเรื่องการให้ความรู้ทั้งผู้บริหารและคนในองค์กร เราก็ได้ความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ พอตลาดหลักทรัพย์เข้ามาก็ทำให้มุมมองผู้บริหารเข้าใจมากขึ้น ที่เหลือก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาให้ทุกคนรู้สึกร่วมกันว่าความยั่งยืนคืองานของทุกคนในองค์กร ไม่ใช่งานของเราคนเดียว เราต้องอาศัยความร่วมมือแต่ละส่วน เพียงแค่แต่ละส่วนมีบริบทที่แตกต่างกัน”

นางสาวรัฐปวีร์เล่าต่อว่า ในท้ายที่สุดโลกจะนำพาธุรกิจไปสู่เส้นทาง ESG ส่วนคนทำงานด้านความยั่งยืนมีหน้าที่ ‘เชื่อม’ และ ‘ยกระดับ’ ความยั่งยืนของทุกฝ่าย แม้บางอย่างที่พนักงานทำโดยไม่รู้ตัวเช่น การแยกขยะ หรือโครงการซีเอสอาร์ต่างๆ ก็ต้องทำให้เป็น ‘CSR in Process’ และสุดท้ายต้องมีคนหยิบข้อมูลทั้งหมดจากกองกะบะต่างๆ มาจัดเรียงเข้าลิ้นชัก เพื่อเป็นข้อมูล

“บางอย่างเขายังไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำคือความยั่งยืน เราแค่เอากรอบไปใส่และบอกว่าสิ่งที่คุณทำไปได้ครึ่งทางแล้ว ถ้าพัฒนาเข้าไปอีกหน่อยมันจะเข้าใกล้ความยั่งยืน ที่เหลือคืออาศัยการทำซ้ำ จริงจัง จริงใจ ต่อเนื่อง แล้วผลที่ดีจะกลับเข้าองค์กรเอง”